วันจันทร์, พฤศจิกายน 11, 2024
Home > Cover Story > ชุมชนมีวนา มีคน มีป่า มีกิน เพื่อชีวิตที่ยั่งยืน

ชุมชนมีวนา มีคน มีป่า มีกิน เพื่อชีวิตที่ยั่งยืน

ปี พ.ศ. 2504 ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ 171.2 ล้านไร่ จากพื้นที่ประเทศไทยทั้งสิ้น 321 ล้านไร่ แต่ชั่วระยะเวลาเพียง 50 ปี พื้นที่ป่าไม้ถูกทำลายไปมากกว่า 98 ล้านไร่ ซึ่งการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ที่เกิดขึ้นนั้น นอกจากการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าที่ยังคงปรากฏเป็นข่าวให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความต้องการพื้นที่ในการทำเกษตรกรรมของชาวบ้านด้วยเช่นกัน

ความต้องการพื้นที่ทำกินของเกษตรกรเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการรุกล้ำพื้นที่ป่าและนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับหน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่พิทักษ์ป่า ซึ่งไม่เพียงทำให้พื้นที่ป่าไม้ลดลงจนส่งผลต่อระบบนิเวศ เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงเท่านั้น แต่วิถีการเกษตรที่ใช้สารเคมีดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันยังส่งผลกระทบต่อธรรมชาติโดยรวม เกิดการปนเปื้อนของสารเคมีในแหล่งน้ำ ส่งผลต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง

ปัจจุบันปัญหาการลดจำนวนลงของพื้นที่ป่า ตลอดจนการใช้สารเคมีในแวดวงการเกษตรที่ส่งผลต่อธรรมชาติเริ่มเป็นที่ตระหนักรู้ของสังคมมากขึ้น ประชาชน ภาครัฐ รวมถึงภาคเอกชนต่างเล็งเห็นความสำคัญและพยายามหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว

“โครงการกาแฟอินทรีย์รักษาป่า” หรือที่รู้จักในชื่อ “กาแฟมีวนา” คือหนึ่งในความเคลื่อนไหวภาคเอกชนที่ไม่เพียงเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าเท่านั้น แต่ยังต้องการส่งเสริมความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้อยู่ดีกินดีอย่างยั่งยืนอีกด้วย

ปี พ.ศ. 2553 มูลนิธิสายใยแผ่นดินได้เริ่มโครงการกาแฟอินทรีย์รักษาป่าขึ้นที่ป่าต้นน้ำแม่ลาว จังหวัดเชียงราย ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งของภาคเอกชนที่เล็งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าและปัญหาสิ่งแวดล้อม

ป่าต้นน้ำแม่ลาวถือเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดของจังหวัดเชียงราย วิถีดั้งเดิมของชาวบ้านคือการปลูกชาทำเมี่ยงเพื่อเลี้ยงชีพ แต่เมื่อการเกษตรแบบใหม่ที่นิยมใช้สารเคมีเข้ามา บวกกับความต้องการของตลาดทำให้ชาวบ้านหันมาปลูกเสาวรสซึ่งเป็นไม้เลื้อยและต้องการแสงในการเจริญเติบโตสูง ชาวบ้านต้องตัดไม้ทำลายป่าเพื่อเปิดพื้นที่รับแสง อีกทั้งการปลูกเสาวรสยังต้องใช้สารเคมีอย่างมากในการดูแลรักษาให้ปลอดโรคและแมลง ทำให้ป่าต้นน้ำแม่ลาวอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง

มูลนิธิสายใยแผ่นดินพยายามศึกษาเพื่อหาทางแก้ไข พบว่า “กาแฟ” เป็นพืชเศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน และสามารถปลูกอยู่ร่วมกับป่าได้โดยไม่ต้องตัดไม้ทำลายป่า เพราะกาแฟเป็นพืชที่ต้องการร่มเงาสูง เติบโตได้ดีในพื้นที่ใต้ร่มไม้ จึงได้ริเริ่มโครงการกาแฟอินทรีย์รักษาป่าขึ้นที่ป่าต้นน้ำแม่ลาว เป็นอันดับแรก จากนั้นได้ขยายพื้นที่ในการพัฒนาไปยังต้นน้ำแม่สรวย และต้นน้ำแม่กรณ์

โดยข้อมูลปี 2561 ระบุว่ามีกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมกับโครงการทั้งหมด 7 หมู่บ้าน มีสมาชิก 346 ครอบครัว มีพื้นที่ส่งเสริมกาแฟอินทรีย์รักษาป่ากว่า 7,855 ไร่

ทางโครงการได้เผยแพร่องค์ความรู้และสนับสนุนให้เกษตรกรเปลี่ยนจากการทำเกษตรแบบเก่ามาปลูกกาแฟอินทรีย์ใต้ร่มเงา ที่ทำให้ได้กาแฟที่มีคุณภาพสูงและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบันหันมาใส่ใจในสุขภาพและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก

ในการเพาะปลูกกาแฟอินทรีย์นั้นมีการควบคุมกระบวนการให้เป็นไปตามมาตรฐานอินทรีย์สากล เริ่มตั้งแต่การเตรียมพื้นที่เพื่อสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสม การสรรหาต้นพันธุ์ที่ปลอดจากการใช้สารเคมี มีระบบรับซื้อผลผลิตอย่างเป็นธรรมเพื่อเป็นหลักประกันแก่เกษตรกร ก่อนนำไปแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม จนเกิดเป็นสินค้ากาแฟคั่วภายใต้แบรนด์ “มีวนา” ในที่สุด

นอกจากนี้ ยังได้ผสานการดำเนินงานร่วมกับกลุ่มบริษัทพรีเมียร์ก่อตั้ง บริษัท มีวนา จำกัด เพื่อขยายบทบาทในการพัฒนาสินค้า ทำการตลาด สร้างแบรนด์ และกระจายสินค้า เพื่อเข้าถึงลูกค้าในวงกว้าง

“ที่ผ่านมาชุมชนได้ฝ่าฟันอุปสรรคในการปกป้องผืนป่าต้นน้ำเมื่อมีวนาเข้ามาสร้างการมีส่วนร่วม มีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมให้เกษตรกรและคนในพื้นที่เข้าใจในการทำเกษตรแบบอินทรีย์ พัฒนาชุมชนให้ปลูกกาแฟ ทำให้ชุมชนเรามีแต่สิ่งที่ดี สุขภาพร่างกายของเกษตรก็ดีขึ้น รายได้ก็มีความแน่นอน ที่สำคัญคือเรื่องของการค้าที่เป็นธรรมที่มีวนามีให้กับเรามาตลอด พร้อมกับการช่วยสร้างแบรนด์กาแฟอินทรีย์มีวนาและการกระจายสินค้าไปยังกลุ่มผู้ดื่มกาแฟระดับพรีเมียมและการทำให้คนปลายน้ำเข้าใจและหันมาใส่ใจความเป็นอยู่ของคนต้นน้ำที่จะต้องเกื้อกูลและมีส่วนร่วมในการพลิกฟื้นผืนป่าที่ต้องเกิดความร่วมมือไม่ใช่เพียงหน้าที่ใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น” อภิรุณ คาปิ่น หรือพ่อหลวงบอย ผู้ใหญ่บ้านและประธานกลุ่มกาแฟอินทรีย์รักษาป่า บ้านขุนลาว กล่าว

จากจุดเริ่มต้นโครงการเล็กๆ ผ่านการดำเนินการและทุ่มเทของทั้งเกษตรกร ชุมชน ภาครัฐ และภาคธุรกิจ จนกลายมาเป็น “ชุมชนมีวนา” (Mivana Community) วิถีต้นแบบการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าอย่างมีส่วนร่วม สร้างระบบนิเวศให้มีความสมบูรณ์ ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน และเพื่อให้ “คน” กับ “ป่า” อยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน

ชุมชนมีวนามีภารกิจหลักในการเชื่อมต่อเพื่อสร้างความร่วมมือในการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าที่ยั่งยืนที่ได้จากการเกษตรจากต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ตั้งแต่กระบวนการปลูกกาแฟ ไปจนถึงการหาช่องทางจำหน่ายเพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนเมืองที่เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาผืนป่าและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถร่วมคืนผืนป่าได้จากการเลือกบริโภคกาแฟจากชุมชนมีวนา

ชุมชนมีวนาประกอบไปด้วยเกษตรกรในพื้นที่ ภาครัฐผู้พิทักษ์ป่า ภาคธุรกิจ ร้านค้า ร้านกาแฟ และตัวแทนจำหน่าย รวมถึงประชาชนทั่วไป โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายพื้นที่ป่า แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ภายใต้แนวคิด “Partnership for Sustainability”

ภาคธุรกิจที่เป็นพันธมิตรทางการค้าและการตลาด และถือเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนมีวนาที่ช่วยสร้างการตระหนักรู้ไปสู่กลุ่มผู้บริโภค ประกอบด้วย เกรฮาวด์ คาเฟ่, ร้านกาแฟแบรนด์ Casa Lapin, ร้านสินค้าออร์แกนิก อย่างเลม่อนฟาร์ม เอสแอนด์พี ร้านใบเมี่ยง, ห้างค้าส่งรายใหญ่อย่างสยามแม็คโคร รวมไปถึง เกรทเอิร์ธ อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้จัดจำหน่ายและกระจายกาแฟพรีเมียมไปยังกลุ่มธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร ระดับ 5 ดาว ที่ถือเป็นอีกหนึ่งพันธมิตรที่มีบทบาทสำคัญด้วยเช่นกัน

“เราเริ่มต้นธุรกิจจากการนำเข้าแบรนด์ชั้นนำที่เน้นการปลูกกาแฟที่ตระหนักถึงการสร้างสังคมยั่งยืน และต้องการเพิ่มสัดส่วนการจำหน่ายเมล็ดกาแฟที่มาจากภายในประเทศ และต้องมีความเป็นผลิตภัณฑ์อินทรีย์ ซึ่งตรงกับผลิตภัณฑ์จากชุมชนมีวนา ที่มีเรื่องราวในการพัฒนาชุมชนและพลิกฟื้นผืนป่า ที่สร้างคุณค่าให้กับแบรนด์โรงแรมที่ใช้เมล็ดกาแฟ ซึ่งเมื่อก่อนผู้ประกอบการทำธุรกิจจะนึกถึงกำไรมาก่อน แต่เมื่อปัจจุบันลูกค้าในกลุ่มพรีเมียมเริ่มตระหนักรู้ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจึงทำให้กลุ่มธุรกิจโรงแรมเครือข่ายระดับโลกหันมานำเข้ากาแฟที่สร้างความยั่งยืน ซึ่งเกรทเอิร์ธจำหน่ายกาแฟออร์แกนิกในสัดส่วน 30% ซึ่งเป้าหมายสูงสุดของกลุ่มธุรกิจต้องการเพิ่มเป็น 100% ในอนาคตเมื่อตลาดและผู้บริโภคร่วมกันขับเคลื่อน” ประสบสุข ถวิลเวชกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เกรทเอิร์ธ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าว

จากโครงการกาแฟอินทรีย์อันเป็นจุดเริ่มต้น มาวันนี้ได้พัฒนาจนกลายเป็นชุมชนมีวนา ต้นแบบการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร มีเครือข่ายและพันธมิตรที่พร้อมร่วมสร้างความแข็งแกร่งให้กับชุมชน

ในอนาคตชุมชนมีวนามีแผนในการขยายขอบข่ายสมาชิก เพื่อให้เกิดเป็น “โมเดลป่ามีวนา” ในการร่วมกันอนุรักษ์ฟื้นฟูผืนป่าอย่างมีส่วนร่วม เพื่อให้ “คน” กับ “ป่า” อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

นับเป็นความเคลื่อนไหวของภาคธุรกิจที่เล็งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ผืนป่า ปัญหาสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของเกษตรกร อันเป็นปัญหาที่สังคมโดยรวมควรตระหนัก

 

ใส่ความเห็น