Home > ความรุนแรงในโรงเรียน

ความรุนแรงในโรงเรียน การกลั่นแกล้งไม่ใช่เรื่องปกติ

การวิวาทกันของนักศึกษาสถาบันการอาชีวศึกษากลายเป็นภาพจำของปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในวัยเรียน ไม่ว่ามูลเหตุของความขัดแย้งจะมาจากอะไรก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวดูเบาบางไปเลยเมื่อเทียบกับปัญหาความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในยุคดิจิทัล ปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนดูเหมือนกำลังขยายวงกว้างและไร้ซึ่งการใส่ใจอย่างจริงจัง เพราะสิ่งที่น่ากังวลที่สุดในห้วงยามนี้คือ กลุ่มเด็กที่มีการใช้ความรุนแรง หรือเด็กที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรง มีอายุน้อยลงหรืออยู่ในช่วงปฐมวัย หลายสิบปีก่อนการกลั่นแกล้งกันระหว่างเด็กนักเรียนเห็นจะมีเพียงการนำชื่อบิดามารดาของอีกฝ่ายมาล้อเลียนกันเท่านั้น ซึ่งการกระทำนั้นแม้จะเป็นเรื่องที่ไม่สมควร ทว่าก็เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นทั้งสองฝ่าย และจบลงในเวลาสั้นๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทอย่างมากในชีวิตประจำวันของมนุษย์ การกลั่นแกล้งกันภายในรั้วโรงเรียนกลับทวีความรุนแรงมากขึ้นไปอีก ผลสำรวจเมื่อปี 2560 พบว่าการกลั่นแกล้งภายในโรงเรียนของไทยอยู่ในอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศญี่ปุ่น โดยมีอันดับ 3 คือประเทศอังกฤษ และตัวเลขของเด็กที่ถูกรังแกในสถานศึกษาปีละประมาณ 600,000 คนหรือคิดเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ของนักเรียนทั้งหมด ภาพข่าวต่างๆ ที่ปรากฏบนสื่อในหลายช่องทางนำมาซึ่งคำถามที่ว่า สาเหตุที่แท้จริงของการใช้ความรุนแรง การกลั่นแกล้งกันในกลุ่มเด็กคืออะไร ความใสบริสุทธิ์ของผ้าขาวที่ควรจะซึมซับเอาสรรพวิทยาความรู้ที่ถูกถ่ายทอดจากผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นดั่งเรือจ้าง กลับกลายเป็นผ้าขาวที่ซ่อนงำหลุมดำที่ปกคลุมจิตใจจนอาจจะส่งผลต่ออนาคตของเด็กทั้งฝ่ายที่เป็นผู้ถูกกระทำและฝ่ายที่กระทำ นักวิชาการการศึกษา นักจิตวิทยาเด็ก ต่างให้ความเห็นไปในทางเดียวกันว่า เด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะถูกรังแกหรือกลั่นแกล้งในรั้วโรงเรียนนั้น คือเด็กที่มีความแตกต่างของลักษณะภายนอก เช่น สุขภาพกาย สุขภาพจิตใจ หรือเด็กที่มีพัฒนาการช้า ความแตกต่างทางเพศสภาพของเด็กที่ไม่ตรงกับเพศที่ถือกำเนิด ความแตกต่างทางเชื้อชาติ วัฒนธรรมและศาสนา ในขณะที่เด็กที่เป็นฝ่ายรังแก มักเป็นเด็กที่มีปูมหลังทางครอบครัวที่เคยใช้ความรุนแรง หรือการมองว่าการทำร้ายกันไม่ว่าจะทางกายหรือทางวาจาไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่มักจะถูกรังแก หรือเด็กที่เป็นผู้รังแก ล้วนแล้วแต่จะเกิดบาดแผลขึ้นภายในจิตใจและส่งผลต่ออารมณ์ด้วยกันทั้งสิ้น หากจะพินิจพิเคราะห์กันอย่างถี่ถ้วนถึงมูลเหตุปัจจัยที่ทำให้เด็กสักคนรับบทเป็นเด็กที่ชอบแกล้งผู้อื่น ต้องยอมรับว่าพื้นฐานของครอบครัวมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเด็กจะซึมซับสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นรอบตัว และด้วยวัยวุฒิที่ยังไม่สามารถแยกแยะเรื่องที่สมควรและไม่สมควรได้ จึงส่งผลให้เกิดความเข้าใจที่ผิด คิดว่าสิ่งที่พบเจอในสังคมของตนเองนั้นเป็นเรื่องที่ใครก็สามารถทำได้ ไม่ใช่เพียงแต่ครอบครัวเท่านั้นที่มีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมของเด็ก ทว่าการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัวของสังคมไทยก็เช่นกัน

Read More