วันพฤหัสบดี, มีนาคม 28, 2024
Home > On Globalization > สถานการณ์ที่เลวร้ายลงของการลวนลามทางเพศและการข่มขืนในที่ทำงาน

สถานการณ์ที่เลวร้ายลงของการลวนลามทางเพศและการข่มขืนในที่ทำงาน

การถูกลวนลามทางเพศ (Sexual Harassment) เป็นเรื่องที่ผู้หญิงทุกคนมีโอกาสที่จะได้พบเจอในการใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในที่สาธารณะ ยกตัวอย่างเช่น การที่ผู้หญิงจะต้องเดินผ่านกลุ่มผู้ชายที่นั่งคุยกันอยู่ตรงมุมใดมุมหนึ่งของถนน แน่นอนว่าเมื่อเธอเดินผ่านก็อาจจะโดนแซ็ว หรือพวกเขาอาจจะยืนขวางไม่ให้เธอเดินต่อ หรือร้ายแรงที่สุดเธออาจจะโดนข่มขืนก็ได้ อย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่เมืองนิวเดลี ประเทศอินเดีย เมื่อปี 2012 ที่นักเรียนหญิงถูกข่มขืนบนรถเมล์จากกลุ่มเด็กหนุ่มที่นั่งอยู่บนรถเมล์คันเดียวกัน ดังนั้นการลวนลามทางเพศสามารถเกิดขึ้นได้ทุกวัน ทุกเวลา และไม่สามารถคาดคะเนได้เลยว่าในแต่ละสถานการณ์ ความรุนแรงระดับไหนที่อาจจะเกิดขึ้นได้

สถานการณ์ความรุนแรงเรื่องการลวนลามทางเพศนั้นดูจะเลวร้ายมากขึ้น จะเห็นได้ว่าเราได้รับรู้ข่าวสารต่างๆ เกี่ยวกับผู้หญิงที่ถูกลวนลามในที่สาธารณะมากขึ้น และผู้หญิงที่ต้องตกเป็นเหยื่อเหล่านี้ก็มีอยู่ในทุกประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอังกฤษ ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และนิวซีแลนด์ เป็นต้น จากการเปิดเผยเรื่องราวการถูกลวนลามทางเพศในโลกออนไลน์พบว่า ไม่ว่าจะเป็นถนนในเมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ ถนนในเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย หรือถนนในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ล้วนแต่มีผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อถูกลวนลามทางเพศมาแล้วทั้งนั้น

เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2017 องค์การอนามัยโลกได้สรุปไว้ว่า มีผู้หญิงประมาณ 35% จากทั่วโลกในแต่ละปีที่ถูกลวนลามทางเพศหรือถูกข่มขืนอย่างน้อย 1 ครั้งในช่วงชีวิตของพวกเธอ จากการสำรวจขององค์การสหประชาชาติในปี 2016 ที่เมืองวอชิงตัน ดี.ซี. พบว่ามีผู้หญิงถึง 1 ใน 4 ที่โดนลวนลามระหว่างใช้บริการขนส่งสาธารณะ และในการสำรวจเมื่อปี 2013 ที่ประเทศอียิปต์พบว่า มีผู้หญิงถึง 99% จากการสำรวจทั่วประเทศที่ตกเป็นเหยื่อในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

จากตัวเลขสถิติข้างต้น จะเห็นได้ว่าความรุนแรงทางเพศนั้นอยู่รอบตัวเรา และสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ รวมไปถึงที่ทำงานด้วย หากเราลองสังเกตข่าวต่างๆ ที่เกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศ จะเห็นได้ว่าช่วงหลังๆ มานี้ จะได้ยินเรื่องผู้หญิงถูกลวนลามทางเพศในที่ทำงานหรือถูกข่มขืนจากคนที่รู้จักในที่ทำงานบ่อยขึ้น เพราะที่ทำงานเป็นสถานที่ที่ผู้ชายและผู้หญิงมีโอกาสใช้เวลาด้วยกันในแต่ละวันค่อนข้างมาก สำหรับบางคนอาจจะใช้เวลากับหัวหน้างานในแต่ละวันมากกว่าครอบครัวด้วยซ้ำไป

ยกตัวอย่างเช่น ข่าวดังในช่วงเดือนตุลาคม ปี 2017 ที่ปลุกกระแสสังคมตื่นตัวกับเรื่องการถูกลวนลามทางเพศในที่ทำงาน และในที่สาธารณะให้กับทั้งโลก กรณีของ Harvey Weinstein ซึ่งเป็นผู้ผลิตภาพยนตร์ในวงการฮอลลีวูด และเป็นเจ้าของบริษัท Weinstein เรื่องราวอื้อฉาวนี้ถูกเปิดเผยเมื่อหนังสือพิมพ์ New York Times ตีพิมพ์บทความข้อกล่าวหาในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ที่มีดาราและลูกจ้างหลายคนยืนยันว่า พวกเธอถูกลวนลามจาก Harvey Weinstein ด้วยการบังคับให้พวกเธอนวดให้ หรือต้องทนดูเขาแก้ผ้า หรือยอมมีเพศสัมพันธ์กับเขาเพื่อที่จะได้มีงานและอนาคตที่ดีในวงการเป็นการตอบแทน หลังจากที่ข่าวเหล่านี้ออกมา Harvey Weinstein ได้กล่าวขอโทษ ทำให้ผู้หญิงเหล่านี้เสียความรู้สึก แต่เขาไม่ยอมรับข้อกล่าวหาใดๆ ที่บอกว่าเขาไปลวนลามลูกน้องและดาราจำนวนมาก

มีดาราหลายคน ยกตัวอย่างเช่น Rose McGowan, Ashley Judd, Brie Larson, Lena Dunham, Meryl Streep, Dame Judi Dench, Gwyneth Paltrow, Angelina Jolie, Lysette Anthony, Lauren Holly และ Romola Garai ได้ออกมายืนยันว่าพวกเธอถูกลวนลามระหว่างที่ทำงานกับ Harvey Weinstein อย่าง Romola Garai ได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ The Guardian ว่า เมื่อตอนที่เธอไปออดิชั่นกับ Harvey Weinstein นั้นเธออายุเพียงแค่ 18 ปี Harvey Weinstein ได้นัดเธอไปฟังผลการออดิชั่นที่โรงแรมที่เขาพักอยู่ โดยที่เขาใส่เสื้อคลุมอาบน้ำออกมาคุยกับเธอที่หน้าประตู เหตุการณ์นี้ทำให้เธอรู้สึกว่าเธอกำลังโดนคุกคามทางเพศอยู่ หรืออย่าง Angelina Jolie ก็ให้สัมภาษณ์ว่า การที่เธอถูกลวนลามทางเพศในที่ทำงานจาก Harvey Weinstein ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่แย่ที่สุดในชีวิตของเธอในช่วงวัยรุ่นเลย

หลังจากที่มีดาราและผู้หญิงอีกหลายคนออกมาเปิดเผยเรื่องถูกลวนลามทางเพศในที่ทำงานจาก Harvey Weinstein นิตยสาร New Yorker ได้สัมภาษณ์แบบเจาะลึกกับผู้หญิงอีก 13 คน ที่ตกเป็นเหยื่อ เพื่อให้พวกเธอเล่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ใน 13 คนนี้มีอยู่ 3 คนที่บอกเล่าว่าพวกเธอถูกข่มขืน และแน่นอนว่า Harvey Weinstein ไม่เคยยอมรับว่าข่มขืนพวกเธอทั้ง 3 คน โดย 1 ใน 3 คนนี้เล่าว่า เธอโดนข่มขืนเมื่อเธอไปออดิชั่นงานกับ Harvey Weinstein ในปี 2004 หลังจากนั้น Lysette Anthony ก็ได้ให้สัมภาษณ์ว่า เธอเองก็ถูก Harvey Weinstein ข่มขืนที่บ้านพักของเธอในประเทศอังกฤษเช่นกัน และยังมีอีกหลายคนที่ออกมาบอกเล่าว่าพวกเธอถูกข่มขืนหรือถูกลวนลามทางเพศอย่างไรบ้าง

จากกระแสข่าวที่เป็นที่สนใจของสังคมนี้ ทำให้ตำรวจในประเทศสหรัฐอเมริกาและอังกฤษไปค้นหาข้อกล่าวหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงตั้งแต่ปี 1980 ถึงปี 2004 ก็พบว่า Harvey Weinstein เคยถูกตั้งข้อหาลวนลามทางเพศในที่ทำงานหลายครั้ง แต่เขาไม่เคยถูกดำเนินคดีใดๆ เหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้ตำรวจเริ่มสืบสวนเรื่องนี้และเรียกบุคคลต่างๆ ไปสัมภาษณ์เพื่อให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมในการดำเนินคดีกับ Harvey Weinstein

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ทำให้มีผู้หญิงจากทั่วทุกมุมโลกออกมาเปิดเผย และเล่าประสบการณ์ของตนเองที่ถูกลวนลามทางเพศในที่ต่างๆ และถูกข่มขืนทั้งจากคนใกล้ชิดและคนที่ไม่รู้จักในโลกโซเชียลเพิ่มขึ้น และใส่แฮชแท็ก (Hashtag) คำว่า MeToo เอาไว้ที่ประสบการณ์ของตัวเองด้วย

ปรากฏการณ์แฮชแท็ก MeToo ในครั้งนี้ กระจายไปทั่วทุกมุมโลก ในตอนนี้มีอย่างน้อย 85 ประเทศแล้วที่ผู้หญิงได้มาบอกเล่าประสบการณ์ของตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น อินเดีย ปากีสถาน อังกฤษ ฝรั่งเศส ฟิลิปปินส์ อิตาลี แคนาดา อิสราเอล เป็นต้น ซึ่งในบางประเทศก็อาจจะเปลี่ยนคำว่า MeToo เป็นภาษาของตนเอง อย่างที่แคนาดา ที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นหลัก ก็ใช้แฮชแท็กคำว่า MoiAussi แทนคำว่า MeToo

จากปรากฏการณ์ในครั้งนี้ ทำให้เรื่องของ Hayley Young ซึ่งเป็นอดีตทหารเรือของประเทศนิวซีแลนด์ได้รับความสนใจจากสื่อขึ้นมาทันที เมื่อเธอเปิดเผยว่า เธอถูกข่มขืนจากทหารเรือซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานของเธอ และเรื่องนี้ไม่มีใครทราบเลย จนกระทั่งเธอตัดสินใจที่จะลาออกและเมื่อปีที่แล้วเธอได้ตัดสินใจที่จะฟ้องกองทัพเรือของประเทศนิวซีแลนด์และประเทศอังกฤษที่ล้มเหลวในการดูแลความปลอดภัยในที่ทำงานให้กับลูกจ้าง และเมื่อกลางเดือนธันวาคมของปี 2017 ศาลสูงอนุญาตให้ Hayley Young สามารถเปิดเผยชื่อและเรื่องของเธอได้ ทำให้สื่อสามารถสัมภาษณ์และตีแผ่เรื่องที่เธอถูกข่มขืนในกองทัพเรือได้

Hayley Young ในวัย 23 ปี ได้สมัครเข้าไปเป็นทหารเรือ และเมื่อผ่านการคัดเลือกได้แล้ว เธอก็ถูกส่งไปฝึกขั้นพื้นฐานที่ประเทศอังกฤษ ระหว่างที่เข้ารับการฝึก ทหารหญิงจะต้องเข้ารับการอบรมวิธีการวางตัวในกรมทหารเรือ (Reputation Management) ซึ่งในการอบรมนี้จะมีการบอกเล่าว่า ในวัฒนธรรมของทหารเรือนั้น การลวนลามทางเพศในที่ทำงาน การมีเพศสัมพันธ์กับหัวหน้างานเพื่อเลื่อนตำแหน่งหรือผลประโยชน์อื่นๆ นั้นมีอยู่จริง และในการอบรมนี้ก็ได้สอนและบอกเล่าเทคนิคต่างๆ ให้กับทหารหญิงเพื่อเอาไว้หลีกเลี่ยงในสถานการณ์ต่างๆ เมื่อพวกเธอไม่ต้องการมีเพศสัมพันธ์ด้วย จุดประสงค์หลักๆ ของการอบรมเรื่องนี้คือ ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ทหารหญิงก็จะต้องเจอสถานการณ์เหล่านี้แน่ๆ แต่สิ่งที่พวกเธอจะต้องรู้คือ พวกเธอจะดูแลตัวเองให้รอดพ้นจากสถานการณ์เหล่านี้ได้อย่างไร

แน่นอนว่าในระหว่างที่พวกเธอกำลังอบรมอยู่ เธอต้องพบเจอกับคำพูดสองแง่สองง่ามเป็นเรื่องปกติในทุกวัน และเมื่อเธอเข้ารับการอบรมเกิน 6 เดือน เธอก็รู้สึกว่า เธอเป็นเหมือนสิ่งของ และเริ่มไม่แน่ใจว่าการกระทำแบบไหนถือว่าเป็นการลวนลามทางเพศและการกระทำไหนที่ไม่ใช่ เพราะหลายๆ ครั้งที่เธอถูกทหารผู้ชายแตะเนื้อต้องตัวทั้งๆ ที่ไม่ต้องการ แต่หัวหน้ากลับมองว่ามันเป็นที่แซ็วกันเล่นมากกว่า

ในปี 2009 มีคืนหนึ่งพวกเธอออกไปนั่งกินข้าวและดื่มแอลกอฮอล์กัน แต่ระหว่างที่นั่งคุยกันอยู่ บทสนทนากลับมีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เธอกับทหารชายอีกคนหนึ่งตัดสินใจกลับไปที่กรมพร้อมกัน และเมื่อถึงที่กรมแล้วเธอก็แยกกับทหารชายคนนั้นเพื่อเดินกลับห้องพักของเธอ แต่ทหารชายคนนั้นกลับเดินตามเธอไป และข่มขืนเธอ Hayley Young เล่าว่าก่อนที่เธอจะโดนข่มขืน เธอได้ปฏิเสธเขาถึง 30 ครั้ง พร้อมกับอ้อนวอนไม่ให้เขาข่มขืนเธอ หลังจากที่เธอโดนข่มขืน ในวันรุ่งขึ้นเธอเล่าเรื่องนี้ให้เพื่อนฟัง และทุกคนมีความเห็นเหมือนกันว่า Hayley Young ไม่ควรบอกเรื่องนี้กับใคร เพราะเมื่อไหร่ที่เธอบอกเล่าเรื่องนี้ เธอก็จะหมดอนาคตในการเป็นทหารเรือ ทำให้ Hayley Young ตัดสินใจที่จะไม่บอกใครเกี่ยวกับเรื่องนี้

Hayley Young เก็บเรื่องนี้ไว้หลายปี จนกระทั่งปี 2012 เธอไม่สามารถทนรับความเจ็บปวดกับเรื่องที่เกิดขึ้นได้ และคิดว่าเธอสามารถหางานใหม่ทำได้ ถ้าหากถูกไล่ออก ดังนั้น Hayley Young จึงเขียนจดหมายถึงผู้บัญชาการทหารเรือและบอกเล่าเรื่องที่เกิดขึ้น แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย ทำให้ในที่สุด Hayley Young ตัดสินใจฟ้องศาลเพื่อดำเนินคดีกับกองทัพเรือของนิวซีแลนด์และอังกฤษที่ล้มเหลวในการดูแลความปลอดภัยในที่ทำงานให้กับลูกจ้าง เพื่อเรียกร้องให้กองทัพเรือปฏิบัติกับทหารหญิงอย่างให้เกียรติในเวลาทำงาน และมีข้อบังคับที่เข้มงวดในเรื่องลวนลามทางเพศ

สำหรับคดีนี้กองทัพเรือของนิวซีแลนด์ได้ออกมาปฏิเสธที่จะต้องรับผิดชอบเรื่องความปลอดภัยของทหารหญิงในที่ทำงาน เพราะทหารหญิงเหล่านี้ไม่ได้เป็นลูกจ้างเหมือนบริษัททั่วไปที่จะต้องดูแลความปลอดภัยของพนักงาน ซึ่งคดีนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา แต่ขณะเดียวกันกองทัพเรือได้มีการออกกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้น เพื่อยุติพฤติกรรมต่างๆ ที่ดูเป็นการลวนลามทางเพศในที่ทำงาน เพราะหลังจากที่ Hayley Young ออกมาเปิดเผยเรื่องของเธอ ก็มีทหารเรืออีกหลายสิบคนที่ออกมาพูดเรื่องที่พวกเธอถูกลวนลามทางเพศในที่ทำงาน

2 ตัวอย่างที่หยิบยกมาเล่าให้ฟังนี้ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนเลยว่า ทุกวันนี้มีผู้หญิงเป็นจำนวนมากที่ถูกลวนลามทางเพศในที่ทำงาน และบางคนอาจจะโดนข่มขืนในที่ทำงานด้วยซ้ำไป เพียงแต่พวกเธอไม่กล้าออกมาเปิดเผย เพราะวัฒนธรรมในที่ทำงานและของสังคมอาจจะทำให้พวกเธอกลายเป็นคนที่ผิดเอง เรื่องการลวนลามทางเพศในที่ทำงานจึงควรที่จะได้รับความสนใจจากทุกฝ่ายในการช่วยกันแก้ไขปัญหานี้ ก่อนที่สถานการณ์การถูกลวนลามในที่ต่างๆ จะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวและไม่สามารถแก้ไขได้ในอนาคต

Photo Credit: https://www.freeimages.com/photo/military-medals-1315498

 

ใส่ความเห็น