Home > วิกฤตการบิน

จาก COVID-19 สู่วิกฤตการบินโลก

ข่าวการประกาศเลิกกิจการของสายการบินนกสกู๊ต (NokScoot) เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ว่าจะไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมายของทั้งผู้คนในแวดวงการบินและประชาชนทั่วไป ที่ต่างประเมินทิศทางธุรกิจการบินและการท่องเที่ยวในยุคหลัง COVID-19 ว่าจะต้องดำเนินไปอย่างยากลำบาก และทำให้อุตสาหกรรมการบิน-การท่องเที่ยวเป็นกิจกรรมที่น่าจะฟื้นตัวได้ช้าในห้วงเวลานับจากนี้ก็ตาม การเดินทางท่องเที่ยวทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ดูจะเป็นไปภายใต้ข้อจำกัดและเงื่อนไขที่รัดกุมมากขึ้น ขณะที่การ lockdown หรือปิดเมืองของนานาประเทศก็ทำให้ผู้ประกอบการสายการบินต้องยกเลิกการให้บริการตลอดช่วงเวลาที่การแพร่ระบาด COVID-19 อยู่ในกระแสสูงและสร้างความตื่นตระหนกในวงกว้าง ซึ่งหมายถึงรายได้จากการประกอบการที่หดหายไป ควบคู่กับต้นทุนการดำเนินการที่ยังคงอยู่ในระดับเดิม ความเป็นไปของนกสกู๊ต สายการบินร่วมทุนราคาประหยัด ระหว่างสายการบินนกแอร์ของผู้ประกอบการชาวไทย และสายการบินสกู๊ต จากประเทศสิงคโปร์ ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2014 เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการประกอบการธุรกิจการบิน ท่ามกลางความท้าทายในสถานการณ์ต่างๆ รวมถึงข้อจำกัดในการขยายเครือข่ายการบิน ภายใต้สภาพแวดล้อมการแข่งขันที่รุนแรง ขณะที่การระบาดของ COVID-19 ผลักให้สถานการณ์ของ นกสกู๊ต เลวร้ายลงอย่างรุนแรง จนไม่อาจเห็นหนทางสู่การฟื้นตัวและการเติบโตที่ยั่งยืนของสายการบินได้อีก และต้องยุติกิจการพร้อมกับชดเชยการเลิกจ้างพนักงานตามกฎหมายต่อไป ผลพวงของการแพร่ระบาด COVID-19 ซึ่งส่งผลให้มีการปิดท่าอากาศยานและระงับการเดินทางเพื่อควบคุมโรคในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มีการประเมินรายได้ธุรกิจการบินสัญชาติไทยในปี 2020 ว่ามีแนวโน้มหดตัวติดลบที่ร้อยละ -60 (YoY) มาอยู่ที่ประมาณ 1.21 แสนล้านบาท ภายใต้สมมุติฐานการฟื้นตัวในธุรกิจสายการบินอย่างค่อยเป็นค่อยไปแบบ U-Shape ซึ่งทำให้สายการบินต้องลดค่าใช้จ่าย ลดจำนวนเครื่องบิน และในบางรายอาจได้รับผลกระทบถึงขั้นปิดกิจการ ทั้งนี้ประมาณการที่น่าสนใจอยู่ที่รายได้ธุรกิจการบินสัญชาติไทยจากเส้นทางระหว่างประเทศจะหดตัวติดลบถึงร้อยละ -65 (YoY)

Read More