Home > ปัญหาการท่องเที่ยว

ปัจจัยทัวร์จีน ดัชนีชี้วัด GDP ไทย

ภาพนักท่องเที่ยวจีนที่เดินกันขวักไขว่ตามสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของไทย เช่น พระบรมมหาราชวัง ในกรุงเทพฯ หรือจังหวัดใหญ่ๆ อย่างเชียงใหม่ และภูเก็ต ที่นักท่องเที่ยวจำนวนมากเลือกเป็นจุดหมายปลายทาง กลายเป็นภาพจำไปแล้วสำหรับคนไทย เมื่อช่วงเวลาหนึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว เมืองไทยได้รับความสนใจและกลายเป็น destination ของนักท่องเที่ยวจีน อาจจะมาจากภาพยนตร์เรื่อง Lost in Thailand ที่ฉายในไทยครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2556 นับเป็นการจุดพลุการท่องเที่ยวตามรอยภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีเหตุผลอื่นๆ ประกอบ ทั้งค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวไทยที่ราคาไม่แพง ภาคการบริการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล หรือที่นักท่องเที่ยวจีนเคยให้เหตุผลน่าฟังว่า “คนไทยใจดี” ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่นักท่องเที่ยวจีนค่อยๆ เพิ่มจำนวนมากขึ้นนั้น ด้านหนึ่งต้องยอมรับว่านอกจากจะเป็นการกระพือชื่อเสียงการเป็นเมืองท่องเที่ยวและสร้างความนิยมให้กับเมืองไทยแล้ว สิ่งที่ตามมาคือเรื่องรายได้ที่เพิ่มขึ้น ทั้งในแง่ของผู้ประกอบการท่องเที่ยว และแน่นอนว่านั่นคือรายได้ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน หากดูจากสถิติเมื่อปี 2560 จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาเที่ยวในประเทศไทยมีจำนวน 9,805,753 คน และสร้างรายได้มากถึง 524,451.03 ล้านบาท นับว่าทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากนักท่องเที่ยวจีนถือเป็นอันดับหนึ่งของชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยมากที่สุด และนั่นทำให้ในปี 2561 ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนตั้งเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยสูงถึง 10.5 ล้านคน กระทั่งโศกนาฏกรรมเรือฟินิกซ์ล่มที่จังหวัดภูเก็ต กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ลดทอนความเชื่อมั่นในสวัสดิภาพของนักท่องเที่ยวที่มีต่อเมืองไทยลง จำนวนนักท่องเที่ยวจีนจึงค่อยๆ ลดจำนวนลง นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวเปลี่ยนเส้นทางไปยังประเทศอื่นในเอเชีย เช่น เรื่องโรคไข้เลือดออกระบาด พฤติกรรมไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของสนามบิน

Read More

สิมิลัน: เหยื่อการท่องเที่ยวที่ไร้การจัดการ?

ในขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวกำลังดำเนินความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการโหมประโคมส่งเสริมการท่องเที่ยว ภายใต้คำขวัญที่หวังสร้างกระแสทั้ง “ปีท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋อย่างลึกซึ้ง” และ “ปีท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋อย่างยั่งยืน” หากแต่ข่าวความเป็นไปของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันในช่วงเวลา 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ดูจะสร้างมิติที่แตกต่างออกไปจากอย่างสิ้นเชิง ปรากฏการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปยังหมู่เกาะสิมิลันอย่างหนาแน่น จนเกิดภาวะนักท่องเที่ยวล้นเกาะ ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้การดูแลและอำนวยความสะดวกของเจ้าหน้าที่เป็นไปอย่างไม่ทั่วถึงแล้ว ประเด็นที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือสภาพแวดล้อมและทรัพยากรทางธรรมชาติของหมู่เกาะสิมิลัน จะมีความเสี่ยงต่อการถูกทำลายให้เสียหายมากน้อยเพียงใด จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น ในด้านหนึ่งอาจจะทำให้หน่วยงานด้านการท่องเที่ยวระบุถึงผลความสำเร็จในการส่งเสริมการท่องเที่ยว ที่ทำให้สิมิลันกลายเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยม โดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจากจีนที่มีสัดส่วนมากถึงกว่าร้อยละ 90 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด ขณะที่ในปีที่ผ่านมา อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จังหวัดพังงา กลายเป็นสถานที่ที่สามารถจัดเก็บรายได้จากค่าธรรมเนียมนักท่องเที่ยวได้มากถึง 201 ล้านบาท จากการเปิดฤดูท่องเที่ยวประจำปี 2560 (1 พฤศจิกายน 2559-30 เมษายน 2560) รายได้ที่เพิ่มมากขึ้นเป็นประวัติการณ์เมื่อปีที่ผ่านมา ได้รับการบันทึกว่าเป็นสถิติใหม่ในการจัดเก็บรายได้สูงสุดในรอบ 35 ปีนับตั้งแต่มีการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน เมื่อปี 2525 และนับเป็นสถานที่ที่จัดเก็บรายได้จากนักท่องเที่ยวได้มากเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย กระนั้นก็ดี ตัวเลขของรายได้และจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น ย่อมไม่สามารถเป็นดัชนีชี้วัดความสำเร็จของการบริหารจัดการกิจกรรมท่องเที่ยว ที่มุ่งหมายทั้งในมิติของความลึกซึ้งและยั่งยืน ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามนำเสนอได้ ในทางตรงข้ามกลับสะท้อนภาพความบกพร่องในการบริหารจัดการและการเตรียมการที่จะรองรับผลสืบเนื่องที่สามารถคาดการณ์ได้จากปรากฏการณ์ในช่วงปีที่ผ่านมา ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจก็คือ ในช่วงเดือนมกราคม 2560 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันรายงานว่าสามารถจัดเก็บรายได้ค่าธรรมเนียมนักท่องเที่ยวได้มากถึง 57 ล้านบาท

Read More