วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Life > ควบคุมความอยาก (อาหาร) ให้อยู่หมัด

ควบคุมความอยาก (อาหาร) ให้อยู่หมัด

 
เชื่อว่าหลายคนคงเคยมีประสบการณ์ที่ว่า จู่ๆ เกิดนึกอยากอาหารบางประเภทขึ้นมาอย่างติดหมัด ถึงขนาดลงทุนขับรถระยะทางไกลไปยังร้านสะดวกซื้อที่เปิดบริการ 24 ชั่วโมง เพื่อซื้อคุกกี้ยี่ห้อที่เจาะจงต้องมีช็อกโกแลตและครีมสอดไส้อย่างที่ชอบเท่านั้น
 
พฤติกรรมความอยากอาหารนี้ จัดว่ามีความเป็นสากลที่เกิดได้กับทุกคน โดยเฉพาะคุณสาวๆ อายุระหว่าง 18–35 ปี ซึ่งมีงานวิจัยระบุว่า ทุกคนยอมรับว่าในรอบปีที่ผ่านมา ต่างมีประสบการณ์อยากอาหารอะไรสักอย่างหนึ่งมาแล้วทั่วหน้า 
 
เมื่อเร็วๆ นี้ นักวิทยาศาสตร์และนักกำหนดอาหาร ได้เปิดเผยกลไกที่ทำให้เกิดความรู้สึกอยากอาหาร และค้นพบวิธีควบคุมความอยาก ทั้งที่เกิดขึ้น ณ เวลานั้นและในระยะยาวได้ด้วย
 
ความอยาก (อาหาร) คืออะไร
Marcia Pelchat, Ph.D., แห่ง Monell Chemical Senses Center ที่ฟิลาเดลเฟีย อธิบายว่า “นักวิจัยส่วนใหญ่ให้นิยามความอยากว่า เป็นความปรารถนาอย่างรุนแรงที่จะบริโภคอาหารนั้นๆ ให้ได้ จนเกือบจะเรียกว่าเป็นความหมกมุ่นก็ว่าได้ คือจะคิดถึงอาหารนั้นๆ อยู่ตลอดเวลา”
 
เธอกล่าวเพิ่มเติมว่า มันไม่ใช่ความหิว “เมื่อคุณรู้สึกหิว อาจมีอาหารที่ชอบเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่อาหารที่บริโภคอาจมีความหลากหลายกว่า ขณะที่ความอยากมีความจำหรือความคาดหวังในอาหารนั้นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง และทำให้คุณพึงพอใจในเวลานั้น เช่น คุกกี้ยี่ห้อโปรดที่ต้องมีช็อกโกแลตและครีมสอดไส้อย่างที่เคยบริโภคเท่านั้น”
 
ที่สำคัญ ความอยากไม่ใช่การส่งสัญญาณความต้องการอาหารชนิดหนึ่งชนิดใด “แต่เป็นประสบการณ์เชิงจิตวิทยา”
 
ความอยากมาจากไหน
ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากเห็นพ้องกันว่า ความอยากเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ ความจำ และการตอบสนองโดยสัญชาตญาณต่อสิ่งที่ได้บริโภคไปเมื่อไม่นานมานี้ ผลการศึกษาหลายชิ้นบ่งชี้ว่า ความอยากและยาเสพติด ล้วนก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อสมองบริเวณเดียวกัน นั่นคือ hippocampus, caudate และ insula
 
Lauren Slayton, R.D., ผู้ก่อตั้งสถาบัน Foodtrainers ที่นิวยอร์กซิตี้ และผู้เขียนหนังสือ The Little Book of Thin กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คุณรู้สึกอยากอาหารที่ทำให้คุณมีประสบการณ์แห่งความสุขขึ้นอีก
 
สอดคล้องกับที่ Pelchat ชี้ว่า ไม่มีใครอยากอาหารที่ไม่เคยบริโภคมาก่อน คุณต้องเคยเรียนรู้มาแล้วว่า อาหารนั้นๆ รสชาติเป็นอย่างไร จึงเกิดความรู้สึกอยากบริโภคอีกในภายหลัง
 
Pelchat ยังกล่าวต่อไปว่า นอกจากอาหารอร่อยถูกปากที่ทำให้อยากบริโภคอีก ความเคยชินจากการบริโภคอาหารซ้ำๆ ต่อเนื่องกัน ก็ทำให้คุณอยากอาหารได้เช่นกัน เห็นได้จากการทดลองให้กลุ่มตัวอย่าง “บริโภคอาหารเหลวน่าเบื่อ” ติดต่อกัน 5 วัน เธอประหลาดใจที่พวกเขาอยากอาหารน่าเบื่อนี้อีก และซื้อติดมือกลับมาอีก 6 กล่อง เป็นการยืนยันว่า “บางครั้งการที่คุณนึกอยากอาหารชนิดนั้นๆ ไม่ได้เป็นเพราะคุณติดใจในรสชาติความอร่อย แต่เป็นเพราะคุณเคยชินกับการได้บริโภคอาหารนั้นๆ เช่น การที่คุณเคยชินกับการบริโภคข้าวโอ๊ตเป็นอาหารเช้าทุกวันนั่นเอง”
 
ความอยากอาหารยังเกิดขึ้น เมื่อคุณถูกจำกัดอาหาร หรือถูกห้ามบริโภคอาหารนั้นๆ ซึ่ง Pelchat และนักวิจัยคนอื่นๆ เปิดเผยผลการวิจัยว่า คนมักอยากในรสชาติของอาหารที่ถูกห้ามบริโภค เช่น ห้ามกลุ่มตัวอย่างบริโภคช็อกโกแลตรสโปรดเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ พวกเขานอกจากจะอยากบริโภคช็อกโกแลตรสนั้น ยังรู้สึกหงุดหงิดด้วย ทั้งที่บริโภคอาหารอื่นๆ ได้เต็มที่ และไม่ขาดสารอาหารด้วย
 
วิธีควบคุมความอยาก (อาหาร)
ผลการศึกษาของศูนย์  Jean Mayer USDA Human Nutrition Research Center on Aging  แห่งมหาวิทยาลัยทัฟต์ ระบุว่า ร้อยละ 94 ของกลุ่มตัวอย่างยอมรับว่า ยังรู้สึกอยากอาหารระหว่างเข้าคอร์สควบคุมอาหารอย่างเข้มงวดนาน 6 เดือนแต่พวกเขายังสามารถลดน้ำหนักตัวได้ ด้วยการเรียนรู้ที่จะควบคุมความอยาก
 
Slayton กล่าวว่า สิ่งสำคัญอยู่ที่คุณจัดการกับความรู้สึกกระวนกระวายใจ เมื่อเกิดความอยากอาหารได้ดีเพียงใด
 
Evan Forman, Ph.D., ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเดร็กเซล และผู้เชี่ยวชาญด้านความอยากอาหารแห่ง Lab for Innovations in Health–Related Behavior Change สรุปว่า เทคนิคการควบคุมความอยากอาหาร มีลักษณะเฉพาะตัวพอๆ กับความอยากอาหาร คุณจึงต้องลองผิดลองถูก เพื่อหาวิธีที่เหมาะกับตนเองให้ได้
 
“เทคนิคที่แตกต่างย่อมเหมาะกับแต่ละคน คุณจึงต้องหาวิธีที่ดีที่สุดให้กับตนเองให้ได้”
 
ผลการศึกษาชิ้นหนึ่งแนะนำว่า ให้คุณเล่นเกมอะไรสักอย่างหนึ่งก่อนจะถูกความอยากอาหารครอบงำ แล้วคุณจะต่อต้านความอยากได้ดีขึ้น นั่นคือ คุณต้องตัดสินใจว่า จะต่อสู้กับความอยาก หรือจะยอมแพ้ แล้วรีบปฏิบัติตามความอยากโดยทันที ซึ่งถ้าคุณทำอย่างถูกต้องเหมาะสม จะเลือกวิธีใดก็ไม่ผิดกติกา
 
ที่มา : นิตยสาร Shape
Column: Well – Being
เรียบเรียง: ดรุณี แซ่ลิ่ว