วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
Home > Cover Story > โควิดระบาดยืดเยื้อ ทุนยักษ์แห่เจาะธุรกิจเฮลท์แคร์

โควิดระบาดยืดเยื้อ ทุนยักษ์แห่เจาะธุรกิจเฮลท์แคร์

ธุรกิจทางการแพทย์และธุรกิจสุขภาพกลับมาร้อนแรง หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ยืดเยื้อและมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทั่วโลก ซึ่งฝ่ายโครงการฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก (WHO) เคยคาดการณ์จำนวนประชากรราว 1 ใน 10 จากทั่วโลก หรือประมาณ 760 ล้านคน จะติดเชื้อไวรัสอันตรายตัวนี้ ส่วนในประเทศไทย ล่าสุดยอดผู้ป่วยยืนยันทะลุหลักหมื่นคน และกระจายไปมากกว่า 50 จังหวัดแล้ว

ขณะเดียวกัน ทีมระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เคยประเมินการระบาดระลอกใหม่ในประเทศไทยไว้ 3 ฉากทัศน์

ฉากทัศน์ที่ 1 หากไม่มีการควบคุมหรือมาตรการใดๆ จะพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นวันละ 1,000-2,000 ราย จนถึงวันที่ 14 มกราคม 2564 และจะพบเพิ่มขึ้น 18,000 รายต่อวัน

ฉากทัศน์ที่ 2 ใช้มาตรการปานกลาง จะพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเกือบ 4,000 รายต่อวัน และฉากทัศน์ที่ 3 ใช้มาตรการเข้มข้น เช่น สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ จะพบผู้ป่วยน้อยกว่า 1,000 รายต่อวัน

นั่นทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการรักษาพยาบาลและอุปกรณ์ทางการแพทย์สามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาสการเติบโตสวนทางธุรกิจอื่นๆ โดยเฉพาะบริษัทผู้คิดค้นวัคซีนโควิด-19 ที่กลายเป็นความหวังสำคัญของคนทั่วโลก ชนิดที่ทุกประเทศต้องต่อคิวจองซื้อจากบริษัทรายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทซิโนแวค ประเทศจีน บริษัทแอสตราเซเนกา ประเทศอังกฤษ และบริษัทไซเฟอร์ สหรัฐอเมริกา

สำหรับประเทศไทยนั้น รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศแผนการฉีดวัคซีนฟรี เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ให้ประชาชนชาวไทยให้ได้อย่างน้อย 50% หรือครึ่งประเทศภายในปีนี้ โดยกำหนดระยะเร่งด่วนจะได้รับวัคซีนฯ ล็อตแรก 2 ล้านโดส จากบริษัท ซิโนแวค ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายนนี้ ซึ่ง 2 แสนโดสแรก ตั้งเป้าฉีดให้กลุ่มเสี่ยง เช่น บุคลากรทางการแพทย์และผู้สูงอายุก่อน จากนั้นเดือนมีนาคมและเมษายนจะได้รับอีก 8 แสนโดส และ 1 ล้านโดส ตามลำดับ

นอกจากนั้น รัฐบาลยังสั่งจองจากบริษัท แอสตราเซเนกา 26 ล้านโดส กำหนดรับมอบภายในเดือนพฤษภาคม และจัดหาเพิ่มเติมอีก 35 ล้านโดส ซึ่งจะทยอยอนุมัติและส่งมอบต่อไป รวมเป็น 63 ล้านโดส

ส่วนระยะยั่งยืน รัฐบาลไทยได้ตั้งศูนย์การผลิตในประเทศที่บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งมีโรงงานอยู่แล้ว และได้การรับถ่ายทอดเทคโนโลยี สามารถผลิตวัคซีนตามมาตรฐานของอ็อกซฟอร์ดและแอสตราเซนเนกา กำลังการผลิต 200 ล้านโดสต่อปี นอกจากนี้ คณะแพทยศาสตร์และคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะเป็นอีกแหล่งผลิตภายในประเทศ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์ (Medical Hub)

แน่นอนว่า ความต้องการวัคซีนโควิด-19 ที่สูงมากกลายเป็นต้นตอปลุกประเด็นข่าวร้อนแรงขึ้นทันที เมื่อสำนักข่าว นิกเกอิ เอเชีย รายงานว่า บริษัท ซิโนไบโอฟาร์มาซูติคอล ของบริษัท ซีพี ฟาร์มาซูติคอล กรุ๊ป ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ได้ลงทุนเม็ดเงิน 515 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 15,427.85 ล้านบาท ซื้อหุ้น บริษัท ซิโนแวค ไลฟ์ ไซแอนซ์ หน่วยผลิตวัคซีนโคโรนาแวค (CoronaVac) ของบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค (Sinovac Biotech) สัดส่วน 15% เพื่อเร่งกำลังผลิตวัคซีนต้านโควิด19 เป็น 2 เท่า หรือ 600 ล้านโดสต่อปี

นายเยี่ยน เว่ยตง หยิน ประธานและหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ซิโนแวคฯ ระบุว่า การจับมือกับ ซิโน ฟาร์มาซูติคอล จะพัฒนาขีดความสามารถในการขายวัคซีนและขยายตลาดในเอเชีย

ปัจจุบัน ซิโนแวคทำสัญญาจัดหาวัคซีนโคโรนาแวคให้หลายประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ตุรกี บราซิล ชิลี และฟิลิปปินส์ ซึ่งกำลังการผลิต 600 ล้านโดสต่อปี จะครอบคลุมประชากร 300 ล้านคน หรือ 3.94% ของประชากรโลกเท่านั้น

ล่าสุด เครือซีพีออกเอกสารยืนยันว่า ซีพีทำธุรกิจกลุ่มเวชภัณฑ์กว่า 20 ปีแล้ว แต่อาจไม่เป็นที่รับรู้ในไทย เช่น กลุ่มเวชภัณฑ์ที่ครอบคลุมกลุ่มธุรกิจของซิโนไบโอฟาร์มาซูติคอล ก่อตั้งเมื่อปี 2543 และติดอันดับทอป 50 บริษัทในธุรกิจยาของโลก จัดอันดับโดยนิตยสาร Pharm Exe ของประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2562  จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ในการรุกเข้าสู่ธุรกิจเวชภัณฑ์ ซึ่งดำเนินการมานานกว่า 22 ปี ทั้งผลิตและทำตลาดยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบ ยารักษาโรคด้านระบบหัวใจและสมอง ในประเทศจีน

ที่สำคัญ เมื่อปี 2562 บริษัท ซิโนไบโอฟาร์มา ทำรายได้ 4,200 ล้านหยวน หรือประมาณ 112,000 ล้านบาท การซื้อหุ้นซิโนแวคย่อมหมายถึงโอกาสการต่อยอดอีกมหาศาล

ไม่ใช่เฉพาะซีพีกับเกมรุกขยายธุรกิจวัคซีน แม้กระทั่งบริษัทน้ำมันอย่าง ปตท. ประกาศความร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรม ก่อสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งในนิคมอุตสาหกรรมวนารมย์ของ ปตท. (PTT WEcoZi) อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง โดยเร่งศึกษาแผนงานและก่อสร้างโรงงานภายในปี 2565 ตั้งเป้าหมายวิจัยพัฒนาและผลิตยารักษาโรคมะเร็ง เพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในปี 2570 ก่อนขยายสู่การผลิตในระดับอุตสาหกรรม

เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยังดึงบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ร่วมศึกษาและตั้งโรงงานผลิตผ้า Melt Blown และ Nitrile Butadiene Latex (NBL) ในจังหวัดระยอง ตามแผนผลักดันธุรกิจ Life Science โดยผ้า Melt Blown เป็นวัตถุดิบหลักของผ้าชั้นกรองหน้ากากอนามัย (PPE) หน้ากาก N95 ชุดกาวน์ และแผ่นกรองอากาศ ส่วน Nitrile Butadiene Latex (NBL) เป็นวัตถุดิบผลิตถุงมือไนไตร หรือถุงมือทางการแพทย์ คาดว่าจะเริ่มจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในปี 2565

ขณะที่ยักษ์ใหญ่อสังหาริมทรัพย์ บริษัท แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ในกลุ่มพร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค ประกาศร่วมลงทุนกับ บริษัท วัฒนชัย รับเบอร์เมท จำกัด สัดส่วนร้อยละ 50.5 จัดตั้ง บริษัท แกรนด์ โกลบอล โกล์ฟ จำกัด เพื่อผลิตและส่งออกถุงมือยาง โดยลงทุนตั้งโรงงานผลิตถุงมือยางภายใต้แบรนด์ GGG ในนิคมอุตสาหกรรมทีเอฟดี จังหวัดฉะเชิงเทรา กำลังผลิตรวม 5,000 ล้านชิ้นต่อปี และวางเป้าหมายขึ้นเป็นผู้ประกอบธุรกิจถุงมือยางรายใหญ่อันดับ 2 ของไทย

ชายนิด อรรถญาณสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค กล่าวว่า โรงงานผลิตถุงมือยางกำหนดแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคมนี้ และเริ่มผลิตทันที โดยคาดว่าจะสร้างรายได้ 5,000 ล้านบาท จากความต้องการใช้ถุงมือยางที่มีแนวโน้มขยายตัวได้อีกมาก

ด้านบริษัท ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการธุรกิจขนส่งสินค้า ตัดสินใจร่วมเป็นพันธมิตรต่างชาติ ตั้งบริษัท Cool Chain Logistics Pte., Ltd. ในประเทศสิงคโปร์ เปิดธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าประเภทยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยมองการแพร่ระบาดโควิด-19 เปิดโอกาสใหม่ทางธุรกิจ โดยเฉพาะการขนส่งวัคซีนและชุดทดสอบเชื้อโควิด-19 ซึ่งต้องควบคุมอุณหภูมิระหว่างการขนส่ง รวมถึงเวชภัณฑ์และเครื่องมือทางการแพทย์ต่างๆ

ทั้งนี้ บริษัทวางยุทธศาสตร์หลักเน้นการขนส่งและกระจายวัคซีนโควิด-19 ครอบคลุมทั่วทวีปเอเชีย โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งจะอาศัยจุดแข็งด้านระบบการขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิ บริการการตรวจสอบสถานะการจัดส่งสินค้าแบบ Realtime Track & Trace การควบคุมอุณหภูมิระหว่างการขนส่งผ่านระบบออนไลน์

ดังนั้น แม้ในมุมหนึ่ง การพลิกกลยุทธ์ของกลุ่มทุนและบริษัทรายใหญ่ คือ การสร้างโอกาสกอบโกยรายได้ แต่อีกมุมหนึ่ง หมายถึงความพยายามพัฒนานวัตกรรม เพื่อสกัดกั้นพิษไวรัสโควิด-19 รวมถึงการยกระดับเทคโนโลยีรับมือเชื้อโรคตัวใหม่ๆ ที่นับวันจะกลายพันธุ์มากขึ้นด้วย

ใส่ความเห็น