วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
Home > Cover Story > เคอรี่-ไปรษณีย์ไทย ปูพรมพรึ่บ สกัดหน้าใหม่

เคอรี่-ไปรษณีย์ไทย ปูพรมพรึ่บ สกัดหน้าใหม่

สงครามธุรกิจโลจิสติกส์ บริการส่งพัสดุแบบด่วนหรือ “Express” ร้อนเดือดขึ้นหลายเท่า เพราะหลังจากกลุ่ม “อาลีบาบา” ของมหาเศรษฐีระดับโลก “แจ็ค หม่า” ทุ่มทุนดัน “Best Express – Flash Express” 2 แบรนด์ธุรกิจขนส่งสินค้าเข้ามาเจาะตลาดโลจิสติกส์ในไทยเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ล่าสุด น้องใหม่ J&T Express จากประเทศจีน เตรียมเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเร็วๆ นี้ พร้อมๆ กับการเร่งปูพรมสาขาทั่วเมือง

ที่สำคัญ หลายทำเลกลายเป็นสมรภูมิช้างชนช้าง ชนิดคูหาติดคูหา ร้านชนร้าน จนทำให้ทั้งไปรษณีย์ไทยและเคอรี่เอ็กซ์เพรส ต้องเร่งปูพรมสาขาสกัดคู่แข่งหน้าใหม่อย่างเร่งด่วน ไม่นับการชูจุดแข็งด้านบริการทุกรูปแบบ

เหตุผลสำคัญมาจากแนวโน้มการขยายตัวของตลาดขนส่งสินค้าและพัสดุที่พุ่งพรวดต่อเนื่องตามธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่เติบโตก้าวกระโดด โดยข้อมูลการสำรวจของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA คาดการณ์มูลค่าตลาดอี-คอมเมิร์ชของประเทศไทยในปี 2562 จะพุ่งสูงถึง 3.2 ล้านล้านบาท หรือเติบโต 12-13% จากปี 2561 ที่มีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 3.15 ล้านล้านบาท และปี 2560 มีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 2.76 ล้านล้านบาท

สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการเอ็ตด้า กล่าวว่า เมื่อปี 2561 ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตของ B2C (Business to Consumer) สูงเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน โดยมีมูลค่ากว่า 2.47 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่อันดับ 2 มาเลเซีย มีมูลค่าทิ้งห่างอยู่ที่ 1.94 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 3 เวียดนาม มีมูลค่า 8.21 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 4 สิงคโปร์ มีมูลค่า 4.61 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และอันดับ 5 บรูไน มีมูลค่า 1.84 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

เอ็ตด้าระบุว่า การเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยมี 2 ปัจจัยบวก คือ ความเชื่อมั่นในเทคโนโลยี ระบบ e-Payment ที่สะดวกมากขึ้น และการขนส่งที่รวดเร็วทำให้ผู้บริโภคนิยมซื้อของออนไลน์มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ต้องเดินทางฝ่าจราจรติดขัด ประหยัดค่าน้ำมันรถ และประหยัดเวลา ซึ่งสะท้อนให้เห็นศักยภาพระยะยาวของธุรกิจขนส่งสินค้า โดยเฉพาะการจัดส่งพัสดุด่วนประเภทถึงมือผู้รับภายใน 1-2 วัน หรือขนส่งด่วน (Express) ที่ปัจจุบันมีมูลค่าทางการตลาดมากกว่า 30,000 ล้านบาท อัตราเติบโตปีละ 15-20% จากธุรกิจขนส่งที่มีมูลค่ามากกว่า 200,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเคยระบุตัวเลขธุรกิจไปรษณียภัณฑ์และรับส่งสินค้าในปี 2561 มีมูลค่ารวมกว่า 30,800-31,300 ล้านบาท อัตราขยายตัว 9.6-11.3% เมื่อเทียบกับปี 2560 ที่มีมูลค่า 28,100 ล้านบาท

ทั้งนี้ ภาพรวมธุรกิจขนส่งพัสดุในไทยมีผู้เล่นหลายกลุ่ม แต่กลุ่มรายใหญ่ที่มีเครือข่ายสาขาจำนวนมาก อันดับ 1 ยังคงเป็นบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ซึ่งยังยึดครองส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 55% จากเครือข่ายให้บริการที่กระจายทั่วประเทศ

อันดับ 2 บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส ครองส่วนแบ่งตลาดการจัดส่งพัสดุมากกว่า 40% มีจุดให้บริการ 5,500 สาขา ศูนย์กระจายสินค้าทั่วประเทศกว่า 600 แห่ง พนักงานกว่า 7,000 คน และปีนี้ยังมีแผนขยายสาขาอีกจำนวนมาก คน รวมทั้งจับมือร้านสะดวกซื้อทั้งแฟมิลี่มาร์ท มินิบิ๊กซี สพาร์ ท็อปส์เดลี่ ออฟฟิศเมท และร้านค้าขนาดใหญ่ในชุมชน เช่น ร้านวัสดุก่อสร้าง ร้านอาหาร เพื่อเพิ่มจุดรับสินค้า โดยมีรถยนต์ขนส่งในระบบมากกว่า 11,000 คัน

ขณะที่เจ้าใหม่ที่กำลังมาแรงอย่าง “Best Express” ของกลุ่มเบสท์ โลจิสติกส์ เทคโนโลยีในเครืออาลีบาบากรุ๊ปประกาศแผนการลงทุนในไทยระยะ 5 ปีแรก (2561-2565) เตรียมเม็ดเงิน 5,000 ล้านบาท สร้างจุดกระจายสินค้า ฮับโลจิสติกส์ และวางระบบด้านเทคโนโลยี โดยตั้งเป้าหมายภายในปี 2562 จะเปิดฮับโลจิสติกส์ 500 แห่ง และร้านรับส่งสินค้า (express shop) ประมาณ 1,500 แห่ง

ส่วน Flash Express ของบริษัทสตาร์ตอัพน้องใหม่ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนกลุ่มอาลีบาบาฯ และนักลงทุนด้านอี-คอมเมิร์ซจากสหรัฐฯ ประกาศว่า ในปี 2562 บริษัทจะทำตลาดเชิงรุกในไทยผ่านบริการ “แฟลช เอ็กซ์เพรส” ซึ่งล่าสุดทุ่มแคมเปญ ค่าบริการส่ง 19 บาท และบริการรับสินค้าจากผู้ส่งถึงบ้านแบบ (Door to Door) โดยลูกค้าไม่ต้องเข้าคิวรอรับบริการ พร้อมชูเป้าหมายต้องการมีส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจการขนส่งพัสดุด่วนเป็นอันดับ 2 รองจากไปรษณีย์ไทย

นางสมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) กล่าวว่า ตลาดอี-คอมเมิร์ซเปิดเสรีและมีผู้ประกอบการเข้ามาแข่งขันมากขึ้น แต่จุดแข็งของไปรษณีย์ไทย คือ เครือข่ายครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ โดยมีที่ทำการไปรษณีย์ 1,300 แห่ง แบ่งเป็นศูนย์ไปรษณีย์ 19 แห่ง ศูนย์รับฝากไปรษณีย์ 6 แห่ง ที่ทำการรับ-จ่าย 965 แห่ง ที่ทำการรับฝาก 228 แห่ง ที่ทำการไปรษณีย์สาขา 5 แห่ง ที่ทำการไปรษณีย์รถยนต์ 53 แห่ง และที่ทำการไปรษณีย์อนุญาตอีกเกือบ 3,400 แห่ง

บริษัทยังเร่งขยายจุดบริการฝากส่งสิ่งของในที่อื่นๆ ทั้งที่เป็นจุดส่งด่วน “EMS Point” กระจายอยู่ตามแหล่งชุมชนต่างๆ ทุกจังหวัด ซึ่งขณะนี้มีมากกว่า 1,700 แห่ง และมีจุดส่งด่วนที่ร่วมมือกับพันธมิตรค้าปลีกชั้นนำ เช่น บิ๊กซี เทสโก้โลตัส โดยตั้งเป้าหมายจะขยายให้ได้มากถึง 1,500 สาขา ภายในปีนี้ รวมเป็นกว่า 3,200 แห่งทั่วประเทศ พร้อมอำนวยความสะดวกแก่ผู้รับให้สามารถเลือกช่องทางรับสิ่งของตามความสะดวก เช่น บริการนำจ่ายตามวันเวลาที่นัดหมาย (Flexible Delivery) หรือรอจ่าย ณ ตู้ไปรษณีย์อัจฉริยะ (iBox) ตลอด 24 ชม.

“ปีนี้ เราวางนโยบายไปรษณีย์ไทยยืนหนึ่ง หรือ THP FIRST เน้นเรื่องคุณภาพ บริการ และความรวดเร็ว ส่งเช้าถึงบ่าย ส่งบ่ายได้วันรุ่งขึ้น เตรียมพร้อมการเป็นผู้ให้บริการไปรษณีย์และบริการอีคอมเมิร์ซโลจิสติกส์ครบวงจร เป้าหมายคือ ผู้ใช้บริการไทยต้องนึกถึงไปรษณีย์ไทยเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะปีนี้เราตั้งเป้ารายได้ 30,000 ล้านบาท และกำไรประมาณ 4,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นอัตราเติบโตต่อเนื่อง” นางสมรกล่าว

เมื่อเร็วๆ นี้ “ปณท” ยังขยายสาขาผ่านกลุ่มบริษัทน้ำมันอย่าง ปตท. และบางจากคอร์ปอเรชั่น โดยเปิดเคาน์เตอร์บริการไปรษณีย์ในปั๊มน้ำมัน เพื่อให้บริการฝากส่งสิ่งของแบบครบวงจร บริการทางการเงิน รับชำระค่าสาธารณูปโภค รวมถึงบริการจำหน่ายสินค้าไปรษณีย์และสิ่งสะสม จำนวน 18 แห่ง และวางแผนขยายเพิ่มเติมครอบคลุมทั่วประเทศ

ด้านเบอร์ 2 เคอรี่ ซึ่งมาในรูปโฉมทันสมัยและโดนใจลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่จำนวนมาก รายนี้อาศัยประสบการณ์การเข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยมานานเกือบ 40 ปี จากธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจรภายใต้ชื่อ Kerry Logistics ทั้งโกดังสินค้า บริการส่งของ เทรดดิ้งอาหารและเครื่องดื่ม สร้างโซลูชั่นให้แก่บริษัทขนาดใหญ่ในทุกอุตสาหกรรม จนกระทั่งแตกไลน์ธุรกิจขนส่งด่วน ภายใต้ชื่อ บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) และต่อมาขายหุ้นให้บริษัท วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ VGI ในเครือบีทีเอสกรุ๊ป ล่าสุดมีหุ้นอยู่ราว 23%

ต้องถือว่าเคอรี่มีทั้งทุนและเครือข่ายรองรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ จนขึ้นแท่นผู้นำตลาดขนส่งพัสดุแบบเอ็กซ์เพรสในไทย หากไม่นับรวมไปรษณีย์ไทย โดยมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 80% ของการขนส่งแบบเอ็กซ์เพรสทั้งหมด มียอดการจัดส่งสินค้ากว่า 1.2 ล้านชิ้นต่อวัน เติบโตจากเดิมอยู่ที่ 8 แสนชิ้นต่อวัน และคาดว่าภายปี 2562 จะมียอดส่งสินค้าเติบโตเท่าตัว โดยสัดส่วนการจัดส่งพัสดุของเคอรี่มาจากธุรกิจแบบ C2C 45% B2C 45% ที่เหลือ 10% มาจากอีคอมเมิร์ซ และโฮมชอปปิ้ง

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดยังไม่นับรวมรายใหญ่ที่เติบโตอย่างเงียบๆ ไม่ว่าจะเป็น เอสซีจี ยามาโตะ เอ็กซ์เพรส ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างเอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง และ Yamato Asia Pte. Ltd. กลุ่มบริษัทอันดับหนึ่งในการให้บริการจัดส่งสินค้าถึงบ้านจากประเทศญี่ปุ่น เน้นบริการขนส่งพัสดุย่อยแบบเร่งด่วน 4 รูปแบบ

ได้แก่ บริการขนส่งพัสดุย่อยแบบเร่งด่วนถึงบ้านหรือทัค-คิว-บิง (TA-Q-BIN) ถึงปลายทางในวันถัดไป บริการส่งเอกสารหรือพัสดุภัณฑ์ด่วนระหว่างบริษัทถึงบริษัท (DOCUMENT TA-Q-BIN) บริการเก็บเงินปลายทาง (TA-Q-BIN COLLECT) และบริการขนส่งพัสดุแบบควบคุมอุณหภูมิ (COOL TA-Q-BIN) จัดส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสมตั้งแต่ต้นทางจนถึงมือผู้รับ ได้แก่ สินค้าแบบแช่เย็น (CHILLED) ระบบควบคุมอุณหภูมิที่รักษาความเย็นได้ 0-8 องศาเซลเซียส กับสินค้าแช่แข็ง (FROZEN) ระบบควบคุมอุณหภูมิที่รักษาความเย็นได้ต่ำกว่า -15 องศาเซลเซียส

นอกจากนี้ ยังมีบริษัท นิ่มเอ็กซ์เพรส ของกลุ่มนิ่มซี่เส็ง ซึ่งโลดแล่นอยู่ในตลาดโลจิสติกส์มาอย่างยาวนานและแตกไลน์ลงเล่นในตลาดส่งด่วนเช่นกัน รวมถึงกลุ่มรายย่อยที่ใช้วิธีขยายสาขาผ่านการขายแฟรนไชส์ เช่น ควิกเซอร์วิส เก้าหน้าโพสเซอร์วิส เพย์พอยท์เซอร์วิส แอร์เพย์เคาน์เตอร์

แต่ทั้งหมดจะไม่ได้หยุดเท่านี้ เมื่อประเทศไทยขึ้นแท่นแชมป์ซื้อขายสินค้าออนไลน์ในตลาดอาเซียน โอกาสและเม็ดเงินจำนวนมหาศาลกำลังดึงดูดยักษ์ใหญ่ทั้งทุนไทยและต่างชาติเข้ามาร่วมสมรภูมิ ซึ่ง 2 ยักษ์ใหญ่อย่าง “ไปรษณีย์ไทย-เคอรี่” คงต้องรับศึกหนักแน่

ใส่ความเห็น