วันจันทร์, ตุลาคม 7, 2024
Home > New&Trend > An Oak by the window > ชื่อเล่น ชื่อจริง นามแฝง นามปากกา

ชื่อเล่น ชื่อจริง นามแฝง นามปากกา

 

ประเด็นเรื่องชื่อเล่น ชื่อจริง นามแฝง หรือนามปากกา กลายเป็นประเด็นถกเถียงขึ้นมาอีกครั้งหลังจากที่เคยประทุขึ้นมาเมื่อปลายปีที่แล้ว ซึ่งถ้าย้อนอดีตไปในประวัติศาสตร์แล้ว ประเด็นนี้ก็ถูกถกเถียงอยู่ในแวดวงต่างๆ เรื่อยมา

กูเกิ้ลนำประเด็นนี้มาให้เราได้ถกเถียงอีกครั้ง เป็นความพยายามครั้งแล้วครั้งเล่าของกูเกิ้ลที่จะสร้างบรรทัดฐานให้เกิดขึ้นในสังคมออนไลน์ที่เราคงต้องร่วมวงไพบูลย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม แต่เหรียญมีสองด้านเสมอ การใช้ชื่อเล่น ชื่อจริง นามแฝง หรือนามปากกาก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันเช่นกัน

เรามาลองตามดูความพยายามของกูเกิ้ลกัน

หนึ่งในความพยายามของ YouTube ในการแก้ปัญหาเรื่องการแสดงความคิดเห็นที่อาจจะสร้างปัญหาโดยเฉพาะปัญหาที่ส่งผลต่อการดำเนินการเว็บไซต์ของ YouTube อย่างหนักหน่วงนั้นคือ การพยายามผลักดันให้ผู้ใช้งานยกเลิกการแสดงความเห็นโดยไม่เปิดเผยชื่อ ซึ่งเป็นวิธีการที่เหล่าอาชญากรออนไลน์ทั้งหลายใช้เมื่อต้องกระทำความผิด

ดังนั้น ทุกวันนี้การแสดงความคิดเห็น (Commenting) หรือการอัพโหลดภาพวิดีโอขึ้นบนเว็บไซต์ YouTube จึงมีการเรียกหาชื่อจริงเสียงจริงทุกครั้ง โดยมีการประชาสัมพันธ์ถึงข้อดีของการแสดงชื่อจริงในบล็อกของ YouTube อย่างเป็นทางการ (สามารถดูได้จากhttp://youtube-global.blogspot.com/2012/06/choosing-how-youre-seen-on-youtube.html)

ซึ่งการให้แสดงชื่อจริงของ YouTube ยังต่อเนื่องไปถึงการลิงค์ไปยังแอคเคาน์ของ Google+ ซึ่งกูเกิ้ลพยายามโปรโมต อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ดีสำหรับคนที่ปฏิเสธไม่ใช้ชื่อจริงก็ต้องให้ เหตุผลกับทาง YouTube ด้วยว่า ทำไมถึงไม่ใช้ชื่อจริง อย่างเช่น แอคเคาน์นี้สำหรับใช้เพื่อทางธุรกิจเท่านั้น เป็นต้น

สำหรับ YouTube แล้ว บริการการอัพโหลดไฟล์ภาพวิดีโอของ YouTube ค่อนข้างมีความเสี่ยงในการถูกใส่ข้อความ ที่ไม่ดีไม่งาม ทำให้ YouTube ติดอันดับเว็บที่มีการกำหนดข้อจำกัดในการแสดงความคิดเห็นหรือการใส่ข้อความต่างๆ ที่มีแนวโน้มไปในทางทำให้เกิดความขัดแย้งหรือเป็นประเด็นอ่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นด้านเชื้อชาติ ศาสนา และการเมือง

ล่าสุดกูเกิ้ลที่เป็นเจ้าของ YouTube ได้กำชับให้เว็บไซต์นี้ สรรหาวิธีที่จะช่วยลดการทำผิดในลักษณะต่างๆ ผ่านหน้าเว็บไซต์ โดยก่อนหน้านี้ YouTube จัดการกับการละเมิดในลักษณะต่างๆ โดยอนุญาตให้คนที่อัพโหลดวิดีโอสามารถเซตไม่ให้รับคอมเมนต์ได้ ซึ่งโดนวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการทำให้ YouTube ถูกตัดออกจากสังคมออนไลน์ไป

จากการที่ YouTube ถูกมองว่าเป็นเว็บไซต์ที่เต็มไปด้วยการแสดงความคิดเห็นที่เลวร้ายที่สุดในอินเทอร์เน็ต ทำให้ YouTube พยายามพัฒนาระบบการคอมเมนต์ของตัวเอง อย่างน้อยเพื่อทำให้ผู้ที่ชื่นชอบการแสดงความคิดเห็นทั้งหลายเชื่อฟังมากขึ้น

สองปีก่อน YouTube แก้ปัญหาโดยการนำเอา “highlights view” ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นก่อนหน้า “top comments” ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยจะแสดงข้อความแสดงความคิดเห็นที่ได้รับการโหวต สูงสุดจากคนที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นใน YouTube นั้นๆ ซึ่งเป็นการกระตุ้นโดยอ้อมต่อการแสดงความคิดเห็นในเชิงสร้างสรรค์ แต่ YouTube ยังต้องพยายามอีกมากถ้าต้องการจะกำจัดปัญหาข้อความแสดงความคิดเห็นเลวร้ายที่สร้างปัญหาให้กับเว็บไซต์  โดยเว็บไซต์เองได้ รวบรวมไฟล์วิดีโอที่ดูดีซึ่งสร้างขึ้นโดยบริษัท ในธุรกิจต่างๆ สตูดิโอในฮอลลีวูด รวมถึงนักสร้างสรรค์อิสระต่างๆ มาแสดงให้ดู ซึ่งสิ่งเหล่านี้ในทางกลับกันจะช่วยดึงดูดโฆษณาเข้าหา YouTube ถ้ามีเรื่องน่าสนใจให้คนเข้าเยี่ยมชมอยู่ตลอดเวลา

แต่ต้องไม่ลืมว่าข้อความแสดงความคิดเห็นต่างๆ ใน YouTube ก็เป็นตัวดึงดูดที่สำคัญเช่นกัน เนื่องจากข้อความแสดง ความคิดเห็นเป็นการแสดงออกของบุคคลจริงๆ ที่เข้ามาแสดงความรู้สึกอย่างเปิดใจ ถ้าข้อความแสดงความคิดเห็นดีๆ ก็มีส่วนดึงดูดคนเข้าไปอ่านไปดูมากขึ้น แต่ถ้าเต็มไปด้วยข้อความแสดงความคิดเห็นที่ไม่สร้างสรรค์ ก็คงไม่มีใครอยากเข้าไปดูแต่อย่างใด

ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของกูเกิ้ลที่จะสร้างระบบเสิร์ชและอัลกอริทึมในการค้นหาที่จะสร้างพื้นที่ที่ปลอดภัยที่ผู้คนจะสามารถเข้ามาปฏิสัมพันธ์กับบทสนทนาที่สร้างสรรค์และแสดงตัวตนผ่านวิดีโอโดยไม่ต้องกังวลใจต่อการแสดงความคิดเห็นแบบที่ทำให้ประสาทเสียไปหลายวัน

หนทางหนึ่งที่พอจะเป็นไปได้คือ YouTube ต้องสอบถาม รายละเอียดของผู้ใช้งานให้ลึกซึ้งมากขึ้นๆ ก่อนหน้านี้มีผู้ใช้งานใช้นามแฝงนับตั้งแต่ YouTube เปิดให้เข้าใช้งานโดยสร้างแอคเคาน์ที่ไม่ซ้ำกัน ซึ่งต่างจากเว็บไซต์ของกูเกิ้ลเว็บไซต์อื่นๆ โดยเว็บไซต์ในเครือของกูเกิ้ลปัจจุบันจะต้องใช้แอคเคาน์ของ Google+ เป็นการแสดงตัวตน ซึ่งแอคเคาน์นี้จะลิงค์ไปยังชื่อนามสกุลจริงของผู้ใช้งาน แต่เป็นแนวทางที่ผู้ใช้งานไม่ต้องการแต่อย่างใด

นอกจากนี้การที่จะให้ YouTube ต้องใช้แอคเคาน์ของ Google+ เป็นตัวอ้างอิงยังช่วยให้ผู้ที่จะมาลงโฆษณาใน YouTube สามารถเจาะกลุ่มลูกค้าได้เฉพาะเจาะจงมากขึ้น เนื่องจาก Google+ มีการเก็บข้อมูลของผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นสถานที่อยู่, เพศ, อาชีพ, ความชอบ และความสนใจในเรื่องต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าสนใจคือ การกำหนดให้ผู้ใช้งานต้องเปิดเผยชื่อนั้นเป็นการเดินมาถูกทางที่จะช่วยหยุดการละเมิดผ่านเว็บไซต์หรือยัง ซึ่งกูเกิ้ลมองว่าพวกเขามาถูกทางแล้ว โดยเฉพาะมาตรการใหม่บน YouTube มิใช่มาตรการแรกๆ ในความพยายามที่จะทำให้ผู้ใช้งานมีความรับผิดชอบมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน

จริงๆ แล้ว ประเด็นเรื่องการต้องใช้ชื่อจริงในการใช้งานบริการของกูเกิ้ลก็เคยเป็นประเด็นใหญ่โตตอนที่กูเกิ้ลออก  Google+ มา ซึ่งเรียกนโยบายของกูเกิ้ลในครั้งนั้นว่า Common Name Policy ซึ่งกำหนดให้คนที่จะใช้งาน Google+ จะต้องใช้ ชื่อจริงหรือชื่อที่สามารถแสดงตัวตนของผู้ใช้งานได้เท่านั้นแต่สุดท้ายแล้วก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ โดยท้ายที่สุดกูเกิ้ลก็ยอมที่จะให้ใช้ชื่อเล่นหรือนามแฝงใน Google+ ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ตอนนั้นกูเกิ้ลได้รับคำวิจารณ์อย่างรุนแรงจากหลายฝ่าย ซึ่งรวมถึงหน่วยงานอย่าง EFF(Electronic Frontier Foundation)

ในครั้งนั้นประเด็นในการวิพากษ์วิจารณ์ของ EFF ก็คือ การที่บางคนจำเป็นที่จะต้องใช้ชื่ออื่นหรือนามแฝงที่ไม่ใช่ชื่อที่ใช้ตั้งแต่เกิดนั้นก็เพราะพวกเขากังวลถึงการถูกคุกคามในชีวิต รวมถึงการคุกคามอันเกิดจากประเด็นการเมืองและเศรษฐกิจด้วย นอกจากนี้ยังรวมถึงการกำหนดชื่อใหม่ที่ทำให้สามารถเรียกขานหรือออกเสียงได้ในบางสังคมบางวัฒนธรรม เช่น สระหรือตัวอักษรในภาษาไทยเองหลายๆ ตัวก็ไม่มีในภาษาอื่น ซึ่งทำให้คน ในประเทศนั้นๆ ไม่สามารถเรียกชื่อคนไทยบางคนได้

ประเด็นของการใช้นามแฝงนี้ก็ได้รับการถกเถียงกันมาตั้งแต่ในครั้งอดีต ซึ่งถ้าเราไปย้อนดูประวัติศาสตร์อย่างในวงการ วรรณกรรมที่นักเขียนชื่อดังอย่าง George Eliot และ Mark Twain ก็เคยเรียกร้องในการใช้นามปากกาของพวกเขาเนื่องจากเป็นชื่อที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางแล้ว

สำหรับการใช้ชื่อเล่นก็สามารถเซตได้ง่ายๆ โดยการใส่เข้าไปในช่องที่ Google+ ทำขึ้นมา แต่ชื่อเล่นนี้จะไปปรากฏใน Google+ พร้อมๆ กับชื่อจริงของเราโดยไปปรากฏอยู่ตรงกลางระหว่างชื่อกับนามสกุล แต่เราไม่สามารถแสดงชื่อเล่นเดี่ยวๆ ได้ แต่กูเกิ้ลเองก็ยังไม่ปิดโอกาสเรื่องการแสดงเฉพาะชื่อเล่นเดี่ยวๆ ในอนาคต

ส่วนนามแฝงหรือนามปากกานั้น การใช้จะมีขั้นตอนที่ยุ่งยากนิดหน่อย โดยจะต้องมีการแสดงเอกสารหลักฐานที่บ่งชี้ถึงตัวตนที่แท้จริง เช่น ใบขับขี่ หรือบัตรประชาชน แต่นามแฝงนี้จะต้องเป็นนามแฝงที่มีการใช้งานอยู่แล้ว ไม่ใช่นามแฝงที่สร้างขึ้นมาใหม่ โดยกูเกิ้ลกำหนดว่า นามแฝงที่จะใช้ใน Google+ จะต้องเป็นนามแฝงที่ได้รับการยอมรับในสังคมหนึ่งแล้ว และผู้ใช้งานต้องการนำนามแฝงนั้นมาใช้สืบต่อการยอมรับนั้นใน Google+ อย่างไรก็ดี กูเกิ้ลแจ้งว่าจะทำลายเอกสารหรือช่องทางที่จะนำไปสู่เอกสารนั้นๆ ภายหลังจากที่การขอใช้นามแฝงและการสมัครใช้งาน Google+ สำเร็จเสร็จสิ้นลง

อย่างไรก็ดี กูเกิ้ลไม่ได้เดินลำพังอย่างเดียวดายในความพยายามที่จะผลักดันให้ใช้ชื่อจริงในการแสดงความคิดเห็น โดยกฎหมายฉบับหนึ่งที่เพิ่งผ่านวุฒิสภาของรัฐนิวยอร์กก็ได้พยายามแบนการใช้ชื่อปลอมในการแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์โดยกำหนดให้ผู้ดูแล (administrator) ของเว็บไซต์ต่างๆ สามารถลบความคิดเห็นที่ไม่เหมาะสมได้ ถ้ามีการร้องขอเกิดขึ้น

แม้ว่ามาตรการดังกล่าวจะมีผลทำให้การละเมิดต่างๆ บนอินเทอร์เน็ตลดลงได้ แต่ ดร.Elias Aboujaoude ซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือ Virtually You: The Dangerous Powers of the E-Personality และเป็นจิตแพทย์ประจำมหาวิทยาลัย Stanford กลับเห็นว่าการยอมสละสิทธิ์ในการใช้นามแฝงอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบในภายหลังได้ โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า เมื่อเรายอมเพิ่มความสุภาพในการแสดงความคิดเห็นต่างๆ อาจจะทำให้เราขาด ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ๆ ได้ ซึ่งเขาเชื่อมั่นว่าอินเทอร์เน็ตจะไม่สามารถเป็นอินเทอร์เน็ตได้ ถ้าขาดการใช้นามแฝงหรือการใช้ชื่อเล่นแสดงตัวตน

เรื่องชื่อที่ดูเหมือนเล็กๆ ก็เป็นประเด็นใหญ่โตและเกี่ยวพันไปถึงเรื่องการเมือง เศรษฐกิจและสังคมอย่างที่เราอาจจะไม่เคยจินตนาการมาก่อน รวมถึงการมีชีวิตอยู่รอดต่อไปของการเลือก ที่จะใช้ชื่อจริง ชื่อเล่น นามแฝง หรือนามปากกาด้วย

 

อ่านเพิ่มเติม

1. Sydiongco, D. (2012), ‘YouTube Wants Commenters to Use Their Real Names. Is That a Good Things?, http://www.slate.com/blogs/future_tense/2012/07/25/youtube_wants_commenters_to_use_their_real_names_.html

2. YouTube (2012), ‘Choosing how you’re seen on YouTube,’ http://youtube-global.blogspot.com/2012/06/choosing-how-youre-seen-on-youtube.html

3. Tate, R. (2012), ‘YouTube Fights Horrible Commenters by Naming Names,’ http://www.wired.com/business/2012/07/youtube-google-plus/

4. Ulanoff, L. (2012), ‘Handle This: Google+ Finally Allows Pseudonyms,’ http://mashable.com/2012/01/23/google-plus-allows-pseudonyms-nicknames/

5. York, J. C. (2011), ‘A Case of Pseudonyms,’ https://www.eff.org/deeplinks/2011/07/case-pseudonyms

6. George Eliot, http://en.wikipedia.org/wiki/George_Eliot

7. Mark Twain, http://en.wikipedia.org/wiki/Mark_Twain