Home > ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา

ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Banking) เมื่อโอกาสในการขอสินเชื่ออาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับประวัติการชำระเงินอย่างเดียวอีกต่อไป

เมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประชาสัมพันธ์แนวทางการอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ที่คาดว่าจะเริ่มให้บริการในปี 2568 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของลูกค้าบุคคลและธุรกิจรายย่อย หลายๆ ท่านอาจสงสัยว่า ลูกค้ารายย่อยที่ธนาคารแบบดั้งเดิมยังไม่ให้กู้ แล้วธนาคารไร้สาขาที่ไม่รู้จักลูกค้าเลยจะให้กู้ได้อย่างไร เงื่อนไขหนึ่งในหลักเกณฑ์การขอจัดตั้ง Virtual Bank คือ ความสามารถในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่หลากหลาย โดยวิธีการได้มาซึ่งข้อมูลดังกล่าวต้องชัดเจนและเป็นไปได้ เราจะเห็นผู้ที่มีข้อมูลลูกค้าจำนวนมาก มีความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี จับมือกับสถาบันการเงิน ลงมาเล่นในสนามนี้ เพื่อให้บริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ทุกฝ่าย โดยทำการพิจารณาความน่าเชื่อถือของผู้ขอกู้เงินผ่านปัจจัยแวดล้อมที่สะท้อนแบบแผนการดำเนินชีวิต หรือเรียกว่าข้อมูลทางเลือก (Alternative data) เช่นความสม่ำเสมอในการชำระค่าโทรศัพท์ พฤติกรรมและประเภทของสินค้าที่ซื้อบ่อย หรือการใช้แบบสอบถามด้านจิตวิทยา (Psychometrics) แบบสอบถามด้านทางจิตวิทยา เป็นชุดคำถามที่ค้นหาพฤติกรรมทางการเงินจากการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การตัดสินใจด้านการเงิน ความยับยั้งช่างใจในการจำกัดรายจ่าย คำถามเกี่ยวกับวินัยในการใช้ชีวิตและการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความวิตกกังวล โดยแบบสอบถามดังกล่าวจะต้องพิจารณาปัจจัยด้านสังคมและวัฒนธรรมต่างๆ เพื่อเฟ้นหาลักษณะนิสัยที่บ่งชี้พฤติกรรมการชำระหนี้ได้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด มีการศึกษาในประเทศมองโกเลียที่ให้ผู้เข้าร่วมการศึกษาพิจารณาภาพโต๊ะทำงานต่างๆ ตั้งแต่โต๊ะทำงานที่มีข้าวของรกมาก จนถึงโต๊ะทำงานที่เป็นระเบียบ ผู้เข้าร่วมการทดลองต้องตอบคำถามว่า ท่านสามารถปล่อยให้โต๊ะทำงานของท่านรกถึงระดับใด ก่อนทำการลุกขึ้นมาจัดระเบียบ ผลการศึกษาพบว่า ผู้ที่ชอบความเป็นระเบียบของโต๊ะ มักจะมีวินัยทางการเงินที่ดีกว่าผู้ที่ตอบว่าสามารถปล่อยให้โต๊ะทำงานรกได้มากกว่า หรืออีกการศึกษาหนึ่งในรัฐอุตตรประเทศและรัฐมหาราษฏระของประเทศอินเดียพบว่า ผู้ประกอบการรายย่อยที่มีพฤติกรรมวัตถุนิยมมักจะมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้สูงกว่าปกติอย่างมีนัยสำคัญ จุดอ่อนที่ธนาคารควรระวังในการอาศัยแบบสอบถามด้านทางจิตวิทยาเพียงอย่างเดียวคือผู้ตอบแบบสอบถามอาจจะเลือกตอบแบบสอบถามเข้าข้างตัวเอง โดยประเมินวินัยของตนเองดีกว่าความเป็นจริง

Read More

ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Banking) โอกาสหรือความเสี่ยงสำหรับนักลงทุน

บุญสม จารุศิริธรางกูร ที่ปรึกษาด้านความเสี่ยงทางการเงิน ดีลอยท์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศร่างแนวทางการอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank Licensing Framework – BoT Consultative Paper) ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทำให้มีนักลงทุนจากหลากหลายอุตสาหกรรม มีความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในการเปิดกิจการธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาจำนวนมาก ทั้งจากภาคธุรกิจธนาคารพาณิชย์เดิม กลุ่มสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ หรือนักลงทุนที่มีการลงทุนในกลุ่มธุรกิจฟินเทคทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจาก ธปท.ไม่ได้เปิดให้มีการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ใหม่มาเป็นระยะเวลานานและการเปิดให้มีการขออนุญาตในครั้งนี้ ได้เปิดกว้างให้กับนักลงทุนในทุกกลุ่มที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือต้องเป็นนักลงทุนในประเทศเท่านั้น นอกจากนี้ธนาคารที่มีในปัจจุบันของประเทศไทยทั้งธนาคารพาณิชย์และสถาบันการการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่รับเงินฝากจากประชาชนทั่วไปนั้นมีจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรในประเทศ โดยธนาคารพาณิชย์ในประเทศเพียง 17 แห่งและสถาบันการเงินเฉพาะกิจอีก 3 แห่ง ดังนั้นจึงถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักลงทุนที่จะเข้ามาเปิดธนาคารเพิ่มเติม โดยมุ่งไปที่กลุ่มลูกค้าที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่มีอยู่ของระบบธนาคาร หรืออาจแชร์ส่วนแบ่งทางตลาดจากกลุ่มลูกค้าเดิมในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามการดำเนินธุรกิจสำหรับธนาคารพาณิชย์ประเภทใหม่นี้ อาจไม่ง่ายนักที่จะประสบความสำเร็จในระยะสั้น เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันล้วนแล้วแต่เปิดมานาน เป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไป มีช่องทางการบริการที่หลากหลายทั้งผ่านสาขา การบริการผ่านโทรศัพท์มือถือ และผ่านอินเตอร์เนตแบงกิ้งอยู่แล้ว ทำให้ผู้เข้ามาใหม่อาจไม่สามารถที่จะแข่งขันได้โดยง่ายเพียงการนำเสนอบริการในรูปแบบธนาคารปรกติ หรือเจาะจงกับฐานลูกค้าเดิมของธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิม โอกาสที่จะเติบโตของธนาคารไร้สาขานั้น ธนาคารอาจต้องมุ่งไปสู่ 1. กลุ่มลูกค้าที่เป็นฐานลูกค้าเก่าของนักลงทุนเอง กลุ่มลูกค้าเก่าของนักลงทุนจะเป็นกลุ่มลูกค้าที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย และมีต้นทุนในการจัดหา (Acquisition cost) ที่ต่ำเมื่อเทียบกับกลุ่มลูกค้าอื่น 2. กลุ่มลูกค้าที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการธนาคารในปัจจุบัน ได้แก่กลุ่มลูกค้า เช่น

Read More