วันจันทร์, ตุลาคม 14, 2024
Home > Cover Story > บิ๊กเนมผนึกลุยอสังหาฯ “แสนสิริ-BTS” ฮุบตลาด

บิ๊กเนมผนึกลุยอสังหาฯ “แสนสิริ-BTS” ฮุบตลาด

 
 
วันที่ 12 มกราคมนี้  เศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) มีนัดเปิดแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2560 โดยเฉพาะรายละเอียดโครงการใหม่ภายใต้การร่วมทุนกับ “บีทีเอสกรุ๊ป” และการดึงพันธมิตรทางการเข้ามาร่วมเสริมความแข็งแกร่งมากขึ้น ซึ่งเศรษฐาแอบเปรยๆ ทิ้งประเด็นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2559 ว่าจะเป็นกลยุทธ์เชิงรุกที่สร้างความตื่นเต้นมากที่สุด
 
แม้เนื้อหาไม่ใช่ดีลใหญ่เหมือนการผนึกกำลัง “บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์” เมื่อ 2 ปีก่อน แต่ถือเป็นยุทธศาสตร์ใหม่ที่ดูเหมือนว่า บริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่กำลังเร่งปรับตัวในทิศทางเดียวกัน เพื่อกระจายความเสี่ยงและสร้างการเติบโตแบบดับเบิ้ล
 
หากนับช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เกิดดีลการร่วมทุนของกลุ่มทุนอสังหาฯ โดยเฉพาะพันธมิตรต่างชาติ ทั้งญี่ปุ่นและจีน ไม่ว่าจะเป็นกรณีบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ร่วมทุนกับบริษัทในกลุ่มมิตซุย ฟูโดซัน จากญี่ปุ่น, บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ร่วมทุนกับมิตซูบิชิ เอสเตท กรุ๊ป จากญี่ปุ่น, บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเมนต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ของกลุ่มตระกูลเจียรวนนท์ ร่วมทุนกับกลุ่มบริษัท ควีนแลนด์ ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาฯ รายใหญ่ของประเทศจีน เพื่อร่วมพัฒนาโครงการ “มิกซ์ยูส” ที่จอมเทียน พัทยา
 
บริษัท ชาญอิสสระ จำกัด (มหาชน) ร่วมทุนกับกลุ่มจุนฟา ประเทศจีน พัฒนาโครงการ บาบาบีช คลับ ที่จ.พังงา และกลุ่มเทียน หยวน บริษัทรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ของจีน พัฒนาคอนโดมิเนียม ใน จ.เชียงใหม่ ก่อนส่งท้ายปิดปี 2559 ยังมีอีก 2 รายใหญ่ ซึ่งตอกย้ำสงครามการแข่งขันที่จะรุนแรงชนิดทวีคูณในปี 2560 
 
ดีลแรก บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ประกาศร่วมทุนกับบริษัทฮันคิว เรียลตี้ จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ในกลุ่มบริษัท ฮันยู ฮันชิน โฮลดิ้ง กรุ๊ป ซึ่งเป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่ในภูมิภาคคันไซ หรือแถบเมืองโอซาก้า โกเบ และเกียวโต ดำเนินธุรกิจหลากหลาย ทั้งผลิตรถไฟฟ้าใต้ดิน ศูนย์การค้าโรงแรม โรงละคร สนามเบสบอล  โดยจัดตั้ง
 
บริษัทร่วมทุน เสนา ฮันคิว 1 เพื่อลุยพัฒนาคอนโดมิเนียมกลางเมืองเจาะตลาดระดับบน ซึ่งนายริวอิจิ โมโรโทมิ ประธานบริษัท ฮันคิว เรียลตี้ จำกัด ย้ำชัดเจนถึงนโยบายขยายการลงทุนต่างประเทศมุ่งตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะไทย ซึ่งตลาดอสังหาฯ มีแนวโน้มเติบโตสูงจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่และการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าจำนวนมาก 
 
ส่วนอีกดีลเป็นการจับมือกันระหว่างบริษัท วรลักษณ์ พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) และบริษัทชินวะ เรียล เอสเตท จำกัด ประเทศ ตั้งบริษัท ดับเบิ้ลยู-ชินวะ จำกัด เพื่อรุกตลาดคอนโดมิเนียมไฮเอนด์ โดยประเดิมโครงการแรก “รูเนะสุทองหล่อ 5 (RUNESU THONGLOR 5) ย่านทองหล่อ
 
แหล่งข่าวในวงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ระบุว่า ปี 2560 และหลังจากนี้อีก 2-3 ปี ตลาดอสังหาริมทรัพย์จะแข่งขันรุนแรงมาก เพราะทุกค่ายล้วนเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับบิ๊กเนม จะช่วงชิงทำเลทองตามแนวรถไฟฟ้าตามแผนการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งกำหนดเปิดการเดินรถอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560-2565 ทำให้กลุ่มทุนไทยต้องเร่งหาทุนใหม่ เพื่อเสริมความแข็งแกร่ง เนื่องจากต้นทุนการดำเนินธุรกิจพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาที่ดินตามแนวรถไฟฟ้า บางจุดพุ่งพรวดหลายเท่าตัวและหายากมากขึ้น 
 
หรือแม้กระทั่งในต่างจังหวัด ซึ่งรัฐบาลมีโครงการก่อสร้างเส้นทางคมนาคมขนาดใหญ่หลายจุดทั่วประเทศ ส่งผลให้ตลาดเปิดกว้างมากกว่าเดิม 
 
“ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีการจับมือกัน แต่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มทุนอสังหาด้วยกัน ขณะที่การจับมือของบีทีเอสกรุ๊ปกับแสนสิริ ซึ่งธุรกิจหลักแตกต่างกัน แม้บีทีเอสมีธุรกิจอสังหาฯ แต่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก กลายเป็นการจับมือที่สามารถเชื่อมโยงจุดแข็งของแต่ละฝ่าย ซึ่งนั่นทำให้แสนสิริกลายเป็นบริษัทอสังหาฯ ที่มีความได้เปรียบมากกว่าเจ้าอื่นๆ” แหล่งข่าวกล่าว
 
ล่าสุด  บีทีเอสกรุ๊ปภายใต้กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ยังชนะการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทางรวมกว่า 65 กิโลเมตร ส่งผลให้เส้นทางการบริการเดินรถเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่มีการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสุขุมวิท และสีลม และอยู่ระหว่างการก่อสร้างส่วนต่อขยายแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต  
 
ทั้งหมดคาดว่า บีทีเอสกรุ๊ปจะมีเส้นทางบริหารเดินรถรวมกว่า 139 กิโลเมตรซึ่งหมายถึงโอกาสผุดโครงการอีกจำนวนมากและเกือบทุกจุดเป็นทำเลทองเหนือคู่แข่ง  
 
นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  ตามแผนความร่วมมือของแสนสิริและบีทีเอส ตั้งเป้าจะพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมในแนวเส้นทางระบบขนส่งมวลชน ภายใต้บริษัทร่วมทุน ซึ่งมีสัดส่วนการถือหุ้นระหว่างกลุ่มบริษัทบีทีเอส และบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) 50 : 50 จำนวนทั้งสิ้น 25 โครงการ มูลค่าโครงการรวมประมาณ 1 แสนล้านบาท โดยพัฒนาไปแล้ว 8 โครงการ มูลค่ารวม 30,000 ล้านบาท 
 
ได้แก่ เดอะ ไลน์ จตุจักร-หมอชิต มูลค่าโครงการ 6,000 ล้านบาท เดอะ ไลน์ สุขุมวิท 71 มูลค่าโครงการ 2,000 ล้านบาท เดอะ ไลน์ ราชเทวี มูลค่า 2,900 ล้านบาท เดอะ ไลน์ อโศก-รัชดา มูลค่าโครงการ 2,900 ล้านบาท เดอะ ไลน์ สุขุมวิท 101 มูลค่าโครงการ 4,200 ล้านบาท เดอะ ไลน์ พหลฯ-ประดิพัทธ์ มูลค่าโครงการ 5,800 ล้านบาท  เดอะ เบส การ์เด้น-พระราม 9 มูลค่า 2,280 ล้านบาท และคุณ บาย ยู อินสไปร์ บาย สตาร์ค มูลค่า 4,000 ล้านบาท
 
คีรีย้ำว่า เมื่อมีระยะทางการเดินรถเพิ่มขึ้น แผนการลงทุนไม่ใช่แค่ 25 โครงการ แต่สามารถขยายเพิ่มขึ้น และขณะนี้ได้เพิ่มงบซื้อที่ดินอีก 20,000 ล้านบาท รวมเป็น 30,000 ล้านบาท หรือเกือบเท่าตัว เพื่อเก็บตุนที่ดินแลนด์แบงก์ให้ได้มากที่สุด 
 
ขณะที่เศรษฐากล่าวว่า ปัจจุบันทั้งแสนสิริและบริษัทร่วมทุนกับบีทีเอส ยังมียอดขายรอรับรู้รายได้ (Presale backloq) ที่รองรับการรับรู้รายได้ในอีก 4 ปีข้างหน้าแล้วประมาณ 38,300 ล้านบาท แบ่งเป็นยอดขายรอรับรู้รายได้ของแสนสิริ 17,600 ล้านบาท และยอดขายรอรับรู้รายได้ของบริษัทร่วมทุนกับบีทีเอสอีก 20,700 ล้านบาท
 
ที่สำคัญ ในปี 2560 นอกจากการเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมในทำเลทองใหม่ๆ แล้ว แสนสิริเริ่มมองเห็นโอกาสที่จะขยายโครงการแนวราบตามแนวรถไฟฟ้าที่ขยายออกสู่ชานเมืองและมีความต้องการรออยู่จำนวนมาก ซึ่งมีความเป็นไปได้ ทั้งรูปแบบบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ ขึ้นอยู่กับทำเลและกลุ่มเป้าหมายทางการตลาด 
 
อย่างไรก็ตาม แม้ดูเหมือน “แสนสิริ” ได้ประโยชน์จากแลนด์แบงก์จำนวนมหาศาลของบีทีเอสกรุ๊ป แต่ส่วนสำคัญมาจากการปลุกปั้นแบรนด์ “แสนสิริ” ตลอดระยะเวลาหลายสิบปี ซึ่งเป็นสิ่งที่ “คีรี” ต้องการใช้เป็นตัวเสริมภาพลักษณ์ในฐานะบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพราะทั้งที่มีที่ดินทำเลทองอยู่ในมือมากมาย แต่โครงการคอนโดมิเนียมของบีทีเอสกรุ๊ปอย่าง “Abstracts” กลับไม่สามารถสร้างยอดขายถล่มทลาย 
 
การจับมือของ 2 ยักษ์จึงมีความหมาย นอกจาก “วิน-วิน” แล้ว ยังหมายถึงโอกาสการฮุบตลาดคอนโดมิเนียมครั้งใหญ่ด้วย