Home > ขยะอาหาร

Zero Summit 2021 งานสัมมนาแรกในไทยชวนเหล่าผู้นำมาแก้ไขปัญหาขยะอาหารอย่างจริงจัง

เรากำลังมาถึงจุดที่ไม่อาจแก้ไขวิกฤตการภาวะโลกร้อนได้อีกแล้ว... ปัญหาสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมที่กำลังดำเนินอยู่บนความท้าทาย กับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้โลกของเราเผชิญกับเหตุการณ์ไม่คาดคิด แสดงให้เห็นชัดว่าหากเราไม่ทำอะไรเลย เราจะไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ดังเดิมและการรักษาโลกของเราก็อาจจะสายเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความมั่นคงทางอาหารที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับปัญหาขยะอาหาร ในแต่ละปีเราต้องสูญเสียอาหารดีๆที่ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อการบริโภคของมนุษย์ไปมากถึง 931 ล้านตันทั่วโลก ซึ่งเป็นการสูญเสียทรัพยากรไปโดยเปล่าประโยชน์ ในขณะที่ยังมีคนกว่า 1 พันล้านคนไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้อย่างเพียงพอ ในประเทศไทยตามการศึกษาโดยกรมควบคุมมลพิษ 64% ของขยะมูลฝอยเป็นขยะอาหาร ซึ่งเท่ากับว่าประเทศของเรามีขยะอาหารมากถึง 17.5 ล้านตันต่อปี! ซึ่งขยะอาหารบางส่วนเป็นอาหารที่เราไม่อาจได้เห็นตามท้องตลาด ดังเช่น อาหารที่ผลิตขึ้นมาแล้วแต่ไปไม่ถึงมือผู้บริโภคด้วยเหตุผลบางประการจึงทำให้ถูกทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย อย่างไรก็ตามยังคงมีธุรกิจอีกมากมายที่ไม่ได้มีจัดการอาหารส่วนเกิน และขยะอาหารอย่างจริงจัง ในขณะที่ยังมีประชากรจำนวนมากขึ้นที่จัดอยู่ภายใต้เส้นความยากจน และประชากรกว่า 6.5 ล้านคนในประเทศยังคงขาดแคลนอาหาร อีกทั้งประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองภาคธุรกิจที่มีความประสงค์บริจาคอาหารส่วนเกินให้กับชุมชนที่เดือดร้อนจึงทำให้การขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ยังไม่เพียงพอ เราจะมาค้นหาคำตอบ และหาแนวทางเพื่อบรรลุเป้าหมายความยั่งยืน (SDGs) ไปด้วยกันภายในปี 2030 ตามที่องค์การสหประชาชาติได้เรียกร้องให้ทั่วโลกมีการดำเนินการแก้ไขปัญหาในทันทีในงาน ZERO Summit 2021 งานสัมมนา (ออนไลน์) ครั้งแรกที่ขับเคลื่อนเรื่องการแก้ไขปัญหาขยะอาหารเพื่อสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนจัดโดย มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (เอส โอ เอส) มูลนิธิกู้ภัยอาหารแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 29 กันยายน 2564

Read More

การเดินทางของ “อาหารส่วนเกิน” จากผู้ให้ส่งถึงมือผู้รับ

“อาหารที่มูลนิธิเอามาให้มันช่วยเราได้เยอะ อย่างผักนี่เอาไปต้มจืดก็กินได้หลายมื้อแล้ว ยิ่งช่วงโควิดอย่างนี้มันช่วยได้มากจริงๆ” เสียงจากชาวชุมชนมักกะสัน ขณะกำลังช่วยกันลำเลียงอาหาร ทั้งผักสด ผลไม้ ออกจากรถเก็บความเย็นของมูลนิธิเอสโอเอสที่นำอาหารที่ได้รับบริจาคมาส่งต่อให้กับชุมชน แต่ละวันเรามีอาหารส่วนเกินที่เกิดจากการผลิตที่เกินความจำเป็นอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งอาหารจากไลน์บุฟเฟต์ ร้านอาหาร ผักผลไม้ที่ไม่สวย อาหารกระป๋อง และอาหารแช่แข็งที่ถูกถอดออกจากชั้นวางในซูเปอร์มาร์เก็ตตามมาตรฐานของห้างร้านแม้จะยังไม่หมดอายุก็ตาม อาหารเหล่านี้กลับถูกทิ้งไปอย่างไร้ประโยชน์ ซึ่งจากรายงานขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า แต่ละปีทั่วโลกมีอาหารที่ถูกทิ้งถึง 1 ใน 3 ของอาหารที่ถูกผลิตขึ้นทั้งปี ขณะเดียวกันกลับมีกลุ่มคนที่ขาดแคลนและไม่สามารถเข้าถึงอาหารเพิ่มขึ้นทุกปีเช่นกัน มูลนิธิ สโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (Scholars of Sustenance: SOS) หรือ เอสโอเอส ประเทศไทย จึงเข้ามาทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการนำส่วนหนึ่งของอาหารส่วนเกินเหล่านั้นไปส่งมอบให้กับผู้ที่ขาดแคลน ทั้งตามชุมชน สถานสงเคราะห์ เพื่อไม่ให้อาหารถูกทิ้งอย่างไร้ประโยชน์ ในทุกๆ เช้า ณ ที่ทำการของมูลนิธิเอสโอเอส เหล่า Food Rescue Ambassador หรือผู้พิทักษ์รักษ์อาหาร ที่ทำหน้าที่เก็บกู้และส่งต่ออาหารส่วนเกินที่ได้รับบริจาคมาให้แก่ชุมชนต่างๆ จะคอยตระเตรียมความพร้อมในการออกไปรับอาหาร โดยทยอยนำตะกร้าพร้อมกล่องสำหรับบรรจุอาหารลำเลียงขึ้นรถเก็บความเย็นจำนวน 4 คัน

Read More

มูลนิธิ SOS กับภารกิจ กอบกู้ “อาหารส่วนเกิน” เติมเต็มความหิว

ทุกวันนี้โลกของเราผลิตอาหารที่มากพอจะเลี้ยงคนได้ถึงหมื่นล้านคน ในขณะที่ประชากรบนโลกมีเพียง 7.8 พันล้านคน แต่กระนั้นยังมีกลุ่มคนอีกกว่า 1 พันล้านคนที่ยังขาดแคลนและไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่มีประโยชน์ได้ ในขณะที่เราผลิตอาหารได้จำนวนมาก แต่ทำไมยังมีผู้คนที่ขาดแคลนและหิวโหยอยู่จำนวนไม่น้อย? “อาหารส่วนเกิน” ที่ถูกผลิตขึ้นมาเหล่านั้นถูกส่งไปที่ใด? รายงานจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เปิดเผยว่า ในแต่ละปีทั่วโลกมีอาหารที่ถูกทิ้งราวๆ 1.3 ล้านตัน หรือ 1 ใน 3 ของอาหารที่ถูกผลิตขึ้นทั้งปี ที่กลายเป็น “ขยะอาหาร” ทั้งที่ยังใช้ประโยชน์ได้ ถูกนำไปทิ้งในบ่อฝังกลบ หมักหมมจนก่อให้เกิดก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจก สาเหตุของภาวะโลกร้อน และถ้าขยะพลาสติกเป็นหนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สังคมให้ความสำคัญ ขยะอาหารที่ส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารและสิ่งแวดล้อมก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน จะดีกว่าไหม ถ้าเราสามารถนำอาหารส่วนเกินเหล่านี้ไปส่งต่อให้กับผู้ที่ขาดแคลน เพื่อทำให้อาหารที่ผลิตออกมามีประโยชน์อย่างสูงสุด แทนที่จะกลายเป็นขยะอาหารที่สูญเปล่าและก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา “สาเหตุหลักของอาหารเหลือทิ้งหรือขยะอาหารคือการจัดการอาหารที่ไม่เป็นระบบ การซื้อกักตุนไว้เกินความจำเป็น มาตรฐานการบริโภค การคัดมาตรฐานสินค้าเกษตรที่ต้องดูดีสวยงาม ทำให้บ่อยครั้งอาหารที่ยังบริโภคได้ ผัก ผลไม้ ที่รูปร่างไม่สวยต้องถูกทิ้งเป็นขยะอย่างน่าเสียดาย ซึ่งการจะแก้ปัญหาอาหารเหลือทิ้งอย่างยั่งยืนนั้น คือการสร้างทัศนคติที่ดี ตระหนักรู้ และรับผิดชอบในการบริโภค รวมถึงสร้างระบบการจัดการอาหารเหลือที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งมูลนิธิ SOS มองเห็นถึงความสำคัญตรงนี้ จึงเข้ามาเป็นตัวกลางในการส่งต่ออาหารส่วนเกินเหล่านี้ไปยังผู้ที่ขาดแคลน โดยใช้ระบบโลจิสติกส์ที่เรามีความชำนาญ

Read More