วันจันทร์, พฤศจิกายน 4, 2024
Home > Cover Story > ธุรกิจโรงแรม ทรุดหนัก ไร้สภาพคล่อง-ปรับตัวหนีตาย

ธุรกิจโรงแรม ทรุดหนัก ไร้สภาพคล่อง-ปรับตัวหนีตาย

การแพร่ระบาดของ COVID-19 นอกจากจะทำให้สังคมไทยเผชิญกับความยากลำบากและธุรกิจหลากหลายได้รับผลกระทบรุนแรงแล้ว ธุรกิจโรงแรมของไทยดูจะเป็นอีกกลุ่มธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน และกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหม่ว่าด้วยการสูญเสียธุรกิจและต้องล้มหายไปจากภูมิทัศน์ทางธุรกิจนี้ไปโดยปริยาย

อุบัติการณ์ของการแพร่ระบาด COVID-19 ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวทั่วโลกหดตัวเป็นประวัติการณ์ โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2563 จำนวนนักท่องเที่ยวทั่วโลกลดลงถึงร้อยละ 72 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าโดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกลดลงถึงร้อยละ 82 ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบันยังคงอยู่ในภาวะคับขัน ขณะที่ประเทศไทยเผชิญกับการระบาดระลอกใหม่ ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยใหม่ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ผลกระทบจากการแพร่ระบาดรุนแรงและมีแนวโน้มยาวนาน ทำให้องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) แนะนำว่าการสร้างให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ หรือ Herd Immunity จำเป็นต้องมีการฉีดให้ครอบคลุมมากถึงร้อยละ 65-70 ของจำนวนประชากร ซึ่งต้องใช้เวลาและงบประมาณมหาศาล ขณะที่ความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวจะไม่ฟื้นตัวเร็วเหมือนวิกฤตในอดีต เพราะความกังวลของประชาชนที่มีต่อโรคระบาดจะยังดำรงอยู่ต่อไปอีกอย่างน้อย 3-6 เดือน นอกจากนี้ รายได้และกำลังซื้อที่ลดลงรุนแรงทำให้ความต้องการเดินทางซึ่งถือว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว

ภาคท่องเที่ยวของไทยทรุดหนัก นับตั้งแต่ประกาศใช้ พ.ร.ก. สถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 และติดตามมาด้วยมาตรการห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราวระหว่างวันที่ 3 เมษายน 2563 – 30 กันยายน 2563 ทำให้ในช่วงเมษายน-กันยายน 2563 ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาไทย อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ตุลาคม 2563 นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มกลับมาได้จำนวนจำกัด ตามมาตรการ Special Tourist Visa (STV) ภายใต้ข้อจำกัดที่เข้มงวดไม่ว่าจะเป็น การกักตัว 14 วัน การตรวจสุขภาพก่อน/หลังเดินทาง การทำประกันชีวิต ส่งผลให้ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2563 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติหดตัวลงร้อยละ 81.4 ซึ่งทำให้ไทยสูญเสียรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2563 ไปมากกว่า 1.5 ล้านล้านบาท จากที่เคยได้รับจำนวน 1.9 ล้านล้านบาทในปี 2562

อัตราการติดเชื้อที่ดำเนินไปด้วยอัตราเร่งนับเนื่องตั้งแต่การแพร่ระบาดครั้งแรกจนถึงการแพร่ระบาดระลอกใหม่ เป็นเหตุให้การเดินทางท่องเที่ยวทั้งภายในประเทศและอาคันตุกะจากต่างประเทศผู้มาเยือนตกอยู่ในภาวะชะงักงันและหยุดนิ่งไปโดยปริยาย ไม่นับรวมถึงมาตรการควบคุมของรัฐว่าด้วยการห้ามเดินทางข้ามจังหวัด หรือการห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้าน ทำให้ธุรกิจโรงแรมและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องต้องเผชิญกับความยากลำบากยิ่งขึ้นไปอีก

ความพยายามที่จะประคับประคองธุรกิจให้ดำเนินต่อไปได้ของผู้ประกอบการธุรกิจที่พักโรงแรมในห้วงปัจจุบันในด้านหนึ่งแสดงออกมาเป็นความดิ้นรนเพื่อหาทางรอดในการเติมเต็มห้องพักที่ว่างเปล่าในลักษณะของกิจกรรม CSR ผ่านการเสนอตัวเป็นโรงแรมที่เป็นสถานที่กักตัวทางเลือก หรือ Alternative State Quarantine (ASQ) เพื่อเป็นช่องทางในการแสวงหารายได้ใหม่ หรือการเสนอตัวเป็นพื้นที่โรงพยาบาลสนามแบบ Hospitel เพื่อนำพื้นที่ที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์

ความเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการดังกล่าวสอดรับกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจที่พักโรงแรมที่สำรวจโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อเดือนเมษายน 2564 ซึ่งพบว่า ผู้ประกอบการที่พักโรงแรมได้รับผลกระทบหนักมากขึ้นจากผลของการแพร่ระบาด COVID-19 ระลอกใหม่ที่เกิดจากความไร้ประสิทธิภาพในการควบคุมดูแลของกลไกรัฐ โดยผู้ประกอบการที่พักโรงแรม 188 แห่ง ในจำนวนนี้เป็น ASQ 30 แห่ง ระหว่างวันที่ 12-26 เมษายน 2564 ต้องเผชิญกับปัญหาสภาพคล่อง โดยผู้ประกอบการโรงแรมจำนวนร้อยละ 56 มีสภาพคล่องลดลงในสัดส่วนร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และในจำนวนนี้มีถึงร้อยละ 47 ที่มีสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจได้อีกไม่เกิน 3 เดือน

ประเด็นที่น่าสนใจจากการสำรวจดังกล่าวอีกประการหนึ่งอยู่ที่ข้อเท็จจริงในมิติของสถานะกิจการซึ่งพบว่ามีเพียงร้อยละ 46 ของกลุ่มตัวอย่างเท่านั้นที่เปิดดำเนินกิจการเป็นปกติ และอีกร้อยละ 13 อยู่ในฐานะที่ปิดกิจการชั่วคราว โดยโรงแรมที่ปิดชั่วคราวส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเน้นรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก โดยคาดว่าผู้ประกอบการกลุ่มนี้จะกลับมาเปิดกิจการอีกครั้งในไตรมาส 4 ปี 2564 นี้เมื่อกลไกรัฐสามารถบริหารจัดการกับความเชื่อมั่นได้ดีกว่าที่เป็นอยู่

ผลสำรวจดังกล่าวยังชี้ให้เห็นด้วยว่าผู้ประกอบการร้อยละ 80 ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ในเดือนเมษายน โดยเฉพาะในมิติของรายได้มากกว่าการระบาดของโรคใน 2 ระลอกที่ผ่านมา โดยรายได้ของผู้ประกอบการโรงแรมส่วนใหญ่ยังไม่ฟื้นตัวจากความตกต่ำที่เกิดขึ้นก่อนหน้า โดยร้อยละ 39 ของโรงแรมที่เปิดกิจการอยู่มีรายได้กระเตื้องขึ้นกลับมาไม่ถึงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงปกติก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรค ขณะที่โรงแรมที่มีรายได้กระเตื้องคืนกลับมามีเพียงร้อยละ 25 เท่านั้น

การระบาดระลอกใหม่ในเดือนเมษายนยังชี้ให้เห็นว่าอัตราการเข้าพักของโรงแรมที่เป็นกลุ่มสำรวจมีเพียงร้อยละ 18 ซึ่งสะท้อนให้เห็นความกังวลและอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในสังคม และสะท้อนให้เห็นความล้มเหลวของกลไกรัฐที่พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ แต่กลับมีการระบาดของโรคอย่างหนักหน่วง ที่ติดตามมาด้วยมาตรการควบคุมการเดินทาง ภายใต้การตรวจสอบการเดินทางข้ามจังหวัดของภาครัฐ ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวจำนวนหนึ่งเกิดความกังวลและต้องงดกิจกรรมเดินทางท่องเที่ยว ที่เป็นผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจตกอยู่ในภาวะชะงักงันไปโดยปริยาย

ผลพวงของการระบาดระลอกใหม่ดังกล่าวยังทำให้โรงแรมจำนวนมากถูกยกเลิกการจองห้องพักไปมากกว่าร้อยละ 50 โดยในเดือนเมษายนที่ผ่านมาซึ่งมีอัตราการเข้าพักในระดับร้อยละ 18 นี้สามารถแจกแจงเป็นอัตราเข้าพักในโรงแรมภาคใต้อยู่ที่ร้อยละ 23.2 ขณะที่ภาคเหนืออยู่ที่ร้อยละ 4.1 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 10.9 และภาคกลางในระดับร้อยละ 18.7 โดยคาดการณ์ว่าอัตราเข้าพักเฉลี่ยทั้งประเทศในเดือนพฤษภาคมจะอยู่ที่ระดับเพียงร้อยละ 9 และต่ำกว่าร้อยละ 5 ในพื้นที่ภาคเหนือ

ความน่ากังวลใจที่ได้พบจากการสำรวจดังกล่าวในอีกด้านหนึ่งยังอยู่ที่มิติของการจ้างงาน ซึ่งปรากฏว่ามีการจ้างงานเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 54 ของการจ้างงานเดิมก่อนการระบาดระลอก 3 ซึ่งหากไม่รวมสถานประกอบการที่ปิดกิจการชั่วคราวจะเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 59 โดยภาคเหนือการจ้างงานอยู่ที่ร้อยละ 69.8 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 58.4 ภาคกลางร้อยละ 58.9 และภาคใต้ในระดับร้อยละ 41.7 โดยแต่ละแห่งใช้วิธีการบริหารจัดการพนักงานด้วยการให้ใช้วันลาประจำปี หรือการให้สลับวันมาทำงาน รวมถึงการใช้มาตรการ leave without pay และลดเงินเดือน

สภาพการณ์ที่ผู้ประกอบการห้องพักโรงแรมขาดรายได้อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโรคมายาวนานกว่าหนึ่งขวบปีดังกล่าว ท่ามกลางรายจ่ายที่ยังคงมีอยู่ในอัตราคงเดิมทั้งในมิติของค่าจ้างแรงงาน และค่าสาธารณูปโภคหลากหลายนี้ ทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนที่มีสายป่านหรือทุนทรัพย์หมุนเวียนไม่มากเพียงพอต้องระงับหรือหยุดกิจการไปอย่างไม่มีทางเลี่ยง ขณะที่บางส่วนใช้วิธีลดค่าใช้จ่ายด้านพนักงานเพื่อรักษาธุรกิจไว้ ซึ่งทั้งสองกรณีนำมาซึ่งปัญหาการจ้างงานและตกงานที่กำลังกลายเป็นบาดแผลฉกรรจ์ที่จะฝังรากลึกให้กับสังคมไทยยิ่งกว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 เสียอีก

ขณะเดียวกัน ความพยายามที่จะดิ้นรนหาทางรอดด้วยการผันตัวไปสู่การเป็น ASQ พบว่าการฟื้นตัวของรายได้ไม่แตกต่างกับโรงแรมที่ไม่เป็น ASQ อย่างมีนัยสำคัญ โดยมีเพียงร้อยละ 27 ที่รายได้กลับมาเกินครึ่ง และจ้างงานกลับมาที่ระดับร้อยละ 55 ขณะที่อัตราเข้าพักแม้ในเบื้องต้นจะอยู่ในระดับที่สูงกว่าโรงแรมที่ไม่เป็น ASQ แต่หากพิจารณาความเป็นไปในอนาคตแล้วมีแนวโน้มลดลง โดยอัตราการเข้าพักในเดือนเมษายนอยู่ที่จำนวนร้อยละ 30 และลดลงเหลือร้อยละ 24 ในเดือนพฤษภาคม

สภาพคล่องของผู้ประกอบการเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สะท้อนความยากลำบากในการอยู่รอดของธุรกิจห้องพักโรงแรมในสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ดำเนินอยู่ โดยผู้ประกอบการกว่าร้อยละ 37 มีสภาพคล่องลดลงมากกว่าร้อยละ 20 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยในจำนวนนี้มากกว่าร้อยละ 43 มีสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจได้อีกไม่เกิน 3 เดือนเท่านั้น

มาตรการความช่วยเหลือที่ผู้ประกอบการเหล่านี้ต้องการเร่งด่วน จึงอยู่ที่การพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย รวมถึงการสนับสนุนค่าจ้างพนักงานเดิม ขณะที่มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวดูจะเป็นมาตรการที่สะท้อนความล้มเหลวในการบริหารจัดการของกลไกภาครัฐที่เปล่าเปลืองและเป็นไปได้ยากท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ดำเนินอยู่นี้

การระบาดระลอกใหม่ทำให้สถานการณ์ที่เชื่อว่ากำลังจะดีขึ้นกลับแย่ลงกว่าเดิม ซึ่งไม่เพียงแต่จำกัดอยู่เฉพาะผู้ประกอบการห้องพักโรงแรม รีสอร์ต หรือเกสต์เฮาส์เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว หากแต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ขยายวงกว้างไปสู่ธุรกิจร้านอาหาร ร้านเครื่องดื่ม รวมถึงร้านขายของฝากด้วย

ความเป็นไปของสถานการณ์ COVID-19 ในประเทศไทย นอกจากจะต้องเร่งสร้างให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ หรือ Herd Immunity แล้ว บางทีการสร้างให้เกิดการเรียนรู้และเตรียมความพร้อมในการรับมือกับวิกฤติการณ์ดูจะเป็นสิ่งสำคัญจำเป็นที่ต้องดำเนินไปควบคู่กัน ก่อนที่สังคมไทยจะกลายเป็นสังคมที่ชาชินกับความล้มเหลวเจ็บป่วยในลักษณะของ hurt society อย่างที่เป็นอยู่

ใส่ความเห็น