วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
Home > Cover Story > วัดชีพจรธนาคารยูโอบี หลังซื้อกิจการลูกค้าบุคคลจากซิตี้กรุ๊ป

วัดชีพจรธนาคารยูโอบี หลังซื้อกิจการลูกค้าบุคคลจากซิตี้กรุ๊ป

ปี 2564 มีข่าวออกมาว่า ซิตี้กรุ๊ป (Citigroup) มีแผนจะออกจากธุรกิจลูกค้าบุคคล (Consumer Banking) ใน 13 ตลาด ทั้งในออสเตรเลีย บาห์เรน จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ โปแลนด์ รัสเซีย ไต้หวัน เวียดนาม รวมถึงประเทศไทย

14 มกราคม 2565 ซิตี้กรุ๊ปเคลื่อนไหวอีกครั้งด้วยการออกมาประกาศบรรลุดีลในการขายธุรกิจธนาคารกลุ่มลูกค้าบุคคล ใน 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย และเวียดนาม ให้กับกลุ่มธนาคารยูโอบี (UOB) กลุ่มธนาคารยักษ์ใหญ่แห่งสิงคโปร์ ซึ่งดีลดังกล่าวรวมธุรกิจธนาคารลูกค้ารายย่อยและธุรกิจบัตรเครดิต แต่ไม่รวมธุรกิจลูกค้าสถาบันของธนาคาร โดยที่ดีลในการเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้จะครอบคลุมพนักงานของซิตี้แบงก์ที่จะโอนไปยังธนาคารยูโอบีเมื่อเสร็จสิ้นการเข้าซื้อกิจการกว่า 5,000 คนอีกด้วย

กระทั่งวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 อีกหนึ่งดีลประวัติศาสตร์สัมฤทธิผลไปอีกขั้น เมื่อธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ออกมาประกาศว่ากลุ่มธนาคารยูโอบีได้ดำเนินการเข้าซื้อกิจการธนาคารลูกค้ารายย่อยของซิตี้กรุ๊ปในมาเลเซียและประเทศไทยเสร็จสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว ส่วนในอินโดนีเซียและเวียดนามคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566 โดยมีมูลค่ารวมกว่า 1.3 แสนล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ 4,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 1.07 แสนล้านบาท) และค่าพรีเมียม 915 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 2.4 หมื่นล้านบาท)

ซึ่งกิจการธนาคารลูกค้ารายย่อยนี้ประกอบด้วยกลุ่มลูกค้าสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันและมีหลักประกัน ธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง และธุรกิจเงินฝากรายย่อย โดยการเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้ถือเป็นการเข้าซื้อกิจการเชิงกลยุทธ์ เพื่อเสริมให้โมเดลธุรกิจรายย่อยของกลุ่มยูโอบีในอาเซียนแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น และเป็นหนึ่งในกำลังขับเคลื่อนให้กลุ่มยูโอบีสร้างการเติบโตในกลุ่มลูกค้ารายย่อยได้เป็น 2 เท่าภายใน 5 ปี

หลังเสร็จสิ้นกระบวนการเข้าซื้อกิจการแล้ว คาดว่าขนาดธุรกิจธนาคารลูกค้ารายย่อยในทั้ง 4 ประเทศของยูโอบีจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า มีการให้บริการลูกค้าจำนวน 5.3 ล้านคน และเสริมทีมงานให้แกร่งขึ้นด้วยพนักงานอีก 5,000 โดยคาดว่าการโอนย้ายลูกค้าทั้งระบบจะแล้วเสร็จในอีก 12 ถึง 18 เดือนข้างหน้า ซึ่งทางยูโอบีเองก็ยืนยันว่าการเข้าซื้อกิจการจากซิตี้กรุ๊ปในครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อลูกค้า ทั้งค่าธรรมเนียม อัตราดอกเบี้ย สิทธิประโยชน์ การชำระเงิน และคะแนนสะสมใดๆ ทั้งสิ้น โดยทั้ง 2 กลุ่มธุรกิจยังแยกระบบกันอีก 1 ปี ก่อนปรับเข้ามารวมกันในที่สุด

นับจากวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งถือเป็นวันแรกที่ควบรวมได้สำเร็จและเป็นวันที่มีการโอนย้ายกิจการมาธนาคารยูโอบี ผ่านมากว่าครึ่งปีคำถามที่น่าสนใจคือ ปัจจุบันสถานการณ์ความเป็นไปทางฝั่งยูโอบีหลังควบรวมแล้วเป็นอย่างไร

10 มีนาคม 2566 กลุ่มธนาคารยูโอบีประกาศผลกำไรจากธุรกิจหลักสุทธิสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 4.8 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565 และหากรวมค่าใช้จ่ายครั้งเดียวที่เกิดจากการซื้อกิจการธุรกิจลูกค้ารายย่อยของซิตี้กรุ๊ปในมาเลเซียและไทย กำไรสุทธิจะสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 4.6 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์

ด้านธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ก็ออกมาเปิดเผยตัวเลขที่น่าสนใจว่า ภายในระยะเวลา 6 เดือนหลังการโอนย้ายกิจการ ธุรกิจของยูโอบีมีการเติบโตอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง จำนวนลูกค้ารายย่อยของยูโอบีในภูมิภาคอาเซียนมีมากกว่า 7 ล้านราย เฉพาะในประเทศไทยมีถึง 2.5 ล้านคน เติบโตขึ้น 2.2% หลังจากควบรวมกิจการ

ก่อนการควบรวมยูโอบีสิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศแม่ของยูโอบี มีสัดส่วนธุรกิจลูกค้ารายย่อยใหญ่ที่สุดในภูมิภาค แต่หลังควบรวมสัดส่วนของประเทศต่างๆ ก้าวกระโดดอย่างเห็นได้ชัด และไทยก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 2 รองจากสิงคโปร์ในเวลาเพียงไม่นาน โดยถ้านับจากไตรมาส 1 จากปีที่แล้วมาปีนี้ ยูโอบีมียอดเงินฝากโตขึ้นถึง 12%

สำหรับธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อต่างๆ หลังควบรวมยังคงเติบโตอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคของสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งพอร์ตเดิมของซิตี้กรุ๊ปมีสัดส่วนค่อนข้างใหญ่ เมื่อรวมแล้วทำให้ไทยเป็นธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน

โดยจำนวนฐานลูกค้าบัตรเครดิต ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 มีถึง 2,300,000 ใบ ซึ่งเป็นตัวเลขที่เกินเป้าที่คาดไว้ โดยทางยูโอบีคาดว่ามาจากกิจกรรมทางการตลาดที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตัวเลขช่วง 6 เดือนแรกเป็นไปได้ดี และที่สำคัญยังทำให้ยูโอบี ประเทศไทย สามารถก้าวขึ้นมาอยู่อันดับ 3 ในกลุ่มผู้ให้บริการบัตรเครดิตในไทยได้อีกด้วย

ในขณะที่จำนวนลูกค้าบัตรเครดิตรายใหม่ยังคงความสามารถในการหาได้อย่างคงที่ ถ้าเปรียบเทียบตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 จนถึงมีนาคม 2566 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เปอร์เซ็นต์การเติบโตอยู่ที่ 35%, 75%, 73%, 77% และ 49% ตามลำดับ

มาดูตัวเลขยอดสินเชื่อคงค้างของบัตรเครดิตยูโอบี ไตรมาส 1 สิ้นเดือนมีนาคม เติบโตถึง 13% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ของปีที่แล้ว ในขณะที่ภาพรวมของตลาดเติบโตอยู่ที่ 6% นั่นหมายความว่า ยูโอบีสามารถสร้างการเติบโตของสินเชื่อคงค้างได้เป็น 2 เท่าของตลาด

ด้านยอดใช้จ่ายผ่านบัตรก็อยู่ในวิสัยเดียวกัน นั่นคือเติบโต 2 เท่าของตลาด โดยยูโอบีมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรที่เติบโตถึง 30% ในขณะที่ตลาดรวมโต 17% ทั้งที่ประเทศเพิ่งฟื้นจากวิกฤตโควิด-19

อีกหนึ่งปัจจัยที่นำมาเป็นเกณฑ์ในการวัดความเชื่อมั่นของลูกค้าบัตรเครดิตคือ “ยอดคะแนนสะสมคงเหลือ” ที่ลูกค้ายังไม่ได้แลก อันเนื่องมาจากมีการวิเคราะห์กันว่าถ้าลูกค้าบัตรเก่าจากซิตี้เกิดไม่มั่นใจในการเปลี่ยนผู้ให้บริการแล้วขอปิดบัตร สิ่งที่ลูกค้าจะทำคือแลกคะแนนสะสมที่มีอยู่ แต่ที่ผ่านมายอดคะแนนสะสมคงเหลือยังเติบโตอย่างต่อเนื่องในหลักหมื่นล้านคะแนน นั่นแปลว่าลูกค้ามั่นใจและยังคงใช้บัตรต่อไป

จากแนวโน้มการเติบโตที่เกิดขึ้น ทำให้ยูโอบี ประเทศไทย ตัดสินใจปรับเป้าการเติบโตของยอดลูกค้าบัตรเครดิตที่เคยวางไว้ที่ 2,300,000 ใบ เป็น 2,400,000 ใบ และมุ่งเพิ่มมาร์เกตแชร์ในทุกธุรกิจ โดยใช้กลยุทธ์สร้างผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ และสร้างแคมเปญการตลาดที่ตอกย้ำความเป็นแบรนด์และจูงใจลูกค้า รวมถึงใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์ม อย่างแอปพลิเคชัน UOB TMRW ที่จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการหาลูกค้ารายใหม่ๆ และบริการลูกค้า

นับจากการควบรวมสำเร็จ นี่อาจเป็นตัวเลขการเติบโตที่น่าสนใจ แต่ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงอยู่ ตัวเลขการเติบโตในระยะต่อๆ ไป ก็น่าติดตามไม่น้อยเลยทีเดียว.