วันอาทิตย์, ตุลาคม 6, 2024
Home > Cover Story > เกรียงศักดิ์ ตันติพิภพ จาก “เอ็มโพเรียม” ถึง “เอ็มดิสทริค”

เกรียงศักดิ์ ตันติพิภพ จาก “เอ็มโพเรียม” ถึง “เอ็มดิสทริค”

 
ระยะเวลาเกือบ 20 ปี เกรียงศักดิ์ ตันติพิภพ กลายเป็น “มือขวา” ของ “ศุภลักษณ์ อัมพุช” ที่ดูเหมือนจะผ่านการพิสูจน์ดีเอ็นเอทางธุรกิจตรงกัน โดยเฉพาะการทุ่มทุนเปิดอภิมหาโครงการ “ดิ เอ็ม ดิสทริค” จุดเริ่มต้นคลิกขึ้นมาเมื่อ “ศุภลักษณ์” และ “เกรียงศักดิ์” กำลังคิดหาไอเดียสร้างบิ๊กโปรเจกต์ชิ้นใหม่ ทั้งสองคนหยิบภาพโครงการค้าปลีกระดับโลกแห่งหนึ่งตรงกันอย่างไม่ได้นัดหมายและจากวินาทีนั้นก็ลุยสร้างย่านการค้าระดับโลกใจกลางสุขุมวิทขึ้นมาทันที
 
เมื่อ “ผู้หญิงมหัศจรรย์” ตามคำจำกัดความของเกรียงศักดิ์เจอกับลูกน้องที่มหัศจรรย์ไม่แพ้กัน สร้างหลายโครงการมหัศจรรย์ ตั้งแต่เอ็มโพเรียม สยามพารากอน  ดิ เอ็มดิสทริค และกำลังบุกขยายอาณาจักร “เดอะมอลล์กรุ๊ป” ทั้งโครงการบลูพอร์ต หัวหิน รีสอร์ต มอลล์ โครงการบลูเพิร์ล และโครงการแบงค็อกมอลล์ (Bangkok Mall) ซึ่งตั้งเป้าจะเป็นโครงการระดับแฟล็กชิป (Flagship Project) เป็นอาณาจักรศูนย์การค้า ที่อยู่อาศัย และออฟฟิศ แบบครบวงจรที่ยิ่งใหญ่ ทันสมัย และสมบูรณ์แบบที่สุดในเอเชีย ภายใต้คอนเซ็ปต์ City within the City 
 
เกรียงศักดิ์กล่าวกับ “ผู้จัดการ360  ํ” ว่า โครงการที่เกิดขึ้นจะไม่ใช่แค่ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ แต่เป็น ทอล์ค ออฟ เดอะ เวิลด์ และไม่ใช่ทำเพื่อลูกค้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นโครงการที่ทำเพื่อประเทศไทย เพื่อสร้างปรากฏการณ์การชอปปิ้งระดับโลก
 
แน่นอนว่า ชื่อ “เกรียงศักดิ์” อยู่ในแวดวงและกลายเป็นสัญลักษณ์ผู้บริหารห้างค้าปลีกระดับไฮเอนด์จนถึงซูเปอร์ไฮเอนด์ ตั้งแต่ยุคเปิดตัวโครงการ “ดิ เอ็มโพเรียม” เมื่อปี 2540 
 
เขาจบมัธยมศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก ต่อคณะบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาการตลาด มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) และ Modern Marketing Management จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
 
เริ่มงานครั้งแรกกับบริษัท American Appraisal ในตำแหน่ง Executive Trainee แล้วย้ายมาร่วมงานกับ บริษัท โกดัก (ประเทศไทย) จำกัด ดูแลสายงานการตลาดและส่งเสริมการขาย ก่อนเข้าสู่อาณาจักรเดอะมอลล์กรุ๊ป ในฐานะผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาธุรกิจ เดินหน้าพัฒนาและบริหารศูนย์การค้าเดอะมอลล์ในรูปแบบ One Stop Shopping Retail Entertainment Concept จนประสบความสำเร็จอย่างสูงและขยายสาขาอย่างรวดเร็ว
 
ต่อมา เกรียงศักดิ์ได้รับมอบหมายให้มาริเริ่มและพัฒนาศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรียม  ท่ามกลางโจทย์ท้าทายทั้งกลยุทธ์การตลาดและภาวะเศรษฐกิจของประเทศตลอดปี 2540  เมื่อรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในวันที่ 2 กรกฎาคม เกิดวิกฤตการเงินลามจากประเทศไทยไปทั่วเอเชีย ถูกขนานนามว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง” 
 
ศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหารอาวุโส บริษัทเดอะมอลล์ กรุ๊ป ในเวลานั้น ยืนยันกำหนดการเปิดให้บริการศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรียม อย่างเป็นทางการในวันที่ 27 กรกฎาคม โดยตั้งเป้าทำรายได้จากการเช่าพื้นที่ 2,000 ล้านบาท ส่วนห้าง ดิ เอ็มโพเรียม คาดว่าทำรายได้เดือนละ 300 ล้านบาท และวางจุดคุ้มทุนภายใน 3-5 ปี จากเงินลงทุนโครงการมากกว่า 6,000 ล้านบาท เพราะมั่นใจว่า “สุขุมวิท” จะเป็นถนนแห่งการชอปปิ้ง หลังจากโครงการรถไฟฟ้าก่อสร้างเสร็จและเชื่อมชั้น 2 ของศูนย์กับสถานีพร้อมพงษ์ 
 
ด้านเกรียงศักดิ์จัดการฟอร์มทีมเฉพาะกิจ เพื่อพัฒนาธุรกิจและวางกลยุทธ์การตลาดอย่างเข้มข้น ตั้งแต่การปรับสัดส่วนกลุ่มลูกค้าหลักจากเดิมที่เป็นชาวไทยและชาวต่างชาติที่อยู่ในไทย 80-90% เหลือเพียง 65% และเพิ่มกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจากเดิม 10% เป็น 35% ติดต่อบริษัททัวร์ จำนวน 2,000 แห่งและมัคคุเทศก์กว่า 7,000 คน อัดงบเผยแพร่ข้อมูลเจาะทุกสื่อ จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายต่อเนื่องตลอดปี 
 
ที่สำคัญ กลยุทธ์ตอกย้ำภาพลักษณ์ของ ดิ เอ็มโพเรียม ในฐานะ The altimate shopping complex  และการเป็น The icon of bangkok เพื่อเป็นผู้นำไลฟ์สไตล์และเทรนด์เซ็นเตอร์ ไม่ใช่แค่ห้างหรู แต่ต้องมีสไตล์ด้วย
 
จาก 6 เดือนแรกที่มียอดรายได้ต่ำกว่าเป้า ดิ เอ็มโพเรียม เริ่มมีตัวเลขการเติบโตเฉลี่ย 20-30% โดยสินค้าที่มียอดขายในอันดับต้นๆ ได้แก่ สินค้าแฟชั่นเครื่องแต่งกาย เครื่องสำอาง และเครื่องเสียง มีลูกค้าแบรนด์เนมรอเช่าพื้นที่มากกว่า 20 แบรนด์ ลูกค้าบางรายนำพื้นที่ไปเซ้งต่อให้ผู้เช่ารายใหม่ ทำให้อัตราค่าเช่าพื้นที่ในศูนย์ฯ พุ่งพรวดถึง 50%
 
ปี 2547 เกรียงศักดิ์ในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิ เอ็มโพเรียม ช้อปปิ้ง คอมเพล็กซ์ จำกัด ประกาศรีโนเวตพื้นที่ ทั้งในส่วนห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าให้หรูหรายิ่งขึ้น พร้อมๆ กับรีแบรนดิ้ง เพิ่มไลฟ์สไตล์เทรนดี้ ดึงแบรนด์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีก 30 แบรนด์ เน้นกลุ่มสินค้าแฟชั่น เครื่องสำอาง ความงาม และสินค้าไลฟ์สไตล์ เช่น  แฟชั่นเสื้อผ้า ของพอลสเม็ท และอิเซ่มิยาเกะ ซึ่งถือเป็นทอปดีไซเนอร์ของญี่ปุ่น ระดมร้านอาหารใหม่ๆ ทั้งเชนจากยุโรปและเอเชีย รวมทั้งอัดอีเวนต์ระดับทอป เช่น งานแสดงเพชร นาฬิกาหรู 
 
ปี 2548 ศุภลักษณ์จับมือกับชฎาทิพ จูตระกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ผุดโครงการสยามพารากอน โดยมีมือปั้นห้างระดับไฮเอนด์อย่างเกรียงศักดิ์เข้ามาเป็นคีย์แมนหลักด้วย 
 
ทั้งนี้ ศูนย์การค้าสยามพารากอนมีมูลค่าลงทุนมากกว่า 15,000 ล้านบาท พื้นที่รวมกว่า 500,000 ตารางเมตร มีร้านค้าไทยและอินเตอร์เนชั่นแนลแบรนด์ชั้นนำระดับโลกกว่า 250 ร้านค้า เป็นศูนย์รวมแฟชั่น ความงาม ศูนย์รวมอัญมณีและนาฬิกา ร้านอาหาร ภัตตาคาร ศูนย์รวมความบันเทิง ศูนย์รวมศิลปะและวัฒนธรรมทั้งของไทย และนานาชาติ ศูนย์การศึกษา และศูนย์รวมเทคโนโลยีอันทันสมัย นอกจากนี้ยังมีพารากอน ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ ซูเปอร์มาเก็ต กูเม่ต์ มาร์เก็ต ศูนย์ประชุมและการแสดงนิทรรศการระดับนานาชาติ “รอยัล พารากอน ฮอลล์” โรงภาพยนตร์ พารากอน ซีนีเพล็กซ์ และ “สยามโอเชี่ยนเวิร์ล” อะควอเรียมแห่งแรกในใจกลางเมืองด้วย
 
ปัจจุบันสยามพารากอนกลายเป็นหนึ่งเวิลด์คลาสชอปปิ้ง เดสทิเนชั่น ที่ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติต้องเดินทางเข้ามาเช็กอิน มีผู้คนใช้บริการมากกว่า 200,000-300,000 คนต่อวัน
 
จาก ดิ เอ็มโพเรียม สยามพารากอน และล่าสุด “ดิ เอ็ม ดิสทริค” ในช่วงจังหวะที่ประเทศยังอยู่ในจุดเสี่ยง ทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ บวกกับสงครามค้าปลีกที่รุนแรง มีคู่แข่งอย่าง “เซ็นทรัล” ที่พร้อมเข้าชนตลอดเวลา ศึกยกนี้ยากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าแน่