วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
Home > Cover Story > “เซ็นทรัล” ชิง “ดิสทริค” คิกออฟกลยุทธ์บิ๊กโฟร์

“เซ็นทรัล” ชิง “ดิสทริค” คิกออฟกลยุทธ์บิ๊กโฟร์

 
การผนึกกำลังของ 4 แมกเน็ตในเครือเซ็นทรัล กรุ๊ป คือ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ห้างสรรพสินค้าเซน ห้างเซ็นทรัลชิดลม และศูนย์การค้าเซ็นทรัลเอ็มบาสซี ระเบิดแคมเปญ “Central Celebration in Bangkok”  ไม่ใช่แค่การตอกย้ำความเป็นศูนย์กลางแห่งการเฉลิมฉลองระดับโลกบนชอปปิ้งสตรีทที่ยาวที่สุดใจกลางกรุงเทพฯ แต่ยังเป็นการคิกออฟกลยุทธ์ “Big Four” ที่จะเปิดฉากการแย่งชิง “Shopping District” ชนคู่แข่ง “เดอะมอลล์กรุ๊ป” ที่กำลังปลุกปั้น “ดิ เอ็ม ดิสทริค (The EM District)” อย่างเข้มข้น
 
เฉพาะแคมเปญแรกทุ่มเม็ดเงิน 1,000 ล้านบาท โหมโรงตลอดเดือนธันวาคมยาวถึงกลางเดือนมกราคม เริ่มตั้งแต่การตกแต่งศูนย์และลานหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ในฐานะ “แลนด์มาร์คแห่งเทศกาลคริสต์มาสและงานเคาท์ดาวน์ปีใหม่ของประเทศ” ซึ่งเป็นซิกเนเจอร์อีเวนท์ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก ภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘UNIVERSE OF HAPPINESS’ ประดับบอลลูนสนูปปี้ยักษ์สูงกว่าตึก 3 ชั้นและกองทัพสนูปปี้ แคมเปญลดราคาสินค้าต้นตำรับ “มิดไนท์เซลส์” ฉาบไฟตึกห้างเซ็นทรัลชิดลมทั้งตึก และยาวต่อเนื่องมาจนถึงศูนย์การค้าเซ็นทรัลเอ็มบาสซี รวมถึงกิจกรรมอีเวนท์ที่ตั้งเป้าดึงลูกค้าต่างชาติให้ได้มากที่สุด
 
ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ “ซีพีเอ็น” กล่าวว่า เซ็นทรัล กรุ๊ป สามารถยึดพื้นที่ชอปปิ้งสตรีทตั้งแต่ถนนเพลินจิตถึงสี่แยกราชประสงค์ โดยขณะนี้มีจิ๊กซอว์ครบทุกไลฟ์สไตล์ และโครงการเซ็นทรัลเอ็มบาสซีถือเป็นจิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายที่เข้ามาเติมเต็มความเป็น “ลักชัวรี่ไลฟ์สไตล์” หลังจากนี้ทั้ง 4 แมกเน็ตจะทำแคมเปญร่วมกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำเหมือนเดิม เพื่อสร้างจุดแข็งใหม่ คือ Central Shopping District 
 
ทั้งนี้ ตามวิสัยทัศน์ของกลุ่มจิราธิวัฒน์ต้องการปลุกปั้น “เซ็นทรัลเอ็มบาสซี” เป็นจุดแข็งใหม่ในฐานะสัญลักษณ์แห่งเมืองที่หากไม่มาชมเหมือนมาไม่ถึง  
 
รูปแบบโครงการเน้นสไตล์สถาปัตยกรรมเชิงสัญลักษณ์ (Iconic Building ) เทียบชั้นมหานครทั่วโลกที่มีงานสถาปัตยกรรมเลื่องชื่อ เทียบชั้นพิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮมน์ บิลเบา แห่งสเปน เบิร์จ อัล อาหรับ ดูไบ มารีนา เบย์ แซนด์ สิงคโปร์ และสปรูซ สตรีท แห่งนิวยอร์ก 
 
แต่ระยะเวลาเกือบปีของเอ็มบาสซีดูเหมือนยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายเท่าใดนัก จนกระทั่งมีความพยายามปรับทั้งตัวบุคคลและยุทธศาสตร์ต่างๆ 
 
ก่อนหน้านี้ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี อยู่ภายใต้การบริหารจัดการดูแลของชาติ จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการโครงการ บุตรชายของสุทธิชาติ จิราธิวัฒน์ แต่ล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน เซ็นทรัล กรุ๊ป ปรับชาติ จิราธิวัฒน์  ไปรับตำแหน่งผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายพื้นที่เช่าบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น โดยดึงบรม พิจารณ์จิตร ลูกชายของยุวดี พิจารณ์จิตร ผู้บริหารห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลดีพาร์ทเมนท์สโตร์ เข้ามานั่งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการโครงการแทน 
 
จริงๆ แล้ว บรม พิจารณ์จิต หลังเรียนจบปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์จากเบทส์ คอลเลจ สหรัฐอเมริกา กลับมาทำงานไฟแนนซ์กับจีอี มันนี่ ได้ 2 ปี ก็เข้ามาทำงานที่เซ็นทรัล โดยร่วมโปรเจ็กต์สร้างเอ็มบาสซีตั้งแต่ 3-4 ปีที่แล้ว จับงานด้านลิสซิ่ง บริหารพื้นที่หน้าร้านและการตลาด แล้วใช้เวลาช่วงหนึ่งปลุกปั้นโครงการ “ศิวิไล” (SIWILAI) มัลติแบรนด์สโตร์สัญชาติไทยแห่งแรก บนพื้นที่ชั้น 5 ของเซ็นทรัล เอ็มบาสซี
 
ผลงานของ “ศิวิไล” เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ใหญ่ของตระกูลไว้ใจให้เข้ามาปลุกปั้น “เซ็นทรัลเอ็มบาสซี” ให้เป็นศูนย์การค้าแนว “ลักชัวรี่ไลฟ์สไตล์” เชิงสถาปัตยกรรม หรือ The most Iconic Building ไม่ใช่แค่สินค้าและบริการที่หรูหราเท่านั้น แต่อาศัยเพียงความคิดแบบคนหนุ่มไฟแรงย่อมไม่เพียงพอแน่ และคือที่มาของกลยุทธ์ “Big Four” เพื่อเสริมความแข็งแกร่งมากขึ้น
 
ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา บรมประเดิมแคมเปญใหญ่ปลุกเซ็นทรัลเอ็มบาสซี โดยทุ่มงบ 250 ล้านบาท จัดงาน “Siwilai presents Le Cabinet De Curiosites of Thomas Erber 2014 at Central Embassy” กิจกรรมการตลาดระดับเวิลด์คลาสที่ผสานความเป็นไทย ในรูปแบบไลฟ์สไตล์ เฟสติวัลครั้งแรกแห่งเอเชีย โดยจับมือกับโทมัส เออร์เบอร์ ผู้มีชื่อเสียงด้านศิลปะและแฟชั่น ซึ่งโทมัส เออร์เบอร์ เคยจัดงานดังกล่าวที่ปารีส, ลอนดอน, เบอร์ลิน และนิวยอร์ก 
 
ครั้งนี้ บรมสามารถดึงเออร์เบอร์มาจัดงานครั้งที่ 5 ในเมืองไทย ระดมผลงานจากหลากหลายแบรนด์ระดับโลกมาจัดแสดงกว่า 70 แบรนด์ จาก 20 กว่าประเทศทั่วโลก มีทั้งแฟชั่น, งานดีไซน์, เครื่องประดับชั้นสูง, งานออกแบบ, ศิลปะ, เพนติ้ง และภาพถ่าย เรียกว่าสร้างความตื่นตาตื่นใจและสร้างแบรนด์ “เอ็มบาสซี” ในกลุ่มเศรษฐีและชาวต่างชาติ 
 
อย่างไรก็ตาม บรมยอมรับว่ากลุ่มลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการยังต่ำกว่าเป้าหมาย โดยวันธรรมดามีลูกค้าหมุนเวียนเฉลี่ย 15,000 คนต่อวัน วันหยุด เสาร์-อาทิตย์  20,000 คนต่อวัน จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 30,000-40,000 คนต่อวัน แต่มั่นใจว่า ปี 2558 ยอดลูกค้าจะปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนทะลุเป้า
 
แน่นอนว่า การจับมือ 4 แมกเน็ต ใช้จุดแข็งด้านทำเลที่ตั้งปลุกปั้น Central Shopping District กลายเป็นการเปิดศึกชนคู่แข่ง “เดอะมอลล์” ในฐานะผู้ริเริ่มแนวคิดการสร้าง “District” เป็นยุทธศาสตร์หลักในสงครามค้าปลีกรอบใหม่ 
 
ตามแผนสร้าง District หรือย่านการค้า ศูนย์กลางธุรกิจ และแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของศุภลักษณ์ อัมพุช  รองประธานกรรมการ บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด และประธานกรรมการ บริษัท ดิ เอ็มโพเรียม กรุ๊ป จำกัด ในการเปิดตัวโครงการ “ดิ ดิสทริค เอ็ม (The District Em)” จะเน้นเอกลักษณ์และจุดขายของ 3 โครงการใหญ่ คือ ดิ เอ็มโพเรียม (The Emporium) จะเป็นที่สุดแห่งการชอปปิ้งอย่างมีระดับ หรือ “The Ultimate Shopping Complex”, ดิ เอ็มควอเทียร์ (The EmQuartier)จะเป็นมิติใหม่ของรูปแบบการใช้ชีวิต หรือ The Extraordinary Life และ ดิ เอ็มสเฟียร์ (The Emsphere) จะเป็นความเร้าใจใหม่ของคนกรุงเทพฯ หรือ The Vibe of Bangkok has never experienced before ซึ่งจะฉีกธุรกิจศูนย์การค้าให้ต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ณ ทำเลย่านสุขุมวิท เนื้อที่   50 ไร่ พื้นที่โครงการ 650,000 ตารางเมตร งบลงทุนไม่รวมค่าที่ดิน มูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท
 
จุดขายที่ศุภลักษณ์ภูมิใจมากไม่ใช่แค่การสร้างศูนย์กลางชอปปิ้ง แต่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ โดยเฉพาะเดอะ ควอเทียร์ ฟอล น้ำตกที่มีความสูงกว่า 40 เมตรแห่งแรกในเอเชีย  และสวนลอยฟ้า “ควอเทียร์ วอเตอร์ การ์เดน” ซึ่งเป็นไลฟ์สไตล์ที่อยู่เหนือคู่แข่งในย่านเดียวกันทั้งหมด 
 
เทียบชั้นเชิงหมัดต่อหมัด จากชอปปิ้งสตรีทสู่ชอปปิ้งดิสทริค กลยุทธ์บิ๊กโฟร์ของเซ็นทรัลเพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น และที่สำคัญมีโครงการหลายหมื่นล้านเป็นเดิมพันด้วย