วันเสาร์, ตุลาคม 12, 2024
Home > New&Trend > ผู้บริโภคและอาสาสมัครฮีโร่พิทักษ์สัตว์ ยื่นจดหมายเร่งกดดัน KFC แฟรนไชส์ซี 3 ยักษ์ใหญ่ยุติการทรมานไก่อย่างเร่งด่วน

ผู้บริโภคและอาสาสมัครฮีโร่พิทักษ์สัตว์ ยื่นจดหมายเร่งกดดัน KFC แฟรนไชส์ซี 3 ยักษ์ใหญ่ยุติการทรมานไก่อย่างเร่งด่วน

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย อาสาสมัคร และ ตัวแทนผู้บริโภคที่ใส่ใจในสวัสดิภาพสัตว์ ทำกิจกรรมรณรงค์บริเวณพื้นที่สี่แยกหลักและ บริเวณหน้าสาขา KFC ของทั้งสามแฟรนไชส์ซีในกรุงเทพฯ ได้แก่ บริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด,  บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด และ บริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จำกัด โดยเรียกร้องให้ KFC ประเทศไทย เร่งประกาศนโยบายยุติการทรมานไก่ในฟาร์มโดยด่วน เพื่อยกระดับคุณภาพของอาหารให้มีความใส่ใจสวัสดิภาพสัตว์ก่อนถึงมือผู้บริโภค พร้อมเชิญชวนผู้ที่สนใจร่วมลงชื่อในแคมเปญ The Real Secret Recipe ผลักดันเพื่อยกระดับสวัสดิภาพไก่ให้ดีขึ้น

ช่วงเช้าวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2565 อาสาสมัครฮีโร่พิทักษ์สัตว์กว่า 50 คนร่วมทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ พร้อมชูป้ายข้อความ The Real Secret Recipe สูตรลับของผู้พันที่แท้จริง ผู้พันอย่าทอดทิ้งไก่” บริเวณสี่แยกไฟแดงหลัก เพื่อส่งเสียงแทนไก่จำนวนมากที่ได้รับความทุกข์ทรมานจากระบบฟาร์มโรงงาน จากนั้นได้เดินทางไปยื่นจดหมายที่ KFC ประเทศไทย 3 สาขาใหญ่ เพื่อส่งข้อความถึงผู้บริหารแฟรนไชส์ซียักษ์ใหญ่ทั้ง 3 ราย โดยผ่านตัวแทนทั้ง 3 สาขา การเเสดงพลังของผู้บริโภคชาวไทย และอาสาสมัครฮีโร่พิทักษ์สัตว์ในครั้งนี้ เรียกร้องให้ร่วมผลักดันให้เกิดการยกระดับคุณภาพของอาหารในจาน ต้องไม่ได้มาจากวิธีปฏิบัติที่โหดร้ายทารุณ และในฐานะที่ KFC เป็นแฟรนไชส์ระดับโลก ให้มีนโยบายด้านสวัสดิภาพสัตว์เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก ไม่ใช่เป็นลักษณะสองมาตรฐานอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้

โชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการแคมเปญระบบอาหาร องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวว่า  “ที่ผ่านมาเรามีความมุ่งมั่นที่จะยื่นข้อเสนอการปรับปรุงสวัสดิภาพไก่ในห่วงโซ่อุปทานของ KFC ประเทศไทย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการยื่นข้อเรียกร้องให้กับ บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมเสียงผู้บริโภคชาวไทยกว่า 20,000 คน แต่กลับถูกเพิกเฉยมาโดยตลอดในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ถึงเวลาแล้วที่ KFC ประเทศไทย จะต้องเร่งเปิดเผยข้อมูล และนโยบายในการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานถึงการคัดเลือกแหล่งที่มาของไก่ เพื่อผลักดันให้ผู้ผลิตที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานปรับเปลี่ยนมาตรฐานยกระดับสวัสดิภาพ พร้อมทั้งยุติการทรมานไก่ทั้งระบบ รวมถึงเร่งประกาศนโยบายเพื่อพัฒนาสวัสดิภาพไก่แก่สาธารณะ เพื่อเป็นการสะท้อนความห่วงใยผู้บริโภคและความใส่ใจในประเด็นด้านมนุษยธรรมในการดำเนินธุรกิจอย่างแท้จริง”

ซึ่งนอกจากบริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัดแล้ว บริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด,  บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด และ บริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จำกัด ซึ่งถือเป็นผู้ได้รับสิทธิบริหารร้าน KFC ในประเทศไทย มีบทบาทและความรับผิดชอบต่อประเด็นนี้ไม่ต่างกับบริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัดจึงควรแสดงความรับผิดชอบต่อสวัสดิภาพไก่ที่อยู่ภายใต้ห่วงโซ่อุปทานของตนเองและทำงานร่วมกับ บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ในการจัดการปัญหาด้านสวัสดิภาพสัตว์และความทารุณกรรมสัตว์ให้หมดสิ้นจากห่วงโซ่อุปทาน

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 KFC ใน 8 ประเทศในฝั่งทวีปยุโรป ที่มีมาตรการทางกฎหมายและความตื่นตัวของผู้บริโภคที่ใส่ใจเรื่องความทุกข์ทรมานของสัตว์ได้แสดงความเป็นผู้นำด้านการปรับปรุงสวัสดิภาพของไก่ โดยการลงนามใน ข้อตกลงเรื่องความมุ่งมั่นในการพัฒนาสวัสดิภาพของไก่ (Better Chicken Commitment) ซึ่งเป็นสัญญาที่ให้แก่ผู้บริโภคว่าจะปรับปรุงมาตรฐานสวัสดิภาพไก่ แต่ในทางกลับกัน ผู้บริโภคในประเทศไท ซึ่งถือเป็นประเทศผู้ส่งออกเนื้อไก่อันดับต้นๆของโลก กลับไม่สามารถมั่นใจได้ว่าจะเข้าถึงเนื้อไก่ที่มีสวัสดิภาพทีดีได้ ดังนั้น KFC ประเทศไทย ต้องแสดงความจริงใจต่อผู้บริโภคและ ประกาศความมุ่งมั่นลงนามใน Better Chicken Commitment เพื่อยกระดับสวัสดิภาพไก่ เพื่อให้สอดคล้องเป็นมาตรฐานเดียวกันอย่างเร่งด่วน

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกเรียกร้องให้ KFC ประเทศไทย ลงนามใน Better Chicken Commitment ที่จะคัดเลือกไก่ ตามข้อเสนอต่อไปนี้ ภายในปี พ.ศ. 2573 ดังนี้

1. จัดการความหนาแน่นในโรงเรือนให้ไม่เกิน30 กิโลกรัม/ตารางเมตร

2. มีแสงอย่างน้อย50 ลักซ์ รวมแสงธรรมชาติ

3. ควรจัดวางคอนที่มีความยาวอย่างน้อย2 เมตร และจัดหาอุปกรณ์ที่ช่วยกระตุ้นให้ไก่แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติอย่างน้อย 2 ชิ้นต่อไก่จำนวน 1,000 ตัว

4. ใช้สายพันธุ์ไก่ที่โตช้าลงที่ได้รับการรับรองมาตรฐานGAP หรือโดย RSPCA (Broiler Breed Welfare Assessment Protocol)

5. มีการตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบโดยบุคคลที่3 หรือหน่วยงานภายนอกและจัดทำรายงานประจำปีที่แสดงข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสวัสดิภาพสัตว์

ใส่ความเห็น