วันเสาร์, ตุลาคม 12, 2024
Home > Cover Story > ราชประสงค์ ย่านธุรกิจ บันทึกสมรภูมิครั้งใหญ่

ราชประสงค์ ย่านธุรกิจ บันทึกสมรภูมิครั้งใหญ่

“ราชประสงค์” ย่านธุรกิจใจกลางกรุงและหมุดหมายการชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลายครั้ง  โดยเฉพาะการชุมนุมครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 7-19 พฤษภาคม 2553 ที่ทุกคนต้องจดจำ การสลายม็อบแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) บริเวณแยกราชประสงค์ หลังพยายามกดดันให้รัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ มีการเผาอาคารหลายแห่ง รวมทั้งห้างเซ็นทรัลเวิลด์

ผ่านไปมากกว่าสิบปี ย่านราชประสงค์ยังคงเป็นที่นัดหมายของกลุ่มการเมือง เพราะความเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศที่สามารถกดดันฝ่ายต่างๆ ได้

หากย้อนประวัติศาสตร์เก่าแก่ ก่อนปี 2325 ย่านราชประสงค์เดิมเป็นทุ่งนาและสระบัวเป็นส่วนหนึ่งของทุ่งบางกะปิ ชานพระนคร เดินทางได้อย่างยากลำบาก จนเมื่อปี 2380 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการขุดคลองแสนแสบ ด้วยพระราชประสงค์เพื่อขนส่งอาวุธยุทธภัณฑ์ กำลังรบและเสบียงอาหารไปยังญวน ซึ่งในเวลาต่อมามีการอพยพผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณริมคลองแสนแสบ เป็นชุมชนขนาดเล็ก

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อขึ้นครองราชย์ต้องประทับในพระบรมมหาราชวัง ไม่มีสถานที่กว้างขวางให้เป็นที่ทรงสำราญพระอิริยาบถ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดลอกสระกว้าง 2 สระ ริมคลองแสนแสบฝั่งใต้ ซึ่งเป็นที่นาหลวง สร้างพระราชวังตากอากาศเรียกว่า พระราชวังปทุมวัน รวมถึงสร้างพระอารามนามว่า วัดปทุมวนาราม เมื่อปี 2396

ต่อมา สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนพระรามที่ 1 และถนนราชดำริ โดยขุดคลองขนานกับถนนทางฝั่งซ้ายของถนน  เริ่มตั้งแต่ตำบลศาลาแดง หรือถนนสีลม ผ่านทุ่งปทุมวันตรงขึ้นไปทางทิศเหนือถึงคลองบางกะปิ (คลองแสนแสบ) หรือแยกประตูน้ำ โดยเปิดใช้ถนนเมื่อปี 2445

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานที่ดินบริเวณพระราชวังปทุมวันให้พระอนุชา คือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย เพื่อสร้างวังเพ็ชรบูรณ์

ภาพจาก www.gaysornvillage.com

ปี 2448 สร้างประตูน้ำกักเก็บน้ำในคลองแสนแสบ เพื่อใช้ในการเกษตรแก่ราษฎร

ปี 2450 มีรถรางกรุงเทพเชื่อมระหว่างถนนสีลมกับย่านประตูน้ำ

ปี 2451 รถเมล์นายเลิศบริการวิ่งระหว่างสี่พระยาถึงสีลมและจากสีลมถึงประตูน้ำ

ปี 2452 มีการสร้างสะพานเฉลิมโลก 55 บริเวณประตูน้ำ เกิดตลาดขนาดใหญ่

ปี 2494 พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ มีแผนก่อสร้างโรงแรมเอราวัณบริเวณสี่แยกราชประสงค์ เพื่อรองรับแขกต่างประเทศ แต่การก่อสร้างเกิดอุบัติเหตุมากมายจึงตั้งศาลท้าวมหาพรหม อัญเชิญพระพรหมมาประดิษฐานที่หน้าโรงแรมเอราวัณเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2499

ปี 2531 โรงแรมเอราวัณถูกรื้อถอนและสร้างโรงแรมใหม่ชื่อ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ

ช่วงต้นสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงด้านการสัญจรจากทางน้ำมาเป็นทางบก เกิดรูปแบบการค้าเปลี่ยนยุคค้าปลีกแบบห้องแถวเช่าเป็นห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้า  มีห้างไทยสัญชาติญี่ปุ่น “ไทยไดมารู” เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2507 ย่านราชดำริและราชประสงค์ เพราะบริเวณนั้นมีสำนักงานของบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นจำนวนหนึ่ง

ห้างประสบความสำเร็จ เกิดกระแสพัฒนาพื้นที่ในบริเวณนั้น มีสถานเริงรมย์ชื่อ “ย่านเกสร” เป็นลานโบว์ลิ่งและคอฟฟีช็อป ซึ่งขยายกิจการจากย่านพัฒน์พงศ์

ปี 2517 ห้างเซ็นทรัลเปิดสาขา 2 ที่ราชดำริ

ปี 2524 ห้างเดอะมอลล์เปิดตัวสาขาแรก แต่ปิดตัวในปี 2531 และให้บริษัท นารายณ์ภัณฑ์พาวิลเลี่ยน จำกัด เช่าเปิดศูนย์ศิลปหัตถกรรม

ปี 2525 กลุ่มบริษัท วังเพ็ชรบูรณ์ ของนายอุเทน เตชะไพบูลย์ เข้ามาประมูลที่ดิน 75 ไร่ เปิดศูนย์การค้าเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ในปี 2532 ต่อมา บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) เข้ามาเทกโอเวอร์กิจการและปรับโฉมเปิดห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2550 ซึ่งบริเวณนั้นยังมีห้างขนาดใหญ่ ได้แก่ ศูนย์การค้าอัมรินทร์พลาซ่า เปิดบริการเมื่อปี 2528 และเกษรพลาซ่า เปิดเมื่อปี 2537

ปี 2542 มีการเปิดบริการรถไฟฟ้า BTS ยิ่งทำให้ย่านราชประสงค์กลายเป็นจุดศูนย์รวมทุกอย่าง กลุ่มทุนต่างจับจองพื้นที่ผุดโครงการต่างๆ ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า โรงแรมระดับ 5 ดาว ร้านค้ามากกว่า 5,500 ร้านค้า และอาคารสำนักงานอีกมากมาย

ปี 2545 มีการสร้างสกายวอล์กเชื่อมการเดินทางจากรถไฟฟ้าสถานีชิดลมถึงสี่แยกราชประสงค์ เข้าสู่อาคารต่าง ๆ ระยะทาง 150 เมตร และมีการขยายทางเดินลอยฟ้า รวมระยะทางยาวถึง 1,150 เมตร เรียกว่า ราชประสงค์วอล์ก หรือ R-Walk

ล่าสุด ปี 2566 เปิดสวนปทุมวนานุรักษ์ ซึ่งจัดสรรที่ดินจากวังเพ็ชรบูรณ์เดิมและได้ที่ดินเพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่ง โดยปี 2558 สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ได้ปรับปรุงและพัฒนาเป็นสวนสาธารณะ สร้างเสร็จเมื่อปี 2561 แต่ไม่สามารถเปิดใช้งาน เนื่องจากมีบ้าน 3 หลังที่ไม่ได้ย้ายออกจากพื้นที่ มีการเจรจาจนยินยอมย้ายออกทั้งหมดเมื่อต้นปี 2566 และเปิดให้บริการได้อย่างเรียบร้อยเมื่อวันที่ 20 พ.ค. ที่ผ่านมา