วันจันทร์, มิถุนายน 16, 2025
Home > Cover Story > “ศุภจี สุธรรมพันธุ์” CEO ดุสิตธานี ชี้แจงปมขัดแย้งภายใน ยืนยันเดินหน้าสร้างประโยชน์สูงสุด

“ศุภจี สุธรรมพันธุ์” CEO ดุสิตธานี ชี้แจงปมขัดแย้งภายใน ยืนยันเดินหน้าสร้างประโยชน์สูงสุด

เรียกได้ว่าถูกพูดถึงเป็นอย่างมากเลยทีเดียว สำหรับกรณีที่บริษัท ชนัตถ์และลูก จำกัด ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 (ถือครองหุ้นในสัดส่วน 49.74%) ของบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DUSIT ไม่อนุมัติงบการเงินประจำปี 2567 (สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567) ทั้งที่ผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีและผ่านคณะกรรมการตรวจสอบทุกขั้นตอน ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 32/2568 เมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา จนทำให้ต้องเลื่อนการประชุมผู้ถือหุ้นออกไปเป็นวันที่ 28 พฤษภาคม 2568 ท่ามกลางกระแสข่าวความขัดแย้งครั้งใหญ่ของทายาทดุสิตธานีที่ถูกตีความไปหลายมุม ซึ่งแน่นอนว่าย่อมสร้างความกังวลให้กับผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

งานนี้ “ศุภจี สุธรรมพันธุ์” ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ไม่ทิ้งช่วงไว้นาน พร้อมออกมาชี้แจงถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และลดความกังวลของผู้ลงทุน พันธมิตรทางธุรกิจ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย

ไม่กระทบการบริหาร ทายาททั้ง 2 ฝ่ายมีบทบาทเท่าเทียมกัน

สิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้ความขัดแย้งระหว่างทายาทของดุสิตธานีที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นและถูกตีความว่าเพราะทายาทเข้ามาบริหาร ผลงานไม่เป็นไปตามคาด จนนำไปสู่การไม่อนุมัติงบการเงินนั้น ศุภจีเปิดเผยว่า ปัจจุบัน บริษัทฯ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารงาน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของคณะกรรมการบริษัทหรือฝ่ายบริหารที่มีอำนาจสั่งการ

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างสายบริหารอย่างที่ถูกตีความไปก่อนหน้านี้ ทายาทจากทั้งสองฝั่งมีบทบาทในบริษัทเท่าเทียมกัน และทำงานอยู่ร่วมกันในหลายตำแหน่ง ทั้งในสายบริหารและด้านการเงิน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งหลักฐานว่าบริษัทดำเนินไปด้วยระบบ ไม่ใช่การผูกขาดอำนาจจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ทั้งนี้คณะกรรมการบริษัทชุดปัจจุบันของ บมจ.ดุสิตธานี ยังคงมีทายาทรุ่น 2 ของดุสิตธานีทั้งสองฝ่าย เป็นกรรมการ โดย “ชนินทธ์ โทณวณิก” ยังคงเป็นรองประธานกรรมการและประธานคณะกรรมการบริหาร  ขณะที่ “สินี เธียรประสิทธิ์” เป็นกรรมการที่ดูแลทางด้านการเงินและกรรมการบริหารดุสิตธานี ด้าน “สุนงค์ สาลีรัฐวิภาค” ไม่ได้เข้ามาเป็นกรรมการ ด้านทายาทรุ่น 3 จากทั้งสองฝั่ง ก็ได้เข้ามาทำงานในกลุ่มธุรกิจของดุสิตธานีเช่นกัน ในขณะที่ผู้บริหารสูงสุดของ บมจ.ดุสิตธานี คือตัวเธอเองในฐานะซีอีโอ

“ผู้บริหารสูงสุดของดุสิตธานีคือซีอีโอ ที่มีหน้าที่รายงานตรงต่อคณะกรรมการบริษัท ซึ่งคณะกรรมการบริษัทมีทั้งคณะกรรมการอิสระมากมาย มีคุณวุฒิ วัยวุฒิ ทุกอย่างที่เหมาะสม ซึ่งในคณะกรรมการนั้น นอกจากคณะกรรมการอิสระแล้ว ยังประกอบด้วยทายาทที่อยู่ในข่าวทั้ง 2 ฝั่ง ไม่ใช่ฝั่งใดฝั่งหนึ่ง เพราะฉะนั้นถ้ามีข่าวว่า ไม่พอใจว่าการบริหารงานผิดพลาด มีการนำทายาทเข้ามาใดๆ ความจริงมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น ในฐานะซีอีโอเราไม่ได้ทำงานให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เรารายงานให้คณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยสองท่าน และกรรมการอิสระที่มีคุณวุฒิมากมาย เราทำทุกอย่างเพื่อบริษัท เพื่อพนักงานกว่า 10,000 คน และเพื่อผู้ถือหุ้นทุกคน”

“โครงสร้างองค์กรตั้งแต่คณะกรรมการจนถึงผู้บริหารถูกถ่วงดุลย์โดยการบริหารจัดการแบบมืออาชีพอยู่แล้ว เหมือนบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ทั่วไป เหตุที่เกิดในวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นเพราะฝั่งหนึ่งไม่พอใจการทำงานของอีกฝั่งหนึ่ง เพราะจริงๆ แล้ว ทำงานอยู่ด้วยกันในทุกระดับอยู่แล้ว ทายาทรุ่น 3 ที่เข้ามาใน บมจ.ดุสิตธานีมี 2 คน คนละสาย กรรมการบริษัทก็ฝั่งละหนึ่ง”

สำหรับเหตุการณ์ในการประชุมเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา นั้น ศุภจียืนยันว่างบการเงินของปี 2567 ผ่านการตรวจสอบของผู้ตรวจสอบบัญชีอย่างถูกต้องโดยไม่มีเงื่อนไข มีผู้ตรวจสอบบัญชีที่เป็น Big 4 งบส่งตลาดหลักทรัพย์ฯ และปรากฏอยู่บนเว็ปไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกทั้งผ่านคณะกรรมการของบริษัทเรียบร้อย ที่ผ่านมาไม่เคยมีเหตุการณ์ที่ผู้ถือหุ้นไม่อนุมัติงบที่ผ่านการตรวจสอบจากผู้ตวจสอบบัญชีโดยไม่มีเงือ่นไขมาก่อน ซึ่งแน่นอนว่าสร้างความปั่นป่วนให้กับผู้ถือหุ้น และทำให้เกิดคำถามต่างๆ มากมาย ทั้งเรื่องความโปร่งใสและธรรมาภิบาล

หน้าที่ของผู้บริหารคือเดินหน้าแก้ปัญหาและชี้แจงสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นและผู้เกี่ยวข้องให้น้อยที่สุด เพราะสิ่งที่หลายฝ่ายกังวลคือ ถ้า บมจ.ดุสิตธานี ไม่สามารถส่งงบการเงินได้ทันภายในวันที่ 15 พฤษภาคม จะทำให้หุ้น DUSIT ต้องติดเครื่องหมาย SP (ระงับการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราว) บริษัทจึงได้ประสานงานกับตลาดหลักทรัพย์ฯ และคณะกรรมการบริษัทเพื่อหาทางออก โดยจัดประชุมบอร์ดด่วน และขอความเห็นชอบให้คณะกรรมการเป็นผู้แต่งตั้งผู้สอบบัญชีเฉพาะกิจไตรมาสแรก เพื่อให้งบการเงินไม่สะดุด และไม่ต้องติดเครื่องหมาย SP อย่างที่หลายฝ่ายกังวล

ความพยายามครั้งนั้นสามารถลุล่วงไปได้ด้วยดี โดยบริษัทฯ สามารถนำส่งงบการเงินไตรมาส 1/2568 ให้กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยในวันที่ 15 พฤษภาคม 2568 ส่งผลให้หุ้น DUSIT ไม่ต้องติดเครื่องหมาย SP เพื่อยับยั้งความเสียหายต่อบริษัท และผู้ถือหุ้นทั้งหมด ซึ่งทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้แจ้งข้อควรระวัง (Disclaimer) แก่นักลงทุน เพราะต้องรอให้มีการพิจารณาผู้ตรวจสอบบัญชีในวันที่ 28 พ.ค. ทั้งนี้ยืนยันว่างบการเงินเฉพาะไตรมาส 1/2568 ไม่ได้มีปัญหา ถูกจัดทำขึ้นมาอย่างโปร่งใส คณะกรรมการตรวจสอบ และได้รับการสอบทานจากผู้สอบบัญชีแล้ว และการดำเนินงานต่างๆ อาทิ การลงทุนใหม่เป็นไปตามแผนงานที่ถูกอนุมัติทั้งจากคณะกรรมการและผู้ถือหุ้น

โดยศุภจีย้ำว่า บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าต่อตามแผนที่ได้วางไว้ ส่วนความขัดแย้งของผู้ถือหุ้นใหญ่ และเรื่องบริษัท ชนัตถ์และลูก จำกัด คงไม่สามารถตอบได้

“บริษัทยังเดินอยู่แบบเดิม ตอนนี้ข่าวเปิดออกมาเยอะมากแล้ว ว่าคงเป็นความขัดแย้งของทายาท ซึ่งเป็นเรื่องของผู้ถือหุ้น เป็นเรื่องของบริษัทชนัตถ์และลูก ต้องถามผู้ถือหุ้นว่าท่านจะตกลงกันอย่างไร เรื่องนี้เราจะไม่ก้าวล่วงมันเกินขอบเขตที่เราจะตอบได้ว่าเกิดอะไรขึ้น เพียงได้แต่หวังว่าท่านจะมองเห็นถึงประโยชน์ของผู้ถือหุ้นทุกคน มองเห็นประโยชน์ของบริษัท และมองเห็นประโยชน์ของพนักงานอีกหมื่นกว่าคน เราได้แต่หวังแบบนั้น”

ยืนยันเดินหน้าต่อตามแผนธุรกิจที่วางไว้

อีกหนึ่งประเด็นที่หลายฝ่ายกังวลคือ เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อแผนธุรกิจของดุสิตธานีหรือไม่ ซึ่งศุภจีเน้นย้ำว่า บมจ.ดุสิตธานี ยังคงดำเนินตามแผนธุรกิจที่วางไว้ในทิศทางที่ควรจะเป็น

“ตอนนี้ไม่มีกระทบใดๆ เพราะยังดำเนินตามแผนงานธุรกกิจทุกอย่างในทิศทางที่ควรจะเป็น ปีนี้โครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค กำลังจะเสร็จ โรงแรมเสร็จแล้ว ตัวดุสิตเรสซิเดนซ์ ขายไปแล้ว 88% มูลค่ากว่า 15,500 ล้านบาท ซึ่งจะเริ่มทยอยโอนภายในสิ้นปีนี้ และจะโอนเต็มที่ในปีหน้า ซึ่งมันจะกลายเป็นรายได้และกำไร ดังนั้นเรื่องต้นทุนดอกเบี้ยในอดีตที่ทำให้เราไม่กำไร มันก็จะลดปัจจัยนี้ลงไป ทิศทางบริษัทยังคงดำเนินไปแบบนี้ บางคนกังวลว่าจะกระทบต่อโครงการในการลงทุนหรือไม่ มันลงทุนไปหมดแล้วแน่นอนว่าไม่กระทบ จ่ายเงินไปหมดแล้ว ตอนนี้เหลือแค่สร้างให้เสร็จแค่นั้นเลย”

จากเดิมที่ บมจ.ดุสิตธานี มีธุรกิจหลักในเครือ 2 ธุรกิจคือ ธุรกิจโรงแรม และธุรกิจการศึกษา โดยพึ่งพิงรายได้จากธุรกิจโรงแรมมากถึง 90% แต่หลังจากที่มีการปรับทิศทางเพื่อขยายธุรกิจ ลดความเสี่ยงในการพึ่งพารายได้จากแหล่งใดแหล่งหนึ่ง โดยดึงผู้บริหารมืออาชีพอย่างศุภจีมานั่งในตำแหน่งซีอีโอ ตั้งแต่ปี 2559 ทำให้ บมจ.ดุสิตธานี ก้าวเข้าสู่ New Chapter สามารถขยายธุรกิจครอบคลุม 4 กลุ่มธุรกิจ ไก้แก่ ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจการศึกษา ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจอาหาร โดยสัดส่วนรายได้จากโรงแรมคิดเป็น 60% ของทั้งหมด จากที่เคยอยู่ที่ 90% เพราะมีฐานที่กว้างขึ้น แต่จำนวนโรงแรมไม่ได้ลดลง

ปัจจุบันดุสิตธานีมีโรงแรมในเครือ 58 โรงแรม อยู่ใน 19 ประเทศ และถ้านับรวมการให้บริการแบบวิลล่าด้วยจะมีมากถึง 300 พร็อพเพอร์ตี้ รวมทั้งมีการขยายแบรนด์โรงแรมจาก 4 แบรนด์ ไปสู่ 10 แบรนด์ เจาะกลุ่มทุกเซกเมนต์

“ตั้งแต่วันแรกที่เป็นซีอีโอ เราวางแผนการเดินของบริษัทเป็น 9 ปี  โดย 3 ปีแรกคือช่วงเวลาแห่งการแก้พื้นฐานให้แข็งแรง ทั้งคน กระบวนการทำงาน สินทรัพย์ที่มีอยู่ 3 ปีที่สอง เริ่มสร้างธุรกิจใหม่ แตกแขนง ตอนนี้เห็นประจักษ์แล้วว่าเรามีธุรกิจใหม่เกิดขึ้น มีการขยายโรงแรมจาก 27 มาเป็น 58 บวกวิลล่ากลายเป็น 300 ใน 19 ประเทศ เราเป็นเจ้าของ 9 โรงแรม ที่เหลือเป็นการขยายแบบไม่ได้ใช้เงินลงทุนของตัวเอง แต่ขายความเชื่อมั่น ขายแบรนด์ ทำให้เราอยู่ในตลาดได้ 3 ปีที่สาม เป็นการเปลี่ยนภาพใหม่ของดุสิตธานีให้สามารถสร้างมูลค่าใหม่ๆ มีบริษัทในเครือที่เตรียมเข้าไอพีโอ เป็น New Chapter ที่ทำให้ดุสิตธานีไปต่อได้”

โดยศุภจีมองว่า ปี2567 ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นปีที่ดีที่สุดของดุสิตธานี เพราะมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจ โดยสามารถสร้างรายได้รวมไปถึง 11,204 ล้านบาท เติบโต 74.8% YoY, EBITDA 1,650 ล้านบาท เติบโต 91.4% YoY ขาดทุน 237 ล้านบาท (ขาดทุนลดลง 58.4% YoY)

ซึ่งผลขาดทุนในปี 2567 มีสาเหตุหลักมาจากดอกเบี้ยจ่ายของหุ้นกู้ที่บรษัทฯ ออกและเสนอขายเพื่อรองรับสภาพคล่องทางการเงินในช่วงโควิด-19 และดอกเบี้ยเงินกู้ยืม (ประมาณ 281 ล้านบาท) และดอกเบี้ยของหนี้สินจากสัญญาเช่าตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน (ประมาณ 297 ล้านบาท) รวมเป็นต้นทุนทางการเงินทั้งสิ้นประมาณ 578 ล้านบาท

สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ปี 2568 บริษัทฯ มีรายได้เติบโตต่อเนื่อง โดยมีรายได้รวม 2,382 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.0% YoY EBITDA 513 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.6% YoY กำไรสุทธิ 48 ล้านบาท ซึ่งสาเหตุหลักมาจากรายได้ธุรกิจโรงแรม ที่เติบโต 15% จากการกลับมาเปิดให้บริการของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ตั้งแต่ปลายไตรมาส 3 ปี 2567 รายได้จากธุรกิจอาหารเพิ่มขึ้น 9.8% จากการขยายธุรกิจการให้บริการจัดการอาหารแก่โรงเรียนนานาชาติในปีที่ผ่านมา รายได้จากธุรกิจการศึกษาเพิ่มขึ้น 12.9% จากวิทยาลัยดุสิตธานี

“โครงการใหม่ๆ ไม่ได้มีอะไรมาก เพราะได้วางรากฐานในช่วง 9 ปีที่ผ่านมาไว้หมดแล้ว เพราะฉะนั้นความกังวลที่ว่าการลงทุนจะหยุดชะงักคงไม่ต้องกังวล เพราะมีการอนุมัติและจัดทำเรียบร้อยแล้ว แผนการดำเนินงาน เงินทุนหมุนเวียนก็มีเสร็จสรรพ ทั้งในเรื่องของหุ้นกู้ที่เราต้องชำระคืน การดำเนินธุรกิจปัจจุบัน สถาบันการเงินก็ยังไม่ได้เปลี่บนแปลงสถานะของเรา ทุกฝ่ายเชื่อว่าเราจะแก้ปัญหาได้ สิ่งที่เกิดขึ้นมันแยกส่วนกัน”

ในฐานะซีอีโอของ บมจ. ดุสิตธานี ศุภจีทิ้งท้ายไว้ว่า ดุสิตธานียังเดินต่ออย่างเต็มที่ และปีนี้ยังมีสิ่งดีๆ ที่กำลังเกิดขึ้นอีกมากมาย กรรมการทุกท่านมีความตั้งใจที่จะให้เรื่องนี้ยุติโดยดี และหวังใจว่าผู้ถือหุ้นจะหาทางตกลงกันได้ เพื่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้นและผู้ที่เกี่ยวข้อง และเพื่อ “ดุสิตธานี” ที่่เปรียบเสมือนอัญมณีของประเทศไทย