Home > มหาวงศ์

MAHAVAMSA: ตำนานประวัติศาสตร์แห่งลังกาทวีป

 Column: AYUBOWAN เรื่องราวความเป็นไปและเหตุบ้านงานเมืองของแต่ละประเทศ นอกจากจะดำเนินไปท่ามกลางพลวัตแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ไม่สิ้นสุดและบ่อยครั้งที่ประวัติการณ์แห่งความเป็นมาจำเริญควบคู่กับเรื่องเล่าและตำนานที่ถือเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ไปในคราวเดียวกันด้วย ต้นทางแห่งประวัติศาสตร์การก่อร่างสร้างประเทศของทั้งชาวสิงหลในศรีลังกา หรือแม้กระทั่งความจำเริญของพระพุทธศาสนาในลังกาทวีป ก็ดำเนินอยู่ในบริบทที่ไม่ได้แตกต่างจากความข้อนี้มากนัก หากแต่เรื่องเล่าและตำนานความเป็นไปเหล่านี้ได้รับการจดบันทึกไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างดีให้ผู้คนในยุคหลังได้ศึกษาและสืบค้น ตำนานแห่ง Mahavamsa หรือที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยว่า “มหาวงศ์” ถือเป็นตำนานประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญมากที่สุดฉบับหนึ่งของสังคมศรีลังกา เพราะเป็นการบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่สมัยพุทธกาลไล่เรียงผ่านห้วงเวลาที่ยาวนานมาสู่ยุคของการสร้างบ้านแปงเมืองในอาณาจักรอนุราธปุระ ที่จำเริญอยู่นับตั้งแต่ 377 ปีก่อนคริสตกาลถึงคริสต์ศักราช 1017 กล่าวสิริรวมก็ถือว่าเป็นการบันทึกเรื่องราวในช่วงกว่า 1,000 ปีของประวัติศาสตร์ศรีลังกายุคต้นไว้เลยทีเดียว ความสำคัญของมหาวงศ์ ในฐานะที่เป็นอภิมหาลำดับเหตุการณ์ (Great Chronicle) ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในมิติที่เล่าขานความเป็นไปของปรากฏการณ์ในยุคต้นของลังกาทวีป ที่ประกอบส่วนด้วยประเด็นทางการเมืองและการทูตกับอาณาจักรรอบข้าง การแข่งขันช่วงชิงในราชสำนัก หากแต่มหาวงศ์ยังเป็นบันทึกว่าด้วยความจำเริญของพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท และถือเป็นวรรณคดีประเภทมหากาพย์ที่รจนาขึ้นในภาษาบาลีที่ได้รับการยอมรับว่าสำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุดฉบับหนึ่งอีกด้วย ต้นทางแห่งมหากาพย์ มหาวงศ์ ที่ยิ่งใหญ่นี้ เกิดขึ้นจากการรจนาของพระมหาเถระมหานามะแห่งอนุราธปุระ (Mahanama of Anuradhapura) เมื่อประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 5 ในยุคสมัยของ Dhatusena ซึ่งเป็นกษัตริย์ปกครองอนุราธปุระในช่วงคริสต์ศักราช 455-473 โดยอาศัยข้อมูลทั้งจากพงศาวดาร และตำราต่างๆ ในวัดมหาวิหาร ซึ่งถือเป็นมหาวิทยาลัยอันยิ่งใหญ่ของพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท มารจนาในรูปแบบคาถา หรือบทกวีที่มีฉันทลักษณ์พรรณนาเหตุการณ์ความเป็นไปกว่า 3,000 โศลก ลำดับของเนื้อหาใจความของ มหาวงศ์ ไล่เรียงตั้งแต่เมื่อครั้งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จเยือนลังกาทวีป ซึ่งความตอนนี้ถูกถ่ายทอดเป็นอรรถคาถาถึง 84

Read More