Column: Women in wonderland
ซิมบับเวเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ตอนใต้ของทวีปแอฟริกา ไม่มีทางออกสู่ทะเล ปัจจุบันมีประชากรประมาณ 16 ล้านคน 98% เป็นคนพื้นเมืองผิวดำ ส่วนใหญ่เป็นชาวโซนา ซิมบับเวตกเป็นประเทศในอาณานิคมของอังกฤษ ได้รับเอกราชเมื่อปี 2537 ชาวซิมบับเวมีรายได้ต่อหัวประมาณ 1,027 ดอลลาร์ต่อปี (ประมาณ 33,891 บาท)
ปัญหาใหญ่ของซิมบับเวคือ เงินเฟ้อ เมื่อรัฐบาลภายใต้ Robert Mugabe ออกกฎหมายใหม่ในการจัดสรรที่ดิน โดยได้ยึดคืนที่ดินไร่นาจากคนผิวขาว รัฐบาลอ้างว่าชาวอังกฤษยึดครองที่ดินโดยมิชอบตั้งแต่สมัยที่ซิมบับเวยังเป็นอาณานิคม หลังจากนั้นรัฐบาลก็นำที่ดินเหล่านี้มาแจกให้คนผิวดำไว้ทำกิน
แต่รัฐบาลไม่ได้ให้องค์ความรู้กับประชาชนในการนำที่ดินที่ได้รับมาใช้ทำกินให้เกิดประโยชน์ นำไปสู่วิกฤตเงินเฟ้อร้ายแรงในประวัติศาสตร์โลก อาจเรียกได้ว่ารุนแรงเป็นอันดับ 2 ของโลก เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อในซิมบับเวนั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนแบงก์ชาติของซิมบับเวต้องออกธนบัตรใบละ 1 แสนล้านดอลลาร์ ทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นถึง 200 ล้านเท่า ส่งผลให้จำนวนคนว่างงานเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 80% หลายคนตัดสินใจย้ายไปอยู่ประเทศอื่นเพื่อหางานทำ เช่น ประเทศแอฟริกาใต้ เป็นต้น
วิกฤตเงินเฟ้อในซิมบับเวไม่เพียงคนส่วนใหญ่จะว่างงานเพิ่มขึ้น แต่ที่ได้รับผลกระทบมากไม่แพ้กันคือ ระบบสาธารณสุข ก่อนหน้าวิกฤตภาวะเงินเฟ้อ รัฐบาลของ Robert Mugabe พยายามที่จะขยายและพัฒนาบริการสาธารณสุขให้กับประชาชนทั่วประเทศ แต่หลังจากที่มีวิกฤตเงินเฟ้อเกิดขึ้น ยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ มีไม่เพียงพอ มีรายงานว่าซิมบับเวมีอัตราการติดเชื้อเอดส์สูงเป็นอันดับ 4 ของโลก อีกนัยหนึ่งประชากรวัยผู้ใหญ่ 1 ใน 10 คนติดเชื้อเอดส์ และมีชาวซิมบับเวเสียชีวิตจากเชื้อเอดส์ราวปีละ 300,000 คน และมากกว่า 1.2 ล้านคนติดเชื้อ HIV
นอกจากปัญหาเรื่องยาและเวชภัณฑ์ที่ไม่เพียงพอแล้ว ซิมบับเวยังเผชิญกับปัญหาแพทย์และพยาบาลประท้วงไม่ทำงาน เนื่องจาก (1) วิกฤตเงินเฟ้อทำให้เงินเดือนที่พวกเขาได้รับนั้นน้อยกว่าก่อนเกิดสถานการณ์เงินเฟ้อ แพทย์และบุคลากรสาธารณสุขต้องการรับเงินเดือนเป็นดอลลาร์สหรัฐ และ (2) เรียกร้องให้รัฐบาลซิมบับเวซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
สองปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข หลังจากที่มีการประท้วง รัฐบาลปฏิเสธข้อเรียกร้องนี้ โดยยืนยันว่ารัฐบาลไม่สามารถจ่ายเงินเดือนเป็นดอลลาร์ หรือเพิ่มเงินเดือนให้ตามข้อเรียกร้องได้ ทำให้การประท้วงยืดเยื้อ และต่อมาศาลได้ตัดสินว่า การประท้วงหยุดงานเพื่อเรียกร้องเพิ่มค่าจ้างและจะไม่ยอมกลับไปทำงานจนกว่ารัฐจะขึ้นเงินเดือนให้ ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่แพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขส่วนใหญ่ก็ยังเลือกที่จะประท้วงหยุดงาน
จากปัญหานี้ทำให้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บริการด้านสาธารณสุขลดลงถึง 40% ทำให้ 1 ใน 3 ของเด็กในซิมบับเวขาดสารอาหาร ยังส่งผลให้ซิมบับเวเกิดโรคระบาดที่สามารถป้องกันได้อย่างเช่น เอดส์ การติดเชื้อ HIV มาลาเรีย วัณโรค อุจจาระร่วง และปัญหาสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์และทารกแรกเกิด ในแต่ละปีพบว่าเด็กทุก 11 คนจะต้องมีเด็กอย่างน้อย 1 คนเสียชีวิตก่อนถึงวันเกิดอายุ 5 ขวบ หรือมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เสียชีวิตประมาณ 35,500 คน
หลังจากที่ซิมบับเวประสบปัญหาภาวะเงินเฟ้ออย่างหนัก และในโรงพยาบาลส่วนใหญ่ก็ยังขาดแคลนอุปกรณ์ ยาและเวชภัณฑ์อย่างมาก ส่งผลให้บริการด้านสูตินรีเวชและเด็กเป็นไปอย่างไร้ประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันรัฐบาลประกาศให้ทุกโรงพยาบาลเก็บค่าธรรมเนียมกับผู้มาใช้บริการ จะเก็บมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับแต่ละโรงพยาบาล ถึงแม้รัฐบาลจะมีนโยบายให้บริการด้านสาธารณสุขฟรีสำหรับหญิงตั้งครรภ์ ผู้หญิงให้นมบุตร เด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปี แต่นโยบายนี้ก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถให้เงินสนับสนุนโรงพยาบาลได้ ทำให้โรงพยาบาลส่วนใหญ่สามารถอยู่ได้จากค่าธรรมเนียม
การคลอดลูกที่ซิมบับเวในโรงพยาบาลของรัฐมีค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 3 ดอลลาร์ (ประมาณ 92 บาท) 50 ดอลลาร์ (ประมาณ 1,530 บาท) ราคานี้ยังไม่รวมค่าธรรมเนียมในการใช้บริการโรงพยาบาล ซึ่งทำให้คนส่วนใหญ่เลือกคลอดลูกเองที่บ้านมากกว่าโรงพยาบาล เพราะไม่สามารถจ่ายเงินได้ และยังส่งผลให้อัตราการตายของทารกและเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปีสูงมากขึ้น
เนื่องจากอัตราการตายของทารกและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทำให้รัฐบาลซิมบับเวตัดสินใจจ่ายเงินงบประมาณด้านสาธารณสุขเพิ่ม เพื่อให้ผู้หญิงที่ไปคลอดบุตรและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย รวมถึงค่าธรรมเนียมการใช้บริการโรงพยาบาล ทำให้ผู้หญิงเริ่มกลับมาคลอดบุตรที่โรงพยาบาล
จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ซิมบับเวมีคนติดเชื้อ COVID-19 ไปแล้วราว 8,561 คน เสียชีวิต 254 คน (ข้อมูล ณ 10 พ.ย. 2563) รัฐบาลซิมบับเวพยายามจัดหาและจัดซื้อชุด PPE และเวชภัณฑ์ต่างๆ ให้โรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ แต่ปรากฏข่าวรัฐมนตรีสาธารณสุขคอร์รัปชั่นในการทำสัญญาในการจัดซื้อชุด PPE และเวชภัณฑ์ต่างๆ ทำการจัดซื้อมีราคาที่สูงเกินความเป็นจริง และนี่ทำให้พยาบาลพร้อมใจหยุดงานทั่วประเทศ เพราะไม่มีชุด PPE ใช้ จากการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาลมีจำนวนไม่เพียงพอที่จะช่วยดูแลผู้หญิงที่จะคลอดลูก และโรงพยาบาลไม่สามารถดูแลผู้ป่วยทั้งหมดได้
วันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา นพ. Peter Magombeyi โพสทวิตเตอร์ ภาพถ่ายทารก 7 ราย ที่ห่อด้วยผ้าสีเขียววางเรียงกัน โดยทารกเหล่านี้เพิ่งคลอดและเสียชีวิตทั้ง 7 คน BBC รายงานเรื่องนี้ว่า ในวันนั้นที่โรงพยาบาลในกรุงฮาราเร เมืองหลวงของซิมบับเว มีการผ่าคลอดทารก 8 คน แต่ทารกที่เสียชีวิตมีถึง 7 คน เนื่องจากแม่สองคนต้องได้รับการผ่าตัดเร่งด่วน เนื่องจากมดลูกแตก ในขณะที่อีก 6 คนก็ต้องผ่าท้องคลอดเช่นกัน เพราะไม่สามารถคลอดตามธรรมชาติได้ สุดท้ายทารกก็เสียชีวิต
จากทวิตเตอร์ของ นพ. Peter Magombeyi ทำให้ผู้คนวิจารณ์เรื่องนี้กันมาก เพราะแสดงให้เห็นชัดเจนว่า รัฐบาลซิมบับเวไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุขได้ เพราะปัจจุบันโรงพยาบาลของรัฐทั้งสองแห่งในกรุงฮาราเร มีบุคลากรทางการแพทย์ทำงานเพียงไม่กี่คน ยังไม่รวมถึงการขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันอย่างชุด PPE ยารักษาโรคที่จำเป็น อย่างเช่นยารักษาครรภ์เป็นพิษ และเลือดสำรองที่มีไม่เพียงพอ
ที่แย่ไปกว่านั้น ต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่าน Aurage Katume และ Melody Mapaniได้ยื่นคำร้องต่อศาล ให้สั่งให้คลินิกที่ดูแลหญิงตั้งครรภ์ 42 แห่งเปิดให้บริการ Aurage Katume เขียนในคำร้องต่อศาลว่า เมื่อตอนที่เธอจะคลอดลูก เธอก็มีความกลัวจะเสียลูกในท้องไป จึงตัดสินใจไปคลอดที่คลินิกแห่งหนึ่งในกรุงฮาราเร พยาบาลผดุงครรภ์ไม่เข้ามาดูแล และยังถามกลับว่า คุณจะให้อะไรฉันถ้าฉันช่วยทำคลอดให้ แม่ของ Aurage Katume ทราบทันทีว่าจะต้องจ่ายเงินสินบนให้คนทำคลอด จึงจ่ายเงินให้ 5 ดอลลาร์ (ประมาณ 153 บาท) กับคนที่เข้าใจว่าเป็นหัวหน้า
จากการที่บุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอและมีคนเป็นจำนวนมากรอรับบริการ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์เลือกที่จะดูแลคนที่ยอมจ่ายเงินให้ ซึ่งทำให้มีผู้หญิงจำนวนมากต้องคลอดลูกเองที่บ้าน หรือบางคนต้องเสียลูกไประหว่างคลอด เพราะไม่มีบุคลากรทางการแพทย์มาดูแล
ที่สุดศาลสั่งให้คลินิกทั้ง 42 แห่งเปิดให้บริการตามปกติ เพราะตั้งแต่เกิดการระบาด COVID-19 และการหยุดงานประท้วงอย่างต่อเนื่องของเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข ทำให้บริการด้านสาธารณสุขในซิมบับเวแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด และแน่นอนว่าอัตราทารกที่เสียชีวิตในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 นั้นเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ชี้ให้เห็นว่าระบบสาธารณสุขของซิมบับเวล้มเหลวโดยสิ้นเชิง
อัตราการเสียชีวิตของทารกเป็นเรื่องที่สามารถป้องกันได้หากรัฐบาลใส่ใจและสนใจที่จะให้บริการด้านสาธารณสุข และในขณะเดียวกันก็ยังสามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของมารดาระหว่างตั้งครรภ์และคลอดบุตรได้อีกด้วย ดังนั้นหากรัฐบาลซิมบับเวมีนโยบายหรือเพิ่มงบประมาณให้โรงพยาบาลและคลินิกต่างๆ รวมถึงจัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับแพทย์และบุคลากร ก็น่าจะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ยอมกลับมาทำงาน
Photo Credit: https://www.freeimages.com/photo/9-months-1430551