วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
Home > Cover Story > ปิดท้ายศักราช ตลาดยานยนต์กับจุดเปลี่ยนในอนาคต

ปิดท้ายศักราช ตลาดยานยนต์กับจุดเปลี่ยนในอนาคต

บรรยากาศช่วงท้ายของปีที่เต็มไปด้วยงานเทศกาลแห่งความสุขสดชื่น อาจจะเป็นตัวชี้วัดสำคัญถึงสถานการณ์โดยรวมของตลาดยานยนต์ ไตรมาสสุดท้ายเสมือนช่วงเวลาที่มากไปด้วยความคาดหวัง ทั้งในเรื่องของยอดจอง ยอดจำหน่าย เพราะตัวเลขดังกล่าวจะกลายเป็นเครื่องชี้วัดสภาพเศรษฐกิจไทยและความมั่นใจของผู้บริโภค

โดยก่อนหน้านี้ที่ “นิด้าโพล” ศูนย์สำรวจความคิดเห็น สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้ออกมาเปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งประชาชนร้อยละ 1.76 ระบุว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยดีขึ้นมาก ขณะที่ร้อยละ 24.96 ระบุว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยค่อนข้างดีขึ้น ร้อยละ 19.36 ระบุว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยไม่ค่อยดีขึ้น ร้อยละ 28.49 เห็นว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยไม่ดีขึ้นเลย ร้อยละ 19.68 มองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยแย่กว่าปีที่ผ่านมา ร้อยละ 4.32 มีความเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยเหมือนเดิมไม่แตกต่างจากปีที่แล้ว และร้อยละ 1.52 ไม่ระบุ

ตัวเลขที่น่าสนใจคือ ประชาชนที่เห็นว่าเศรษฐกิจไทยไม่ดีขึ้นเลยมีมากถึง 28.40 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขดังกล่าวน่าจะส่งผลให้ประชาชนจำนวนหนึ่งไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย ด้วยเหตุนี้อาจจะทำให้ความคึกคักในช่วงสุดท้ายปลายปีของงานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 34 อาจจะเงียบเหงากว่าที่ควรจะเป็น

ด้านขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ ประธานการจัดงานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 34 ให้ความเห็นว่า “จากแนวโน้มเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวน่าจะส่งผลดีต่อภาพรวมของยอดขายรถในช่วงไตรมาส 4 ของปี ซึ่งน่าจะมีอัตราการเติบโตไม่ต่ำกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ โดยเพิ่มขึ้นจาก 3 ไตรมาสที่ยอดจำหน่ายรถยนต์มีการเติบโตประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์”

อย่างไรก็ตาม ประธานการจัดงานมหกรรมยานยนต์ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมถึงกรณีการเติบโตของตลาดรถตั้งแต่ระดับกลางขึ้นไปว่า น่าจะยังมีโอกาสที่จะเติบโตได้อีก เนื่องจากผู้มีกำลังซื้อเริ่มออกมาใช้เงิน ขณะที่ตลาดระดับกลางลงมาไม่น่าจะขยายตัวได้มากนัก เมื่อกำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัวดี กระนั้นก็ยังมองว่าภาพรวมของกำลังซื้อน่าจะฟื้นตัวดี เพราะยังไม่เห็นปัจจัยด้านลบที่จะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจและกำลังในการซื้อ

นอกจากนี้ยังคาดการณ์ว่าภายในงานมหกรรมยานยนต์ครั้งนี้ น่าจะมีผู้เข้าชมงานไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านคน โดยมียอดขายรถยนต์ประมาณ 4 หมื่นคัน และยอดขายรถบิ๊กไบค์รวม 7,000 คัน และน่าจะมีเงินสะพัดภายในงานไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งการคาดการณ์ดังกล่าวสูงกว่าการจัดงานในปี 2559 ที่มียอดขายรถยนต์อยู่ที่ 3.2 หมื่นคัน รถบิ๊กไบค์ 5,000 คัน และมีเงินสะพัด 4.5 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 34 หรือ “Motor Expo 2017” ที่มีคอนเซ็ปต์ว่า “ยานยนต์ยุคใหม่ ฝันไกลที่กลายเป็นจริง” ขวัญชัยเปิดเผยที่มาแนวความคิดของงานในครั้งนี้ว่า “ที่ผ่านมาความฝันของผู้ผลิตและผู้บริโภคถึงยานยนต์ที่มีคุณสมบัติสมบูรณ์พร้อมไม่อาจเป็นจริงด้วยข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีที่ยังไม่ก้าวหน้าเพียงพอ เช่น ไม่สามารถผลิตเครื่องยนต์ที่มีสมรรถนะสูง แต่ประหยัดเชื้อเพลิง หรือสร้างสรรค์ช่วงล่างที่เกาะถนนทรงตัวดีเยี่ยม แต่ให้ความรู้สึกนุ่มนวลต่อผู้โดยสาร ตลาดไม่สามารถแก้ปัญหามลพิษจากไอเสียที่ปล่อยออกมา รวมถึงป้องกันอุบัติเหตุอันเกิดจากความบกพร่องและความประมาทของผู้ขับ วิศวกรต้องพยายามอย่างแข็งขันในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแบบก้าวกระโดด เพื่อให้ยานยนต์ยุคใหม่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่ฝันไว้ ไม่ว่าจะเป็นความประหยัด ความสะดวกสบาย ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าวล้วนแล้วแต่เป็นเพียงความฝันในระยะไกล ที่อาจจะไม่มีทางเป็นไปได้ แต่บัดนี้ได้ปรากฏเป็นจริงแล้วในยานยนต์ยุคปัจจุบัน อีกทั้งยังล้ำหน้ายิ่งขึ้นในยุคต่อไป”

การให้เหตุผลแนวความคิดของการจัดงานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 34 ของขวัญชัย ดูจะมีนัยสำคัญ ที่อาจจะทำให้เรามองเห็นความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมรถยนต์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่แต่เพียงอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทยเท่านั้น หากแต่หมายความรวมถึงอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลก

เมื่อหลายประเทศเริ่มให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงกับภาคอุตสาหกรรมหลายส่วน ซึ่งแน่นอนว่าอุตสาหกรรมรถยนต์เป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่จะต้องเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับนโยบายสิ่งแวดล้อม

เพราะหลายประเทศในทวีปยุโรปเริ่มประกาศนโยบายที่มีความจริงจังมากขึ้นเกี่ยวกับอุตสาหกรรมรถยนต์ เมื่อมีกำหนดให้เลิกการขายรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งข้อกำหนดดังกล่าวตามมาด้วยเงื่อนไขที่น่าจะเป็นแรงจูงใจได้เป็นอย่างดี คือ มาตรการด้านภาษี

ทั้งนี้มาตรการด้านภาษีที่ถูกหยิบมาเป็นเงื่อนไขนั่นเพราะคาดหวังให้ค่ายรถยนต์ยุติบทบาทการผลิตและจำหน่าย และหันมาส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า หรือ รถอีวี ที่ไม่ปล่อยมลพิษในชั้นบรรยากาศ

ประเทศที่เริ่มประกาศใช้นโยบายดังกล่าวได้แก่ เยอรมนี ที่ประกาศให้ค่ายรถยนต์ยุติการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงภายในปี 2030 อังกฤษและฝรั่งเศส ตั้งเป้าต่อเรื่องดังกล่าวไว้ราวปี 2040

ขณะที่ประเทศในโซนเอเชียอย่างจีน ที่มีตลาดรถยนต์ใหญ่ที่สุดในโลก และอินเดีย คาดการณ์ว่าภายในปี 2030 ทั้ง 2 ประเทศนี้จะมีรถยนต์ไฟฟ้าใช้แทนรถยนต์พลังงานน้ำมัน

แม้ว่าประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและประเทศที่เป็นเจ้าของแบรนด์รถหรูติดอันดับโลกจะวางแผนว่าจะมีรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ภายในปี 2030 หากแต่ที่น่าสนใจกลับเป็นประเทศศรีลังกา ที่ภาครัฐเริ่มให้ความสำคัญและออกมาตรการกับหน่วยงานรัฐยกเลิกการใช้รถยนต์พลังงานน้ำมันภายในปี 2025 ซึ่งเร็วกว่าหลายประเทศถึง 5 ปี อีกทั้งจะขยายนโยบายดังกล่าวไปยังรถของประชาชนในประเทศภายในปี 2040

หลายฝ่ายประเมินและให้ความเห็นต่อนโยบายของรัฐบาลศรีลังกาว่า น่าจะมีความเป็นไปได้กว่าหลายประเทศ นั่นเป็นเพราะศรีลังกามีรถยนต์โดยประมาณ 6.8 ล้านคัน

มาตรการเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เมื่อหลายประเทศที่เป็นประเทศผู้ผลิตหรือเป็นต้นกำเนิดรถยนต์ยี่ห้อดัง เริ่มให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและส่งผลต่อนโยบายภาคอุตสาหกรรม รวมไปถึงกรอบโครงที่คาดหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ประเทศไทยเองดูเหมือนเริ่มจะมีการพูดถึงการเปลี่ยนแปลงนี้เช่นเดียวกัน เมื่อชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกรรมการบริษัทไทยซัมมิท โอโต พาร์ท อินดัสตรี จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ของไทย เคยให้ความเห็นต่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมรถยนต์เอาไว้ในงานสัมมนา “Thailand 2018 จุดเปลี่ยนและความท้าทาย” ว่าอุตสาหกรรมรถยนต์กำลังเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยน นั่นคือ รถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี ซึ่งประเทศไทยมีโอกาสและความเป็นไปได้มาก อีกทั้งยังได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลมากขึ้น

กระนั้นจากผลสำรวจเกี่ยวกับความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเมื่อปี 2558 พบว่ามีเพียง 58 เปอร์เซ็นต์ เป็นกลุ่มคนที่อยากใช้รถยนต์ไฟฟ้าและมีรถยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้นเพียง 746,000 คัน และจากการคาดการณ์เชื่อว่าปี 2583 จะมียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าถึง 65 ล้านคันทั่วโลก จากปัจจุบันที่มียอดขายรถยนต์ 90 ล้านคัน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเทรนด์ของรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังจะเกิดขึ้น และอาจจะได้รับความนิยมแพร่หลาย จำเป็นต้องมีปัจจัยสนับสนุนหลายด้าน ทั้งสถานีชาร์จไฟแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพ และต้องทำให้ต้นทุนการผลิตแบตเตอรี่ถูกลง หรือทำให้แบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าสามารถเปลี่ยนได้ง่ายเหมือนเปลี่ยนแบตถ่านไฟฉาย

ทั้งนี้หากภาคอุตสาหกรรมรถยนต์เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว คงเป็นเสมือนแรงกระเพื่อมของกระแสน้ำที่ต้องส่งผลต่ออุตสาหกรรมอื่นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เช่น ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น เมื่อไหร่ที่ภาคอุตสาหกรรมรถยนต์เริ่มที่จะปรับตัวเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในอนาคต อุตสาหกรรมแวดล้อมอื่นคงไม่มีทางเลือก นอกจากต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด

ในอนาคตไม่ช้านาน นอกจากเราจะได้เห็นรถยนต์ไฟฟ้าถูกใช้งานบนท้องถนนไทยแล้ว มีความเป็นไปได้ว่าอุตสาหกรรมรถยนต์อาจจะถูกพัฒนาไปไกลถึงขั้นยานยนต์ไร้คนขับ

ใส่ความเห็น