วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
Home > Cover Story > โควิดระบาดระลอกใหม่ เสี่ยงล็อกดาวน์ กระทบเศรษฐกิจ

โควิดระบาดระลอกใหม่ เสี่ยงล็อกดาวน์ กระทบเศรษฐกิจ

หลังการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างของโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงต้นปี ไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีระบบการจัดการด้านสาธารณสุขในการรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสนี้ได้เป็นอย่างดี แม้ว่าปัจจุบันจะยังพบผู้ติดเชื้ออยู่บ้าง ทว่าก็เป็นผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศแทบทั้งสิ้น

สถานการณ์ภายในประเทศเริ่มดีขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ห้างร้านที่เคยหยุดกิจการไปในช่วงเวลาหนึ่ง สามารถกลับมาสู่รูปแบบเกือบปกติ ภาครัฐหว่านนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในทุกระดับ และผลออกมาเป็นที่น่าพอใจของทุกฝ่าย ศูนย์วิเคราะห์และวิจัยเศรษฐกิจเกือบทุกสถาบันประเมินว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะอยู่ในภาวะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า ไม่มีการระบาดระลอกใหม่ และรัฐบาลออกมาตรการหนุนนำเศรษฐกิจ พร้อมทั้งประชาชนที่มีกำลังซื้อนำเงินออกมาจับจ่ายตามสมควร

การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในประเทศทำให้เกิดภาวะความต้องการแรงงานจำนวนมาก ในขณะเดียวกันกับที่แรงงานจากภายนอกก็ต้องการกลับเข้ามาในประเทศไทยเช่นกัน

กระทั่งเกิดการลักลอบเข้าไทยตามเส้นทางธรรมชาติถี่ขึ้นจนปรากฎบนหน้าข่าวหนังสือพิมพ์และสื่อออนไลน์แทบทุกสำนัก นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งจากการทำงานอย่างหนักของเจ้าหน้าที่รัฐที่สามารถหยุดการกระทำดังกล่าวได้ แน่นอนว่า ด้วยอาณาเขตของไทยที่มีชายแดนเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาเป็นระยะทางยาวหลายพันกิโลเมตร เจ้าหน้าที่ของรัฐอาจไม่สามารถควบคุมและดูแลพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง ประกอบกับมีกลุ่มบุคคลที่แสวงหาผลประโยชน์จากเรื่องดังกล่าว ด้วยการรับจ้างขนแรงงานต่างด้าวข้ามแดนโดยผิดกฎหมาย

การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่หรือระลอกสองเริ่มขึ้นเมื่อ ศบค. แถลงเมื่อวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า พบผู้ติดเชื้อในประเทศจากพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร 1 ราย เป็นเจ้าของแพปลา และในวันที่ 19 ธันวาคม พบผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นอีก 12 ราย ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกัน

จำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันทำให้ภาครัฐต้องดำเนินการตรวจคัดกรองเชิงรุกในชุมชนจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งพบการติดเชื้อในแรงงานต่างด้าวจำนวน 516 ราย และมีการติดเชื้อภายในประเทศอีก 19 ราย ในวันที่ 20 ธันวาคม

การพบผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นแตะหลักร้อยภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน ส่งผลให้พ่อเมืองจังหวัดสมุทรสาครประกาศใช้มาตรการเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2563 ถึงวันที่ 3 มกราคม 2564 หรือจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

แม้คำสั่งดังกล่าวจะเป็นไปเพื่อการเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อให้อยู่ในวงจำกัด ทว่า คำสั่งนี้ต้องแลกมาด้วยความสูญเสียเชิงเศรษฐกิจ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินความเสียหายจากสถานการณ์ดังกล่าวภายใต้กรอบและเงื่อนไขที่ตั้งไว้ตามสมมุติฐานว่า หากไม่พบคลัสเตอร์จำนวนผู้ติดเชื้อในจังหวัดอื่นหรือเหตุการณ์ไม่ลุกลามจนนำมาสู่การล็อกดาวน์เป็นวงกว้าง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยอาจได้รับความสูญเสียจากการระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 คิดเป็นมูลค่าราว 45,000 ล้านบาท ในกรอบเวลา 1 เดือน แบ่งเป็น

1. ความสูญเสียที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าประมงและอาหารทะเลที่อาจมีมูลค่ารวมกันราว 13,000 ล้านบาท จากความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดการชะลอการบริโภคสินค้าประมงและอาหารทะเลในระยะสั้น นอกจากนี้ การส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวในระยะถัดไปก็อาจจะได้รับผลกระทบบ้าง โดยเฉพาะในด้านขั้นตอนการตรวจสอบและกระบวนการต่างๆ ที่คู่ค้าอาจหยิบยกมาให้ผู้ประกอบการไทยมีการดำเนินการเพิ่มเติม

2. ความสูญเสียจากการที่ประชาชนชะลอการทำกิจกรรมในช่วงเฉลิมฉลองปีใหม่ โดยเฉพาะคนที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท

3. ความสูญเสียจากการชะลอการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ คิดเป็นเม็ดเงินที่หายไปประมาณ 17,000 ล้านบาท โดยพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบได้แก่ จังหวัดในภาคตะวันตกและภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพฯ ตลอดจนจังหวัดรอยต่อชายแดนระหว่างไทยและเมียนมา

นอกจากนี้ ยังอาจมีผลกระทบด้านอื่นๆ ที่ไม่สามารถประเมินมูลค่าได้อย่างชัดเจน อาทิ ผลกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการที่ค้าขายสินค้าอื่นๆ ในตลาด จากการที่ผู้คนหลีกเลี่ยงการสัญจรโดยเฉพาะการสัญจรไปในพื้นที่ที่มีการระบาดหรือพบผู้ติดเชื้อ เป็นต้น

ทั้งนี้ผลกระทบจากการระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 ที่สร้างความสูญเสียต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมข้างต้น เป็นกรอบการประเมินเบื้องต้นจนถึง ณ ขณะนี้เท่านั้น ซึ่งหากการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ สามารถควบคุมได้และภาครัฐมีมาตรการที่สร้างความมั่นใจให้กลับมาได้อย่างรวดเร็ว ก็มีโอกาสที่มูลค่าความสูญเสียจะต่ำกว่าตัวเลขที่ประเมินไว้

นอกจากพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครที่มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากแล้ว ยังพบผู้ติดเชื้อในอีกหลายจังหวัด รวมถึงกรุงเทพมหานครซึ่งล้วนแต่มีความเชื่อมโยงกัน ทั้งเป็นผู้ที่เคยเดินทางไปยังตลาดกลางกุ้ง หรือเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงสูงในสมุทรสาคร

กระทั่งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ประกาศเตรียมใช้มาตรการป้องกันและรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 เช่น การปิดโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครในพื้นที่ติดต่อกับจังหวัดสมุทรสาคร เช่น เขตบางขุนเทียน บางบอน หนองแขม จำนวน 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2563 ถึง 4 มกราคม 2564 และให้ข้าราชการปรับเปลี่ยนไปทำงานที่บ้าน (work from home) และขอความร่วมมือกับหน่วยงานภาคเอกชน

ขณะที่กิจกรรมเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ กิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี งานรื่นเริงต่างๆ ขอความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนให้งดจัดกิจกรรมดังกล่าวไปก่อน หรือหากไม่สามารถระงับการจัดงานได้ ขอให้ลดจำนวนผู้เข้าร่วมงานเพื่อให้มีระยะห่าง และต้องมีมาตรการตรวจคัดกรองผู้เข้าร่วมงานอย่างเข้มข้น

ความประหวั่นพรั่นพรึงที่มีต่อสถานการณ์นี้ สร้างความวิตกให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจรับจัดงานอีเวนต์เพราะช่วงปีใหม่ถือว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการทำเงิน แม้เศรษฐกิจไทยจะยังไม่กลับมาอยู่ในสภาพสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ตาม

แต่การที่ภาครัฐขอความร่วมมืองดจัดกิจกรรมปีใหม่ และอีเวนต์ใหญ่ปลายปีอย่างเคานต์ดาวน์ ที่หลายที่ตัดสินใจประกาศยกเลิกไปบ้างแล้ว นำมาซึ่งความสูญเสียรายได้ไปไม่น้อย

แม้ศูนย์การค้าเซ็นทรัล และไอคอนสยาม ยังยืนยันที่จะจัดงานเคานต์ดาวน์ ทว่าได้กำหนดกรอบโครงเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุข ทั้งจำกัดจำนวนคนเข้างาน การเว้นระยะห่างเพื่อลดความแออัดให้ได้มากที่สุด

ด้านนายอุปถัมป์ นิสิตสุขเจริญ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไร้ท์แมน จำกัด และนายกสมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวว่า การตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่จังหวัดสมุทรสาครกว่า 500 คน ส่งผลต่อการจัดกิจกรรมส่งท้ายปีเก่าแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นอีเวนต์เคานต์ดาวน์ งานคอนเสิร์ต ซึ่งจะมีขึ้นจำนวนมาก ทั้งนี้ผู้ประกอบการตลอดจนผู้จัดงานยังขอดูสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคอีกหนึ่งสัปดาห์ ว่าอัตราตัวเลขผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไรบ้าง

โดยในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม เป็นไฮซีซั่นที่มีการจัดงานอีเวนต์ค่อนข้างมาก สัดส่วน 20-30 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่างานหรือบิลลิ่งทั้งปี ที่ปกติจะมีราว 14,000 ล้านบาท แต่หากอีเวนต์ไม่สามารถจัดได้ อาจส่งผลให้เม็ดเงินช่วงดังกล่าวหายไป 3,000-4,000 ล้านบาท สำหรับภาพรวมธุรกิจอีเวนต์ปี 2563 ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้เม็ดเงินหายไปประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ หากภายใน 1 สัปดาห์มียอดผู้ติดเชื้อในอัตราพุ่ง ธุรกิจจะเสียหายเพิ่มอีก ในอนาคตแม้จะมีวัคซีนออกมาใช้ แต่การฟื้นตัวของธุรกิจอีเวนต์จะกลับมาได้ปกติในไตรมาส 3-4 ของปีหน้า

ด้านศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย นายนริศ สถาผลเดชา มองว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่สมุทรสาครที่มีผู้ติดเชื้อกว่า 600 ราย ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่มีผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจการใช้จ่าย การท่องเที่ยวค่อนข้างมาก โดยเฉพาะช่วงสิ้นปีที่เป็นเทศกาลปีใหม่ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องติดตามควบคุมการแพร่ระบาดให้ได้ เพื่อหลีกเลี่ยงการล็อกดาวน์ในพื้นที่อื่นๆ เพิ่มเติม เพราะหากเกิดการล็อกดาวน์ประเทศรอบใหม่ จะเกิดต้นทุนทางเศรษฐกิจมหาศาล หรือราว 4-5 แสนล้านบาท ใกล้เคียงกับล็อกดาวน์ประเทศรอบแรกจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จำเป็นต้องหยุดไป

ความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวมของคนบางกลุ่มส่งผลเสียต่อประเทศหลายด้าน ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว ต้องเป็นภาครัฐที่ออกมารับผิดชอบและรับภาระที่เกิดขึ้นทั้งหมด แน่นอนว่าในห้วงยามนี้เมื่อมีผู้ติดเชื้อทางแก้ปัญหาในเบื้องต้น คือตรวจให้พบและนำเข้าสู่พื้นที่กักกันเฝ้าระวังจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

และนี่อาจเป็นช่วงเวลาที่เหมาะที่สุด ที่รัฐบาลจะออกมาตรการที่แสดงให้เห็นการเอาจริงเอาจังในการปราบปรามกลุ่มผู้ลักลอบเข้าเมือง ทั้งแรงงานต่างด้าว และคนไทยที่ทำธุรกิจนำแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมายเสียที ไม่เช่นนั้นเหตุการณ์ครั้งนี้จะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่ส่งผลต่อการค้าระหว่างประเทศในอนาคต เมื่อไทยเพิ่งจะสร้างความเชื่อมั่นด้านการใช้แรงงานอย่างถูกกฎหมาย การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์จนขึ้นมาอยู่ในระดับ Tear 2

ใส่ความเห็น