วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
Home > On Globalization > ผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าสูงกว่าผู้ชาย

ผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าสูงกว่าผู้ชาย

Column: Women in Wonderland

โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางจิตเวช สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย อาการอาจคล้ายคนที่มีอาการเศร้าหรือเสียใจทั่วไป เพียงแต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นรุนแรงและเกิดขึ้นยาวนานกว่า โดยที่เจ้าตัวหรือคนรอบข้างอาจไม่ทันสังเกตเห็น ปัญหาหลักคือ ไม่รู้ว่าตัวเองป่วยเป็นโรคซึมเศร้า กว่าจะรู้ก็ขั้นรุนแรงส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันไปแล้ว

โรคซึมเศร้าไม่มีสาเหตุแน่ชัด คาดการณ์ว่าน่าจะมีสาเหตุจากจิตใจ สภาพสังคม ปัญหาชีวิต ปัญหาครอบครัว การงาน การเงิน หรือเผชิญกับความล้มเหลว ความสูญเสียในชีวิตอย่างรุนแรง และความผิดปกติด้านชีววิทยาคือ ความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ที่สารเคมีบางตัวลดน้อยลงไปทำให้เสียสมดุลและเกิดความบกพร่องในการทำงานร่วมกัน ปัญหาเหล่านี้น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า

แม้ว่าโรคซึมเศร้าจะเป็นโรคทางจิตเวช แต่ผู้ที่ป่วยโรคซึมเศร้าไม่ได้เป็นคนบ้า เพียงมีอาการป่วยทางอารมณ์ ซึ่งต้องได้รับการรักษา หากไม่ได้รับการรักษาอาจมีพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง หรือสุดท้ายฆ่าตัวตายได้ โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางจิตเวชที่พบได้บ่อยที่สุด ดังนั้น จัดว่าเป็นปัญหาด้านสุขภาพที่สำคัญ โดยเฉพาะทุกวันนี้มีข่าวฆ่าตัวตายบ่อยครั้งเพราะเป็นโรคซึมเศร้า และโรคนี้ก็เกิดกับคนในทุกช่วงอายุ และทุกอาชีพ

ปัจจุบันมีคนป่วยโรคซึมเศร้าจำนวนมาก องค์การอนามัยโลกเปิดเผยว่า มี 300 ล้านคน ที่เป็นโรคซึมเศร้าจากทั่วโลก และในกรณีที่แย่ที่สุดคือ ฆ่าตัวตาย ในแต่ละปีมีคนฆ่าตัวตายประมาณ 800,000 คนต่อปี และสาเหตุหลักๆ การตายของคนช่วงอายุ 15 – 29 ปี แม้ว่าผู้คนจากทั่วโลกจะรู้ว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า และตามโรงพยาบาลหลักของแต่ละประเทศก็มีให้การรักษาโรคซึมเศร้า แต่มีคนป่วยเพียงครึ่งเดียวเท่านั้นที่เข้ารับการรักษา บางประเทศเข้ารับการรักษาน้อยกว่า 10% ด้วยซ้ำไป

ประเทศไทย กรมสุขภาพจิตเปิดเผยว่า ปี 2561 มีคนไทยประมาณ 1.5 ล้านคนป่วยเป็นโรคซึมเศร้า อัตราเฉลี่ยของผู้ที่รักษาหายอยู่ที่ 44.43% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่น้อย ในขณะที่ต่างประเทศมีอัตราการรักษาหายอยู่ที่ 70.6% แต่อัตราผู้เสียชีวิตจากโรคซึมเศร้าในไทยถือว่าต่ำ เพียงแค่ 0.0015% ในขณะที่ต่างประเทศมีสูงถึง 10.41% สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้คนไทยรักษาโรคซึมเศร้าหายได้น้อยนั้นเพราะคนไทยเข้าใจว่าอาการเสียใจหดหู่จากเรื่องใดเรื่องหนึ่งนั้นเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่อาการป่วย ถ้าได้พักหรือผ่อนคลายเดี๋ยวก็หายไปเอง ไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ ทำให้อาการป่วยรุนแรงขึ้น การรักษาจึงยากใช้เวลามากขึ้น ทำให้อัตราการหายหรือดีขึ้นนั้นน้อยลงไปด้วย

อีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่องค์การอนามัยโลกระบุว่าเป็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญในการรักษาผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า คือความเข้าใจของคนในสังคม เพราะส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นอาการหนึ่งโรคจิต หรือเป็นบ้า ทำให้ผู้ป่วยกังวลและไม่ไปรับการรักษา สุดท้ายก็อาจจะทำให้ผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายได้ในที่สุด

เร็วๆ นี้นักวิจัยจาก University College London และ Queen Mary University of London ได้ทำวิจัยเรื่องเพศและการเป็นโรคซึมเศร้า โดยทำการศึกษาจากคนอังกฤษทั้งหญิงและชายมากกว่า 20,000 คน พบว่า ผู้ชายส่วนใหญ่ทำงานมากกว่าผู้หญิง งานในที่นี้คืองานที่ได้รับค่าจ้าง และครอบครัวไหนที่มีลูกก็จะส่งผลให้การทำงานของพ่อแม่แตกต่างจากคนทำงานที่ไม่มีลูก ผู้หญิงที่มีลูกจะทำงานน้อยกว่าผู้หญิงที่ไม่มีลูก ในขณะที่ผู้ชายที่มีลูกจะทำงานมากกว่าผู้ชายที่ไม่มีลูก ผลการวิจัยยังพบอีกว่า ผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าผู้ชาย โดยผู้หญิงที่ทำงานมากกว่า 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์จะมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าผู้หญิงที่ทำงาน 35–40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ถึง 7.3%

จากการสังเกตงานวิจัยนี้พบว่า ผู้หญิงที่ทำงานมากกว่า 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีอาการโรคซึมเศร้า รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนไม่มีค่า ไม่มีความสามารถพอในการทำงานต่างๆ มากกว่าผู้หญิงที่ทำงานไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ นอกจากนี้ ผู้หญิงที่ต้องทำงานในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์มักจะมีรายได้น้อย กลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าเช่นกัน เพราะมีความพึงพอใจกับงานที่ทำอยู่น้อยและไม่พอใจค่าจ้าง

Gill Weston หัวหน้าโครงการวิจัยเผยว่า ไม่ใช่เรื่องที่น่าตกใจหรือประหลาดใจที่จะพบว่า ผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าผู้ชาย เพราะผู้หญิงมีภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะงานบ้าน ซึ่งทำจำนวนชั่วโมงที่ต้องทำงานทั้งหมดสูงกว่าผู้ชาย และมีความกดดันในเรื่องต่างๆ รวมถึงหน้าที่ความรับผิดชอบต่องานและครอบครัว แม้ว่าในปัจจุบันผู้ชายจะช่วยทำงานบ้านมากขึ้น แต่ภาระหน้าที่หลักๆ ยังคงเป็นของผู้หญิงอยู่ดี

นอกจากนี้ Gill Weston ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า ในสังคมตอนนี้ส่วนใหญ่ผู้ชายจะหาเงินมากกว่าทำให้ผู้ชายมองว่า พวกเขาไม่ต้องการเสียเวลาไปกับงานบ้าน เอาเวลาไปทำอย่างอื่นดีกว่า นี่อาจจะเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงต้องรับผิดชอบงานบ้านและเลี้ยงดูลูก

Gill Weston ชี้แจงเพิ่มเติมว่ามีทฤษฎีที่เกี่ยวกับความเครียดว่า เมื่อไรก็ตามที่เกิดความไม่เท่าเทียมระหว่างความพยายามในการทำงานกับรางวัลหรือผลตอบแทนที่ได้จากการทำงาน เมื่อนั้นความเครียดจะเกิดขึ้น ซึ่งเห็นได้ชัดจากผู้หญิงที่ต้องทำงานในช่วงวันหยุดแล้วได้รับรายได้น้อย เพราะผู้หญิงเหล่านี้จะมีอาการโรคซึมเศร้ามากกว่าผู้หญิงที่ทำงานในวันปกติถึง 4.6% และไม่ใช่เพียงแค่ผู้หญิงเท่านั้น ผู้ชายที่ต้องทำงานในวันหยุดและได้รายได้น้อยก็มีอาการของโรคซึมเศร้ามากกว่าผู้ชายที่ทำงานในวันปกติถึง 3.4%

ดังนั้น งานวิจัยนี้จึงเสนอแนะว่า บริษัทและรัฐบาลควรมีนโยบายช่วยแบ่งเบาหรือสนับสนุนให้ผู้หญิงที่ต้องทำงานมากกว่า 40 ชั่วโมง ลดเวลาทำงานลงและมีรายได้เท่าเดิม เพราะผู้หญิงที่ต้องเผชิญความเครียดที่ต้องทำงานเป็นเวลานาน รวมไปถึงอาจจะมีความเครียดและความกดดันจากปัญหาครอบครัว ทำให้มีความเครียดเพิ่มขึ้น สุดท้ายอาจเป็นโรคซึมเศร้า ดังนั้น หากลดปัจจัยความเครียดลงได้ ก็น่าจะช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคซึมเศร้าลงได้ไม่มากก็น้อย

อย่างที่กล่าวในตอนต้นว่า คนจำนวนมากป่วยเป็นโรคซึมเศร้า และส่วนใหญ่ก็ไม่รู้ว่าตัวเองป่วยเป็นโรคซึมเศร้า จนมีอาการหนักแล้ว ดังนั้น รัฐบาลในแต่ละประเทศจึงควรให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหานี้ โดย (1) เปลี่ยนทัศนคติคนในสังคมว่า การไปหาจิตเวชเพื่อรักษาอาการโรคซึมเศร้านั้นไม่ใช่เป็นคนบ้า แค่อาการผิดปกติทางอารมณ์เท่านั้นเอง (2) เพิ่มช่องทางการรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า ให้ประชาชนได้รับรู้ว่าอาการโรคซึมเศร้าเป็นอย่างไร สามารถสังเกตตัวเองได้ เพื่อจะได้รักษาอย่างทันท่วงที และ (3) เพิ่มช่องทางให้ความรู้กับคนที่ต้องอยู่กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าว่าควรปฏิบัติ และควรจะพูดจาอย่างไรกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

หากสามารถลดความเครียดจากการทำงาน ผู้ชายช่วยแบ่งเบาภาระงานบ้านและดูแลลูก รัฐบาลให้ข้อมูลที่เข้าถึงได้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้า จะทำให้ผู้หญิงมีชั่วโมงทำงานน้อยลง ความเครียดน้อยลง และอาจจะไม่เป็นโรคซึมเศร้าได้ รวมถึงในกรณีที่เป็นโรคซึมเศร้าแล้ว สามารถรู้ตัวเองได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ไปเข้ารับการรักษาตั้งแต่ระยะแรก และคนในครอบครัวเข้าใจว่าจะต้องพูดและปฏิบัติอย่างไร ผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าก็จะมีแนวโน้มดีขึ้น ไม่จบลงด้วยการทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย

ผู้หญิงที่ทำงานมากกว่า 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์มีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าผู้หญิงที่ทำงานไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ถึง 7.3%

Photo Credit: https://www.freeimages.com/photo/alone-1431667

ใส่ความเห็น