วันอาทิตย์, ตุลาคม 6, 2024
Home > Cover Story > ความชัดเจนที่อึมครึมของ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์

ความชัดเจนที่อึมครึมของ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์

 
 
เมื่อช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา มีการล่ารายชื่อเพื่อสนับสนุนการรณรงค์เรื่อง “สนช. หยุด Single Gate way หยุดกฎหมายล้วงข้อมูลส่วนบุคคล” จากกลุ่มเครือข่ายพลเมืองเน็ต ด้วยมุ่งหวังต้องการแสดงความคิดเห็นในการคัดค้านหัวข้อหนึ่งของวาระการประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา
 
แม้ว่าการประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะมีหลายวาระสำคัญที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน แต่วาระหนึ่งที่หลายฝ่ายให้ความสนใจและถูกจับตามอง คือ การประชุมพิจารณาผ่านร่างพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่…) พ.ศ. … 
 
หลังจากกลุ่มพลเมืองเน็ตล่ารายชื่อผ่านเว็บไซต์ Change.org และได้รายนามผู้สนับสนุนกว่า 3 แสนรายชื่อ ที่มุ่งหมายกดดันให้ สนช. ชะลอการลงมติในร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว แต่ก็ปราศจากผล เมื่อร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ผ่านที่ประชุม สนช. ด้วยมติเห็นด้วย 168 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 เสียง และงดออกเสียง 5 เสียง 
 
ทั้งนี้เนื้อหาใจความใน พ.ร.บ. ที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ และหัวข้อสำคัญที่ถูกหยิบยกนำมาตั้งข้อสังเกตว่ามีเนื้อหาบางส่วนของ พ.ร.บ. ที่อาจละเมิดสิทธิเสรีภาพ และความเป็นส่วนตัวของประชาชน ที่อยู่ในมาตรา 14 (1), (2) และมาตรา 15 
 
การผ่านร่าง พ.ร.บ. แม้จะมีเสียงทัดทานที่สะท้อนชัดอยู่บนโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ค ทั้งในรูปแบบของการ์ตูนล้อเลียน หรือข้อความที่แฝงไปด้วยนัยกระทบกระเทียบ แม้ว่ารูปแบบการคัดค้านของกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยจะไม่ได้เป็นรูปแบบของการประท้วงทั่วๆ ไป แต่เป็นไปอีกรูปแบบหนึ่งของการแสดงออกถึงความเห็นต่างต่อกรณีดังกล่าว คือการระดมกำลังของผู้ที่เชี่ยวชาญด้านไอที ที่มีการนัดหมายกันสร้างปรากฏการณ์ที่ทำให้เว็บไซต์สำคัญของทางราชการล่ม
 
แม้ว่าฟากฝั่งของรัฐบาลจะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลความเสียหายจากการกระทำดังกล่าว กระนั้นจังหวะก้าวของรัฐบาลในการออกมาชี้แจงข้อเท็จจริง ที่เสมือนการไขข้อข้องใจ คือการให้รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลคนใหม่อย่าง พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ ออกมาอรรถาธิบายถึงเนื้อหาบางประเด็นที่อาจก่อความเข้าใจและตีความผิด
 
ทั้งประเด็นสำคัญที่เป็นมูลเหตุให้นำมาซึ่งการแก้ไขปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงเนื้อหาใน พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์นั้น มาจากการที่ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ 2550 ซึ่งใช้มานานกว่า 10 ปี โดยเนื้อหาบางประการนั้นมีการตีความผิดไปจนเกิดปัญหาและกระทบกับการบังคับใช้ เช่น ในกรณีของการนำฐานความผิดที่ใช้กับเรื่องฉ้อโกง ปลอมแปลงตัวตนบนโลกโซเชียลไปใช้กับการหมิ่นประมาท ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในด้านการแสดงความคิดเห็น จนเกิดกระแสเรียกร้องหลักประกันสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมากขึ้น 
 
ขณะที่อำนาจการปิดเว็บไซต์ที่ไม่ได้ผิดต่อหลักกฎหมาย แต่อาจขัดต่อหลักศีลธรรม ทั้งนี้การปิดเว็บไซต์ตามร่าง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ ไม่ได้เป็นการปิดกั้นสิทธิของประชาชน แต่จะมีกลไกการลบ หรือระงับการเผยแพร่ เช่น กรณีการฆ่าตัวตายผ่านโลกออนไลน์ หรือเว็บไซต์ที่สอนวิธีการทำระเบิด ทำอาวุธ ดังนั้นใน พ.ร.บ. ฉบับใหม่มีข้อกำหนดให้ตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูล และพิจารณาคำร้องจำนวน 9 คน ซึ่ง 6 คนเป็นบุคคลที่สรรหามาจากภาครัฐ และ 3 คน สรรหามาจากภาคเอกชน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้านสิทธิมนุษยชน ด้านสื่อสารมวลชน และด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 
 
ทั้งนี้การตั้งคณะกรรมการนั้นจะดูความเหมาะสมกับคำร้องของแต่ละกรณี เพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ผู้ให้บริการและประชาชนสูงสุด 
 
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่จะสิ้นสุดลงไปแล้ว และเตรียมตราเป็นกฎหมายภายในเร็ววัน กระนั้นปฏิกิริยาของผู้เห็นต่าง ทั้งกลุ่มเครือข่ายพลเมืองเน็ต รวมไปถึงกลุ่มแฮกเกอร์ ก็ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่เนืองๆ 
 
การกระทำดังกล่าวน่าจะเป็นกระจกสะท้อนถึงรัฐบาลได้ดีว่า อาจจะมีข้อความหรือเนื้อหาบางประการที่ยังขาดตกบกพร่องในบางแง่มุม การตัดจบปัญหาของผู้ที่เกี่ยวข้องด้วยการเพิกเฉย และทำเพียงตั้งโต๊ะแถลงข่าวอธิบายข้อสงสัยแต่ละประการไปนั้น อาจไม่เพียงพอหรือไม่สามารถตอบข้อสงสัยของอีกฝ่ายได้ชัดเจนนัก
 
การแก้ไขร่าง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ที่ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ.2550 นั้น ภาครัฐต้องการให้เกิดการใช้งานที่สอดประสานกับการตั้งธงในเรื่องของเศรษฐกิจระดับมหภาคของประเทศเอาไว้ ซึ่งตั้งเป้าจะให้ประเทศไทยเดินเข้าสู่นโยบาย Thailand 4.0 
 
และสำหรับการแก้ไข พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์นั้น อาจจะเป็นหลักพื้นฐานที่สำคัญในการสร้างระเบียบและสภาวะแวดล้อมที่ประกอบไปด้วยความมั่นคงและปลอดภัยในโลกไซเบอร์ ซึ่งนับว่าเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และ Thailand 4.0 อย่างแท้จริง 
 
โดยในอดีตรัฐบาลมีนโยบายที่จะปรับเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า นับเป็นแนวทางที่ดีในแง่มุมของภาครัฐ และคาดหวังให้ทุกภาคส่วนหันมาให้ความสำคัญ โดยการใช้เทคโนโลยีมาสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศ มากกว่าจะใช้พื้นที่บนโลกไซเบอร์มาโจมตีกันและกัน โดยมีเป้าประสงค์จะสร้าง Cyberspace ของไทยให้น่าอยู่ เป็นพื้นที่ประกอบธุรกิจได้ ซึ่งจำเป็นต้องมีสภาพแวดล้อมที่อำนวย
 
และสำหรับผู้ที่เข้ามารับตำแหน่งเจ้ากระทรวงพร้อมกับการเจองานยากทันที อย่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่าเกี่ยวกับประเด็นปัญหา พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ว่า ไม่ได้หนักใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น และพร้อมจะเรียนรู้กฎหมายจากเหตุการณ์ดังกล่าว
 
เหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในห้วงเวลานี้ประหนึ่งภาพสะท้อนของนโยบายของรัฐบาล ในความต้องการที่จะนำพาประเทศเดินไปข้างหน้า โดยการตั้งธงว่าไทยจะเดินหน้าไปเป็น Thailand 4.0 หากแต่ ณ เวลานี้ ที่ภาครัฐต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนา คำถามที่ภาครัฐต้องย้อนถามตัวเองในตอนนี้คือ มีประชาชนจำนวนมากแค่ไหนที่เข้าใจ 4.0 อย่างแท้จริง หรือมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่รัฐบาลจะสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นด้วยความมุ่งหมายที่จะสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เดินไปข้างหน้าอย่างที่มีประชาชนพร้อมจะเดินตาม
 
การพัฒนาของเทคโนโลยีทั้งในรูปแบบของซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ ที่ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และแทบจะเรียกได้ว่าไม่หยุดยั้ง บางห้วงเวลาอาจรู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเร็วกว่าเวลาที่เดินไปอย่างเที่ยงตรงเสียอีก
 
แต่สิ่งที่ปรากฏขึ้นบนโลกคู่ขนาน ทั้งโลกแห่งความเป็นจริงและโลกออนไลน์ เป็นสิ่งที่เราในฐานะผู้ใช้บริการและผู้ใช้งานควรพึงระลึกไว้เสมอว่า เราควรตั้งมั่นอยู่บนสติและพัฒนาปัญญาไปในเวลาเดียวกันกับการพัฒนาเทคโนโลยี