“สหฟาร์ม” ถือเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจส่งออกไก่สดแช่แข็งรายแรกๆ ของประเทศไทย ที่เกิดขึ้นจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ โดย ดร.ปัญญา โชติเทวัญ เมื่อปี พ.ศ. 2512 ด้วยเงินลงทุนเพียง 5,000 บาท และเลี้ยงไก่สัปดาห์ละ 500 ตัว ก่อนที่ ดร.ปัญญาจะขยายอาณาจักรและสร้างการเติบโตให้กับสหฟาร์มสู่ธุรกิจไก่ครบวงจร ทั้งกิจการฟาร์มไก่ปู่-ย่าพันธุ์, ฟาร์มไก่พ่อ-แม่พันธุ์, ฟาร์มไก่เนื้อ, ไซโลเก็บเมล็ดธัญพืชที่ใช้เป็นอาหารไก่, โรงงานผลิตอาหารสัตว์, โรงงานผลิตยาสัตว์, โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ โดยจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท สหฟาร์ม จำกัด ขึ้นเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2520 ด้วยทุนจดทะเบียนมากถึง 1,789,000,000 บาท และทำให้ “สหฟาร์ม” ขึ้นแท่นเป็นผู้ส่งออกไก่สดที่ได้รับการยอมรับจากลูกค้าทั้งในและต่างประเทศสร้างรายได้นับหมื่นล้านบาทต่อปี
แต่ถึงกระนั้นธุรกิจของสหฟาร์มก็มีอันต้องสะดุดลง เมื่อธุรกิจขาดสภาพคล่อง อันสืบเนื่องจากการเร่งขยายธุรกิจ ค่าแรงที่ปรับสูงขึ้นถึง 300 บาท การขาดแคลนอาหารสัตว์ ทำให้ผลผลิตเสียหายและเกิดปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างหนัก จนต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้ศาลล้มละลายกลางเมื่อปี 2557 ด้วยหนี้รวมกว่า 20,788 ล้านบาท โดยมีบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด เป็นผู้บริหารแผน
หลังอยู่ในแผนฟื้นฟูนานกว่า 7 ปี ในที่สุดศาลล้มละลายกลางจึงมีคำสั่ง “ยกเลิก” การฟื้นฟูกิจการ ในวันที่ 18 สิงหาคม 2565 เพราะธุรกิจส่งออกไก่ได้กำไรทำให้มีเงินมากพอสำหรับชำระหนี้ โดย ดร.ปัญญา ถือฤกษ์วันที่ 9 เดือน 9 พ.ศ. 2565 ในการกลับเข้ามาบริหารสหฟาร์มอีกครั้ง พร้อมแผนธุรกิจและการลงทุนใหม่ๆ ในรอบกว่า 7 ปี รวมถึงมีการปรับเปลี่ยนองค์กร ซึ่งมีลูกหลานโชติเทวัญและผู้บริหารมืออาชีพเข้ามาเสริมทัพ อีกทั้งยังมีแผนเพิ่มศักยภาพการทำงานและเร่งกำลังการผลิตเพื่อขยายตลาดต่างประเทศ โดยการลดต้นทุนและเพิ่มจำนวนไก่เข้าเชือด โดยตั้งเป้า 1 ล้านตัวต่อวัน
หลังออกจากแผนฟื้นฟู สหฟาร์มภายใต้การนำของ ดร.ปัญญา โชติเทวัญ ในฐานะประธานกรรมการบริหารบริษัทฯ ก็กลับมาผงาดอีกครั้ง โดยในวันที่ 24 มกราคม 2567 สหฟาร์มถือโอกาสในวาระฉลองครบรอบอายุ 93 ปี ของ ดร.ปัญญา ออกมาประกาศความสำเร็จในการดำเนินงานของปี 2566 ที่สามารถทำยอดส่งออกได้ถึง 170,000 ตัน จากปี 2565 ที่ส่งออกได้ 110,000 ตัน เติบโตสูงถึง 147% มีจำนวนไก่เพิ่มขึ้น 30% และสามารถกลับมาครองบัลลังก์ผู้ส่งออกไก่สดแช่แข็งของไทยได้อีกครั้ง ตามมาด้วยข่าวคราวความเคลื่อนไหวทางธุรกิจที่ออกมาให้เห็นอยู่บ่อยครั้งตามหน้าสื่อ
กระทั่งเดือนพฤศจิกายน 2567 สหฟาร์มต้องเผชิญกับการสูญเสียครั้งใหญ่ กับการจากไปของ “ดร.ปัญญา โชติเทวัญ” ผู้ก่อตั้งอาณาจักรสหฟาร์ม ที่จากไปด้วยวัย 93 ปี แน่นอนว่า ข้อสงสัยที่ผุดขึ้นมาคือในวันที่ขาดเสาหลักเช่นนี้ สหฟาร์มจะเดินไปในทิศทางใด?
ล่าสุด ดร.มนูญศรี โชติเทวัญ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สหฟาร์ม จำกัด และบริษัทในเครือ คู่ชีวิตที่ได้ชื่อว่าเป็น “ศิษย์เอก” ทางธุรกิจของ ดร.ปัญญา ได้นำทีมทายาทโชติเทวัญ มาตอกย้ำความแข็งแกร่งของสหฟาร์มในงาน THAIFEX-Anuga Asia 2025 ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ยืนยันเดินหน้าตามแผนที่วางไว้ พร้อมตั้งเป้าเติบโตสองหลัก (Double-digit growth) ในปี 2568
“หลังสหฟาร์มออกจากแผนฟื้นฟู ทีมของ ดร.ปัญญา และกลุ่มโชติเทวัญทั้งหมด ได้กลับเข้ามาบริหารสหฟาร์มอีกครั้ง มีคุณน้ำผึ้งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ เพราะเป็นเลขาของคุณพ่อ คือ ดร.ปัญญา ได้รับการถ่ายทอดวิธีคิดและการทำธุรกิจมาตลอด ซึ่งเราได้วางแผนธุรกิจไว้ 10 ปี 3 ปีแรกคือตอนออกจากแผนฟื้นฟู ซึ่งนี่ถือเป็นปีที่ 3 เมื่อกลุ่มโชติเทวัญกลับมาบริหาร ผลประกอบการของสหฟาร์มดีขึ้นเป็นลำดับ และเมื่อ ดร.ปัญญา จากไป ย่อมเป็นภาระอันยิ่งใหญ่ของดิฉันที่จะต้องนำพาองค์กรไปสู่แผนที่เราได้วางเอาไว้ ซึ่งยืนยันว่าสหฟาร์มยังคงดำเนินงานตามแผน ทำให้ผลที่ออกมาเป็นไปตามเป้า และเรียกได้ว่าดีกว่าเป้าหมายที่วางไว้”
ปัจจุบันอาณาจักรสหฟาร์มมีโรงงานที่ครบวงจร 5 โรงงาน พื้นที่รวม 10,000 ไร่ สามารถผลิตไก่ได้วันละ 1 ล้านตัวตามเป้าที่วางไว้ มีพนักงานรวมกว่า 20,000 คน มีสินค้าทั้งไก่สดแช่แข็ง ไก่แปรรูป ปลาดุก ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สัดส่วนของรายได้หลักคือการส่งออกไก่ คิดเป็น 70% และจำหน่ายภายในประเทศ 30% โดยส่งออกไปยัง 37 ประเทศทั่วโลก
ในส่วนของทายาทโชติเทวัญที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนสหฟาร์ม ประกอบด้วย ดร.ก้องเทวัญ โชติเทวัญ ประธานสายโรงงานแปรรูปการผลิต และโรงงานอาหารสำเร็จรูป, น้ำผึ้ง – ดร.จารุวรรณ โชติเทวัญ ประธานสายการตลาดต่างประเทศ บัญชี และการเงิน, นายสิรวิชญ์ โชติเทวัญ ประธานสายการขายและการส่งออกสินค้าต่างประเทศ โดยมี ดร.มนูญศรี ก้าวขึ้นมาเป็นหัวเรือใหญ่ต่อจาก ดร. ปัญญา
สำหรับผลประกอบย้อนหลังของสหฟาร์มจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ปี 2563 มีรายได้รวม 18,945,597,652.00 บาท กำไร (ขาดทุน) สุทธิ 549,010,333.00, ปี 2564 รายได้รวม 18,113,738,013 บาท กำไร (ขาดทุน) สุทธิ 147,965,996 บาท, ปี 2565 รายได้รวม 27,135,658,218 บาท กำไร (ขาดทุน) สุทธิ 2,197,836,795 บาท, ปี 2566 รายได้รวม 28,898,283,253 บาท กำไร (ขาดทุน) สุทธิ 568,886,045 บาท และปี 2567 รายได้รวม 25,964,635,230.87 กำไร (ขาดทุน) สุทธิ 1,509,850,932.71 บาท
ดร.จารุวรรณ โชติเทวัญ เผยว่า หลังออกจากแผนฟื้นฟูยอดส่งออกของสหฟาร์มเพิ่มขึ้นถึง 100% ที่สำคัญแนวโน้มการค้าโลกในปีนี้ยังเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทยอีกด้วย โดยเฉพาะเมื่อหนึ่งในผู้ส่งออกไก่รายใหญ่ของโลกอย่างบราซิลประสบปัญหาไข้หวัดนกทำให้ไม่สามารถส่งออกได้ จึงส่งผลให้ความต้องการสินค้า “ไก่ไทย” เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อย่างเช่นในประเทศเกาหลีที่ไม่สามารถนำเข้าไก่จากบราซิลได้ในขณะนี้ จึงเป็นโอกาสสำหรับไก่ไทยในการส่งออก รวมถึงเป็นโอกาสของสหฟาร์มเช่นกัน ทั้งนี้ บราซิลคือประเทศที่ผลิตไก่ได้มากที่สุดในโลก อันดับสองคืออเมริกา อันดับสามคือจีน ประเทศไทยถือเป็นอันดับที่ 7 แต่ถ้าพูดถึงภาคการส่งออก ไทยอยู่อันดับ 3 ของโลก
“ปัจจุบันสหฟาร์มมีการส่งออกไปทั้งหมด 37 ประเทศทั่วโลก ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เราส่งออกเพิ่มมากขึ้น 10 ประเทศ สามารถปิดออเดอร์ได้รวดเร็วขึ้น รายได้เติบโตชัดเจน โดยสัดส่วนส่งออกไปเกาหลีของสหฟาร์มอยู่ที่ประมาณ 10% ส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนพวกน่อง สะโพก ปีก ถือเป็นโอกาสที่ดีของวงการไก่ไทยที่จะสามารถทำยอดส่งออกได้โตมากขึ้น”
สำหรับแผนธุรกิจต่อจากนี้ ดร.จารุวรรณ เผยว่า จะดำเนินตามโรดแมปที่ ดร.ปัญญา วางไว้ เน้นการเติบโตแบบมั่นคงและยั่งยืน ผ่านกลยุทธ์การกระจายตลาดไปยังประเทศอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ฟิลิปปินส์ ที่กำลังอยู่ในช่วงการเจรจา รวมถึงการเพิ่มไลน์สินค้าเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค เช่น รีเทลโปรดักส์ และสินค้าปรุงสุกที่เปิดตัวไปแล้วอย่าง ไก่รสน้ำพริกหนุ่ม ไก่รสลาบ ไก่เกาหลี เป็นต้น
“สิ่งสำคัญคือเราต้องเก็บลูกค้าทุกเจ้า พยายามรักษาลูกค้าที่มี และหาลูกค้าเพิ่ม เพื่อความมั่นคงขององค์กร ซึ่งเป็นสิ่งที่ ดร.ปัญญา เน้นย้ำ เพราะสหฟาร์มเติบโตอย่างก้าวกระโดด ต้องเตรียมฐานลูกค้าให้รองรับกับการเติบโตไว้ 2-3 ปีข้างหน้า ต่อให้สหฟาร์มขยายใหญ่แค่ไหน เราก็ยังมีที่ระบายสินค้าและมีฐานลูกค้ารองรับ” สิรวิชญ์ โชติเทวัญ กล่าวเสริม
อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่สำคัญของปีนี้คือแคมเปญ “Halal With Heart – ฮาลาลด้วยหัวใจ” ตอกย้ำระบบการผลิตที่ยึดหลักศาสนา ที่มีทีมงานและผู้บริหารชาวมุสลิมคอยดูแลในส่วนของขั้นตอนการผลิตทุกขั้นตอน เพื่อให้มั่นใจว่าถูกต้องตามหลักศาสนา
“สมัยก่อนสหฟาร์มยืนหนึ่งในใจชาวมุสลิมในเรื่องสินค้าฮาลาล เราจะนำสิ่งนี้กลับเข้ามา เพื่อตอกย้ำถึงความใส่ใจขององค์กร และเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การตลาดในปีนี้ของสหฟาร์ม” ดร.จารุวรรณ กล่าว
สำหรับการเข้าร่วมงาน THAIFEX – Anuga Asia 2025 นั้น สหฟาร์มคาดว่าจะเป็นอีกก้าวสำคัญสู่เวทีโลก และนำไปสู่การเปิดตลาดในประเทศใหม่ๆ เพิ่มเติม ทั้งนี้ ตั้งเป้าการเติบโตของสหฟาร์มปีนี้และปีต่อๆ ไปไว้ที่สองหลัก หลังจากปีที่ผ่านมาสามารถกวาดยอดขายไปได้กว่า 30,000 ล้านบาท.