วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
Home > On Globalization > TRINCOMALEE: จากฉากหลังแห่งสงครามสู่อนาคตเบื้องหน้า

TRINCOMALEE: จากฉากหลังแห่งสงครามสู่อนาคตเบื้องหน้า

 
Column: AYUBOWAN
 
ท่านผู้อ่านและผู้ที่สนใจติดตามความเป็นไปของศรีลังกา คงพอจะได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับ โคลัมโบ แคนดี้ รัตนปุระ รวมถึงอนุราธปุระ ในฐานะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวและสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของศรีลังกามาไม่น้อย ขณะที่เมืองทางชายฝั่งตะวันออกของประเทศ อย่าง Trincomalee อาจให้ภาพที่แตกต่างออกไปพอสมควร
 
ในด้านหนึ่งอาจเนื่องเพราะ Trincomalee เป็นหนึ่งในเมืองศูนย์กลางของชาวทมิฬ ซึ่งในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาถูกผลักให้จ่อมจมอยู่ท่ามกลางฉากหลังของสงครามกลางเมืองว่าด้วยชาติพันธุ์ และทำให้พัฒนาการของเมืองที่มีอดีตและศักยภาพในการเติบโตครั้งเก่าถูกฉุดให้ต้องหยุดชะงักไปโดยปริยาย
 
ประวัติการณ์ของ Trincomalee สืบย้อนกลับไปได้ไกลตั้งแต่ก่อนสมัยพุทธกาล และถือเป็นเขตบ้านย่านเมืองที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชียอีกด้วย โดยเฉพาะความจำเริญในฐานะที่เป็นเมืองท่าและเขตการค้าสำคัญที่เชื่อมโยงศรีลังกาเข้ากับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือประชาชาติอาเซียนในปัจจุบัน
 
คณะธรรมทูตจากกรุงศรีอยุธยา เพื่อนำพุทธศาสนากลับไปประดิษฐานในศรีลังกาอีกครั้ง ซึ่งนำโดยพระอุบาลีมหาเถระเมื่อปี 2295 ก็ได้อาศัยฝั่งฟากของเมืองท่า Trincomalee เป็นที่ขึ้นฝั่งแผ่นดินศรีลังกา ก่อนจะเดินเท้าข้ามผ่านระยะทางไกลเข้าสู่แคนดี้ เมืองหลวงของอาณาจักรศรีลังกาในขณะนั้นด้วย
 
หากแต่ความสำคัญและเก่าแก่ของ Trincomalee ซึ่งเป็นชุมชนชาวทมิฬและผูกพันกับศาสนาฮินดูทำให้ Trincomalee ได้รับการกล่าวถึงในฐานะที่เป็น “เขาไกรลาสแห่งดินแดนตอนใต้” ในขณะที่เจ้าอาณานิคมแต่ละรายที่ผลัดเปลี่ยนอิทธิพลกันเข้ามาต่างระบุถึง Trincomalee ว่าเป็นเขตอาณาที่ทรงคุณค่าที่สุดแห่งหนึ่ง เนื่องเพราะเมืองท่าแห่งนี้มีเวิ้งอ่าวธรรมชาติที่กว้างใหญ่ และสามารถรองรับเรือเดินทะเลได้ทุกรูปแบบและในทุกสภาพอากาศ
 
ประจักษ์พยานแห่งความได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์ของ Trincomalee ที่ว่านี้ ทำให้เมืองท่าที่อุดมด้วยศักยภาพต้องตกอยู่ในสภาพที่เป็นสมรภูมิการรบพุ่งระหว่างเจ้าอาณานิคมแต่ละรายอยู่ตลอดเวลา ด้วยต่างหวังจะช่วงชิงพื้นที่ที่ได้รับการระบุว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดในการครอบครองความเป็นจ้าว เหนือน่านน้ำในมหาสมุทรอินเดีย และเชื่อมโยงไปสู่พื้นที่อื่นด้วย
 
เมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างโปรเตสแตนต์และคาทอลิกซึ่งนำไปสู่สงคราม 30 ปีในยุโรป (The Thirty Years’ War: 1618-1648) ซึ่งถือเป็นความขัดแย้งที่ทำลายล้างครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์สงครามของยุโรป ฉากการช่วงชิงและทำลายล้างที่ Trincomalee และความพยายามที่จะบีบบังคับให้ทั้งชาวฮินดูและชาวพุทธเข้าถือรีตแบบโรมันคาทอลิก ซึ่งติดตามมาด้วยคลื่นแห่งการทำลายล้างศาสนสถานของทั้งฮินดูและพุทธ อีกหลายแห่งในศรีลังกา ก็ทวีความรุนแรงขึ้นด้วย
 
ความทรงจำว่าด้วยความรุ่งเรืองของสถาปัตยกรรมแห่งศาสนสถานฮินดูนาม Koneswaran หรือ The Temple of the Thousand Pillars แห่ง Trincomalee ซึ่งมีอายุยืนยาวมาตั้งแต่ 2-300 ปีก่อนคริสตกาล ถูกบุกเข้าทำลายล้างโดยกองกำลังจากเจ้าอาณานิคมโปรตุเกส เมื่อวันที่ 14 เมษายน 1622 ซึ่งถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวทมิฬ (Puthandu) พร้อมกับการสังหารหมู่ผู้คนในวิหารแห่งนี้ด้วย
 
เหตุการณ์สลดใจในวิหาร Koneswaran ครั้งนั้นได้รับการบันทึกว่าเป็นหนึ่งในการปล้นสะดมครั้งใหญ่ที่สุดที่กระทำต่อศาสนสถานที่มั่งคั่งและจำเริญที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชีย โดยทรัพย์สินไม่ว่าจะเป็นทองคำ ไข่มุก อัญมณี หรือแม้แต่ผ้าไหมซึ่งเป็นของสะสมของชุมชนมานานกว่า 1,000 ปี ถูกปล้นให้อันตรธานหายไปภายในเวลาไม่กี่อึดใจ
 
ขณะที่เศษซากของศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกทำลาย ถูกแปลงสภาพให้เป็นป้อมปราการของโปรตุเกส ในชื่อ Fort of Triquillimale (1624-1639) เพื่อเสริมความแข็งแกร่งในการป้องกัน ก่อนที่กองกำลังดัตช์ เจ้าอาณานิคมอีกราย จะขยายอิทธิพลเข้ามาและครอบครองป้อมปราการแห่งนี้ พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น Fort Fredrick พร้อมกับการขยายขนาดเพื่อป้องกันกองกำลังของอังกฤษและฝรั่งเศส ที่กำลังคืบคลานเข้ามา
 
คลื่นสะท้อนแห่งสงคราม 30 ปี ในยุโรปส่งให้ทั้ง Trincomalee และศรีลังกาต้องวนเวียนอยู่กับคู่ขัดแย้งจากแดนไกลที่มาอาศัยดินแดนแห่งนี้เป็นฉากหลังสร้างสมรภูมิปะทะและช่วงชิงกันอย่างยาวนานอีกกว่า 3 ศตวรรษเลยทีเดียว
 
ขณะที่ในประวัติศาสตร์ร่วมสมัย โดยเฉพาะในช่วงปลายของสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สมรภูมิ วงศ์ไพบูลย์แห่งมหาเอเชียบูรพา ได้ขยายเข้าสู่มหาสมุทรอินเดียหลังจากที่กองทัพญี่ปุ่นกรีธาทัพเข้ายึดสิงคโปร์ได้อย่างเบ็ดเสร็จ อังกฤษได้อาศัย Trincomalee เป็นทั้งฐานทัพเรือและฐานทัพอากาศเพื่อเร่งรณรงค์ในการสงคราม ก่อนที่ญี่ปุ่นจะส่งฝูงบินเข้าโจมตีและสร้างความเสียหายอย่างหนัก และทำให้โบราณสถานอีกหลายแห่งของ Trincomalee พังทลายลงไป
 
ซากเมืองเก่าของ Trincomalee ซึ่งพังทลายไปทั้งจากผลแห่งสงครามในแต่ละช่วงสมัยผนวกกับความโทรมทรุดทางกายภาพและกาลเวลา ได้รับการปลุกให้ตื่นขึ้นและค้นคว้าอย่างจริงจังอีกครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่สองสงบลง โดยนักโบราณคดีทางทะเล รวมถึง Arthur C.Clarke นักประพันธ์นิยายวิทยาศาสตร์ชื่อก้อง ได้พบประติมากรรมสมัยอาณาจักร Chola (ค.ศ.850-1250) และซากเมืองเก่าบริเวณรอบอ่าว Trincomalee และทำให้การศึกษาประวัติศาสตร์ของ Trincomalee และวิหาร Koneswaran ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง
 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ Arthur C.Clarke (1917-2008) ซึ่งมาใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่ที่ศรีลังกา (ช่วงปี 1956-2008) ได้บรรยายประสบการณ์และสิ่งที่เขาได้พบจากการดำน้ำที่ Trincomalee ไว้ใน “The Reefs of Taprobane: 1957” รวมทั้งยังอาจนำแรงบันดาลใจจาก Trincomalee มาเป็นพื้นฐานในงาน 2001:  A Space Odyssey ของเขาด้วย
 
แต่เรื่องราวความเป็นไปของ Trincomalee ไม่ได้สิ้นสุดลงเพียงเท่านี้ เพราะหลังจากที่ศรีลังกาได้รับเอกราชในปี 1948 ความขัดแย้งระหว่างคนส่วนใหญ่ชาวสิงหลพุทธกับคนกลุ่มน้อยชาวทมิฬฮินดูก็เริ่มก่อตัวขึ้นและขยายวงออกไปจนกลายเป็นสงครามกลางเมืองที่ยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ และทำให้ Trincomalee ยังต้องอยู่กับฉากสงครามและความขัดแย้งต่อไป
 
ไม่นับรวมความพยายามของชาวสิงหลพุทธที่ระบุว่า บริเวณที่ตั้งของวิหาร Koneswaram เป็นศาสนสถานหรือวัดของชาวพุทธ เนื่องจากมีการประดิษฐานเจดีย์ ซึ่งยิ่งทำให้ความบาดหมางระหว่างสิงหลพุทธกับทมิฬฮินดูในพื้นที่หนักหน่วงขึ้นไปอีก
 
แม้ว่าในวันนี้สงครามกลางเมืองของศรีลังกาได้สิ้นสุดลงไปแล้ว และศรีลังกากำลังอยู่ระหว่างการสร้างบ้านแปงเมืองครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการเร่งระดมพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลให้เป็นท่าเรือขนาดใหญ่สำหรับการเป็นศูนย์กลางการเดินเรือเชื่อมต่อไปทั่วมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งในบรรดาเมืองท่าของศรีลังกาที่กำลังได้รับการพัฒนาอย่างเอิกเกริกนี้ Trincomalee มีข้อได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์ของที่ตั้งมากกว่าที่ใดๆ เลยทีเดียว
 
แต่ด้วยปมประวัติศาสตร์และความอ่อนไหวของทั้งการเมืองภายในประเทศและต่างประเทศที่แวดล้อมศรีลังกาอยู่นี้ อนาคตของ Trincomalee จึงดูเหมือนว่าอาจจะต้องตกอยู่ในวังวนของความขัดแย้งที่ไม่สิ้นสุดนี้ไปอีก
 
ต้องติดตามนะคะ