วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
Home > On Globalization > ล่วงละเมิดทางเพศหรือมนุษยสัมพันธ์ดี

ล่วงละเมิดทางเพศหรือมนุษยสัมพันธ์ดี

 
 
การล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงานเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในทุกประเทศ ถึงแม้ว่าเกือบทุกประเทศจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และออกกฎหมายมาเพื่อคุ้มครองลูกจ้างทุกคน แต่ก็ยังมีลูกจ้างจำนวนไม่น้อยที่ยังถูกล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อมีทั้งออกมาร้องเรียนต่อหัวหน้า และผู้ที่ไม่กล้าร้องเรียนเพื่อเอาผิดผู้ที่พยายามล่วงละเมิดทางเพศพวกเขา 
 
ส่วนหนึ่งที่ทำให้ลูกจ้างหลายๆ คนไม่กล้ารายงานเกี่ยวกับการถูกล่วงละเมิดในที่ทำงานให้หัวหน้าระดับสูงได้รับรู้ก็เพราะ  1) พวกเขาไม่มั่นใจว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นถือเป็นการล่วงละเมิดทางเพศหรือไม่ เพราะถ้าพวกเขารายงานไปแล้ว ผู้ที่ทำการล่วงละเมิดทางเพศออกมาแก้ว่า เป็นการเข้าใจผิด เขาไม่ได้ทำการล่วงละเมิดทางเพศใดๆ ทั้งสิ้น เพียงแต่เป็นการหยอกเล่นเท่านั้น ก็อาจจะทำให้ผู้ที่ร้องเรียนเกิดความอับอาย และเพื่อนร่วมงานอาจจะคิดว่าตัวผู้ร้องเรียนอาจจะคิดมากไปเอง และทำให้ในที่สุดไม่มีใครกล้าเข้ามาเล่นด้วย ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงแล้วผู้ร้องเรียนอาจจะเข้าใจถูกต้องแล้วว่าตัวเองถูกล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงานจริงๆ
 
และ 2) ผู้ที่ทำการล่วงละเมิดทางเพศนั้นเป็นหัวหน้างาน ทำให้ลูกจ้างหลายๆ คนกลัวที่จะร้องเรียนต่อบริษัทว่าพวกเธอถูกหัวหน้างานล่วงละเมิดทางเพศ เพราะการร้องเรียนอาจจะส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงานที่พวกเธอทำอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพวกเธอร้องเรียนไปแล้ว เกิดบริษัทตัดสินว่า ไม่เป็นการล่วงละเมิดทางเพศผู้ที่เป็นหัวหน้าก็อาจจะหาทางกดดันจนพวกเธอต้องลาออกจากงานในที่สุด
 
สองเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ลูกจ้างส่วนใหญ่ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงานตัดสินใจที่จะเก็บเรื่องนี้ไว้กับตัวและไม่แจ้งให้หัวหน้ารับทราบ
 
เรื่องการล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงานเป็นเรื่องที่นายจ้างและเจ้าของบริษัทไม่ควรละเลยหรือวางเฉย เพราะถ้าหากมีการล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้นในที่ทำงานแล้ว และไม่มีการจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง ก็อาจจะทำให้ลูกจ้างหลายๆ คนตัดสินใจลาออกจากงานที่ทำอยู่ และทำให้บริษัทอาจจะเสียบุคลากรที่สำคัญไป
 
อย่างที่กล่าวไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า เรื่องการถูกล่วงละเมิดในที่ทำงานนั้นเกิดขึ้นในทุกประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และฝรั่งเศส เป็นต้น ซึ่งในบทความนี้จะขอกล่าวถึงเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงานที่ประเทศนิวซีแลนด์ เพราะเพิ่งเกิดเป็นข่าวใหญ่เมื่อช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา 
 
ก่อนอื่นต้องขอบอกก่อนว่า ที่ประเทศนิวซีแลนด์นี้ให้ความสำคัญกับเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะในสถานศึกษา เช่นโรงเรียนและมหาวิทยาลัย เป็นต้น หรือในที่ทำงาน ถ้าหากคุณเดินเข้าไปในองค์กรต่างๆ ของภาครัฐ คุณจะไม่แปลกใจเลยว่าคุณจะต้องเห็นโปสเตอร์อย่างน้อยหนึ่งแผ่นที่กล่าวถึงเรื่องของการล่วงละเมิดทางเพศ ที่ให้คำแนะนำวิธีการร้องเรียนไปยังบุคคล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะช่วยเหลือผู้ถูกกระทำทางเพศ
 
ประเทศนิวซีแลนด์ถูกจัดให้อยู่ในอันดับต้นๆ ของโลกให้เป็นประเทศที่มีช่องว่างระหว่างผู้ชายและผู้หญิงน้อยที่สุด หรือกล่าวสั้นๆ ว่า นิวซีแลนด์เป็นประเทศที่ผู้หญิงมีสิทธิเกือบจะเทียบเท่ากับผู้ชายในทุกๆ ด้าน เห็นได้อย่างชัดเจนจากการที่ประเทศนี้มีนายกรัฐมนตรีหญิงมาแล้วถึง 2 คนด้วยกัน
 
ดังนั้นคนนิวซีแลนด์จึงให้ความสำคัญกับเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศเป็นอย่างมาก กฎหมายของประเทศนี้ได้ระบุไว้ว่า ไม่ว่าจะเป็นบริษัทหรือองค์กรใดๆ ก็ตาม จะต้องมีการจัดตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบรับเรื่องร้องเรียนจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศในองค์กรนั้นๆโดยเฉพาะ และชื่อของผู้ที่ทำการร้องเรียนจะต้องถูกปิดไว้เป็นความลับ
 
จากที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น เมื่อช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา มีข่าวที่ชาวนิวซีแลนด์พูดถึงเป็นอย่างมากเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศในที่ The Canterbury Earthquake Recovery Authority หรือที่เรียกย่อๆ ว่า CERA หน่วยงานนี้ทำหน้าที่ในการประสานงานในการสร้างตึกต่างๆ ในเมืองไครสเชิร์ช และบริเวณรอบๆ ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว เมื่อวันที่  22 กุมภาพันธ์ 2554 นอกจากนี้ CERA มีอำนาจในการระงับหรือแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูและดูแลให้เมืองไครสเชิร์ช กลับมาเหมือนเดิมหลังจากที่เผชิญกับแผ่นดินไหวครั้งใหญ่
 
นาย Roger Sutton ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของ CERA ได้ถูกร้องเรียนจากพนักงานหญิงในระดับอาวุโสที่ทำงานอยู่ที่นั่นว่า เธอถูกล่วงละเมิดทางเพศจากนาย Roger เธอได้อธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ในคำร้องเรียนว่า Roger มีการพูดคุยเรื่องตลกที่ไม่เหมาะสม อย่างเช่นเรื่องของการมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น และยังมีการถูกเนื้อต้องตัว เช่น การกอด โดยที่เธอไม่ยินยอม ซึ่งการกระทำเหล่านี้ถือเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ และได้เกิดขึ้นมานานแล้วด้วย เพียงแต่ไม่มีใครกล้าร้องเรียน นาย Roger เกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะเขาเป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กร
 
หลังจากที่พนักงานหญิงคนนี้ได้ร้องเรียนไปที่ นาย Lain Rennie ซึ่งเป็น State Services Commissioner ที่ดูแลคำร้องเรียนในครั้งนี้ ได้ออกมากล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า หลังจากที่มีการร้องเรียนถึงนาย Roger เกี่ยวกับพฤติกรรมของเขา ก็มีพนักงานหญิงคนอื่นๆที่ทำงานอยู่ในองค์กรเดียวกัน เริ่มออกมาเป็นพยานยืนยันเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น พวกเธอยืนยันว่า นาย Roger ชอบเข้ามากอด ทั้งๆ ที่พวกเธอไม่ได้ต้องการการทักทายลักษณะนี้ และยิ่งไปกว่านั้น นาย Roger ยังชอบเรียกพวกเธอว่า “ที่รัก” (ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า sweetie หรือ honey) อีกด้วย 
 
สำหรับตัวนาย Roger เองนั้น หลังจากที่เขารับรู้ว่าโดนร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในที่ทำงาน ทำให้นาย Roger ตัดสินใจแถลงข่าวเกี่ยวกับการร้องเรียนในครั้งนี้เมื่อสิ้นเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว เขาได้อธิบายเกี่ยวกับพฤติกรรมของเขาว่า เขาเป็นคนที่มนุษยสัมพันธ์ดี เวลาที่เจอใครๆ จึงชอบที่จะเข้าไปกอด (ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่า สำหรับฝรั่งแล้ว เวลาที่เจอคนรู้จักกันหรือเวลาที่ลาจากกัน พวกเขาชอบที่จะเข้ามากอด หอมแก้มกันเป็นเรื่องปกติ เสมือนการทักทายด้วยการไหว้) และสำหรับนาย Roger เอง เขาก็เรียกผู้หญิงทุกคนว่า “ที่รัก” อยู่แล้ว ทำให้เขาไม่ได้มองว่าการกระทำของเขานั้นเป็นการล่วงละเมิดทางเพศแต่อย่างใด แต่ถ้าหากว่าพฤติกรรมของเขาทำให้คนในที่ทำงานรู้สึกอึดอัดและไม่ชอบใจเขาก็ต้องขอโทษไว้ ณ ที่นี้ด้วย 
 
ในขณะเดียวกันนาย Roger ก็ยอมรับว่า หลังจากที่มีการร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเขาในที่ทำงาน ทำให้ตอนนี้เขาต้องไปพบจิตแพทย์เพื่อปรึกษาเกี่ยวกับ การพูดเล่นหรือล้อเล่นที่ไม่เหมาะสม และตอนนี้เขาก็ยอมรับว่า การที่เขาเรียกผู้หญิงในที่ทำงานทุกคนว่า “ที่รัก” นั้น ถือเป็นการดูถูกผู้หญิงเช่นกัน
 
เนื่องจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเขาเหล่านี้ ทำให้นาย Roger ตัดสินใจลาออกจากการเป็นผู้บริหารระดับสูงของ CERA ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2558 เป็นต้นไป และในระหว่างนี้นาย John Ombler จะทำหน้าที่เป็นผู้บริหาร CERA แทน Roger จนกว่าจะถึงสิ้นเดือนมกราคม 
 
เหตุการณ์ในครั้งนี้ได้กลายเป็นข่าวใหญ่ที่มีการเผยแพร่ผ่านสื่อและโลกออนไลน์อย่างกว้างขวาง นาย Jackie Blue ซึ่งมีตำแหน่งเป็น Equal Employment Opportunities Commissioner ได้เกิดความกังวลว่าผู้ร้องเรียนจะถูกเปิดเผยตัวตน ซึ่งถือเป็นการทำผิดกฎหมายนิวซีแลนด์ นาย Blue จึงได้เรียกร้องให้ Rennie ซึ่งเป็นผู้ดูแลการร้องเรียนในครั้งนี้ให้ออกมาอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ 
 
นอกจากนี้ WorkSafe NZ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยของลูกจ้างทุกคน ได้ออกมาให้ความรู้เกี่ยวกับการถูกล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงานว่า การที่จะตัดสินว่า การกระทำนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นการล้อเล่น การใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสม หรือการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอย่างการกอด การหอมแก้มนั้น เป็นการล่วงละเมิดทางเพศหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าผู้ที่ถูกกระทำนั้นยอมรับได้กับการกระทำนั้นๆ หรือไม่ 
 
ยกตัวอย่างเช่น ถ้านายจ้างเป็นคนเคยชินกับการกอดคนอื่นๆ เวลาที่พบเจอกัน ก็อาจจะเผลอไปกอดพนักงานผู้หญิงเข้า ถ้าหากพนักงานหญิงคนนั้นคุ้นเคยกับการกอดทักทายก็อาจจะไม่มีปัญหา แต่ถ้าหากพนักงานหญิงคนนั้นไม่ได้ชอบที่นายจ้างจะมาถูกเนื้อต้องตัว และทำให้เธอรู้สึกอึดอัดกับพฤติกรรมเหล่านี้ ก็ถือว่าการกระทำเหล่านี้เป็นการล่วงละเมิดทางเพศ
 
ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดคือ พยายามวางตัวให้ดี โดยการใช้คำพูดที่สุภาพ พูดคุยกันในเรื่องที่ไม่ล่อแหลมหรือส่อไปในทางเพศ และพยายามไม่ถูกเนื้อต้องตัวกัน ถ้าหากว่ามีการทำงานด้วยกันมานาน ก็ควรที่จะถามก่อนว่า พวกเธอรับได้หรือไม่หากหัวหน้าผู้ชายต้องการจะกอดเพื่อทักทายหรือกล่าวลา
 
สำหรับเมืองไทยเองก็เช่นกัน หลายๆ ครั้งที่คนเป็นหัวหน้างานผู้ชายอาจจะรู้สึกสนิทสนมกับลูกน้องที่เป็นผู้หญิง ทำให้อาจจะมีการพูดคุยหยอกล้อในเรื่องที่ไม่เหมาะสมและอาจมีการถูกเนื้อต้องตัวกันบ้าง ซึ่งหัวหน้างานผู้ชายก็ควรจะมีความระมัดระวังในเรื่องนี้ เพราะอาจจะทำให้ลูกน้องผู้หญิงรู้สึกอึดอัดและรู้สึกว่าเธอกำลังถูกล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงานก็เป็นได้
 
การกระทำในรูปแบบเดียวกันแต่กระทำต่างบุคคลและต่างสถานที่ก็จะถูกมองในรูปแบบที่แตกต่างกัน การกอดกับเพื่อนในร้านอาหารหรือที่บ้านอาจจะมองว่าเป็นคนมนุษยสัมพันธ์ดี แต่การกอดกับเพื่อนร่วมงานในที่ทำงานอาจจะถูกมองว่ากำลังจะล่วงละเมิดทางเพศพนักงานคนนั้น ดังนั้นก่อนที่จะพูดหรือกระทำใดๆ จึงควรคิดถึงความเหมาะสมของสถานที่นั้นๆ ด้วย
 
 
 
นาย Roger Sutton ผู้บริหารระดับสูงของ CERA ที่ถูกร้องเรียนเรื่องพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในที่ทำงาน
 
 
 
มหาวิทยาลัย Pacific Lutheran ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่โปสเตอร์นี้เพื่อรณรงค์ไม่ให้มีการล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัย
 
 
 
องค์กร Working Women’s Resource Centre ที่ประเทศนิวซีแลนด์ได้เผยแพร่โปสเตอร์ตัวนี้ในปี 2532 เพื่อรณรงค์ให้บริษัทต่างๆ ให้ความสำคัญกับเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศนิวซีแลนด์ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มานานแล้ว