Home > religion

ตามรอยพระอุบาลี

 Column: AYUBOWAN ท้องฟ้าที่ฉ่ำด้วยเมฆฝนและสายลมแรงทั่วทั้งแดนดินถิ่นเมืองไทยในห้วงยามนี้ คงทำให้หลายคนรู้สึก “อึดอัด” ระคน “หดหู่” กับความเป็นไปของบ้านเมืองอยู่ไม่น้อย ขณะที่อีกฝั่งฟากของมหาสมุทรอินเดีย ในดินแดนแห่งศรีลังกาซึ่งอยู่ในช่วงฤดูมรสุมเช่นกัน ปรากฏการณ์ธรรมชาติเหล่านี้แม้จะเป็นเป็นอุปสรรคต่อการสัญจรอยู่บ้าง แต่นั่นก็เป็นเพียงวิถีธรรมชาติที่ต้องประสบพบเจอท่ามกลางความฉ่ำเย็นที่มาประโลมชีวิตจิตวิญญาณ สำหรับพุทธศาสนิกผู้สนใจในธรรมและความเป็นไปแห่งพุทธศาสนา เชื่อว่าหลายท่านคงได้ผ่านการรับรู้ หรือได้ยินได้ฟังเรื่องราวแห่งสยามวงศ์ที่ได้มาลงหลักปักฐานในแดนดินศรีลังกาอยู่บ้างนะคะ และก็คงมีโอกาสได้จาริกตามรอยพระอุบาลี พระธรรมทูตจากประเทศไทยที่มาฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในศรีลังกาเมื่อปีพุทธศักราช 2295 หรือเมื่อกว่า 263 ปีล่วงมาแล้ว ในความเป็นจริง ความจำเริญรุ่งเรืองแห่งพุทธศาสนาในดินแดนศรีลังกานั้น มีมานานก่อนที่พุทธศาสนาจะขจรจายไปยังสุวรรณภูมิเสียอีก โดยเฉพาะหากพิจารณาในบริบทของสังคมไทยซึ่งมีการจารึกไว้ว่าได้รับพุทธศาสนามาจากศรีลังกาจนเกิดเป็นพุทธศาสนาสาย “ลังกาวงศ์” ซึ่งเข้ามาเผยแผ่ในประเทศไทย ตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นแผ่นดินสุโขทัย และฝังรากลึกลงไปทุกขณะ แม้ว่าบางครั้งบางหน ดอกผลแห่งพุทธศาสนาจะร่วงหล่นลงสู่พื้นล่าง และเสื่อมถอยท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง แต่แกนหลักแห่งลำต้นก็ยังให้ร่มเงาพักพิงแก่สาธุชนผู้เลื่อมใสศรัทธาอยู่เสมอ ความจำเริญและเสื่อมถอย ย่อมเป็นปฏิภาคของด้านตรงข้ามอย่างยากจะปฏิเสธ เป็นอนิจลักษณะ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้เป็นหลักธรรมให้ผู้คนได้เจริญสติอยู่มิได้ขาดมานานกว่า 2 สหัสวรรษ และความเป็นไปของพุทธศาสนาในดินแดนลังกาก็ไม่ได้อยู่ในข้อยกเว้นไปจากความเป็นจริงของโลกที่ว่านี้ ความพยายามที่จะฟื้นฟูพุทธศาสนาให้งอกเงยขึ้นมาใหม่จากซากที่ผุพังของศรีลังกาเกิดขึ้นเมื่อพระเจ้ากีรติสิริราชสิงหะ กษัตริย์ศรีลังกา ซึ่งมีความศรัทธาแรงกล้าที่จะฟื้นฟูพระพุทธศาสนาให้กลับคืนสู่ศรีลังกาอีกครั้ง และส่งราชทูตมายังกรุงศรีอยุธยาในปีพุทธศักราช 2293 เพื่อให้กรุงศรีอยุธยาส่งคณะธรรมทูตไปรื้อฟื้นพุทธศาสนาขึ้นมาใหม่ คณะราชทูตจากศรีลังกาออกเดินทางจากเมืองท่าตรินโคมาลี (Trincomalee) เมืองท่าสำคัญทางตะวันออกเฉียงเหนือของศรีลังกาด้วยเรือของฮอลันดา ข้ามผ่านมหาสมุทรอินเดียมาเมืองอะเจะ สุมาตรา และต้องหลบเลี่ยงมรสุมอยู่ที่มะละกาเป็นเวลานานกว่า 5 เดือน  เมื่อมาถึงอยุธยา พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาโปรดให้คัดเลือกพระสงฆ์ที่แตกฉานในพระไตรปิฎกและเคร่งครัดในพระธรรมวินัยประกอบด้วยพระสงฆ์ 24

Read More