Home > แบงกิ้งเอเยนต์

แบงกิ้งเอเย่นต์-โมบายแบงกิ้ง จุดเปลี่ยนผ่านการเงินไทย?

การเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมการเงินไทย กำลังดำเนินไปด้วยอัตราเร่งอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นความพยายามที่จะก้าวไปสู่การเป็นสังคมไร้เงินสด การทำธุรกรรมดิจิทัลผ่านอุปกรณ์สื่อสารมือถือ การปรับลดจำนวนสาขา ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามเร่งลดทอนค่าใช้จ่าย และการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการจ้างงานและระบบการบริหารการบริการที่ดำเนินมาในช่วงก่อนหน้านี้ ตัวเลขที่น่าสนใจจากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อไม่นานมานี้ ระบุว่าผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2561 ธนาคารพาณิชย์ มีรายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมลดลงเป็นครั้งแรกในไตรมาสนี้ โดยปรับตัวลดลงร้อยละ11. 2 จากการยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านระบบอินเทอร์เน็ตและโมบายแบงกิ้ง ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ยังมีกำไรสุทธิ 5.7 หมื่นล้านบาท ขยายตัวขึ้นในอัตราร้อยละ 15.9 จากรายได้ดอกเบี้ยสินเชื่อเพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายกันสำรองที่ลดลงเป็นหลัก การแข่งขันกันของธนาคารพาณิชย์ด้วยการเปิดศึกยกเลิกการคิดค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมดิจิทัลบนมือถือ ตั้งแต่เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้เมื่อสิ้นไตรมาส 2 ปี 2561 มีผู้ใช้บริการโอนเงินทางอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งและโมบายแบงกิ้งสูงถึง 224 ล้านรายการ หรือคิดเป็น 90% ของยอดการโอนเงินของลูกค้า ขณะที่อัตราการโอนเงินผ่านสาขามีเพียง 170,000 รายการ ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่น้อยมากหากนำมาเปรียบเทียบกัน การมาถึงของเทคโนโลยี ในด้านหนึ่งได้ส่งผลกระทบต่อกำไรของธนาคารพาณิชย์ และกำลังจะเป็นแรงผลักสำคัญต่อการพิจารณาปรับลดต้นทุนและการบริหารจัดการในระยะต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแย่งชิงและยึดกุมฐานลูกค้าในยุคสังคมไร้เงินสดให้มาทำธุรกรรมดิจิทัลผ่านมือถือที่กำลังทวีความเข้มข้น และกลายเป็นสมรภูมิการแข่งขันของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่มีความดุเดือดยิ่งขึ้น เพราะธุรกรรมดิจิทัลเหล่านี้ทำให้ธนาคารพาณิชย์สามารถติดตามพฤติกรรมต่อยอดบริการ และสร้างรายได้จากลูกค้ากลุ่มนี้ได้เต็มที่ ขณะเดียวกันพนักงานสาขาของธนาคารพาณิชย์ ที่ดูเหมือนจะมีบทบาทลดลงหลังจากที่ธุรกรรมจำนวนมากถูกปรับย้ายไปสู่แพลตฟอร์มมือถือ กลายเป็นกลุ่มคนที่กำลังได้รับผลกระทบจาก disruptive technology

Read More

CP กับบทบาทแบงกิ้งเอเยนต์ พลิกภูมิทัศน์ใหม่การเงินไทย??

ข่าวการอนุญาตให้เครือข่ายร้านสะดวกซื้อ 7-11 สามารถขยายการให้บริการธุรกรรมทางการเงินในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากจะก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ครั้งใหม่ถึงการขยายแนวรุกเข้าครอบครองธุรกิจ และแผ่อิทธิพลครอบงำวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนในสังคมไทยยิ่งขึ้นแล้ว ในอีกด้านหนึ่ง ได้สะท้อนปรากฏการณ์ของการปรับตัวของสถาบันการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารพาณิชย์ไทย ที่ก่อนหน้านี้พยายามเร่งลดทอนค่าใช้จ่ายด้วยการทยอยปิดสาขาลง และหลายแห่งกำหนดแผนที่จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างการจ้างงานและระบบการบริหาร การบริการมาก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ดี ความคลาดเคลื่อนของการอนุญาตให้เครือข่ายร้านสะดวกซื้อ 7-11 สามารถให้บริการธุรกรรมทางการเงิน แม้จะไม่ใช่การให้ใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์หากแต่เป็นเพียงการเพิ่มสถานะการเป็นตัวแทนธนาคารพาณิชย์หรือ banking agent เพื่อทำหน้าที่แทนธนาคารพาณิชย์ได้ในบางธุรกรรม เช่น รับฝากเงิน รับชำระเงิน จ่ายค่าบริการ ก็ดูจะเป็นอีกก้าวที่เพียงพอให้เครือข่ายร้านสะดวกซื้อ 7-11 มีความได้เปรียบคู่แข่งขันไปอีกไกลพอสมควร และเป็นจังหวะก้าวที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาจมีผลต่อการขยับขยายธุรกิจของ 7-11 ในอนาคต รูปแบบธุรกิจที่ก้าวจากการเป็นร้านสะดวกซื้อ ขยายไปสู่ธุรกิจธนาคารในนาม Seven Bank ที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศญี่ปุ่น ภายใต้ร่มธงของ Seven & I Holdings ซึ่งนับเป็นผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ 1 ใน 5 ของโลก ถูกหยิบยกขึ้นมาเปรียบเทียบกับจังหวะก้าวของ 7-11 ในประเทศไทย จนทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องออกมายืนยันว่ายังไม่มีนโยบายในการออกใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารพาณิชย์แห่งใหม่แต่อย่างใด ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจก็คือ ธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์สามารถแต่งตั้งตัวแทนธนาคารพาณิชย์ (banking agent) มาตั้งแต่ปี 2553

Read More