วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
Home > On Globalization > อัฟกานิสถาน ประเทศที่ผู้หญิงไม่มีตัวตน

อัฟกานิสถาน ประเทศที่ผู้หญิงไม่มีตัวตน

Column: Women in Wonderland

คงเคยได้ยินประโยคที่ว่า อัฟกานิสถานเป็นประเทศที่แย่สุดในการอยู่อาศัยถ้าหากคุณเป็นผู้หญิง เพราะอัฟกานิสถานเป็นประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และใช้กฎหมายของศาสนาอิสลามในการปกครองประเทศ ทำให้ผู้หญิงถูกลิดรอนสิทธิ์ต่างๆ และยังมีความเชื่อในวัฒนธรรมบางอย่างที่ทำให้ผู้หญิงถูกลิดรอนสิทธิ์มากกว่า

ผู้เขียนเชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านอาจคิดว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นนานมาแล้ว และปัจจุบันผู้หญิงน่าจะมีสิทธิต่างๆ ในสังคมเหมือนกับหลายประเทศที่ใช้กฎศาสนาอิสลามเป็นกฎหมายประจำชาติ แต่ก็เริ่มจะมีการแก้กฎหมาย เพื่อให้สิทธิ์กับผู้หญิงมากขึ้น เช่น ซาอุดีอาระเบีย ก็มีแก้กฎหมายและอนุญาตให้ผู้หญิงสามารถขับรถเองได้แล้วตั้งแต่มิถุนายน ปี 2018 เป็นต้น แต่ในความเป็นจริง ผู้หญิงในอัฟกานิสถานยังคงไม่ได้รับสิทธิใดๆ เหมือนกับผู้หญิงมุสลิมในประเทศอื่น

ประเทศที่ใช้กฎหมายอิสลามเป็นกฎหมายประจำชาติอย่างอัฟกานิสถานนั้น ผู้หญิงจะไม่ได้รับอนุญาตให้ไปไหนคนเดียว ต้องมีญาติที่เป็นผู้ชายเดินทางด้วยตลอดเวลา หากผู้หญิงต้องการเดินทางไปต่างประเทศจะต้องมีหนังสืออนุญาตจากสามีหรือบิดาจึงจะสามารถทำหนังสือเดินทางและเอกสารต่างๆ ได้ ผู้หญิงมุสลิมจะต้องแต่งกายมิดชิดไม่เปิดเผยอวัยวะในร่างกายให้คนอื่นได้เห็นนอกจากคนในครอบครัว เราจึงเห็นผู้หญิงแต่งตัวมิดชิดปกคลุมใบหน้า ที่เรียกว่า “ฮิญาบ” ซึ่งในประเทศที่เคร่งมากอย่างซาอุดีอาระเบีย ผู้หญิงจะใส่ฮิญาบเพื่อปกปิดทั้งใบหน้า มีเพียงดวงตาเท่านั้นที่คนอื่นสามารถมองเห็นได้ ในอัฟกานิสถานผู้หญิงจะต้องใส่ฮิญาบเพื่อปกปิดทั้งใบหน้าเช่นเดียวกัน และต้องมีผ้าตาข่ายเพื่อปกปิดดวงตาด้วย

ในบางประเทศผู้หญิงจะไม่ได้รับสิทธิ์เป็นเจ้าของทรัพย์สิน เพราะตามหลักศาสนาแล้วหากผู้หญิงแต่งงานไปก็ถือเป็นทรัพย์สินของสามีหากยังไม่แต่งงานก็ถือเป็นทรัพย์สินของบิดา จึงทำให้ผู้หญิงไม่ได้รับอนุญาตในการเป็นเจ้าของทรัพย์สินต่างๆ ซึ่งในอัฟกานิสถานก็เช่นเดียวกัน ผู้หญิงไม่สามารถเป็นเจ้าของทรัพย์สินใดๆ ได้แม้แต่ลูกของตัวเอง กรณีที่หย่าร้างผู้หญิงอาจได้รับสิทธิ์เลี้ยงดูลูก แต่หากผู้หญิงแต่งงานใหม่จะต้องส่งคืนลูกให้สามีเก่าเป็นผู้เลี้ยงดู แม้สามีเก่าอาจไม่ต้องการและไม่เคยเลี้ยงดูลูกของตัวเองเลยก็ตาม

ประเทศที่เคร่งครัดกฎหมายศาสนาอิสลามมาก อย่างซาอุดีอาระเบียและอัฟกานิสถานนั้น ผู้หญิงมักจะถูกผู้ชายทำร้ายร่างกายหากปฏิบัติตัวไม่เหมาะสม เพราะเชื่อว่านี่คือการสั่งสอนให้พวกเธอปฏิบัติตัวให้ดี เชื่อฟัง และจะไม่ทำให้พวกเขาเสื่อมเสียเกียรติ และการถูกทำร้ายร่างกายจากคนในครอบครัวนั้น บางประเทศไม่ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย อย่างอัฟกานิสถานแม้จะมีกฎหมายความรุนแรงในครอบครัว แต่มีผู้หญิงไม่กี่คนที่กล้าไปแจ้งความ หรือถึงไปแจ้งความแล้วในบางกรณีก็ไม่สามารถนำตัวผู้ใช้ความรุนแรงมาลงโทษตามกฎหมายได้ เพราะตำรวจไม่จริงจังในการนำตัวผู้ใช้ความรุนแรงมาลงโทษตามกฎหมาย ยังไม่รวมกรณีที่ผู้หญิงมาแจ้งความแล้ว แต่ทางบ้านของตัวเองหรือบ้านสามีกดดันให้ไปถอนแจ้งความ ไม่อย่างนั้นพวกเธออาจจะเสียโอกาสบางอย่าง เช่น เสียโอกาสในการเลี้ยงดูลูก หรือได้เจอหน้าลูกอีก เป็นต้น

จากการที่อัฟกานิสถานไม่จริงจังในเรื่องความรุนแรงในครอบครัว ทำให้กลายเป็นปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งสำหรับผู้หญิงอัฟกานิสถาน ไม่ว่าจะอยู่อาศัยในเมืองหรือต่างจังหวัด มักเจอความรุนแรงในครอบครัวเหมือนกัน เช่น ถูกบังคับให้แต่งงาน การแต่งงานเพื่อยุติข้อพิพาท การถูกล่วงละเมิดทางเพศ และการทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรง เช่น การฆ่าลูกสาวหรือภรรยาเพื่อรักษาเกียรติของครอบครัว (Honor killing) หรือทำร้ายร่างกายรุนแรงจนบาดเจ็บสาหัส เป็นต้น

นอกจากปัญหาที่กล่าวมา อีกปัญหาใหญ่สำหรับผู้หญิงอัฟกานิสถานคือ การไม่มีตัวตนในสังคม ผู้หญิงอัฟกานิสถานไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดเผยชื่อในที่สาธารณะ ใบแจ้งเกิดจะมีเพียงชื่อบิดาที่ปรากฏในเอกสาร เอกสารทางราชการ รวมไปถึงบัตรประชาชน จะไม่มีชื่อของผู้หญิงปรากฏ มีเพียงการบอกว่า เป็นบุตรของใคร หรือหากแต่งงานแล้วก็จะระบุว่าเป็นภรรยาของใคร ในงานแต่งงาน ในบัตรเชิญ และในพิธีจะมีเพียงชื่อเจ้าบ่าวและชื่อบิดาของเจ้าสาวที่ปรากฏ หากเจ็บป่วยต้องไปหาหมอก็ไม่สามารถบอกชื่อได้ และสุดท้ายเมื่อเสียชีวิต ที่ป้ายหลุมศพก็ไม่ระบุชื่อเช่นกัน ทำได้เพียงระบุว่าเป็นบุตรสาวของใคร หรือเป็นภรรยาของใคร หรือเป็นมารดาของใครเท่านั้น

เรื่องไร้ตัวตนในสังคมของผู้หญิงเป็นปัญหาใหญ่สำหรับผู้หญิงอัฟกานิสถาน เพราะไม่เพียงแต่ในเอกสารสำคัญต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ตลอดชีวิตจะไม่มีการระบุชื่อแล้ว แม้แต่การกล่าวถึงผู้หญิงในสังคมก็จะมีคำเรียกเฉพาะกลุ่มที่เป็นที่รู้กันว่าหมายถึงผู้หญิง อย่างเช่นคำว่า คนผลิตนม เป็นต้น หรือหากไม่สนิทสนมกันมากก็จะกล่าวถึงว่าเป็นบุตรของใคร หรือมารดาของใครเท่านั้น

แม้จะเป็นปัญหาใหญ่แต่รัฐบาลและประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้มองเรื่องนี้เป็นปัญหาเพราะพวกเขามีความเชื่อว่า ผู้หญิงที่ดีคือผู้หญิงที่ผู้คนไม่เคยพบเจอหรือเคยได้ยินชื่อ เหมือนประโยคที่ว่า “พระอาทิตย์และพระจันทร์ไม่เคยได้พบเห็นเธอเลย (The sun and the moon haven’t seen her)” ดังนั้นการที่ผู้หญิงไม่เปิดเผยชื่อในที่สาธารณะจึงเป็นเรื่องที่ดีและควรปฏิบัติอย่างยิ่ง ในขณะเดียวกันผู้ชายที่สามารถควบคุมให้ผู้หญิงปฏิบัติตัวตามนี้ได้ถือว่าเป็นผู้ชายที่ควรได้รับความเคารพและได้รับการยกย่องจากสังคม แต่หากผู้หญิงบ้านไหนต้องการเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพ รวมถึงเปิดเผยชื่อในที่สาธารณะ พวกเธอจะถูกมองว่าไม่มีค่าและทำให้ครอบครัวเสื่อมเสียเกียรติอีกด้วย

ในช่วงการระบาดของไวรัส COVID-19 ผู้หญิงที่ไปหาหมอเพื่อรักษาหรือรับการตรวจว่าติดเชื้อไวรัส COVID-19 หรือไม่ แน่นอนว่าหมอต้องทราบชื่อคนไข้เพื่อระบุได้ถูกคนในช่วงที่มีการแพร่ระบาดกระจายไปทั่วโลก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ หากผู้หญิงคนใดได้เปิดเผยชื่อของเธอให้หมอได้ทราบ สามีหรือพ่อของเธอจะทำร้ายเธอ เพราะเชื่อว่านี่เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมและจะทำให้ครอบครัวเสื่อมเสียเกียรติได้

แน่นอนว่าการไร้ตัวตนเป็นปัญหาใหญ่สำหรับผู้หญิงในอัฟกานิสถาน มีผู้หญิงบางกลุ่มเรียกร้องให้รัฐบาลแก้กฎหมาย โดยให้ระบุชื่อผู้หญิงในเอกสารสำคัญทางราชการ ผู้หญิงอัฟกานิสถานกลุ่มหนึ่งตั้งโครงการ “Where Is My Name?” ซึ่งโครงการนี้เริ่มตั้งแต่สิ้นเดือนกรกฎาคมปี 2017 โดย Laleh Osmany เรียกร้องให้รัฐบาลแก้กฎหมาย เพราะการระบุชื่อผู้หญิงในเอกสารสำคัญทางราชการเป็นสิทธิ์ที่ผู้หญิงทุกคนควรได้รับ

การเรียกร้องครั้งนี้มีผู้หญิงบางกลุ่มออกมาสนับสนุนและเปิดเผยชื่อตัวเองในที่สาธารณะรวมถึงในโลกออนไลน์ด้วย โดยกลุ่มคนที่สนับสนุนจะพิมพ์ชื่อและใส่แฮชแท็ก #WhereIsMyName เพื่อสนับสนุนให้รัฐบาลแก้กฎหมาย ในขณะเดียวกันประชาชนส่วนใหญ่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับเรื่องนี้

กรกฎาคม ปี 2020 BBC รายงานข่าวว่า ประธานาธิบดี Ashraf Ghani สั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบศึกษาถึงความเป็นไปได้ที่จะแก้กฎหมาย โดยเริ่มจากการเพิ่มชื่อมารดาลงในใบเกิดก่อน ส่วนในเอกสารอื่นๆ ยังคงไม่มีการแก้ไข ซึ่ง BBC รายงานว่า กฎหมายฉบับนี้น่าจะได้รับการแก้ไขแล้วเหลือเพียงให้ประธานาธิบดีลงนามก็น่าจะประกาศใช้ได้ แต่กลุ่มผู้ที่สนับสนุนและเรียกร้องให้รัฐบาลมีการแก้ไขกฎหมายกลับไม่แน่ใจ เพราะถึงแม้ว่าประธานาธิบดีจะสั่งให้แก้กฎหมาย แต่สมาชิกรัฐสภาหลายคนก็ยังคงไม่เห็นด้วยและออกมาคัดค้าน ซึ่งอาจทำให้กฎหมายนี้ไม่สามารถแก้ไขและประกาศใช้ได้

การไม่เปิดเผยชื่อผู้หญิงในที่สาธารณะอาจจะไม่ใช่หลักศาสนาอิสลามอย่างเดียว เพราะประเทศอื่นก็ไม่ได้ห้าม แม้แต่ซาอุดีอาระเบียเองก็ยังอนุญาตให้ระบุชื่อผู้หญิงในเอกสารต่างๆ ดังนั้นการปกปิดชื่อผู้หญิงในที่สาธารณะอาจเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและความเชื่อที่ปฏิบัติต่อกันมายาวนาน การเปลี่ยนแปลงความเชื่อของคนในสังคมเป็นเรื่องยาก แม้โลกจะพัฒนาไปมากแล้วก็ตาม

ต้องติดตามต่อว่าสุดท้ายแล้วรัฐบาลอัฟกานิสถานจะยอมให้มีการระบุชื่อมารดาในใบแจ้งเกิดได้หรือไม่ หากรัฐบาลยอมแก้กฎหมายนี่ก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของผู้หญิงในอัฟกานิสถาน
Photo Credit: https://www.freeimages.com/photo/afghanistan-1432105

ใส่ความเห็น