อุตสาหกรรมยางไทยได้รับผลกระทบจากภาษีทรัมป์ แต่ยังไม่เสียเปรียบเมื่อเทียบกับคู่แข่ง
ttb analytics มองอุตสาหกรรมยางไทยได้รับผลกระทบจากภาษีทรัมป์ แต่ยังไม่เสียเปรียบเมื่อเทียบกับคู่แข่ง แนะภาครัฐเร่งเจรจาเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับภาคธุรกิจ สืบเนื่องจากวันที่ 2 เมษายน 2568 สหรัฐอเมริกาเริ่มบังคับใช้มาตรการภาษีนำเข้ารูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Reciprocal Tariff (ภาษีตอบโต้) ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดการขาดดุลการค้า ส่งผลให้ไทยซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ เป็นกลุ่มประเทศที่นับว่าถูกคิดภาษีในอัตราที่สูง โดยในเบื้องต้นถูกจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ ที่ 36% ซึ่งเมื่อเทียบกับภาพรวมถือว่าไทยถูกคิดอัตราภาษีเป็นลำดับที่ 13 จาก 185 ประเทศทั่วโลกที่มีการประกาศ แต่อย่างไรก็ตามสหรัฐฯ ได้เลื่อนอัตราภาษีที่ประกาศใช้ออกไปอีก 90 วัน โดยคงให้มีการจัดเก็บภาษีนำเข้าทุกประเทศในอัตราพื้นฐานที่ 10% ยกเว้นประเทศจีนที่เหลือ 30% และถึงจะมีเหตุการณ์ไม่แน่นอนจากการฟ้องร้องคำสั่งการใช้กฎหมายการขึ้นภาษีตอบโต้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ยังอยู่ในระหว่างการยื่นอุทธรณ์ ทำให้ภาษีตอบโต้นี้ยังคงถูกใช้งานตามกำหนดการเดิม ส่งออกไทยเตรียมรับแรงกระแทกหนักส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออก จากภาระภาษีตอบโต้ที่ถูกปรับเพิ่มขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้สินค้าส่งออกจากไทยไปสหรัฐฯ ถูกเก็บภาษีทันที 10% และมีแนวโน้มจะถูกจัดเก็บภาษีสูงขึ้นภายใต้ความพยายามในการเจรจาการค้าเพื่อบรรลุข้อตกลงก่อนวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 หลังครบกำหนด 90 วัน ส่งผลให้ราคาสินค้าส่งออกไทยเมื่อถูกนำเข้าสู่สหรัฐฯ ราคาจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและเกิดข้อกังวลว่าสินค้าที่จะปรับระดับราคาขึ้นใหม่นั้น จะยังสามารถขายได้ในปริมาณเท่าเดิมก่อนมีการจัดเก็บภาษีหรือไม่ รวมทั้งต้นทุนที่ปรับเพิ่มย่อมเป็นจุดเริ่มต้นในการตัดสินใจของผู้นำเข้าสหรัฐฯ ที่อาจนำเข้าสินค้าที่สามารถทดแทนกันได้
Read More