วันเสาร์, ตุลาคม 5, 2024
Home > Cover Story > ศุภลักษณ์ อัมพุช นับถอยหลังเปิด “เอ็มสเฟียร์”

ศุภลักษณ์ อัมพุช นับถอยหลังเปิด “เอ็มสเฟียร์”

แม้เดอะมอลล์ กรุ๊ป ตัดสินใจเลื่อนงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ THE EMDISTRICT THE PULSE OF BANGKOK เมื่อวันที่ 21 กันยายนอย่างกะทันหัน เพราะบิ๊กบอส ศุภลักษณ์ อัมพุช ติดภารกิจสำคัญด้านสุขภาพ และคาดว่าน่าจะนัดหมายสื่ออีกครั้งช่วงต้นเดือนหน้า เพื่อเผยโฉมจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้าย The Emsphere เติมเต็มย่านสุขุมวิทให้เป็นย่านธุรกิจการค้า เลิศ หรู อลังการ ยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ เอ็มสเฟียร์เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ ดิ เอ็มดิสทริค (The Em District) บนถนนสุขุมวิทตอนกลาง ระหว่างซอยสุขุมวิท 31-39 ประกอบด้วยศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน ที่อยู่อาศัย และแหล่งท่องเที่ยว มี 3 ศูนย์การค้าหลัก คือ ดิ เอ็มโพเรียม ดิ เอ็มควอเทียร์ และดิ เอ็มสเฟียร์ โดยเดอะมอลล์ กรุ๊ป ผนึกพันธมิตรอสังหาริมทรัพย์และภาคเอกชนเข้าร่วมโครงการ เพื่อปลุกปั้น เอ็ม ดิสทริค เป็นศูนย์กลางทางการค้าที่สำคัญแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เนื้อที่รวม 50 ไร่ หรือราว 650,000 ตารางเมตร

เริ่มจากจิ๊กซอว์ตัวแรก “เอ็มโพเรียม” ซึ่งถือเป็นโปรเจกต์นำร่องแผนรุกตลาดศูนย์การค้าระดับพรีเมียม เปิดให้บริการเมื่อปี 2540 และปรับปรุงใหญ่ช่วงปลายปี 2557 ให้สอดรับกับแผน ดิ เอ็มดิสทริค และเสร็จสมบูรณ์ในเดือนพฤษภาคม 2558 พร้อมๆ กับเอ็มควอเทียร์

ส่วนเอ็มสเฟียร์ ศูนย์การค้าแห่งที่ 3 อยู่ระหว่างการก่อสร้าง เบื้องต้นกำหนดเปิดให้บริการช่วงปลายปี 2566

หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2556 ศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร เดอะมอลล์ กรุ๊ป ออกมาประกาศแผนลงทุนมูลค่ามหาศาลชุดใหญ่ตามยุทธศาสตร์ขยายฐานลูกค้าตลาดอาเซียนกว่า 600 ล้านคนและยกระดับการเป็นศูนย์กลางท่องเที่ยวของภูมิภาคเอเชีย โดยวางหมุดการสร้างศูนย์กลางชอปปิ้งที่เรียกว่า “District” หรือ “ย่าน” ต่อเนื่องกัน

จากหมุดแรก ศูนย์การค้าสยามพารากอนในย่านสยามสแควร์ ซึ่งถือเป็น “Downtown” ของกรุงเทพมหานคร และสร้างย่านชอปปิ้งอีก 2 จุดใหญ่ คือ “Midtown” ในย่านสุขุมวิท และ “Uptown” ในย่านบางนา

ที่สำคัญ การเปิดตัวโครงการเชื่อม 3 ศูนย์การค้า คือ ดิ เอ็มโพเรียม ดิ เอ็มควอเทียร์ และ ดิ เอ็มสเฟียร์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นการรุกสงครามค้าปลีกตามยุทธศาสตร์การสร้างย่านชอปปิ้งของตัวเอง เพื่อควบคุมแนวคิดโครงการ ควบคุมกลยุทธ์การทำตลาด รวมถึงกลุ่มเป้าหมาย โดยไม่ต้องการใช้ศูนย์การค้ารอบข้างเข้ามาเป็นปัจจัย โดยถอดบทเรียนชิ้นสำคัญของย่านสยามสแควร์ในอดีตที่มีศูนย์การค้าใหญ่อยู่ในบริเวณเดียว ต่างค่ายต่างทำ และในที่สุดกลายเป็น “จุดขาย” ซ้ำซ้อนกัน ทั้งร้านค้าแบรนด์เนมและกลยุทธ์ต่างๆ แต่อาจเป็นจุดแข็งของ “สยามสแควร์” ในฐานะดาวน์ทาวน์ เหมือนย่านกินซ่าในญี่ปุ่น หรือฟิฟท์อะเวนิวในนครนิวยอร์ก และเป็นแลนด์มาร์กของกรุงเทพฯ ที่ช่วยดึงดูดกลุ่มนักชอปจากทั่วสารทิศจนล้นทะลัก

นั่นทำให้ศุภลักษณ์เห็นศักยภาพมากมายในการกระจายนักชอปมาสู่บริเวณใกล้เคียง โดยเฉพาะถนนสุขุมวิท เพื่อสร้างย่านชอปปิ้งใหม่เหมือนย่านโอโมเตะซานโดะ และร็อปปองงิ หรือกรุงปารีส ที่มีความเป็นวัฒนธรรม ศิลปะ ไลฟ์สไตล์ และไม่ใช่การผุดศูนย์การค้ากระจัดกระจายอย่างคู่แข่ง

ในเวลานั้นศุภลักษณ์ย้ำกับสื่อตลอดว่า เดอะมอลล์ กรุ๊ป มีวิสัยทัศน์และเป้าหมายในการยกระดับใจกลางสุขุมวิท หรือ The Epicenter of Sukhumvit โดยผนึก 3 โครงการศูนย์การค้าระดับเวิลด์คลาส ซึ่งแต่ละศูนย์การค้ามีภาพลักษณ์ จุดขาย จุดแข็ง แตกต่างกัน
ดิ เอ็มโพเรียม เป็นที่สุดแห่งการชอปปิ้งอย่างมีระดับ หรือ “The Ultimate Shopping Complex”

ดิ เอ็มควอเทียร์ เป็นมิติใหม่ของรูปแบบการใช้ชีวิตที่ไม่ธรรมดา หรือ The Extraordinary Life ประกอบด้วย 3 อาคารหลัก คือ ฮีลิกส์ควอเทียร์ (The Helix Quartier) หรืออาคาร A เป็นที่ตั้งของร้านแบรนด์เนมหรูหรา ร้านค้าสินค้าไอที ร้านอาหาร คาเฟ่ และสถาบันความงาม มีสวนลอยฟ้า ฮีลิกส์ วอเตอร์ การ์เดน และฮีลิกส์ สกาย ไดนิ่ง แหล่งรวมร้านอาหาร

อาคารกลาสควอเทียร์ (The Glass Quartier) หรืออาคาร B เป็นที่ตั้งของร้านค้าระดับกลาง-บน ร้านค้าแฟชั่น ควอเทียร์ฟู้ดฮอลล์ ร้านหนังสือคิโนะคูนิยะ ศูนย์ออกกำลังกายเวอร์จินแอคทีฟ ฟิตเนส ศูนย์ออกกำลังกายบ๊าวซ์อิงค์ แทมโพรีนอารีนา เอสเคป แบงค็อก และอาคารสำนักงานภิรัชทาวเวอร์ แอท เอ็มควอเทียร์

อาคารวอเตอร์ฟอลควอเทียร์ (The Waterfall Quartier) หรืออาคาร C มี กูร์เมต์ มาร์เก็ต เซิร์ฟ สเตเดียม ศูนย์รวมการเรียนรู้สำหรับเด็กเอ็มจอย สถาบันการเงิน และโรงภาพยนตร์ควอเทียร์ ซีเนอาร์ต ในเครือเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ โดยจุดเด่นของอาคารอยู่ที่ควอเทียร์ฟอล น้ำตกประดิษฐ์ที่สูงที่สุดในเอเชีย

สำหรับ ดิ เอ็มสเฟียร์ จะเป็นศูนย์กลางความเร้าใจใหม่ของคนกรุงเทพฯ หรือ The Vibe of Bangkok has never experienced before แนวคิดแปลกใหม่ที่ฉีกธุรกิจศูนย์การค้าให้ต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ซึ่งศุภลักษณ์เตรียมเผยรูปแบบโครงการในต้นเดือนหน้า

แน่นอนว่า ย่านสุขุมวิทยังถือเป็นทำเลทองระดับซูเปอร์พรีเมียม ที่อยู่อาศัยของกลุ่มเศรษฐีเก่าและเศรษฐีใหม่ นักจับจ่ายกำลังซื้อสูงมาก มีคอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน และโรงแรมระดับ 4-5 ดาว เช่น โรงแรมดับเบิลทรีบายฮิลตัน สุขุมวิท กรุงเทพ โรงแรมบูทีกระดับห้าดาว และโรงแรมฮิลตัน สุขุมวิท กรุงเทพ โรงแรมระดับห้าดาวแห่งที่สองของกลุ่มฮิลตัน

โรงแรมแมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค กรุงเทพ โรงแรมระดับสี่ดาวของกลุ่มแมริออท และเป็นโรงแรมที่มีจำนวนห้องมากที่สุดในกรุงเทพฯ ตั้งอยู่ภายในซอยสุขุมวิท 24

โรงแรมเอ็มโพเรียม สวีท บาย ชาเทรียม ในศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรียม

โครงการพาร์ค ออริจิน พร้อมพงษ์ อาคารชุดของกลุ่มออริจิน พร็อพเพอร์ตี้ อยู่ในซอยสุขุมวิท 24

อาคารภิรัชทาวเวอร์ แอท เอ็มควอเทียร์ ออฟฟิศระดับเอ ความสูง 45 ชั้น อยู่ใน ดิ เอ็มควอเทียร์ และอาคารเอ็มโพเรียมทาวเวอร์ในศูนย์การค้าเอ็มโพเรียม

ขณะเดียวกันช่วงจังหวะการเปิดตัว ดิ เอ็มสเฟียร์ ในปี 2566 ซึ่งเหล่ากูรูคาดการณ์เศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการท่องเที่ยวจะพลิกฟื้นเต็มที่แล้ว และล่าสุดรัฐบาลวางเป้าหมายปี 2566 การท่องเที่ยวของไทยมีแนวโน้มกลับมาอยู่ในสัดส่วน 80% ของปี 2562 (ก่อนสถานการณ์โควิด-19) จะมีรายได้จากการท่องเที่ยวรวมทั้งสิ้น 1.73 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากต่างประเทศ 970,000 ล้านบาท และรายได้หมุนเวียนจากตลาดคนไทย 760,000 ล้านบาท

นอกจากนั้น หากเป็นไปตามสถานการณ์ Best Case Scenario คาดว่าจะมีรายได้รวม 2.38 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากตลาดต่างประเทศ 1.5 ล้านล้านบาท และตลาดในประเทศ 880,000 ล้านบาท

ด้านกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬายังรายงานว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-17 กันยายน 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 5.43 ล้านคน คาดว่าช่วงไฮซีซันตั้งแต่เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2565 จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาอีก1.5 ล้านคนต่อเดือน ส่งผลให้ทั้งปีมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยกว่า 10 ล้านคนตามเป้าหมายด้วย.