“บิ๊กซี” ในเครือบีเจซีของกลุ่มตระกูล “สิริวัฒนภักดี” กำลังเร่งเปิดเกมรุกตามแผนยุทธการยกเครื่องโมเดลสาขา ไม่ใช่รูปแบบสแตนด์อะโลนแบบเดิมๆ โดยเฉพาะการบุกเข้าไปอยู่ในมิกซ์ยูสโปรเจกต์ คอมมูนิตี้มอลล์ และอาคารสำนักงาน เพื่อเจาะลูกค้าคนรุ่นใหม่ กลุ่ม White collar และครอบครัวที่มีไลฟ์สไตล์เฉพาะตัว ซึ่งพร้อมจับจ่ายสินค้าพรีเมียมมากขึ้น
เพราะด้านหนึ่งสามารถขยายฐานลูกค้ากำลังซื้อสูงอีกด้านหนึ่งเป็นการหนีสงครามห้ำหั่นราคาซึ่งส่งผลต่อตัวมาร์จินกำไร
จริงๆ แล้ว บิ๊กซีเริ่มทดลองแผนบุกมิกซ์ยูสตั้งแต่การผุด บิ๊กซี ฟู้ดเพลส (Big C Foodplace) ในโครงการสามย่านมิตรทาวน์ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มใหม่ รูปแบบครบวงจรและให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงเมื่อปี 2562 โดยชูจุดขายบริการอาหารคอนเซ็ปต์ Grab & Go หวังสร้างแบรนด์ในใจที่ผู้บริโภคต้องนึกถึงเป็นอันดับแรก มี Dining Station จัดที่นั่งให้ลูกค้าลิ้มรสความอร่อยแบบปรุงสดๆ รับประทานร้อนๆ
มีโซนอาหารนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น เนื้อวัวนำเข้าจากประเทศออสเตรเลีย เคาน์เตอร์อาหารทะเล ซูชิและปลาดิบ โซนเบเกอรี่ระดับพรีเมียมสไตล์ฝรั่งเศส โซนสุขภาพและความงาม ภายใต้แนวคิด “Urban Local Food Market” พร้อมบริการจัดส่งพัสดุ Kerry Express ตลอด 24 ชั่วโมง บริการจองตั๋วเครื่องบิน รถทัวร์ และเคาน์เตอร์ Thaiticket Major
แม้เจอสถานการณ์โควิดแพร่ระบาดช่วงปี 2563 แต่การกลับมาเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบสามารถดึงดูดกลุ่มเป้าหมายและสร้างยอดขายเติบโต
ทั้งนี้ นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ตั้งเป้าหมายปี 2568 จะรีโนเวตสาขาใหม่อย่างน้อยอีก 10 สาขา ใช้งบลงทุน 200-300 ล้านบาทต่อสาขา และเปิดสาขาใหม่ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ รวมถึงการสร้างโมเดลใหม่เพื่อดึงดูดลูกค้า หลังจากช่วงปี 2567 การรีโนเวตสาขามากกว่า 18 แห่ง สามารถกระตุ้นยอดขายเพิ่มขึ้น 20-30% ต่อสาขา และช่วงครึ่งหลังของปี 2568 บริษัทเตรียมเผยโฉมร้านโมเดลใหม่ ภายใต้คอนเซ็ปต์ BIG C The Color เน้นกลยุทธ์สร้างประสบการณ์ใหม่ให้ลูกค้าซึ่งจะเป็นหมัดเด็ดผลักดันยอดขายอย่างโดดเด่น
ปัจจุบันหากสำรวจสาขาทั้งหมดกว่า 1,800 สาขา แบ่งโมเดลหลักๆ 5 รูปแบบ เริ่มจาก บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ เป็นไฮเปอร์มาร์เกตเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายรายได้ระดับปานกลางถึงล่าง เน้นสินค้าและบริการหลากหลาย ราคาประหยัด
บิ๊กซีเอ็กซ์ตร้าเจาะกลุ่มลูกค้ารายได้ระดับปานกลางถึงบนเน้นสินค้าพรีเมียมอาหารสดอาหารแห้งสินค้านำเข้าจากต่างประเทศโดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยีไวน์และสินค้าพิเศษอื่นๆแต่ยังคงจุดขายราคาประหยัด
บิ๊กซี มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เกต เจาะกลุ่มลูกค้ารายได้ระดับปานกลางถึงล่าง จำหน่ายทั้งอาหารสด ของใช้ในครัวเรือนจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า ต่างจากซูเปอร์มาร์เกตทั่วไปที่จำหน่ายเฉพาะสินค้าอาหาร
ส่วนบิ๊กซีฟู้ดเพลสเป็นซูเปอร์มาร์เกตที่เจาะกลุ่มลูกค้ารายได้ระดับปานกลางถึงสูงเน้นทำเลในเมืองชูจุดขายสินค้าอาหารพร้อมรับประทานอาหารออแกนิกอาหารเพื่อสุขภาพสินค้านำเข้า
สุดท้ายคือบิ๊กซีมินิรองรับกลุ่มลูกค้าทั่วไปโดยรูปแบบสินค้าและบริการจะแตกต่างกันตามทำเลที่ตั้ง
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า อัศวินซุ่มศึกษากลยุทธ์ยกเครื่องโมเดลสาขาตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมาเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่
จนกระทั่งช่วงปี 2567 มีการรีโนเวตสาขาหลายแห่ง เน้นโมเดล “Food Place” เพื่อจับกลุ่มลูกค้ากำลังซื้อสูงขึ้น และประกาศบิ๊กโปรเจกต์ร่วมกับบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC เจ้าของโครงการ “Phenix” (ฟีนิกซ์) ศูนย์กลางด้านอาหารครบวงจรระดับโลกย่านประตูน้ำ โดยจะพัฒนาคอนเซ็ปต์สโตร์ผสมผสานซูเปอร์มาร์เกตกับห้างสรรพสินค้าเข้าด้วยกัน พื้นที่กว่า 3,000 ตารางเมตร ในรูปแบบ Shop in Shop เน้นการชอปปิ้งแบบ Factory Outlet เพื่อเชื่อมต่อ Ecosystem ด้านอาหาร ดึงดูดทั้งกลุ่มนักชอป นักชิมและนักท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะเปิดอย่างเป็นทางการในไตรมาส 2 ปี 2568
หลายคนในวงการค้าปลีกและวงการอาหารต่างจับตาคอนเซ็ปต์รีเทลใหม่ของบิ๊กซี เพราะมีจุดแข็งเหนือคู่แข่งทุกค่าย ไม่ว่าจะเป็นโลตัสและเซ็นทรัลฟู้ดฮอลล์ ทั้งในแง่พันธมิตรธุรกิจอาหารและพาวิลเลียนนานาชาติจากประเทศชั้นนำด้านอาหารมากกว่า 14 ประเทศ
“เป้าหมายของคอนเซ็ปต์รีเทลใหม่แห่งนี้น่าจะก้าวไปไกลกว่าธุรกิจค้าปลีกในประเทศ แต่ขยายไปถึงธุรกิจค้าปลีกค้าส่งในต่างประเทศ การขยายฐานลูกค้า ทั้งกลุ่มโฮเรก้า (HORECA) ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ร้านกาแฟ และธุรกิจจัดเลี้ยง (Café and Catering) โดยตามข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีมูลค่ามากกว่า 1 ล้านล้านบาท และสัดส่วนที่มาจากอาหารอย่างเดียวคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 4 แสนล้านบาท”
นี่ยังไม่นับรวมลูกค้าใหม่ในกลุ่มนักท่องเที่ยว เฉพาะย่านประตูน้ำต่อเนื่องไปถึงแยกราชประสงค์ ถือเป็นจุดรวมชาวต่างชาติกำลังซื้อสูงทั้งสิ้น
ขณะเดียวกัน ช่วงเดือนส่งท้ายปี 2567 ถือว่า บิ๊กซีมีความเคลื่อนไหวถี่ยิบชนิดสร้างแรงกระเพื่อมในสมรภูมิค้าปลีก ไม่ว่าจะเป็นการเผยโฉม BIG C Bangkok Marche (บิ๊กซี บางกอกมาร์เช่) พร้อมๆ กับอภิมหาโครงการมิกซ์ยูส “วัน แบงค็อก” (One Bangkok) ยึดทำเลในอาคาร The Forum ชั้น G พื้นที่ 4,000 ตารางเมตร ชูจุดขาย 3 โซนหลัก ได้แก่ Delica (เดลิก้า) โซนอาหารเช้า อาหารพร้อมรับประทาน เริ่มตั้งแต่เวลา 7 โมงเช้า โซน Grilled Bar (กริลบาร์) เน้น Sea food ระดับพรีเมียม เช่น ปูทาราบะ หอยนางรม แคนาเดียนล็อบสเตอร์ สเต๊กเนื้อออสเตรเลียแบบพรีเมียม โดยสามารถเลือกวัตถุดิบสดๆ จากตู้ ให้ทางร้านปรุงพร้อมรับประทานได้ทันที และโซน Wine Cellar จากหลากหลายประเทศ นอกจากนั้น ในโซน Supermarket เน้นการจัดจำหน่ายผัดสด ทั้งผักพื้นบ้าน ผักออแกนิก ผัก ผลไม้ไทย ผลไม้นำเข้าจากต่างประเทศ
ต่อมาในวันที่ 4 ธันวาคม 2567 เปิดบิ๊กซี ฟู้ดเพลส มหาทุน พลาซ่า ขนาดพื้นที่ 386 ตารางเมตร เจาะกลุ่มลูกค้าโซนสำนักงาน รวมถึงกลุ่มลูกค้าชาวไทยและชาวต่างชาติที่มีรายได้ ระดับกลาง–สูง ยกระดับประสบการณ์ใหม่ให้ลูกค้าผ่านบริการที่หลากหลาย เช่น โซนนั่งชมถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬายอดนิยม อย่างฟุตบอล โซนปิ้งย่าง (Mini Grill Bar) อาหารปิ้งย่าง เสียบไม้ และโซนอาหารพร้อมรับประทาน (Ready to Eat) ทั้งมื้อเช้ากลางวันและเย็นเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ลูกค้าในย่านเพลินจิตซึ่งส่วนใหญ่เป็นพนักงานออฟฟิศคนทำงาน
19 ธันวาคม 2567 เปิด บิ๊กซี ฟู้ดเพลส สาขา ดิ โอลด์ สยาม พลาซ่า ซึ่งถือเป็นจุดท่องเที่ยวสำคัญของกรุงเทพมหานคร มีโซนของฝากสำหรับนักท่องเที่ยว สินค้าเอกลักษณ์ของไทย โซนเดลิก้า (Delica) อาหารทะเลพร้อมบริการปรุงตามความต้องการของลูกค้าและร้านอาหารเช่นร้านข้าวแท่งร้านน้ำพริกนารีนาถและร้านขนมไทยงามศิลป์รวมทั้งเพิ่มโซนไวน์จากทั่วโลกรองรับลูกค้าที่ต้องการจับคู่ไวน์กับมื้ออาหาร
ส่วนสัปดาห์สุดท้ายของเดือนธันวาคมบริษัทเผยโฉมบิ๊กซีฟู้ดเพลสในคอมมูนิตี้มอลล์เดอะแจสรามอินทราโดยตั้งเป้าหมายจับกลุ่มลูกค้าชุมชนกำลังซื้อสูงในย่านรามอินทรา
ก่อนหน้านั้น ยังเปิดยุทธศาสตร์พลิกโฉมแบรนด์ “Big C mini” ในบรรยากาศสีสันสดใส หวังเจาะกลุ่มลูกค้า Young Generation ทั้งการตกแต่ง บริการและตัวสินค้า โดยเฉพาะการเพิ่มเมนูจุดขายใหม่ “โอเด้ง” ซุปร้อนๆ สไตล์ญี่ปุ่น ซึ่งบิ๊กซี มินิ โฉมใหม่ ประเดิม 2 สาขาแรก ได้แก่ สาขาต้นแบบ บีเจซี 1 ซึ่งปรับเปลี่ยนจากร้านบิ๊กซี ฟู้ดเพลส หน้าตึกสำนักงานใหญ่ เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ สุขุมวิท 42 และบิ๊กซี มินิ วันแบงค็อก
ล่าสุดมีรายงานว่า ทีมงานกำลังอัปเดตโมเดลสาขาทั้งหมด เพื่อประกาศโปรเจกต์ใหม่ในครึ่งปีหลัง ซึ่งเชื่อว่าต้องมีบิ๊กเซอร์ไพรส์แน่นอน.