คอลัมน์ From Paris
ทหารหนุ่มจากกอร์ส (Corse) หรืออีกนัยหนึ่งเกาะคอร์สิกา (Corsica) ในภาษาอังกฤษ เติบใหญ่ได้เป็นแม่ทัพในการสงคราม จนขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศฝรั่งเศส และตั้งตนเป็นจักรพรรดิด้วยการประกอบพิธีปราบดาภิเษกที่วิหารโนเทรอะ–ดาม เดอ ปารีส (Notre-Dame de Paris) ถือเป็นยุคจักรวรรดิที่ 1 (Premier Empire)
ช่วงที่นโปเลองเรืองอำนาจอยู่ระหว่างปี 1804-1814 หลังจากล่าถอยจากรัสเซีย อันหมายถึงความพ่ายแพ้หลังจากที่ชนะสงครามมาตลอด นโปเลองต้องสละบัลลังก์และถูกเนรเทศไปยังเกาะเอลบา (Elba) แล้วหลบหนีกลับมาฝรั่งเศส นำทัพไปรบอีกในปี 1815 แล้วประสบความพ่ายแพ้ในสมรภูมิวอเตอร์ลู (Waterloo) หลังจากนั้นถูกเนรเทศไปยังเกาะเซนต์–เฮเลนา และถึงแก่กรรมหลังจากนั้น 6 ปีด้วยมะเร็งกระเพาะอาหาร บ้างก็ว่าเพราะถูกวางยาพิษ
หลุยส์ โบนาปาร์ต (Louis Bonaparte) น้องชายของนโปเลองมีลูกชื่อหลุยส์ นโปเลอง โบนาปาร์ต (Louis Napoléon Bonaparte) ซึ่งภายหลังได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนแรกในยุคสาธารณรัฐที่สอง (Seconde République) ภายหลังตั้งตนเป็นจักรพรรดินโปเลองที่ 3 (Napolélon III) เป็นยุคจักรวรรดิที่สอง (Second Empire)
นโปเลองที่ 3 สร้างคุณูปการให้ฝรั่งเศส โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรุงปารีส ปรับผังเมืองกรุงปารีสให้สวยงามดุจดังที่เห็นในปัจจุบัน โดยมีบารงโอสมาน (Baron Haussmann) เป็นมือทำงาน สร้างสวนสี่มุมเมือง เช่น Bois de Boulogne และ Bois de Vincennes เป็นต้น สร้างโรงโอเปร่า Opéra Garnier ปรับปรุงระบบธนาคาร ให้มีการออมทรัพย์และธนาคารเพื่อการลงทุน สร้างทางรถไฟ ตั้งโรงเรียนการเกษตร อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าสอบมัธยมปลายที่เรียกว่า baccalauréat ได้ รวมทั้งเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยซอร์บอน (Sorbonne) ตั้งโรงเรียนสตรีของรัฐ ร่วมกับอังกฤษรบชนะรัสเซียที่ไครเมีย (Crimea) ช่วยให้อิตาลีรวมเป็นหนึ่งเดียว เป็นยุคที่ผนวกซาวัว (Savoie) และนีซ (Nice) เข้าในอาณาจักรฝรั่งเศส เป็นยุคล่าอาณานิคม
เมื่อปรัสเซียมีอำนาจมากขึ้นภายใต้การนำของออตโต ฟอน บิสมาร์ค (Otto von Bismarck) นโปเลองที่ 3 ทำสงครามกับปรัสเซียทั้งๆ ที่มีกำลังน้อยกว่า จึงประสบความพ่ายแพ้ และถูกจับ แล้วเป็นยุคสาธารณรัฐที่ 3 นโปเลองที่ 3 ลี้ภัยไปอังกฤษและเสียชีวิตที่นั่น
เชื่อกันมาตลอดว่านโปเลองที่ 3 เป็นหลานของนโปเลองที่ 1 ทว่าการวิจัยของศาสตราจารย์เจรารด์ ลูก็อต (Gérard Lucotte) พบว่าโครโมโซม Y ของบุคคลทั้งสองแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง โครโมโซม Y ของนโปเลองที่ 1 เป็นกลุ่ม corso-sade ส่วนของนโปเลองที่ 3 เป็นกลุ่ม caucasien ผู้ขอให้ศาสตราจารย์เจรารด์ ลูก็อตทำการวิจัยครั้งนี้คือ Le Souvenir Napoléonien ผลการวิจัยได้มีการหยิบยกขึ้นมาพูดในการสัมมนาที่พิพิธภัณฑ์ทหารในโอเต็ล เดแซงวาลีดส์ (Hôtel des Invalides)
การวิจัยทำจากปอยผมของนโปเลองที่ 3 ซึ่งชาวเบลเยียมผู้หนึ่งสะสมไว้ ปอยผมนี้เก็บมาในปี 1871 จากเศษผมที่ช่างตัดทิ้ง และปอยผมนี้มีเศษรังแคซึ่งเต็มไปด้วย DNA เมื่อเทียบกับ DNA ของนโปเลองที่ 1 โครโมโซม Y พบว่าไม่มีความเกี่ยวพันกันเลยทางพ่อ
การวิจัยใช้เวลา 1 ปี เพื่อให้เกิดความแน่ใจ ศาสตราจารย์เจรารด์ ลูก็อตได้ทำการวิจัย DNA ปอยผมของโอรสของนโปเลองที่ 3 เมื่อสมัยเยาว์วัย และปอยผมที่ได้จากศพหลังจากที่พวกซูลูยิงทิ้งในปี 1879พบว่าเป็นบุคคลคนเดียวกัน และเป็นโอรสของนโปเลองที่ 3 จึงสันนิษฐานว่านโปเลองที่ 3 ไม่ใช่โอรสของหลุยส์ โบนาปาร์ต กษัตริย์แห่งฮอลแลนด์ เนื่องจากเป็นที่รู้กันว่าออร์ตองส์ (Hortense) มเหสีของหลุยส์ โบนาปาร์ตมีความสัมพันธ์กับชายมากหน้าหลายตา หรือมิฉะนั้นหลุยส์ โบนาปาร์ตไม่ใช่น้องร่วมพ่อของนโปเลองที่ 1 นั่นหมายความว่าแม่ของหลุยส์ โบนาปาร์ตมีลูกกับชายอื่น
เรื่องมีอยู่ว่าออร์ตองส์เสียใจมากที่โอรสองค์โตสิ้นพระชนม์ จึงไปพักผ่อนที่โกเตอเรต์ (Cauterets) มีหนุ่มๆ ติดตามไปด้วย นโปเลองที่ 3 คงปฏิสนธิตอนนั้น กล่าวคือในเดือนกรกฎาคม 1807 และเกิดในเดือนเมษายน 1808 ออร์ตองส์กลับไปหาพระสวามีในเดือนสิงหาคม 1807 เมื่อนับเดือนแล้ว หากเป็นลูกของหลุยส์ ต้องนับว่านโปเลองที่ 3 เกิดก่อนกำหนด หรือไม่งั้นออร์ตองส์ต้องตั้งครรภ์แล้ว 19 วันก่อนจะกลับไปใช้ชีวิตเยี่ยงสามีภรรยากับหลุยส์ โบนาปาร์ต หมอที่ทำคลอดนโปเลองที่ 3 บอกว่าทารกเกิดก่อนกำหนด นโปเลองที่ 3 ไม่ตระหนักถึงความจริงข้อนี้จนเมื่อได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนแรกในยุคสาธารณรัฐที่ 2 แต่ทำใจยอมรับไม่ได้เพราะรักแม่มากและรับไม่ได้ว่าแม่มีชู้
ศาสตราจารย์เจรารด์ ลูก็อตยังคงต้องทำวิจัยต่อไป ด้วยการหา DNA ของหลุยส์ โบนาปาร์ต โดยจะตัดปอยผมจากศพที่ฝังอยู่ที่แซงต์–เลอ–ลา–ฟอเรต์ (Saint-Leu-la-Forêt)