พิชัย จิราธิวัฒน์ ใช้เวลากว่า 6 ปี ปลุกปั้นแบรนด์ “Good Goods” ภายใต้โปรเจกต์ “Central Tham” ซึ่งเป็นโครงการด้านความยั่งยืนของกลุ่มเซ็นทรัล หวังสร้างหน้าร้านดีไซน์ ทั้ง เท่+เก๋ สไตล์ศิลปิน เปิดช่องทางจำหน่ายต่อยอดสินค้าจากชุมชน จากสาขาแรกเมื่อปี 2562 จนล่าสุดเปิดสาขาที่ 7 ชนิดทำถึงกลายเป็นสินค้าไทยยอดนิยมของลูกค้าต่างชาติ
ปัจจุบัน Good Goods เปิดให้บริการแล้ว 7 สาขา โดยผุด Concept Store ประเดิมสาขาแรกในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อปี 2562 และขยายพื้นที่จาก 197 ตารางเมตร (ตร.ม.) เป็น 420 ตร.ม. เมื่อเดือนกันยายน ปี 2565
ต่อมาในปี 2565 เปิดสาขาที่ 2 ในจริงใจมาร์เก็ต เชียงใหม่ ใกล้กับตลาดต้นไม้คำเที่ยง บนถนนอัษฎาธร
ปี 2567 ขยายอย่างรวดเร็วอีก 4 สาขา ที่เซ็นทรัลภูเก็ต ฟอลเรสต้า ห้างสรรพสินค้าชิดลม ศูนย์การค้าเซ็นทรัลป่าตอง จ.ภูเก็ต และโรบินสัน โอเชี่ยน จังซีลอน ตึก Botanica จ.ภูเก็ต กระทั่งสาขาล่าสุดเผยโฉมอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2568 ในศูนย์การค้าเซ็นทรัลพัทยา เจาะเมืองท่องเที่ยวที่มีกลุ่มต่างชาติหลากหลายที่สุด
กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นต่างชาติ 80% และเป็นกลุ่มชาวจีนมากที่สุด ตามด้วยเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง และยุโรป โดยถือเป็นหนึ่งในสินค้าท็อปทรีที่ต่างชาติอยากซื้อมากที่สุดและสามารถสร้างรายได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยร้านสาขาแรกเริ่มต้นคัดสรรสินค้าจากชุมชนที่มีเอกลักษณ์ สะท้อนความเป็นไทย ประมาณ 200 รายการ สามารถสร้างยอดขายเริ่มต้น 9 ล้านบาท แม้เป็นตัวเลขไม่มาก แต่มีเสียงตอบรับจากลูกค้าชาวต่างชาติ
ปี 2565 ยอดขายขยับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 30 ล้านบาท ปี 2566 ยอดอยู่ที่กว่า 200 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้ากว่า 7 เท่า มีสินค้ามากกว่า 1,300 รายการ ส่วนปี 2567 อยู่ที่ 400 ล้าน และปี 2568 คาดการณ์จะสามารถเติบโตแตะ 500 ล้านบาท
ทั้งนี้ เป้าหมายของพิชัยในฐานะกรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล ต้องการให้ Good Goods เป็นแบรนด์สินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่น ดีไซน์ร่วมสมัย สร้างรายได้กลับคืนสู่ชุมชน โดยใช้รูปแบบธุรกิจเพื่อความยั่งยืนเป็นวัตถุประสงค์หลักและนำผลกำไรจากการดำเนินการไปใช้พัฒนาสังคมอย่างต่อเนื่อง ทั้งการสร้างรายได้ สร้างอาชีพให้ชุมชน สร้างโอกาสเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และคงไว้ซึ่งศิลปะและวัฒนธรรมของชุมชน
สินค้าส่วนใหญ่เน้นการเพิ่มมูลค่าด้วยการออกแบบ เจาะกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ ทั้งต่างชาติและคนไทย โดยสร้างคาแรกเตอร์ที่ใช้ความเป็นไทยแต่แฝงมุมมองสากล มีความสนุกเข้าถึงได้ง่าย ดีไซน์สวยงาม ทันสมัย และใช้งานได้ในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ ยังส่งผ่านทักษะและความรู้ใหม่ ๆ ให้กับชุมชนที่ได้ทำงานร่วมกัน (Knowledge Sharing) เพื่อยกระดับขีดความสามารถของผู้คนในชุมชนที่อาจขาดโอกาสในการเรียนรู้ตลาดในยุคปัจจุบัน
สำหรับการเปิดสาขาล่าสุดเจาะเมืองท่องเที่ยว “พัทยา” เซ็นทรัล ทำ ต้องการนำเสนอสินค้าไทยร่วมสมัยที่มีส่วนร่วมจากชุมชนทั่วประเทศให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลก โดยเน้นคอนเซ็ปต์ร้านใหม่ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเสน่ห์ของชายหาดพัทยาและสินค้า exclusive items เฉพาะสาขานี้เท่านั้น
พิชัยกล่าวว่า พัทยาเป็นเมืองที่มีศักยภาพสูง ทั้งในมิติการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ การเปิดสาขาจะไม่เพียงขยายโอกาสทางธุรกิจ แต่ยังเปิดตลาดพาสินค้าไทยคุณภาพสูงดีไซน์สวยจากเครือข่ายชุมชนเข้าสู่ลูกค้ากลุ่มใหม่ ทั้งผลิตภัณฑ์หัตถกรรม สินค้าแฟชั่นจากหลากหลายวัสดุ เส้นใยธรรมชาติ หรือรีไซเคิล ของตกแต่งบ้าน ไปจนถึงผลิตภัณฑ์แบบไทยเพื่อสุขภาพอื่นๆ
ในส่วนคอนเซ็ปต์ของสาขาพัทยา ได้รับแรงบันดาลใจจากบรรยากาศของเมืองชายหาด โดยเลือกใช้โทนสีธรรมชาติอย่างน้ำตาล เบจ และครีม ซึ่งชวนให้นึกถึงสีของทราย นำเทกเจอร์ผนังทรายพ่นมาใช้เพื่อสร้างมิติที่กลมกลืนและผ่อนคลาย ภายในร้านออกแบบเป็นรูปแบบ Open Floor สามารถปรับเปลี่ยนฟังก์ชันได้ตามความต้องการ ซึ่งไฮไลต์สำคัญของสาขานี้คือ งานศิลปะบนผนังจากทีม ‘Patani Artspace’ อาร์ตสเปซแห่งเเเรกใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
แน่นอนว่า มีสินค้าเอ็กซ์คลูซีฟ ได้แก่ กระเป๋าสะพายผ้าขาวม้ากาฬสินธุ์ จากวิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้ามัดหมี่ อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ จากผ้าขาวม้าเปลี่ยนเป็นกระเป๋าสะพายรูปทรงทันสมัย
กระเป๋าสานใบจิ๋วจากพลาสติกรีไซเคิล จาก More (FutureCycle) และสมาคมรวมใจคนพิการ จ.อุดรธานี โดยนำเส้นพลาสติกที่ได้จากการรีไซเคิลถุงพลาสติกมาสานเป็นกระเป๋าใบจิ๋วสำหรับเด็ก หวังเป็นส่วนหนึ่งในการปลูกฝังให้เด็กๆ เรียนรู้เรื่องการรีไซเคิล และช่วยลดปัญหาที่เกิดจากขยะพลาสติก รวมถึงตะกร้าสานพลาสติก ผลงานจากโครงการลดความเหลื่อมล้ำ นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัสดุจากท้องถิ่นทั่วประเทศ ซึ่ง Good Goods ร่วมพัฒนากับชุมชนภายใต้ตราสัญลักษณ์รูปช้างของแบรนด์
ขณะที่สินค้า Good Goods ซึ่งปัจจุบันคัดสรรจากชุมชนท้องถิ่น ทั้งหมด 39 ชุมชน จาก 25 จังหวัดทั่วประเทศไทย จากโครงการที่หลากหลาย แต่ยึดแนวคิดสำคัญเรื่องความยั่งยืนอย่าง UN SDGs ที่สอดคล้องกับโมเดล ESG (Environmental, Social, and Governance) ประกอบด้วย Environment การผลักดันให้ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า พัฒนาสินค้าตามหลัก Circular โดยการ Recycle วัสดุต่างๆ มาเป็นสินค้า เช่น กระเป๋าทำจากขวดพลาสติก Recycle ตะกร้าทำจากเศษกระดาษเหลือใช้จากโรงงาน และโลโก้ช้างประดับกระเป๋าจากขวดพลาสติก Recycle
Social เน้นการพัฒนาทักษะ สร้างอาชีพ ลดความเหลื่อมล้ำ และกระจายรายได้ให้ชุมชน และกลุ่มคนเปราะบาง เช่น คนพิการ ให้สามารถหาเลี้ยงชีพได้ เช่น กระเป๋าตะกร้าสานคนพิการจาก จ. อุดรธานี หรือกระเป๋าถักฝีมือผู้ต้องขังหญิงจากเรือนจำกลาง จ.นครปฐม
Governance & Economic ซึ่งถือเป็นเป้าหมายใหญ่ คือ การสร้างความแข็งแกร่งให้สินค้าชุมชน ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และเศรษฐกิจประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม 6 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นการดำเนินงานที่ต้องปรับตัวตามเงื่อนไขต่างๆ ซึ่งตามแผนเบื้องต้นของพิชัยจะเดินหน้าขยายสาขา Good Goods โดยปี 2568 เตรียมเปิดสาขา Shop in Shop ที่จังซีลอน และขยายสาขาไปยังห้างในยุโรปของกลุ่มเซ็นทรัล จากปัจจุบันมี Mini Pop-Up อยู่ที่ ห้างเซลฟริดเจส ประเทศอังกฤษ ใช้สินค้ากลุ่มผ้าขาวม้าเป็นแม็กเน็ตหลักและจะต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ต่อไป.