Home > manager360 (Page 356)

จาก OBOR สู่ ALIPAY การรุกคืบที่เป็นรูปธรรมจากจีน

ข่าวว่าด้วยสังคมไร้เงินสดในจีน ที่จุดพลุกระตุ้นความสนใจจากความสำเร็จของ ALIPAY ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านระบบชำระเงินออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือชั้นนำของโลก และเป็นบริษัทในเครืออาลีบาบา กรุ๊ป ยักษ์ใหญ่ด้านอี-คอมเมิร์ซจากประเทศจีน ในด้านหนึ่งดูจะได้รับการประเมินอย่างจำกัดในฐานะที่เป็นเครื่องมือทางการเงินชนิดใหม่ที่เอื้ออำนวยความสะดวกในเชิงพาณิชย์ให้ดำเนินไปอย่างคล่องตัว แต่หากพิจารณาภายใต้กรอบโครงความเป็นไปทางยุทธศาสตร์ระดับมหภาคของจีน ทั้งในมิติของการประกาศนโยบายเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 หรือ The Silk Road Economic Belt and the 21st-century Maritime Silk Road รวมถึงความพยายามของจีนที่จะผลักดันให้เงินสกุลหยวนเป็นที่ยอมรับและมีบทบาทมากขึ้นในเศรษฐกิจการเมืองระดับนานาชาติ ผ่านการจัดตั้งธนาคาร Asian Infrastructure Investment Bank (AIIB) จังหวะก้าวของ ALIPAY ในการรุกคืบสร้างสังคมไร้เงินสดก็เป็นประหนึ่งข้อต่อเชื่อมในเชิงรูปธรรมให้กับยุทธศาสตร์ขนาดใหญ่ของจีนอย่างไม่อาจมองข้ามได้ การเกิดขึ้นและขยายตัวอย่างรวดเร็วของสังคมไร้เงินสด ภายใต้การนำของ ALIPAY ไม่ได้มีผลในการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางธุรกิจอี-คอมเมิร์ซอย่างจำกัดเท่านั้น หากแต่ในความเป็นจริงกลไกของสิ่งที่เกิดขึ้นนี้กำลังเป็นประหนึ่งการนำไปสู่การเกิดขึ้นของเงินสกุลใหม่ที่สามารถไหลบ่าและเคลื่อนย้ายสถานที่ไปได้อย่างเสรี ที่อยู่เหนือระเบียบข้อกำหนดไปไกล ยอดการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันทางการเงินที่มีมากถึงกว่า 600 ล้านครั้งในประเทศจีน ดำเนินไปอย่างมีอัตราเร่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะในช่วงระยะเวลาเพียง 2-3 ปีที่ผ่านมายอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชันทางการเงินมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 3.4 เท่า จากระดับ 177 ล้านครั้งในปี 2014 มาสู่ระดับกว่า

Read More

50 ปี ASEAN การเดินทางข้ามฝั่งฝัน

นับถอยหลังไปอีกไม่กี่ชั่วโมงในวันที่ 8 สิงหาคม 2560 ต้องถือเป็นหมุดหมายสำคัญสำหรับสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations) หรือ อาเซียน (ASEAN) ที่จะครบรอบวาระการก่อตั้งเป็นปีที่ 50 ซึ่งหากพิจารณาองค์กรระดับภูมิภาคแห่งนี้ในฐานะที่เป็นบุคคลที่มีชีวิต ก็ต้องถือว่าองค์กรแห่งนี้กำลังก้าวสู่การเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบสูงมากขึ้นตามวัย ภายใต้คำขวัญ “One Vision One Identity One Community” ที่พยายามรักษาจุดร่วมสงวนจุดต่าง เพื่อสร้างประชาคมที่มีความร่วมมือทั้งในมิติการเมืองความมั่นคง (Political-Security Community) ความร่วมมือทางด้านสังคม-วัฒนธรรม (Socio-Cultural Community) และประชาคมเศรษฐกิจ (Economic Community) ความเป็นไปขององค์กรภูมิภาคแห่งนี้ก็ดูจะก้าวหน้าไปจากวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ในสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และปฏิญญากรุงเทพฯ ซึ่งถือเป็นปฐมบทของการเริ่มต้นอาเซียนไปมากพอสมควร หากแต่ด้วยสภาพข้อเท็จจริงของสังคม การเมือง เศรษฐกิจในระดับนานาชาติในปัจจุบัน การดำรงอยู่ขององค์กรระดับภูมิภาคแห่งนี้ดูจะเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ที่พร้อมจะสั่นคลอน ประชาคมอาเซียน ที่มีประชากรรวมกว่า 630 ล้านคน และมี GDP รวมกันสูงกว่า 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

Read More

พินิจ “หอชมเมือง” ผ่านความเป็นไปของ Tokyo Skytree

ประเด็นว่าด้วยการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ของกรุงเทพมหานคร ดูจะเป็นเรื่องราวที่มีผู้คนให้ความสนใจไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นกรณีของการตัดสินใจทุบอาคารโรงแรมดุสิตธานี เพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่พาณิชยกรรมแบบผสม (mix use) พร้อมกับแนวความคิดที่จะสร้างแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ จากผู้ประกอบการพัฒนาที่ดินหลากหลาย แต่กรณีว่าด้วยการเกิดขึ้นของ “หอชมเมือง” โดยมูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร ดูจะเป็นการจุดกระแสสำนึกตระหนักและการวิพากษ์ว่าด้วยความแตกต่างระหว่างคำว่า “อัตลักษณ์” หรือ “อัปลักษณ์” ของเมืองมหานครอย่างกรุงเทพฯ ในยุคสมัยถัดไปได้อย่างกว้างขวาง ความเป็นไปของกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะในมิติของวาทกรรมว่าด้วยความเสื่อมถอยหรือการพัฒนาไม่ได้ตั้งอยู่ในบริบทที่แตกต่างจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับเมืองมหานครแห่งอื่นๆ และเป็นส่วนหนึ่งในอนิจลักษณ์ ที่พบเห็นได้ทั่วไป หากแต่สิ่งที่จะนำมาซึ่งความแตกต่างกลับอยู่ที่วิสัยทัศน์แห่งการพัฒนาและความสามารถในการบริหารจัดการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องว่าด้วยสาธารณะและบทบาททางสังคมในการปรับภูมิทัศน์ของเมืองร่วมกัน เพราะการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ในเขตมหานครที่มีผู้คนและสิ่งปลูกสร้างอย่างคับคั่งหนาแน่น ย่อมมิได้เกิดขึ้นเพียงเพราะความต้องการของบรรษัทที่มุ่งอาศัยสรรพกำลังของทุนในการดำเนินการเท่านั้น หากแต่เกิดขึ้นจากผลของความต้องการที่จะพัฒนาร่วมกันของประชาคมโดยองค์รวม ควบคู่กับวิสัยทัศน์ ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้คนด้วย โดยในญี่ปุ่น ซึ่งนับเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว และมีความพยายามที่จะใช้ประโยชน์ในทรัพยากรที่ดินที่มีอยู่อย่างจำกัด การพัฒนาส่วนใหญ่จะดำเนินไปภายใต้คณะทำงานระดับเมืองเพื่อการพัฒนาชุมชน เพื่อรวบรวมความต้องการของประชาคม หรือการปรับสถานะมาเป็นคณะกรรมาธิการเพื่อการพัฒนาชุมชน ซึ่งคณะทำงานและกรรมาธิการเหล่านี้มิได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อถกแถลงถึงรูปแบบการพัฒนาอย่างรอบด้านและผลกระทบซึ่งรวมถึงภูมิสถาปัตย์ของสิ่งปลูกสร้างที่จะเกิดมีขึ้นเท่านั้น หากต้องสืบค้นและพิสูจน์สิทธิของผู้ครอบครองและผู้รับผลกระทบแต่ละรายเพื่อยกร่างเป็นข้อตกลงระหว่างกันด้วย แต่นั่นอาจเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องคาดหวังจะได้เห็นในสังคมไทย ซึ่งดูจะมีความสมบูรณ์แบบในระดับหนึ่งแล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยที่มีวาทกรรมหลักอยู่กับไทยแลนด์ 4.0 และการบริหารจัดการอย่างชาญฉลาดภายใต้มาตรา 44 เช่นในปัจจุบัน กล่าวเฉพาะกรณีว่าด้วย “หอชมเมือง” หรือ หอคอยสูงของกรุงโตเกียวเพื่อทดแทนโตเกียว ทาวเวอร์ จากผลของการประกาศนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อปรับเปลี่ยนการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์จากระบบ analog ไปสู่การส่งสัญญาณแบบ digital ตั้งแต่เมื่อกว่า 15 ปีที่แล้ว ก็มีรายละเอียดที่น่าติดตามไม่น้อย

Read More

พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว 2560 ความล้มเหลวในการบริหารนโยบาย?

การประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 (พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว) เมื่อช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นอกจากจะกลายเป็นประเด็นร้อน ที่ส่งผลสะเทือนต่อแวดวงธุรกิจ อุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องหลากหลายแล้ว กรณีดังกล่าวยังเป็นประหนึ่งภาพสะท้อนและตอกย้ำความล้มเหลวในการบริหารจัดการนโยบายสาธารณะที่รัฐบาลภายใต้การดูแลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผลิตซ้ำและละเลยที่จะเรียนรู้อีกด้วย สถานการณ์ของแรงงานต่างด้าวภายหลังการประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว พ.ศ.2560 เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2560 ติดตามมาด้วยความตื่นตระหนกและหวาดวิตกทั้งในส่วนของผู้ประกอบการและแรงงานต่างด้าว เนื่องเพราะในกฎหมายฉบับดังกล่าวระบุบทลงโทษในกรณีที่นายจ้างรับคนต่างด้าวทํางานที่ห้ามคนต่างด้าวทํา หรือรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทํางาน มีโทษปรับตั้งแต่ 400,000-800,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้าง 1 คน นายจ้างให้คนต่างด้าวทำงานไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตมีโทษปรับไม่เกิน 400,000 บาทต่อคนต่างด้าว 1 คน ภาพของคลื่นแรงงานต่างด้าวที่ไหลบ่าเดินทางกลับประเทศบ้านเกิดตามแนวและจุดผ่านแดนไทยกับเพื่อนบ้านปรากฏให้เห็นทันทีเมื่อข่าวการบังคับใช้กฎหมายนี้เผยแพร่ออกไป และทำให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมต้องขาดแคลนแรงงานฉับพลัน สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นในการประกอบกิจการไปโดยปริยาย ความสูญเสียทางเศรษฐกิจและผลกระทบจากการบังคับใช้ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวได้รับการประเมินว่าในกรณีที่กระทบน้อยที่สุดจะมีมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 1.24 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.08 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และอาจขยายความเสียหายไปสู่ระดับปานกลางที่ร้อยละ 0.2 ของ GDP คิดเป็นมูลค่า 2.84 หมื่นล้านบาท หรือในกรณีกระทบรุนแรงจะส่งผลเสียหายเป็นมูลค่า 4.65 หมื่นล้านบาท หรือในระดับร้อยละ

Read More

20 ปีวิกฤตต้มยำกุ้ง บทเรียนสู่อนาคตยุค 4.0

นอกเหนือจากข่าวที่ไหลบ่าท่วมกระแสการรับรู้ของผู้คนไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 44 อำนวยความสะดวกให้กับการก่อสร้างรถไฟความเร็วปานกลางในเส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา-หนองคาย ที่มีจีนเป็นผู้ดำเนินการ หรือการอนุมัติและเร่งรัดให้มีการสร้างหอชมเมืองด้วยวิธีที่ไม่ต้องประมูลเพื่อเร่งรัดให้โครงการสำเร็จลุล่วงอย่างรวดเร็วแล้ว บทวิเคราะห์ย้อนอดีตว่าด้วยวิกฤตเศรษฐกิจไทยที่ลุกลามไปเป็นวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียเมื่อปี 2540 หรือเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา ดูจะเป็นอีกบริบทหนึ่งที่มีผู้ให้ความสนใจไม่น้อย เนื่องเพราะบทเรียนแห่งวิกฤตในครั้งนั้นยังคงส่งผลกระทบสืบเนื่องและส่วนหนึ่งฝังรากเป็นประเด็นเชิงโครงสร้างที่ดูเหมือนว่า กลไกรัฐไทยและภาคธุรกิจเอกชนไทยกำลังอยู่ในห้วงเวลาที่พร้อมจะผลิตซ้ำความผิดพลาดครั้งเก่าจากความพยายามเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจที่ดำเนินอยู่ในภาวะซึมเซายาวนานให้กลับมีสีสัน บนความคาดหวังครั้งใหม่ว่าจะช่วยฉุดกระชากเศรษฐกิจสังคมไทยออกจากหล่มโคลนให้ก้าวเดินต่อไปข้างหน้าได้ หลักไมล์แห่งการวิเคราะห์วิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ส่วนใหญ่ได้ยึดเอาวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ซึ่งเป็นวันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ด้วยการยกเลิกการผูกติดกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ หลังจากถูกโจมตีค่าเงินอย่างต่อเนื่องในช่วงก่อนหน้านั้น ซึ่งการประกาศดังกล่าวส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงอย่างมาก และส่งผลให้ปริมาณหนี้ต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยทันที และกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ส่งผลกระทบทางการเงินและเศรษฐกิจไทย ก่อนที่จะลุกลามและขยายตัวจนกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจครอบคลุมทั่วทั้งเอเชียในนาม “วิกฤตต้มยำกุ้ง” หากแต่ในความเป็นจริงการประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 เป็นเพียงปลายยอดของภูเขาน้ำแข็งที่หักโค่นลงโดยที่ภูเขาน้ำแข็งแห่งปัญหาที่สั่งสมอยู่ใต้ผิวน้ำกำลังละลายและพังครืนจากความอ่อนแอที่เกิดขึ้นอยู่ภายในโครงสร้างที่เปราะบาง โดย AMRO หรือสถาบันวิจัยเศรษฐกิจมหภาคอาเซียนบวกสาม (ASEAN +3 Macroeconomic Research Office) ได้เสนอบทวิเคราะห์ย้อนอดีตวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนั้นว่าแม้จะดูเหมือนว่าวิกฤตเศรษฐกิจจะเริ่มต้นขึ้นในประเทศไทย เมื่อค่าเงินบาทถูกกดดันจากการเก็งกำไรอย่างรุนแรง แต่ในความเป็นจริงความเสี่ยงต่างๆ ในภูมิภาคได้ก่อตัวมาสักระยะก่อนหน้านั้นแล้ว โดยเฉพาะความไม่สมดุลของนโยบายเศรษฐกิจมหภาค พัฒนาการจากเศรษฐกิจต่างประเทศ และความอ่อนแอของภาคการเงินและบรรษัทเอกชน ความไม่สมดุลของภาคต่างประเทศถูกสะท้อนจากเงินทุนเอกชนที่ไหลเข้ามาอย่างมากและการลงทุนของเอกชนภายในประเทศที่สูง ซึ่งถูกกระตุ้นเพิ่มขึ้นไปอีกจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ค่าเงินบาทกลับถูกตรึงเอาไว้ตามนโยบายขณะนั้น เงินทุนที่ไหลเข้ามาป็นชนวนขับเคลื่อนการขยายสินเชื่อและการลงทุนในเกาหลีใต้ มาเลเซีย และไทย โดยเฉพาะการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์และเกิดฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์

Read More

หนทางการพัฒนาของเนด้าใน CLMV เมื่อจีน-ญี่ปุ่น แผ่ขยายอิทธิพล

หลังการรวมตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ดูเหมือนว่ายิ่งจะเป็นการเพิ่มความน่าสนใจให้กับบรรดานักลงทุนต่างชาติไม่น้อย โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV ที่หมายถึง กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม การมาถึงของนักลงทุนในกลุ่มประเทศดังกล่าว ไม่ใช่เพียงการมาแบบฉายเดี่ยวของนักลงทุน แต่เป็นนโยบายภาครัฐของประเทศนั้นๆ ที่ต้องการแผ่ขยายอิทธิพลทางการค้าเข้ามาในกลุ่มภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะจีน และญี่ปุ่น หากพิจารณาจากชั้นเชิงของทั้งสองประเทศมหาอำนาจของเอเชีย ดูจะอุดมไปด้วยยุทธศาสตร์ เสมือนว่ากำลังประลองสรรพกำลังกันบนกระดานหมากรุก และเป็นเกมที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องถึง 10 ปี ขณะที่ชายแดนไทยเชื่อมต่อกับประเทศกลุ่มนี้กลับมีสัดส่วนการลงทุนที่น้อยกว่าประเทศมหาอำนาจทั้งสอง ทั้งที่ในช่วงหนึ่งญี่ปุ่นประสบปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนัก แต่ยังมีการลงทุนนอกประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเทศไทย ที่มีนักลงทุนจากญี่ปุ่นมากเป็นอันดับ 1 ในบรรดานักลงทุนต่างชาติที่ตบเท้าเข้ามา สิ่งที่น่าสนใจคือการมาของญี่ปุ่น ดูจะเป็นการเข้ามาคานอำนาจของจีนในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง แต่เต็มไปด้วยกลยุทธ์ที่ต้องเรียกว่าน่าสนใจ คือมาพร้อมกับการให้ความสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้กับประเทศนั้นๆ เช่น การสร้างถนนที่เชื่อมต่อและเสริมสร้างศักยภาพของเส้นทางโลจิสติกส์ โดยมีหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญให้การสนับสนุน คือ ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ ADB พื้นที่เขตเศรษฐกิจทวายดูจะเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่บ่งบอกว่าญี่ปุ่นเดินหมากด้วยความแยบยลเพียงใด เพราะนอกจากการลงทุนในเขตเศรษฐกิจทวายในประเทศเมียนมาแล้ว ญี่ปุ่นยังสนับสนุนงบประมาณการก่อสร้างถนนจากบ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี ที่สามารถเดินทางเชื่อมต่อมายังทวายได้สะดวกยิ่งขึ้น แม้ว่าถึงปัจจุบันเขตเศรษฐกิจทวายจะยังมองหาความคืบหน้าที่ชัดเจนได้ยากนักก็ตาม ขณะที่นโยบายรัฐบาลกลางของจีนดูจะมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการสร้างความเจริญที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับประเทศตัวเอง ด้วยความต้องการที่จะยกระดับ “คุนหมิง” ให้เป็นเมืองหน้าด่านในการเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่สำคัญ และยังวางตำแหน่งของคุนหมิงให้เป็นศูนย์กลางการเงินเพื่อนำเงินสกุลหยวนออกสู่อาเซียน และการลงทุนของจีนกับลาวดูจะเป็นโครงการที่เป็นการตกลงกันระหว่าง “รัฐต่อรัฐ” โดยสร้างถนน หรือการสร้างโรงแรมซึ่งชนกับทุนไทย แต่ประเด็นที่น่าจับตามองคือการเข้ามามีบทบาทในการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่อยู่ทางตอนบนของแม่น้ำโขง ที่หลายฝ่ายกำลังจับตาดูว่า

Read More

ศรีลังกา: จากจินตภาพสู่ความเป็นจริง??

จังหวะก้าวของการพัฒนาประเทศศรีลังกาในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังสิ้นสุดสงครามกลางเมืองดูจะดำเนินไปท่ามกลางอัตราเร่ง ซึ่งแม้ว่าจะเผชิญกับภาวะชะงักงันอยู่บ้างในช่วงของการเปลี่ยนผ่านอำนาจทางการเมือง แต่ต้องยอมรับว่ากรอบโครงสำหรับการพัฒนาทางเศรษฐกิจสังคมของศรีลังกายังดำเนินต่อไปอย่างมีเป้าหมายและน่าสนใจติดตามอย่างยิ่ง ความสามารถของ Mahinda Rajapaksa ในการสร้างเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศด้วยการยุติสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อยาวนานกว่า 3 ทศวรรษได้สำเร็จในปี 2009 ควบคู่กับการประกาศแนวทางในการพัฒนาศรีลังกาให้ฟื้นคืนจากบาดแผลของประวัติศาสตร์สู่อนาคตใหม่ ภายใต้แนวนโยบายที่ได้รับการเรียกขานว่า “Mahinda Chintana: Vision for the Future” ประกอบกับการดำรงอำนาจทางการเมืองที่ยาวนานนับสิบปีของเขา ในด้านหนึ่งได้กลายเป็นความท้าทายการดำรงอยู่ของกลุ่มการเมืองดั้งเดิมของสังคมศรีลังกา และทำให้ Mahinda Rajapaksa ต้องถูกผลักให้พ้นจากตำแหน่งไปโดยปริยายจากผลของการเลือกตั้งเมื่อต้นปี 2015 หากแต่มรดกทางความคิดและนโยบายว่าด้วยวิสัยทัศน์แห่งอนาคต หรือ “จินตภาพแห่งมหินทะ” ที่ประกอบส่วนไปด้วยแนวความคิดที่จะพัฒนาและสร้างให้ศรีลังกาเป็น Regional 5 Hub หรือศูนย์กลางของกิจกรรม 5 ประการของภูมิภาค ไล่เรียงตั้งแต่การเป็นศูนย์กลางของการเดินสมุทร ศูนย์กลางของการเดินอากาศ ศูนย์กลางของความรู้ ศูนย์กลางด้านพลังงาน และศูนย์กลางทางพาณิชยกรรม (Maritime, Aviation, Knowledge, Energy and Commerce) ไม่ได้ถูกทิ้งร้าง หากยังเป็นต้นทางของกรอบโครงแนวนโยบายในการพัฒนาประเทศศรีลังกาในช่วงที่ผ่านมาด้วย การเบียดแทรกเพื่อขยายบทบาทเข้ามาของมหาอำนาจทั้งจีน อินเดีย ญี่ปุ่น และนานาประเทศในการช่วยสนับสนุนความจำเริญครั้งใหม่ของศรีลังกา

Read More

วิบากกรรมเศรษฐกิจไทย ค่าเงินผันผวนท่ามกลางปัจจัยลบ

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ดูจะไม่สดใสอย่างที่หลายฝ่ายคาดหมายไว้ก่อนหน้านี้มากนัก หลังจากที่การประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายทางการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) และธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (federal funds rate) ตามการคาดหมายอีก 0.25% สู่ระดับ 1.00-1.25% ท่ามกลางค่าเงินบาทที่ผันผวนและแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจหลายสำนักต่างประเมินว่า การประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจนำไปสู่การกระตุ้นให้เกิดการไหลออกของเงินทุนจากประเทศไทย ซึ่งจะยิ่งส่งผลให้เกิดความผันผวนในตลาดเงินและค่าเงินบาทมากขึ้นไปอีก และการป้องกันความเสี่ยงเรื่องค่าเงินจะเป็นประเด็นที่นักลงทุนและผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดครั้งล่าสุดมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 1.00-1.25 เกิดขึ้นท่ามกลางการคาดหมายว่า เฟดจะประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในรอบปีนี้ เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยขยับไปอยู่ที่ระดับร้อยละ 1.25-1.50 ในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยของเฟดอยู่ในระดับเดียวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ร้อยละ 1.50 และมีแนวโน้มที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีกในรอบปีหน้า ซึ่งเป็นประหนึ่งแรงกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องดำเนินมาตรการหรืออาจประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อตอบสนองกับท่าทีของเฟดไปโดยปริยาย ข้อกังวลใจเกี่ยวกับช่องว่างและส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยที่เบียดใกล้กันเข้ามานี้ ในด้านหนึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุน และอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่ปรากฏข้อเท็จจริงแล้วในหลายประเทศ โดยผู้ประกอบการส่งออกดูจะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลจากกรณีดังกล่าวอย่างไม่อาจเลี่ยง ขณะที่รายงานของสภาอุตสาหกรรมในช่วงที่ผ่านมา ได้สะท้อนความกังวลใจของผู้ประกอบการ และเรียกร้องให้กลไกภาครัฐเข้ามาดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมหรือปรับตัวอย่างมีเสถียรภาพด้วย ขณะเดียวกันโอกาสที่เงินทุนจากภายนอกจะไหลเข้าประเทศไทย จากผลของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปี 2547-2549 มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังคงขยายตัวในระดับเพียงร้อยละ 3-4 น้อยกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ที่สามารถขยายตัวได้ร้อยละ 5-6 ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลักทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น มีความชัดเจนมากขึ้น

Read More

ศรีลังกา: บนสมการถ่วงดุล มหาอำนาจจีน-อินเดีย

ในขณะที่สังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกภาครัฐพยายามเร่งหาผู้ลงทุนรายใหม่ๆ ด้วยการเดินสายขายโครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ EEC: Eastern Economic Corridor ด้วยหวังว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นประหนึ่งผลงานสำคัญ และช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยสามารถไถลตัวออกจากอาการติดหล่ม รวมถึงช่วยกู้ภาพลักษณ์ด้านผลงานการดำเนินงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่เข้ามายึดครองอำนาจการบริหารประเทศเป็นเวลากว่า 3 ปี ล่วงไปแล้ว หากแต่ในอีกฟากฝั่งหนึ่งของมหาสมุทรอินเดีย ดินแดนที่เพิ่งฟื้นจากสงครามกลางเมืองและได้สัมผัสกับความสงบสันติมาได้ไม่ถึงทศวรรษกำลังต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหม่ สำหรับการพัฒนาในอนาคต โดยเฉพาะการเลือกและรักษาสมดุลแห่งอำนาจ จากการเข้ามามีบทบาททั้งในมิติของเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน โดยเอกชนและภาครัฐจากทั้งจีน อินเดีย และญี่ปุ่น ที่ต่างพร้อมแสดงตัวในการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ เพื่อก้าวสู่อนาคตที่สดใสร่วมกัน ศรีลังกา ซึ่งมีภูมิรัฐศาสตร์เป็นเกาะอยู่ทางตอนปลายของประเทศอินเดีย ถือเป็นพื้นที่ที่อินเดียเคยมีบทบาทนำมาตลอดในช่วงหลายทศวรรษแห่งประวัติศาสตร์ ก่อนที่จะสูญเสียพื้นที่และโอกาสให้กับจีน ในช่วงปี 2005 ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญก่อนที่รัฐบาลศรีลังกาจะเผด็จศึกและยุติสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อมากว่า 3 ทศวรรษลงได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดในปี 2009 รัฐบาลจีนแทรกเข้ามามีบทบาทในศรีลังกาด้วยการให้ความช่วยเหลือทางการทหารมูลค่ากว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2005 ซึ่งนับเป็นจังหวะก้าวที่สอดรับกับสถานการณ์ความต้องการของรัฐบาลศรีลังกาภายใต้การนำของ Mahinda Rajapaksa และเป็นจุดเริ่มต้นของทั้งการสานสายสัมพันธ์และการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ใหญ่ว่าด้วย String of Pearls และ One Belt, One Road (OBOR) ที่มีศรีลังกาประกอบส่วนอยู่ในยุทธศาสตร์นี้ด้วย การลงทุนของจีนในโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของศรีลังกาในยุคหลังสงครามกลางเมือง ดำเนินไปท่ามกลางอัตราเร่ง

Read More

รัฐมุ่งหน้าเร่ขายฝัน หวังฉุดเศรษฐกิจไทยฟื้น

ข่าวการเดินทางเพื่อเชิญชวนนักลงทุนญี่ปุ่นให้เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนของไทยในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ของสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ในด้านหนึ่ง ถือเป็นความพยายามที่ไม่สิ้นสุดของรัฐบาลไทยที่จะผลักดันโครงการลงทุนและกระตุ้นภาพรวมทางเศรษฐกิจของไทยให้ดำเนินไปตามถ้อยแถลงว่าด้วยเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแล้ว แม้ว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าจะไม่สอดรับกับคำเอ่ยอ้างและวาทกรรมว่าด้วยความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติ และในบางกรณีอาจดำเนินสวนทางไปในทิศทางตรงข้ามก็ตาม ความพยายามที่จะสถาปนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาผ่านปาฐกถาในงานสัมมนา “Thailand towards Asian Hub” ถือเป็นข้อเน้นย้ำถึงมายาคติที่บีบอัดเป็นมิติมุมมองของทั้งผู้นำระดับสูงในรัฐบาลและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่จ่อมจมอยู่กับวาทกรรมและความเชื่อว่าด้วยความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ของไทยแบบดั้งเดิม โดยละเลยบริบทของการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ ขณะที่การเน้นย้ำประเด็นว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 และการปรับปรุงกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี ดูจะเป็นการเน้นย้ำที่ไม่ต่างจากแผ่นเสียงที่ตกร่อง เพราะนอกจากจะยังไม่มีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมใหม่ๆ ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบของพัฒนาการเชิงนโยบายในสองเรื่องนี้อย่างจริงจังเลย ประเด็นว่าด้วย EEC หรือการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ที่ดำเนินไปภายใต้ความคาดหวังว่าจะช่วยเปลี่ยนผ่านภาคการผลิตของไทย และเป็นโครงการที่จะต้องมีการพัฒนาในโครงสร้างพื้นฐานมูลค่ารวมกว่า 4.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญถึงความเป็นไปได้ของโครงการนี้ว่าจะแสวงหาเม็ดเงินและนักลงทุนจากที่ใดเข้ามาเติมเต็มความฝันครั้งใหม่ของรัฐบาลไทยนี้ “หากขาดนักลงทุนจากญี่ปุ่น EEC คงพัฒนาไม่สำเร็จ จึงได้เชิญประธาน JETRO มาเป็นที่ปรึกษาเพื่อติดต่อกับนักลงทุนญี่ปุ่น ซึ่งหวังว่าไทย-ญี่ปุ่นจะร่วมมือทางการค้าและลงทุนได้เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะการนำแนวคิดร่วมจัดทำยุทธศาสตร์ของกลุ่มประเทศ CLMVT เพื่อเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ขยายไปยังกลุ่มต่างๆ ด้วย” สมคิดระบุในตอนหนึ่งของปาฐกถา การอ้างถึงความพยายามเชื่อมโยงยุทธศาสตร์การพัฒนาเข้ากับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านทั้งกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์และเวียดนาม หากเป็นในอดีตก็คงดำเนินไปในลักษณะที่ไทยเป็นศูนย์กลางที่จะหนุนนำพัฒนาการทางเศรษฐกิจสังคมไปสู่มิตรประเทศเหล่านี้ หากแต่ในปัจจุบันความพยายามผนวกรวมยุทธศาสตร์ CLMVT กลับกลายเป็นเพียงการขอมีส่วนร่วมให้เกิดความน่าสนใจในมิติของการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวจากต่างประเทศเท่านั้น ก่อนหน้านี้ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้พยายามที่จะนำเสนอ หรือหากกล่าวอย่างชัดเจน

Read More