Column: AYUBOWAN เดือนพฤษภาคม 2016 ที่ผ่านมา หากเป็นช่วงที่ศรีลังกายังมีผู้นำชื่อ Mahinda Rajapaksa หรือผู้คนในเครือข่ายของเขาอยู่ในอำนาจ เชื่อว่าบรรยากาศภายในของศรีลังกาคงเต็มไปด้วยกระแสข่าวโหมประโคมถึงชัยชนะเมื่อปี 2009 เหนือกลุ่มกองกำลังติดอาวุธพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (Liberation Tigers of Tamil Eelam: LTTE) ที่เป็นจุดเริ่มต้นศักราชแห่งการพัฒนาและสันติสุข หากแต่ในวันนี้ผู้ครองอำนาจทางการเมืองในศรีลังกา แม้จะเคยร่วมมีบทบาทในกรณีดังกล่าว แต่ด้วยสถานะการเป็นคู่แข่งขันทางการเมือง การกล่าวถึงคุณความดีของคู่ปฏิปักษ์ คงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ มากนัก ในทางกลับกันยังต้องพยายามสืบหาจุดอ่อนและบาดแผลจากเหตุการณ์ครั้งนั้นมาเป็นเครื่องมือในการลดทอนความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงข้ามไปในตัวด้วย ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจมากประการหนึ่งก็คือ ภายหลังจากที่รัฐบาลศรีลังกาประกาศชัยชนะเหนือกองกำลังพยัคฆ์ทมิฬ และปิดฉากสงครามกลางเมือง (Civil War) สู่ความสงบเมื่อเจ็ดปีที่ผ่านมา ในด้านหนึ่งดูเหมือนว่าสถานะของศรีลังกาโดยเฉพาะในมิติของโอกาสทางการค้าการลงทุนแห่งใหม่ก็ฉายโชนออกมาเกือบจะทันที นักธุรกิจและสังคมการเมืองระหว่างประเทศต่างรอคอยจังหวะที่จะเข้ามาเติมเต็มช่องว่างทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่หายไปนานกว่า 3 ทศวรรษ แต่บางส่วนก็ยังหยั่งท่าทีด้วยการตั้งข้อสงวนว่าด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชนและความโปร่งใสทางการเมือง ความเป็นไปของศรีลังกานับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามกลางเมือง ติดตามมาด้วยโครงการพัฒนาหลากหลายและการหลั่งไหลเข้ามาลงทุนของนักลงทุนจากต่างประเทศ ที่ร่วมเสริมให้ภาพลักษณ์ของศรีลังกาในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเป็นประหนึ่งอัญมณีที่พร้อมจะถูกขัดเกลาแต่งเติมสีสันให้สุกสกาวและเจิดจรัสอย่างเต็มที่ เขตบ้านย่านเมืองโดยเฉพาะในโคลัมโบ ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ และการพัฒนาโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ทำให้เกิดภูมิทัศน์ใหม่ๆ ไม่เว้นในแต่ละเดือน ขณะที่จำนวนรถยนต์ที่สั่งนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อสนองความต้องการและดูดซับปริมาณเม็ดเงินที่เกิดจากภาพรวมเศรษฐกิจที่เติบโตแบบก้าวกระโดด ทำให้ถนนในกรุงโคลัมโบมีสภาพไม่ต่างกับลานจอดรถ หรือโชว์รูมรถยนต์ขนาดใหญ่ ที่มีรถยนต์เบียดแทรกอัดแน่นจนอาจเรียกได้ว่าล้นพื้นที่ก็ว่าได้ การสั่งซื้อและนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาในการบริหารและจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และทำให้รัฐบาลศรีลังกาต้องประกาศชะลอการนำเข้ารถยนต์ เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศในช่วงที่ผ่านมาอีกด้วย แต่นั่นเป็นเพียงปัญหาทางเศรษฐกิจที่ไม่ต่างจากยอดภูเขาน้ำแข็งที่พ้นระดับน้ำให้ได้เห็นเป็นประจักษ์ ขณะที่ลึกลงไปเบื้องล่างปัญหาว่าด้วยโอกาสทางเศรษฐกิจสำหรับประชาชนคนรากหญ้าที่เป็นฐานล่างของสังคม กำลังเผชิญกับประเด็นปัญหาที่หนักหน่วงกว่ามาก ประเด็นว่าด้วยการกระจายโอกาสและรายได้ ดูจะเป็นคุณลักษณะร่วมที่เกิดขึ้นในเกือบทุกหนแห่งในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งสำหรับสังคมศรีลังกาที่มีฐานประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวสิงหล กรณีที่ว่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งในความไม่พึงพอใจที่ประชาชนมีต่อนโยบายของรัฐมาอย่างต่อเนื่อง เพราะแม้จะเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศแต่โอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรกลับเป็นไปอย่างจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อภาคธุรกิจขยายตัวอย่างรวดเร็วในระยะหลังจากที่สงครามกลางเมืองสงบลง ชาวสิงหลในท้องถิ่นห่างไกลยิ่งพบว่าพวกเขาถูกละเลยให้ถอยห่างจากกระบวนการพัฒนาที่กำลังโหมประโคมในหัวเมืองใหญ่และพื้นที่ที่ประสบภัยสงครามในช่วงก่อนหน้านี้ด้วย ความไม่สมดุลของการพัฒนาและปัญหาทางเศรษฐกิจ เริ่มส่งผลให้ชาวสิงหลที่เป็นฐานเสียงใหญ่เริ่มแสดงความไม่พึงพอใจต่อกลไกทางการเมือง
Liberation Tigers of Tamil Eelam: LTTESri Lankaกลุ่มกองกำลังติดอาวุธพยัคฆ์ทมิฬอีแลมประเทศศรีลังกา Read More