วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
Home > On Globalization > ข่มขืนผู้เยาว์ไม่ผิด กฎหมายที่กำลังจะถูกแก้ไขในโมร็อกโก

ข่มขืนผู้เยาว์ไม่ผิด กฎหมายที่กำลังจะถูกแก้ไขในโมร็อกโก

 

โดยปกติแล้ว กฎหมายของประเทศส่วนใหญ่หรือแทบจะทุกประเทศเลยก็ว่าได้ จะมีบทลงโทษผู้ที่ข่มขืนผู้เยาว์ ซึ่งบทลงโทษก็ขึ้นอยู่กับกฎหมายของแต่ละประเทศ ในทางตรงกันข้ามที่ประเทศโมร็อกโกมีกฎหมายเกี่ยวกับการข่มขืนที่แปลกไปจากประเทศอื่นๆ อยู่อย่างหนึ่งคือ ถ้าหากเกิดคดีข่มขืนผู้เยาว์ขึ้น ผู้ที่ทำการข่มขืนจะไม่ถูกลงโทษใดๆ ถ้าหากว่าผู้ที่ข่มขืนยินดีที่จะแต่งงานกับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อในครั้งนี้ ผู้เยาว์ในประเทศโมร็อกโกหมายถึงเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 15 ปี

กฎหมายครอบครัวว่าด้วยเรื่องของการแต่งงานและการข่มขืนของประเทศโมร็อกโก มาตราที่ 475 ระบุไว้ว่า (1) บุคคลใดก็ตามที่ทำความผิดในการลักพาตัวหรือหลอกผู้อื่น โดยที่ไม่มีการใช้ความรุนแรงใดๆ รวมไปถึงการข่มขู่คุกคาม จะต้องได้รับโทษให้ติดคุกเป็นเวลา 1-5 ปี (2) ในกรณีของการข่มขืนผู้เยาว์ ถ้าหากผู้ที่ตกเป็นเหยื่อยอมตกลงที่จะแต่งงานกับผู้ที่ลงมือข่มขืนเธอ ผู้ที่ทำการข่มขืนจะถือว่าไม่มีความผิดใดๆ ยกเว้นแต่ในกรณีที่มีบุคคลที่มีอำนาจ เช่น พ่อแม่หรือผู้ปกครองของเหยื่อ และผู้พิพากษาต้องการยกเลิกการแต่งงานในครั้งนี้ และมีการประกาศว่าจะไม่มีการแต่งงานเกิดขึ้น การแต่งงานถึงจะถูกยกเลิกได้ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ที่ทำการข่มขืนหลบหนีจากความผิดที่ได้กระทำไว้

จากมาตราที่ 475 นี้ หมายความว่า ผู้ที่ทำการข่มขืนผู้เยาว์จะกลายเป็นบุคคลที่ไม่มีความผิดใดๆ ก็ต่อเมื่อเหยื่อและผู้ปกครองตกลงว่าจะให้มีการแต่งงานเกิดขึ้นระหว่างผู้ที่เป็นคนร้ายในคดีข่มขืนผู้เยาว์กับผู้เยาว์ที่ตกเป็นเหยื่อของการข่มขืน ซึ่งผู้ที่เป็นคนร้ายไม่สามารถขอยกเลิกการแต่งงานนี้ได้ แต่ถ้าหากภายหลังผู้ปกครองเกิดเปลี่ยนใจขึ้นมาและไม่ต้องการให้มีการแต่งงานนี้เกิดขึ้นก็ยังสามารถยกเลิกการแต่งงานในครั้งนี้ได้

ในกรณีการข่มขืนผู้เยาว์ส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในประเทศโมร็อกโก ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจะยินยอมที่จะแต่งงานกับผู้ที่ลงมือข่มขืนเธอ และพ่อแม่หรือผู้ปกครองของเธอก็ไม่ได้คิดที่จะคัดค้านการแต่งงานแต่อย่างไร เนื่องจากในสังคมของโมร็อกโกนั้นมีความเชื่อว่า ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายก่อนแต่งงาน ถือเป็นความอัปยศในสังคม และยิ่งเมื่อผู้ที่ตกเป็นเหยื่อถูกข่มขืนมา ศาลและพ่อแม่ส่วนใหญ่มักมีความเห็นที่ตรงกันว่า เหยื่อควรจะตกลงแต่งงานกับผู้ที่ลงมือข่มขืนเธอ เพราะทั้งสองคนได้มีเพศสัมพันธ์กันไปแล้ว

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า สิทธิของผู้หญิงในประเทศโมร็อกโกนั้นมีอยู่น้อยมากๆ ประเทศโมร็อกโกมีศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรที่ผู้หญิงจะถูกจำกัดสิทธิต่างๆ ในสังคม เรื่องสิทธิที่ถูกจำกัดของผู้หญิง และเรื่องที่ผู้หญิงที่สูญเสียพรหมจรรย์ไปแล้วจะถูกมองว่าเป็นความอัปยศของครอบครัวนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ในประเทศโมร็อกโกเท่านั้น แต่ยังคงเป็นความเชื่อในหลายๆ ประเทศในแถบตะวันออกกลาง อินเดีย และอัฟกานิสสถาน

และถึงแม้ว่าประเทศโมร็อกโกจะเริ่มแก้ไขกฎหมายบางข้อเพื่อให้สิทธิกับผู้หญิงมากขึ้น เช่น ให้สิทธิกับผ้หญิงในการขอหย่าขาดจากสามีได้ ถ้าหากสามีต้องการมีภรรยาอีกคน และมีการแก้ไขอายุขั้นต่ำของการแต่งงานจาก 15 ปี เป็น 18 ปี แต่เรื่องเหล่านี้เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของสิทธิสำหรับผู้หญิงในประเทศอื่นๆ และในทางปฏิบัติ บางทีการเปลี่ยนข้อกฎหมายเหล่านี้ก็ไม่ได้ช่วยให้สิทธิของผู้หญิงเพิ่มขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น แม้กฎหมายจะบอกว่า ผู้หญิงจะต้องมีอายุอย่างน้อย 18 ปีจึงจะสามารถแต่งงานได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้หญิงส่วนใหญ่ในโมร็อกโกก็ยังแต่งงานมีครอบครัวก่อนอายุครบ 18 ปี เนื่องจากถ้าพ่อแม่เห็นสมควร ต้องการให้ลูกสาวแต่งงานก่อนอายุ 18 ปี ก็สามารถไปชี้แจงที่ศาลว่าขออนุญาตให้ลูกสาวของตนเองแต่งงานก่อนอายุ 18 ปีได้ และส่วนใหญ่แล้ว ศาลจะอนุญาตให้มีการแต่งงานกันได้ เพราะเห็นว่าพ่อแม่อนุญาตแล้ว ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะไม่อนุญาตในคำขอนี้

เรื่องการแต่งงานตั้งแต่ยังเด็กนี้ ถือเป็นเรื่องปกติทั่วไปที่เกิดขึ้นในประเทศโมร็อกโก เพราะผู้คนส่วนใหญ่ยังยากจนอยู่และมีคนที่รู้หนังสือในอัตราที่ต่ำมาก จึงอาจจะไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจนักที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองจะอยากให้บุตรหลานของตัวเองแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อยอยู่

เรื่องสิทธิที่ถูกจำกัดของผู้หญิงในโมร็อกโกนี้ทำให้กลุ่มและองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ จะพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลโมร็อกโกให้สิทธิกับผู้หญิงมากกว่านี้ และประเทศโมร็อกโกก็ยังลงนามในข้อตกลงระหว่างประเทศเรื่องของสิทธิมนุษยชนเรื่องสิทธิสำหรับผู้หญิงในประเทศโมร็อกโกก็ยังเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากในสังคม และยังไม่มีการแก้ไขข้อกฎหมายใดๆ ที่จะทำให้ผู้หญิงได้รับสิทธิที่มากขึ้นในสังคม

เพราะความเชื่อเรื่องการมีเพศสัมพันธ์และสิทธิที่ยังคงถูกจำกัดมากอยู่อย่างนี้ ทำให้ศาลตัดสินคดีข่มขืนส่วนใหญ่ โดยให้ผู้ที่ทำการข่มขืนแต่งงานกับเหยื่อ ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากสถิติของกระทรวงยุติธรรมเมื่อปี 2554 ว่า 90% ของคดีข่มขืนผู้เยาว์นั้น ศาลตัดสินให้มีการแต่งงานกัน

แต่เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา รัฐบาลโมร็อกโกได้ตัดสินใจที่จะทำการแก้ไขข้อกฎหมายนี้ เนื่องจาก มีกรณีที่เด็กหญิงอายุ 16 ปีตัดสินใจฆ่าตัวตายหลังจากที่เธอถูกพ่อแม่และศาลบังคับให้เธอแต่งงานกับคนที่ลงมือข่มขืนเธอ

เรื่องการฆ่าตัวตายนี้เกิดขึ้น เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2555 เมื่อเด็กหญิงวัย 16 ปี Amina al-Filali ได้ตัดสินใจกินยาเบื่อหนูเพื่อปลิดชีวิตตัวเอง เพราะต้องการหลีกหนีจากการใช้ชีวิตแต่งงานร่วมกับผู้ที่ลงมือข่มขืนเธอ ซึ่งเธอได้ใช้ชีวิตแต่งงานร่วมกันเพียงแค่  7 เดือนเท่านั้นกับชายวัย 23 ปีนี้ เนื่องจาก Amina ไม่ต้องการที่จะแต่งงานกับชายที่ข่มขืนเธอเลยแม้แต่น้อย แต่ศาลและพ่อแม่ของเธอต่างมีความเห็นที่ตรงกันว่า เธอจะต้องแต่งงานกับชายคนนี้เพื่อรักษาเกียรติของครอบครัว พ่อแม่ของเธอบังคับให้เธอแต่งงาน และเมื่อแต่งงานไปแล้ว ผู้ชายคนนี้ได้ใช้กำลังและทำร้ายร่างกายเธอเป็นประจำ แต่ฝ่ายชายได้ออกมาปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ทำให้ Amina ตัดสินใจฆ่าตัวตายในที่สุด

เรื่องนี้กลายเป็นหัวข้อที่มีการถกเถียงทั้งในประเทศโมร็อกโกและในต่างประเทศว่า การให้เหยื่อแต่งงานกับผู้ที่ลงมือข่มขืนเธอเป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือไม่ เพราะไม่มีใครต้องการให้เกิดกรณีการฆ่าตัวตายเหมือน Amina ที่ต้องการหลีกหนีการใช้ชีวิตแต่งงานกับผู้ที่ข่มขืนเธอ

กระทรวงยุติธรรมออกมาให้ความเห็นว่า การแต่งงานของ Amina นั้น เป็นความยินยอมของทั้งสองฝ่าย เพราะบิดาของ Amina ได้ยืนยันต่อศาลแล้วว่าอนุญาตให้เธอแต่งงานกับผู้ที่ลงมือข่มขืนเธอได้ ดังนั้นเมื่อทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะแต่งงานกัน คดีการข่มขืนนี้ก็ถือว่าสิ้นสุดลง

ขณะที่ทางฝ่ายบิดาของ Amina ได้ออกมาพูดว่า ลูกสาวของตัวเองนั้นได้รับคำแนะนำจากอัยการว่า ให้ตอบตกลงแต่งงานกับผู้ที่ข่มขืนเธอ และมารดาของ Amina ยังได้พูดเพิ่มเติมว่า เธอไม่สามารถจะปล่อยให้ลูกสาวของเธออยู่อย่างไร้อนาคตและไม่ได้แต่งงานตลอดชีวิต พวกเขาจึงเห็นด้วยกับคำแนะนำของอัยการที่ว่า ควรให้ Amina ตอบตกลงที่จะแต่งงานกับชายที่ข่มขืนเธอ

เรื่องของ Amina ทำให้เกิดการเดินขบวนเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายมาตรา 475 นี้ในกรุงราบัต เมืองหลวงของประเทศโมร็อกโก และตามเมืองต่างๆ ด้วยเช่นกัน กลุ่มเรียกร้องสิทธิสตรีในประเทศโมร็อกโกเองก็ออกมาเรียกร้องให้แก้ไขข้อกฎหมายนี้ด้วยเหมือนกัน
 

ในเดือนธันวาคม ปี 2555 นายกรัฐมนตรี Abdelilah Bankirane ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการแก้ไขกฎหมายมาตราที่ 475 นี้ และเมื่อสิ้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมออกมาเปิดเผยว่า รัฐบาลมีแผนที่จะปรับเปลี่ยนกฎหมายมาตราที่ 475 นี้ โดยจะทำการยกเลิกเรื่องการแต่งงาน และเปลี่ยนเป็นให้ผู้ที่ลงมือข่มขืนเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี จะต้องโทษจำคุกสูงสุดถึง 30 ปี และกระทรวงยุติธรรมเองก็พยายามผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายในข้อนี้ แต่กฎหมายข้อนี้จะเปลี่ยนได้ก็ต่อเมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภามีความเห็นพ้องต้องกันว่า กฎหมายมาตราที่ 475 นี้สมควรที่จะเปลี่ยน จึงจะสามารถเปลี่ยนกฎหมายมาตรานี้ได้

เรื่องนี้ยังคงต้องติดตามกันต่อไปว่ารัฐสภาของโมร็อกโกจะได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงกฎหมายมาตรานี้อย่างไร ทางกลุ่มสิทธิมนุษยชนของประเทศโมร็อกโกนั้นสนับสนุนความคิดของรัฐบาลที่จะเปลี่ยนแปลงกฎหมายมาตรานี้ ถึงแม้ว่าการเปลี่ยนกฎหมายมาตรานี้จะไม่ได้ช่วยอะไรมากนักในการให้สิทธิกับผู้หญิง เพราะยังมีกฎหมายอีกหลายมาตราที่ดูคลุมเครือและไม่ให้ความเป็นธรรมกับผู้หญิงที่ถูกทำร้ายร่างกายเลยแม้แต่น้อย มาตรานี้จึงเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่จะแก้ไขความคลุมเครือของกฎหมายและให้ความเป็นธรรมกับผู้หญิงที่ถูกทำร้ายร่างกายมากขึ้น

 

Column: Women in Wonderland