วันพฤหัสบดี, เมษายน 18, 2024
Home > Life > นิทรรศการเอมีล แบร์นารด์

นิทรรศการเอมีล แบร์นารด์

 

Column: From Paris

 

ญาติมิตรมาเที่ยวปารีส จะแนะนำให้ไปที่พิพิธภัณฑ์ออรองเจอรี (Musée de l’Orangerie) ซึ่งอยู่ในบริเวณสวนตุยเลอรีส์ (Jardin des Tuileries) การเดินทางไปที่ง่ายที่สุดคือนั่งรถใต้ดินสาย 1 ไปขึ้นสถานี Concorde เดินออกทางป้ายที่บ่งว่า Musée de l’Orangerie โผล่ขึ้นจะเป็นปลาซ เดอ ลา กงกอร์ด (Place de la Concorde) ที่มีแท่งหินโอเบลิสค์ (Obélisque) ของอียิปต์ กำแพงที่เห็นเป็นกำแพงสวนตุยเลอรีส์ Musée de l’Orangerie จะอยู่ทางขวามือ ต้องเดินเข้าสักนิด แล้วจะเห็นทางเดินขึ้นสูงไป หน้าพิพิธภัณฑ์ตั้งรูปปั้น Le baiser ของโอกุสต์ โรแดง (Auguste Rodin)

 

ไป Musée de l’Orangerie ครั้งสุดท้ายเมื่อเพื่อนมาเยือน ชมภาพสวนบัวขนาดใหญ่ที่โคล้ด โมเนต์ (Claude Monet) มอบให้เป็นของขวัญแก่รัฐบาลฝรั่งเศส มีสองห้อง ห้องละ 4 ภาพ เป็นสวนบัวที่เขียนต่างเวลาในแต่ละวัน เมื่อชมจนชื่นใจแล้ว เดินลงข้างล่างไปชมภาพเขียนซึ่งพ่อค้างานศิลป์สองคนมอบให้แก่รัฐ มีทั้งผลงานของปิแอร์โอกุสต์ เรอนัวร์ (Pierre-Auguste Renoir) ปาโบล ปิกัสโซ (Pablo Picasso) อองรี มาติส (Henri Matisse) อองเดร เดอแรง (André Derain) ซูติน ชาอิม (Chaïm Soutine) จอร์จส์ บราค (Georges Braque) มารี โลรองแซง (Marie Laurencin) โรแบรต์ เดอโลเนย์ (Robert Delaunay) ซอนยา เดอโลเนย์ (Sonia Delaunay) เป็นต้น

 

ที่ Musée de l’Orangerie จะจัดนิทรรศการจรเสมอ ในช่วงฤดูร้อนปี 2014 เป็นนิทรรศการผลงานของเอมีล แบร์นารด์ (Emile Bernard) ไม่เคยได้ยินชื่อนี้ จัดเป็นอาร์ติสต์ที่โลกลืม อาร์ติสต์ที่ไม่มีคนกล่าวถึงบ่อยนักมักจะถูกบดบังโดยอาร์ติสต์ดังในยุคเดียวกัน ดังเช่น จอร์แดนส์ (Jordaens) ซึ่งถูกรูเบนส์ (Rubens) เบียดถอยตกเวที หรือฟรองซัวส์ อองเดร แวงซองต์ (François André Vincent) ซึ่งถูก “บีบ” ระหว่างฟราโกนารด์ (Fragonard) และฌาคส์หลุยส์ ดาวิด (Jacques-Louis David) อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เห็นคุณค่าของอาร์ติสต์ที่โลกลืมเหล่านี้มักจะเป็นผู้บริหารพิพิธภัณฑ์ต่างๆ และพยายามชี้ชวนให้สาธารณชนได้ชื่นชมผลงาน

 

นิทรรศการ Emile Bernard ทำให้พบว่าจิตรกรผู้นี้เป็นมิตรใกล้ชิดกับปอล โกแกง (Paul Gauguin) และวินเซนต์ วาน โก๊ก (Vincent Van Gogh)

 

เอมีล แบร์นารด์เกิดที่เมืองลิล (Lille) ทางเหนือของฝรั่งเศส พ่อเป็นนักธุรกิจสิ่งทอ ต่อมาย้ายไปปารีส จึงเริ่มเรียนวาดเขียนกับแฟร์นองด์ กอร์มง (Fernand Cormon) ได้พบและสนิทสนมกับหลุยส์ อองเกอะแตง (Louis Anquetin) และอองรี เดอ ตูลูซโลเทรก (Henri de Toulouse-Lautrec) แต่แล้วเอมีล แบร์นารด์ก็ถูกไล่ออกจากโรงเรียน เขาเดินเท้าไปยังนอร์มองดี (Normandie) และเบรอะตาญ (Bretagne) ได้รู้จักกับเอมีล ชุฟเฟเนเคเกอร์ (Emile Schuffenecker) ซึ่งเขียนจดหมายแนะนำตัวให้ไปพบปอล โกแกง (Paul Gauguin) ที่ปงตาวอง (Pont-Aven)

 

ในช่วงฤดูหนาว 18861887 เอมีล แบร์นารด์ได้พบกับวินเซนต์ วาน โก๊ก (Vincent Van Gogh) ที่ปารีส เริ่มเขียนรูปแบบ pointillisme ใช้จุดจุดออกมาเป็นภาพ เขารักนอร์มองดีและเบรอะตาญ จึงเดินทางกลับไปอีก แล้วก็มาถึงจุดเปลี่ยน เลิกสไตล์ pointillisme มาเป็น cloisonnisme ตามแบบของหลุยส์ อองเกอะแตง เป็นการเขียนรูปคล้ายภาพกระจกสี

 

เอมีล แบร์นารด์เริ่มคุ้นเคยกับปอล โกแกงที่ Pont-Aven ในปี 1889 เขาส่งผลงานร่วมแสดงในนิทรรศการของกลุ่ม Pont-Aven ที่ Café Volpini 2 ใน 25 ภาพที่เขานำไปแสดงใช้นามแฝงว่า Ludovic Nemo

 

เมื่อครอบครัวเลิกให้ความสนับสนุนทางการเงิน เอมีล แบร์นารด์จึงไปพักกับย่าที่เมืองลิล ออกแบบลายผ้าให้โรงงานทอผ้าของเมืองรูเบซ์ (Roubaix) และเดินทางมาปารีสเพื่อร่วมพิธีศพของวินเซนต์ วาน โก๊ก เขาทะเลาะรุนแรงกับปอล โกแกง เพราะโกรธที่ฝ่ายหลังเอาความดีความชอบของกลุ่ม Pont-Aven ใส่ตัวเพียงผู้ดียว ความสัมพันธ์จึงขาดสะบั้นลง

 

เอมีล แบร์นารด์เดินทางไปอียิปต์ด้วยการสนับสนุนทางการเงินจากอองต็วน เดอ ลา โรชฟูโกท์ (Antoine de La Rochefoucault) และอยู่ที่นั่น 10 ปี เขียนภาพแบบ orientalisme เมื่อเดินทางกลับมาฝรั่งเศส ได้พบกับปอล เซซานน์ (Paul Cézanne) ที่เมืองเอ็กซ์อองโปรวองซ์ (Aix-en-Provence) เขาถือปอล เซซานน์เสมือน “ครู” และเขียนภาพหลายภาพเพื่อแสดงความเคารพ “ครู” จากจิตรกรก้าวหน้า ในบั้นปลายชีวิต เอมีล แบร์นารด์กลับมาเขียนภาพคลาสสิกหลังจากไปเห็นผลงานของมิเกลองจ์ (Michel-Ange) หรืออีกนัยหนึ่งไมเคิลแองเจโล ติเซียง (Titien) เอล เกรโก (El Greco)

 

ในปี 1933 Abbé Duparc ขอให้เอมีล แบร์นารด์เขียนภาพเฟรสโกประดับโบสถ์ Saint-Malo-de-Phily

 

นอกจากจะเป็นจิตรกรแล้ว เอมีล แบร์นารด์ยังเป็นนักเขียนด้วย บทกวีของเขารวมเล่ม ใช้นามแฝงว่า Jean Dorsal โดยมีกีโยม อะโปลลิแนร์ (Guillaume Apollinaire) เป็นผู้เขียนคำนำ

 

เอมีล แบร์นารด์ถึงแก่กรรมในปี 1941 ที่ปารีส

 

นิทรรศการ Emile Bernard ทำให้ได้รู้จักอารติสต์อีกคนหนึ่งที่มีผลงานเข้าตาทีเดียว