ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุภาพรวมธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทย ปี 2567 จะมีมูลค่าสูงถึง 300,000 ล้านบาท แนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง เฉลี่ย 18% และมีผู้สนใจลงทุนเพิ่มขึ้น 15% โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการหาอาชีพที่สองนอกเหนือจากงานประจำ หรืออยากเป็นนายตัวเองและอยากรวยเร็วขึ้น
ขณะเดียวกัน สถิติจำนวนแฟรนไชส์ในไทยยังขยายตัวเพิ่มขึ้น แม้อัตราเกิดใหม่อาจชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ โดย Thaifranchisecenter ศูนย์รวมธุรกิจแฟรนไชส์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เก็บรวบรวมตัวเลขล่าสุดเมื่อช่วงต้นปี 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 619 กิจการ เพิ่มขึ้น 3% จากปี 2566 ที่มีจำนวน 606 กิจการ
หากเจาะย้อนหลัง 5 ปีและช่วงเวลาเกิดสถานการณ์โควิดแพร่ระบาดอย่างหนักเมื่อปี 2563 พบว่า ปี 2566 มีกิจการ 606 กิจการ เพิ่มขึ้น 11% ปี 2565 มีจำนวน 548 กิจการ เพิ่มขึ้น 9% ปี 2564 มีจำนวน 504 กิจการ เพิ่มขึ้น 9% ปี 2563 มีจำนวน 466 กิจการ เพิ่มขึ้น 11% และปี 2562 ก่อนเกิดปัญหาโควิด มีจำนวน 421 กิจการ เพิ่มขึ้น 15%
ทั้งนี้ แฟรนไชส์ที่มีจำนวนธุรกิจมากสุดไล่เลียงตามลำดับพบว่า กลุ่มเครื่องดื่มและไอศกรีมยังได้รับความนิยมเป็นอันดับ 1 ล่าสุดมีจำนวน 157 กิจการ คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 25% จากธุรกิจแฟรนไชส์ทั้งหมด 619 กิจการ
ตามมาด้วยธุรกิจอาหาร 152 ราย ธุรกิจการศึกษา 99 กิจการ ธุรกิจบริการ 60 กิจการ ธุรกิจเบเกอรี่ 54 กิจการ ธุรกิจค้าปลีก39 กิจการ ธุรกิจแนะโอกาสทางธุรกิจ 21 กิจการ ธุรกิจทางการแพทย์ 20 กิจการ ธุรกิจงานพิมพ์ 10 กิจการ และอสังหาริมทรัพย์ 7 กิจการ
ที่น่าสนใจ ถ้าเจาะลึกเฉพาะกลุ่มเครื่องดื่มและไอศกรีมใน 5 อันดับแฟรนไชส์ที่มีแบรนด์แข่งขันมากสุด ได้แก่ แฟรนไชส์ชานมไข่มุก ชา โกโก้ มีจำนวน 64 ธุรกิจ แฟรนไชส์กาแฟสด กาแฟโบราณ 24 ธุรกิจ แฟรนไชส์กาแฟ 15 ธุรกิจ แฟรนไชส์ไอศกรีม 12 ธุรกิจ และแฟรนไชส์น้ำแข็งไสปุยนุ่น ไอศกรีมเกล็ดหิมะ 8 ธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม มีการเก็บข้อมูลศักยภาพการเติบโตตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน พบว่า แฟรนไชส์ธุรกิจบริการกลับมีอัตราเติบโตเฉลี่ยสูงสุด 23% ตามด้วยธุรกิจการศึกษา เติบโต 21% ธุรกิจเบเกอรี่ เติบโต 20% แฟรนไชส์แนะโอกาสทางธุรกิจ เติบโต 17% ธุรกิจค้าปลีก เติบโต 16%
ขณะที่ธุรกิจอาหารที่มีจำนวนกิจการมากสุดเป็นอันดับสอง มีอัตราเติบโตเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 15% เท่ากับแฟรนไชส์ธุรกิจงานพิมพ์และอสังหาริมทรัพย์
ส่วนกลุ่มเครื่องดื่มและไอศกรีมที่มีจำนวนกิจการมากสุด กลับมีอัตราเติบโตเฉลี่ย 14% เท่ากลุ่มธุรกิจทางการแพทย์
สำหรับสุดยอดแฟรนไชส์ที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง และมีผู้สนใจลงทุนจำนวนมาก จากการเก็บข้อมูลจนถึงปี 2566 อันดับ 1 ได้แก่ แฟรนไชส์ธุรกิจการศึกษา มีแบรนด์หรือกิจการยอดนิยม 73 ธุรกิจ เช่น คุมอง สตาร์แมทจินตคณิต โกลเบิล อาร์ต แอนด์ ครีเอทีฟ อีเอฟแอลเลิร์นนิ่ง เซ็นเตอร์ ไบร์ทอัพคิดส์ ยูแพชชั่น
อันดับ 2 เครื่องดื่มและไอศกรีม จำนวน 33 แบรนด์ธุรกิจ เช่น อาจุมม่าคาเฟ่ เอ็มมิลค์ คาเคาโอ้-โกโก้ เดลิเวอรี่ คาเฟ่ ชาไข่มุก ไอ-ฉะ ชีกกี้ มังกี้ คาเฟ่ ฮ็อปคาเฟ่
อันดับ 3 กลุ่มอาหาร จำนวน 28 ธุรกิจ เช่น ก๋วยเตี๋ยวเรือปัญจะรส ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว ชีสซี่ฟราย สแน็ค ฮิปสเตอร์ สเต็ก สเต็กเด็กแนว ชีสซี่ฟราย สแน็ค ไจแอ้น ลูกชิ้นปลาระเบิด
อันดับ 4 กลุ่มบริการ จำนวน 26 ธุรกิจ เช่น วอทช์โพรเทคชั่นฟิล์ม จีเพาเวอร์ พรีเมี่ยมคาร์แคร์ บ้านธรรมชาติ เดอะเลตเตอร์โพสต์ เซอร์วิส เจวอชซิสเท็ม ดับเบิ้ลยู บาย วิซาร์ด ฟาสต์ คาร์โก้ แฟรนไชส์
อันดับ 5 กลุ่มเบเกอรี่ จำนวน 13 ธุรกิจ เช่น ปังอั้ยยะปังปิ้งไส้เยิ้ม เครปอะเดย์ ตี๋เล็ก ขนมจีบ ซาลาเปาและติ่มซำ สวีทการ์เด้น เดอะวอฟเฟิล
อันดับ 6 กลุ่มโอกาสทางธุรกิจ จำนวน 10 ธุรกิจ เช่น เจอเนสส์ โกลบอล (ไทยแลนด์) เอเจล เอ็นเตอร์ไพรซ์ (ไทยแลนด์) อีซี่ฟาร์แม็กไทยแลนด์
อันดับ 7 ร้านค้าปลีก 10 ธุรกิจ ได้แก่ เซเว่นอีเลฟเว่น แฟมิลี่มาร์ท เฟรชมาร์ท
อันดับ 8 กิจการงานพิมพ์ 9 ธุรกิจ ได้แก่ ไอดูโฟร์ไอเดีย ไอเดียทูคลิค อินเตอร์เนชั่นแนล
อันดับ 9 ธุรกิจทางการแพทย์ 5 ธุรกิจ ได้แก่ บิวตี้เซนเตอร์ (บีโค้) เอลิสพอลิน หมอมวลชน และอันดับ 10 ธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ 2 ธุรกิจ เช่น รีแม็กซ์ (ประเทศไทย)
แน่นอนว่า หลายฝ่ายคาดการณ์ปีนี้จะมีแฟรนไชส์เกิดใหม่อีกหลากหลายแบรนด์ ทั้งการแตกไลน์ของแบรนด์เดิมในตลาด เพื่อสร้างสีสันแรงดึงดูดกลุ่มผู้ลงทุนใหม่หลังแบรนด์เดิมเริ่มอิ่มตัว และแบรนด์ของผู้เล่นหน้าใหม่ โดยเน้นการแข่งขันด้านเงินลงทุนไม่สูงมาก รวมถึงการกระโดดเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ต้องการสร้างเครือข่ายสาขาผ่านระบบแฟรนไชส์ ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมา ทุกปีจะมีร้านแฟรนไชส์เปิดใหม่ทุกวัน วันละ 20-30 แห่ง
ด้านสมาคมแฟรนไชส์ไทยและบรรดาผู้ประกอบการจัดอีเวนต์ต่างเร่งรวมตัวเปิดมหกรรมกระตุ้นธุรกิจทุกเดือน โดยโหมโรงกันตั้งแต่ต้นปี เช่น การจัดงาน Franchise SMEs Expo 2024 เมื่อวันที่ 15-18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ดึงแฟรนไชส์ที่อยู่ในความสนใจเข้าร่วม ไม่ว่าจะเป็น “นำโชคลอตเตอรี่” นวัตกรรมแฟรนไชส์ที่พัฒนาแผงลอตเตอรี่กลายเป็นตู้จำหน่ายลอตเตอรี่แบบอัตโนมัติเจ้าแรกในประเทศไทย งบลงทุนเริ่มต้น 59,500 บาท
หรือแฟรนไชส์ Cat Car Wash ธุรกิจล้างรถแบบหยอดเหรียญ ซึ่งล่าสุดเปิดสาขากว่า 40 แห่ง เงินลงทุน 499,000 บาท รวมค่าโครงสร้างขนาด 3 ช่องจอดพร้อมตู้หยอดเหรียญ
ในกลุ่มธุรกิจอาหาร อาหารรับประทานเล่น เครื่องดื่ม มีแบรนด์ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือปัญจะรส ร้านเครปไส้แตก ซึ่งทั้งเครปร้อนแป้งกรอบ และเครปเย็น หรือแบรนด์ร้านเรนนี่ไอศกรีม ซึ่งเพิ่งเปิดขายแฟรนไชส์ปีแรก เป็นตู้ไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ เหมาะกับคนที่มีร้านค้า ร้านอาหาร ร้านเครื่องดื่มของตัวเองอยู่แล้วสามารถเลือกลงทุนเพิ่มได้
นอกจากนั้น ยังมีแฟรนไชส์น้ำสลัด 7 สี สูตรสุขภาพ แฟรนไชส์เพนกวิน มิลค์ที และแฟรนไชส์กาแฟพันธุ์ไทย ซึ่งกำลังบุกปูพรมสาขาใหม่ จากปี 2565 เปิดให้บริการ 500 สาขา เพิ่มขึ้นถึง 900 สาขาในปัจจุบันและตั้งเป้าหมายขยายสาขาครอบคลุมทุกอำเภอรวม 1,600 สาขาทั่วประเทศไทย เพื่อปลุกปั้นยอดขายเติบโต 2 เท่าภายในปี 2567
ส่วนเดือนถัดมา เปิดมหกรรมชี้ช่องรวยแฟรนไชส์ ครั้งที่ 15 ระหว่างวันที่ 1-4 มีนาคม 2567 ที่เซ็นทรัลบางนา ตามด้วยงาน Smart SME Expo 2024 วันที่ 4-7 กรกฎาคม ที่อิมแพ็คเมืองทองธานี และงานแสดงแฟรนไชส์นานาชาติ Thailand Franchise & Business Opportunities 2024 ระหว่างวันที่ 11-14 กรกฎาคม 2567 ณ ไบเทคบางนา
ขณะที่งาน Franchise SMEs Expo 2024 ครั้งที่ 2 จะจัดกันวันที่ 1-4 สิงหาคมในศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต ซึ่งในวงการถือเป็นรายการรวมสุดยอดแฟรนไชส์ทุกหมวดหมู่ ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม การศึกษา ค้าปลีก ธุรกิจตู้หยอดเหรียญ ธุรกิจบริการ และโรงงานผู้ผลิตสินค้า
ช่วงปลายปีจัดอีก 3 อีเวนต์ใหญ่ คือ มหกรรมชี้ช่องรวยแฟรนไชส์ ครั้งที่ 16 วันที่ 3-9 กันยายนที่เซ็นทรัลเวสต์เกต งาน Franchise SMEs Expo 2024 ครั้งที่ 3 วันที่ 28 พฤศจิกายน-1 ธันวาคม BCC Hall เซ็นทรัล ลาดพร้าว และปิดท้ายด้วยมหกรรมชี้ช่องรวยแฟรนไชส์ ครั้งที่ 17 วันที่ 5-8 ธันวาคม ที่เซ็นทรัลพระราม 2 ซึ่งทั้งหมดคาดว่าจะสร้างเม็ดเงินเพิ่มขึ้นอีกมูลค่ามหาศาล.