วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
Home > On Globalization > ชะตาชีวิตท่านผู้นำสตรี

ชะตาชีวิตท่านผู้นำสตรี

 
Column: AYUBOWAN
 
ข่าวความเป็นไปในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าสังคมรอบข้างจะให้ความสำคัญกับจังหวะก้าวของ “ผู้นำสตรี” ที่อาจจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สื่อแสดงให้เห็นอนาคตครั้งใหม่ในเมียนมา หรือแม้กระทั่ง “ผู้นำสตรี” ที่อาจถูกพิจารณาคดีจากผลแห่งนโยบายในอดีต
 
ขณะเดียวกัน ถ้อยความในลักษณะ “คนคำนวณหรือจะสู้ฟ้าลิขิต” ก็อาจวาบแวบเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่บ่งบอกชะตาชีวิตว่าช่างไม่มีสิ่งใดแน่นอน และอาจกลับดำเป็นขาว เปลี่ยนความสว่างให้กลายเป็นความมืดบอด ได้อย่างง่ายดาย ราวกับการพลิกฝ่ามือของพระเป็นเจ้าที่มีอำนาจเหนือสรรพสิ่งทั้งปวง ซึ่งความเป็นไปของ Sirimavo Bandaranaike (17 เมษายน 1916-10 ตุลาคม 2000) ก็คงเป็นไปในท่วงทำนองที่ว่านี้
 
ในช่วงทศวรรษ 1960 ชื่อของ Sirimavo Bandaranaike ถือเป็นประหนึ่งแม่เหล็กที่ดึงดูดความสนใจของผู้คนทั่วโลก เมื่อเธอก้าวเข้าสู่เส้นทางการเมืองและก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของศรีลังกาและของโลก เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 1960 
 
แม้ว่า Sirimavo Bandaranaike จะเกิดในครอบครัวชนชั้นนำของศรีลังกาและมีความเกี่ยวพันกับการเมืองและความเป็นไปของศรีลังกามาอย่างยาวนาน หากแต่ภายใต้บทบาทสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง ในฐานะภริยาท่านนายกรัฐมนตรี ดูเหมือนจะเพียงพอและเป็นที่พึงใจสำหรับเธอแล้ว
 
แต่พลันที่ Solomon West Ridgeway Dias (S.W.R.D.) Bandaranaike (8 มกราคม 1899-26 กันยายน 1959) สามีของเธอถูกสังหารภายในบ้านพัก Tintagel กลางกรุงโคลัมโบ โดยพระสงฆ์สิงหลชาตินิยมคลั่งศาสนา และเสียชีวิตลงอย่างกะทันหัน เมื่อวันที่ 26 กันยายน 1959 ชีวิตของเธอก็เปลี่ยนไปอย่างไม่มีทางหวนกลับ
 
การจากไปก่อนเวลาอันควรของ S.W.R.D. Bandaranaike ส่งผลให้เกิดภาวะสุญญากาศทางการเมืองแผ่ซ่านเข้าปกคลุมศรีลังกา โดยเฉพาะประเด็นว่าด้วยการส่งผ่านการนำและการบริหารภายในพรรค Sri Lanka Freedom Party (SLFP) ซึ่งเป็นพรรคที่ S.W.R.D. Bandaranaike เป็นผู้ก่อตั้งและกำลังครองอำนาจรัฐ ก่อนที่ความวุ่นวายทางการเมืองทั้งภายในพรรคและนอกพรรคจะนำไปสู่ความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 1960
 
Sirimavo Bandaranaike ในวัย 44 ปีเริ่มเดินหน้าเข้าสู่การเมืองในฐานะผู้นำพรรค SLFP เพื่อสานต่อนโยบายเดิมที่สามีของเธอเคยรณรงค์ไว้ โดยเฉพาะกฎหมายว่าด้วย Sinhala Only Act และเข้าสู่สภาในฐานะวุฒิสมาชิกแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง ก่อนที่เธอจะนำพรรค SLFP ชนะการเลือกตั้งครั้งใหม่ในรอบปีเมื่อเดือนกรกฎาคม 1960 ซึ่งส่งให้เธอปรากฏชื่ออยู่ในทำเนียบประวัติศาสตร์ ด้วยการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของศรีลังกาและของโลกในที่สุด
 
ภายใต้แนวความคิดสังคมนิยมที่พยายามนำกิจการของเอกชนมาอยู่ในกำกับของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจการที่มีผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจของประเทศทั้งกิจการธนาคาร ประกันภัย หรือแม้กระทั่งการแปลงโรงเรียนซึ่งในขณะนั้นส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนในเครือของโบสถ์แห่งคริสตจักรให้มาอยู่ในระบบบของรัฐ ส่งผลให้เธอต้องเผชิญกับแรงต่อต้านจากผู้เสียประโยชน์หลายฝ่าย
 
แต่ประเด็นที่สั่นคลอนสถานภาพของเธอบนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมากที่สุด น่าจะเป็นการบังคับให้ภาษาสิงหลเท่านั้นที่เป็นภาษาราชการ ตามแนวทางของ Sinhala Only Act ซึ่งถือเป็นการเลือกปฏิบัติและกีดกันชาวทมิฬไม่ให้ได้มีโอกาสในการเข้าสู่ระบบราชการและกฏหมาย ส่งผลให้ชาวทมิฬคัดค้านและเริ่มดำเนินวิธีอารยะขัดขืน (civil disobedience) และติดตามมาด้วยการประกาศภาวะฉุกเฉินของรัฐบาลหลายครั้ง ก่อนที่ความไม่พึงพอใจนี้จะกลายเป็นเชื้อที่บ่มเพาะความเกลียดชังทางชาติพันธุ์ที่นำไปสู่เหตุจลาจลและการจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธที่นำไปสู่สงครามกลางเมืองในเวลาต่อมา
 
ระยะเวลา 5 ปี (กรกฎาคม 1960-มีนาคม1965) บนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ Sirimavo Bandaranaike ต้องถือว่าดำเนินไปอย่างระหกระเหินระคนโลดโผนทางนโยบายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในประเด็นว่าด้วยการครอบครองกิจการของบริษัทผู้ประกอบการต่างชาติที่ดำเนินกิจการด้านน้ำมัน ซึ่งสร้างความไม่พึงใจให้กับทั้งสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ก่อนที่ทั้งสองมหาอำนาจจะยุติการให้ความช่วยเหลือแก่ศรีลังกา
 
Sirimavo Bandaranaike หันไปหาจีนและสหภาพโซเวียต พร้อมกับนโยบายไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned) ซึ่งอาจทำให้เธอสามารถบริหารนโยบายต่างประทศและประคับประคองศรีลังกาผ่านมรสุมของสงครามเย็นได้บ้าง แต่หนทางทางการเมืองภายในประเทศของเธอไม่เปิดโอกาสให้เธอมากนัก เมื่อเธอไม่ผ่านการลงคะแนนเสียงไม่ไว้วางใจในรัฐสภาในช่วงปลายปี 1964 จนต้องพ้นจากตำแหน่งและต้องพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 1965 ในที่สุด
 
ฉากชีวิตในฐานะผู้นำรัฐบาลถูกสลับให้ต้องมาเป็นผู้นำฝ่ายค้านในช่วงปี 1965-1970 ก่อนที่เธอจะพาพรรค SLFP กลับมาชนะการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม 1970 พร้อมกับการจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรคการเมืองแนวสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ ซึ่งนอกจากจะดำเนินนโยบายตามแนวของสหภาพโซเวียตแล้ว ยังมีลักษณะชาตินิยมหนักขึ้นอีก
 
แม้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจการเมืองของศรีลังกาจะทำให้รัฐนาวาของ Sirimavo Bandaranaike เผชิญกับความยากลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดวิกฤตการณ์น้ำมันโลกในปี 1973 ซึ่งทำให้รัฐบาลศรีลังกาประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วง จากผลของข้อเท็จจริงที่ว่าศรีลังกาไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือจากชาติตะวันตกได้มากนัก และทำให้รัฐบาลของเธอสูญเสียคะแนนนิยมลงเป็นลำดับ
 
แต่สำหรับเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ชื่อของเธอกลับโดดเด่นและถือว่าประสบความสำเร็จในการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่นำพาศรีลังกาให้อยู่ในความสนใจของนานาประเทศอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่เธอจะได้รับเลือกให้เป็นประธานของกลุ่ม Non-Aligned Movement ในปี 1976 พร้อมกับการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดผู้นำประเทศในกลุ่มไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดในกรุงโคลัมโบในเดือนสิงหาคม 1976 ซึ่งมีผู้นำจากนานาประเทศเข้าร่วมประชุมอย่างคับคั่งด้วย
 
แม้จะประสบความสำเร็จในเวทีต่างประเทศแต่ความนิยมที่ลดต่ำลงทุกขณะภายในประเทศส่งผลให้เธอเลือกที่จะใช้บทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศเลื่อนการเลือกตั้งที่กำหนดไว้เดิมในปี 1975 ออกไปเป็นปี 1977 ด้วยหวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้น แต่การณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น และภาพลักษณ์ของเธอตกต่ำอย่างต่อเนื่องท่ามกลางข้อกล่าวหาว่าด้วยการทุจริต ใช้อำนาจโดยมิชอบ และดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่ผิดพลาด ก่อนที่พรรค SLFP ของเธอจะพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งในปี 1977 และผลักให้เธอต้องไปเป็นฝ่ายค้านอีกครั้ง
 
ช่วงทศวรรษ 1980 ถือเป็นช่วงเวลาแห่งความตกต่ำและดำมืดที่สุดแห่งชีวิตของอดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งและผู้นำประเทศ นาม Sirimavo Bandaranaike เพราะเธอถูกสอบสวนเรื่องการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบในการประวิงเวลาและเลื่อนการเลือกตั้งในช่วงปี 1975-1977 ผลของการกล่าวโทษดังกล่าวทำให้เธอถูกขับพ้นจากตำแหน่งผู้แทนในรัฐสภาและถูกตัดสิทธิทางการเมืองนานถึง 7 ปี แต่นั่นคงไม่หนักหนาสาหัสเท่ากับการถูกประณามและต่อต้านจากสังคม
 
ผู้คนที่ครั้งหนึ่งเคยชื่นชมและยกย่องเธอปฏิเสธและไม่ให้เกียรติหรือเคารพเธออีกต่อไป Sirimavo Bandaranaike ถูกกระทำประหนึ่งจัณทาลทางการเมือง ขณะที่เธอใช้เวลากว่า 17 ปี อยู่ในเงามืดของการแสวงหาโอกาสและแสงสว่างเพื่อกลับคืนสู่อำนาจทั้งในระดับพรรคและระดับชาติอีกครั้ง
 
เธอกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีศรีลังกาอีกครั้งเป็นคำรบที่สามในเดือนพฤศจิกายน 1994 แต่ในครั้งนี้บทบาทของนายกรัฐมนตรีไม่ได้มีนัยความหมายเหมือนเดิมอีกแล้ว เพราะรัฐธรรมนูญใหม่ของศรีลังกาให้อำนาจประธานาธิบดีเป็นทั้งประมุขแห่งรัฐและผู้นำรัฐบาลมากกว่า ซึ่งส่งผลให้เธอดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งที่สามอยู่ภายใต้ร่มเงาของ Chandrika Bandaranaike Kumaratunga บุตรสาวของเธอที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเท่านั้น
 
ฉากชีวิตทางการเมืองของเธอในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงในเดือนสิงหาคม 2000 แม้ว่าในความเป็นจริงเธอไม่ได้มีบทบาทหรืออำนาจทางการเมืองเหลืออยู่มากนักก็ตาม ก่อนที่เธอจะเสียชีวิตในวันที่ 10 ตุลาคม 2000 สิริอายุ 84 ปีด้วยโรคชรา หลังการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งสุดท้าย ซึ่งต้องถือว่าเธอเป็นบุคคลที่ปฏิบัติงานทางการเมืองจนถึงลมหายใจสุดท้ายเลยทีเดียว
 
น่าสนใจว่าชะตาชีวิตของท่านผู้นำสตรีในประเทศอื่นๆ จะประสบกับสิ่งดีหรือเลวร้ายอย่างไร บางทีบทสรุปแห่งความเป็นไปทั้งปวง อาจต้องรอให้ถึงลมหายใจสุดท้ายที่จะพิสูจน์ธาตุแท้แห่งความเป็นมนุษย์ให้ได้พิจารณากันนะคะ