วันศุกร์, มีนาคม 21, 2025
Home > New&Trend > “อายิโนะโมะโต๊ะ” กับแผนงานด้านความยั่งยืนปี 2568

“อายิโนะโมะโต๊ะ” กับแผนงานด้านความยั่งยืนปี 2568

“ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มจะต้องมีแนวทางที่ชัดเจนด้านการดำเนินงาน เพื่อสร้างความยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ” คือหนึ่งในเมกะเทรนด์ด้านธุรกิจอาหารที่ผู้ประกอบการต่างให้ความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ประเด็นเรื่องความยั่งยืนถูกบรรจุอยู่ในแผนการดำเนินธุรกิจในทุกอุตสาหกรรม

ครั้งนี้ “ผู้จัดการ 360 องศา” จะพาไปสำรวจแผนงานด้านความยั่งยืนประจำปี 2568 ของบริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด

สมิชฌน์ เพ็ชร์ดี ผู้จัดการฝ่ายส่งเสริมความยั่งยืน บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด ให้ข้อมูลว่า เป้าหมายของอายิโนะโมะโต๊ะ คือ “การสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจอาหาร” และสร้างการเติบโตของธุรกิจผ่านการใช้องค์ความรู้ด้าน “AminoScience” อันเป็นความเชี่ยวชาญหลักของบริษัทฯ มาสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านอาหาร ที่โดดเด่นด้วยรสชาติอร่อยและมีโภชนาการที่ดี ควบคู่ไปกับการดำเนินการที่ลดผลกระทบ พร้อมช่วยฟื้นฟูดูแลสิ่งแวดล้อม

โดยเป้าหมายหลักของอายิโนะโมะโต๊ะในปี 2568 จะโฟกัสไปที่ “วัฏจักรอาหารยั่งยืน” ประกอบด้วย 4 มิติหลัก ควบคู่ไปกับการศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเข้ามาช่วยผลักดันให้เกิดความความยั่งยืนมากยิ่งขึ้นในอนาคต

สำหรับ 4 มิติหลักของวัฏจักรอาหารยั่งยืน ประกอบด้วย

1. จัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างให้เกิดระบบการจัดซื้อวัตถุดิบแบบหมุนเวียนและยั่งยืน ทั้งนี้อายิโนะโมะโต๊ะตั้งเป้าหมายในการบรรลุผลสำเร็จให้ได้ 75% ภายในปี 2568 โดยมุ่งเน้นเรื่องการติดตามและทำการตรวจสอบกลับได้ ซึ่งรวมถึงการจัดหาวัตถุดิบที่ยั่งยืน และไม่ไปรุกล้ำระบบนิเวศหรือรบกวนสิ่งแวดล้อม

สำหรับเมล็ดกาแฟซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญของกาแฟเบอร์ดี้ หนึ่งในแบรนด์ของอายิโนะโมะโต๊ะ จะมีรับซื้อเมล็ดกาแฟจากไร่ที่มีคุณภาพตาม “หลักปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP)” กับกรมส่งเสริมการเกษตร

2. ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีการดำเนินงานตามแนวทาง Ajinomoto Bio-cycle ที่เป็นกลไกความร่วมมือกับภูมิภาคท้องถิ่นเพื่อสร้างกระบวนการจัดการการผลิตและการเกษตรอย่างยั่งยืน ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

โดยโรงงานการผลิตทั้งหมด 7 แห่งของอายิโนะโมะโต๊ะ เป็นโรงงานสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยนำหลัก 3Rs (Reduce, Reuse, Recycle) มาใช้ในการจัดการภายในโรงงาน

ในปีนี้ อายิโนะโมะโต๊ะได้ตั้งเป้าหมายในการตรวจสอบ carbon footprint ที่เกิดขึ้นทั้งหมด พร้อมทั้งร่วมมือกับพันธมิตรคู่ค้าเพื่อการดำเนินงานลดคาร์บอนอย่างต่อเนื่อง

3. การลดพลาสติก เน้นการลดพลาสติกในบรรจุภัณฑ์ ด้วยการลดการใช้พลาสติกใหม่ และเลือกใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้ อีกทั้งยังส่งเสริมการรีไซเคิลอย่างเป็นรูปธรรม

4. การลดขยะอาหาร ปัจจุบัน 6 โรงงานของอายิโนะโมะโต๊ะสามารถลดขยะอาหารได้ 100% ส่วนโรงงานเบอร์ดี้สามารถลดขยะอาหารได้สำเร็จ 82% ซึ่งนับเป็นผลสำเร็จที่ก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับชุมชนข้างเคียงรอบพื้นที่โรงงานเพื่อส่งเสริมเรื่องการลดขยะอาหาร ด้วยการนำเอาวัตถุดิบที่เหลือจากการผลิต “รสดี” และ “เบอร์ดี้” ไปทำอาหารสัตว์หรือปุ๋ยแจกจ่ายตามชุมชน

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการสนับสนุนการลดขยะอาหารในบริบทของครัวเรือน ผ่านโครงการ “Too Good To Waste กินหมดลดโลกร้อน” ที่รณรงค์ให้ผู้บริโภคร่วมลดขยะอาหารผ่าน “สูตรอาหารรักษ์โลก” ที่อร่อยแล้วยังดีต่อโลก ซึ่งในปีที่ผ่านมา อายิโนะโมะโต๊ะมีแคมเปญการครีเอทเมนู “Too Good To Waste” ร่วมกับร้านอาหารชื่อดัง อาทิ ร้านเป็นลาว และร้านจิรกาล เพื่อหวังจุดประกายการลดขยะอาหารให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคไปพร้อมๆ กัน

นอกจากบริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด ที่เป็นบริษัทแม่แล้ว บริษัทในเครืออย่าง บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ เอฟ ดี กรีน (ประเทศไทย) จำกัด ก็มีกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะได้ชื่อว่าเป็นบริษัทต้นแบบทางธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมของอายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) เลยก็ว่าได้

นพดล จิตรมั่น ผู้จัดการหน่วยงานผลิตและพัฒนา บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ เอฟ ดี กรีน (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า อายิโนะโมะโต๊ะ เอฟ ดี กรีน มีการดำเนินงานหลัก 2 ส่วนด้วยกัน คือ

1. การเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์การเกษตร โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้ที่ได้จากกระบวนการผลิตมาพัฒนาเป็นปุ๋ยชีวภาพทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์สำหรับพืช และอาหารสำหรับสัตว์ โดยปีที่ผ่านมา สามารถสร้างการเติบโตของยอดขายได้ถึง 30%

2, การสานต่อโครงการ “Thai Farmer Better Life Partner” เพื่อยกระดับผลผลิตและความรู้แก่เกษตรกรไทย ทั้งเกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลังและเกษตรกรชาวไร่กาแฟ ซึ่งเป็น 2 วัตถุดิบสำคัญสินค้าสำหรับตัวผงชูรสและกาแฟเบอร์ดี้

โดยโครงการดังกล่าวได้ดำเนินการมาเป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน ปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมทั้งหมด 1,300 ครัวเรือน โครงการนี้ช่วยให้ผลผลิตมันสำปะหลังเพิ่มขึ้น 30% โดยเป้าหมายในปี 2573 บริษัทฯ มุ่งดำเนินธุรกิจแบบ Net Zero พร้อมขยายวัตถุดิบทางการเกษตรที่ตรวจสอบกลับได้เพิ่มมากขึ้น ตั้งแต่ขั้นตอนเพาะปลูกไปจนถึงหลังเสร็จสิ้นกระบวนการผลิต เพื่อให้สามารถดำเนินการลด CO2 scope 3 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้โครงการ “Thai Farmer Better Life Partner” ประกอบด้วย 2 โครงการหลักๆ ได้แก่

โครงการมันสำปะหลังสู่ความยั่งยืน

มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรไร่มันสำปะหลัง ผ่านแผนการดำเนินงาน 5 กิจกรรมหลักคือ

1. AFDG one-stop service การสร้างเครือข่ายเพื่อการเกษตรกับพาร์ตเนอร์อย่างครบวงจรทั้งแบบออนไซต์และออนไลน์ด้วย เช่น คูโบต้าในเรื่องการเตรียมดิน เก็บเกี่ยว และสตาร์ตอัพการเกษตร ListenField พัฒนาแอปพลิเคชั่นการเกษตรที่มีการพยากรณ์อากาศ การเจริญเติบโต การเก็บเกี่ยว และการตรวจสอบกลับได้

2. นำระบบ AI มาสร้าง supply chain เพื่อช่วยในการจับคู่โรงงานแป้งและเกษตรกร

3. ร่วมมือกับโรงแป้ง ในการรับมันสำปะหลังของโครงการ “Thai Farmer Better Life Partner”

4. พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น ปุ๋ยชีวภาพ/สารกระตุ้นชีวภาพเพื่อเสริมการเจริญเติบโตของพืช และการจัดการน้ำ

5. Farm School สานต่อโครงการร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร มุ่งเน้นการให้ความรู้และเทคนิคการเพาะปลูกที่ทันสมัยแก่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังและกาแฟเพื่อพัฒนาศักยภาพเกษตรกรไทย

โครงการ Green Coffee Bean (GCB) Farmer Sustainability

ในฐานะที่อายิโนะโมะโต๊ะ เป็นผู้ผลิตกาแฟ “เบอร์ดี้” ที่เป็นกาแฟกระป๋องพร้อมดื่มเจ้าตลาดในประเทศไทย จึงมีการสนับสนุนการเติบโตของเกษตรกรไทย เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพตาม “หลักปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP)” กับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีตรงตามมาตรฐานที่กำหนด ควบคู่ไปกับการไม่ทำให้เกิดมลพิษ และเกิดความยั่งยืนทางการเกษตรในระยะยาว  

“บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ เอฟดี กรีน (ประเทศไทย) จำกัด มีความมุ่งมั่นอย่างเต็มเปี่ยมว่า roadmap สู่ความยั่งยืนนี้จะช่วยสร้างความเติบโตให้กับธุรกิจด้านการเกษตรของไทย พร้อมช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของพี่น้องเกษตรกรไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน สู่อนาคตที่สดใสไปด้วยกัน” นพดล กล่าวทิ้งท้าย