วันอังคาร, มีนาคม 19, 2024
Home > Cover Story > ZEN ดันหัวหอก “เขียง-มูชะ” นำร่องบุกสมรภูมิจีสโตร์

ZEN ดันหัวหอก “เขียง-มูชะ” นำร่องบุกสมรภูมิจีสโตร์

เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป เปิดฉากบุกแนวรบ “จีสโตร์” ครั้งแรกในรอบเกือบ 30 ปี ตามแผนยุทธศาสตร์การขยายช่องทางเจาะลูกค้าทุกกลุ่ม โดยนำร่อง 2 แบรนด์น้องใหม่ “เขียง-มูชะ” เพื่อทดลองเจาะตลาด 2 เซกเมนต์ ทั้งอาหารญี่ปุ่นและอาหารไทย ซึ่งบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ZEN หมายมั่นปั้นมือจะให้เป็น “หัวหอก” ดันรายได้เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด

แน่นอนว่า หากนับจำนวนสาขาทุกแบรนด์ในเครือ ZEN มีร้านอาหารมากถึง 12 แบรนด์ รวม 255 สาขา แบ่งเป็นกลุ่มแบรนด์ร้านอาหารไทย 167 สาขา และกลุ่มแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่น 88 สาขา ซึ่งในจำนวนดังกล่าวแบ่งเป็นร้านอาหารที่กลุ่มบริษัทฯ เป็นเจ้าของ 110 สาขา และให้สิทธิ์แฟรนไชส์ 145 สาขา

กลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่นมี 6 แบรนด์ ประกอบด้วย ZEN 43 สาขา, มูชะ (Musha by ZEN) 4 สาขา, ซูชิ ชู (Sushi Cyu Carnival Yakiniku) 3 สาขา, อากะ (AKA) 18 สาขา, เท็คซึ (Testu) 1 สาขา และ On the Table Tokyo Cafe ร้านอาหารประเภทไลฟ์สไตล์ 19 สาขา

ส่วนกลุ่มแบรนด์ร้านอาหารไทย ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่กำลังมาแรงและบริษัทเร่งขยายฐานมากขึ้น ล่าสุดมี 6 แบรนด์ ได้แก่ ตำมั่ว ปัจจุบันมีสาขารวม 118 แห่ง, ลาวญวน ร้านอาหารไทย-อีสานและเวียดนาม 24 สาขา, สุกี้ลาว แจ่วฮ้อน 13 สาขา, ร้านเฝอ 10 สาขา, เดอ ตำมั่ว (de Tummour) 1 แห่ง และร้านเขียง (Khiang by tummour) อีก 1 สาขา

บุญยงกล่าวว่า ปีนี้จะเป็นปีที่บริษัทเร่งขยายสาขาและเจาะทำเลพื้นที่หลากหลายมากขึ้น จากเดิมเน้นเปิดร้านในศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ แต่หลังจากนี้จะพุ่งเป้าทำเลอาคารสำนักงาน แหล่งชุมชน และสถานีบริการน้ำมัน เพื่อการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ระดับกลางและล่าง ซึ่งทำเลอันดับแรก คือ สถานีบริการที่มีศักยภาพทั่วประเทศ เนื่องจากปั๊มน้ำมันในยุคปัจจุบันกลายเป็นจุดพักที่รวมบริการต่างๆ แบบครบวงจร มีทราฟฟิกการเข้าออกและลูกค้ามีความต้องการสูง แต่ปัจจุบันยังมีร้านอาหารที่มีคุณภาพรองรับไม่เพียงพอ

“เราต้องการครอบคลุมลูกค้าตั้งแต่ระดับบน ระดับกลางจนถึงล่าง จึงต้องลุยช่องทางสถานีบริการน้ำมันที่มีจำนวนมากกว่า 20,000 สาขา แต่ต้องยอมรับว่า ปตท. มีสาขาที่มีทำเลน่าสนใจมากที่สุด และมีจำนวนมากเกือบ 1,900 แห่งทั่วประเทศ โดยปีนี้ บริษัทกำหนดเป้าหมายไว้แล้ว 12 ทำเล และจะเปิดสาขาร้านอาหารให้ได้อย่างน้อย 40 สาขา มี 2 แบรนด์หลัก คือ เขียงและมูชะ ซึ่งบริษัทพัฒนาขึ้นมาเพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าระดับกลางและล่าง”

เหตุผลสำคัญ คือ แบรนด์เขียงและมูชะมีรูปแบบสาขาที่เรียกว่า Micro Format ใช้พื้นที่ขนาดเล็ก เมนูอาหารไม่ซับซ้อน และใช้เงินลงทุนไม่สูง ซึ่งง่ายต่อการขยายสาขาและขายสิทธิ์แฟรนไชส์ โดยล่าสุดเปิดแล้ว 1 สาขา คือ ร้านเขียงภายในสถานีบริการน้ำมัน ปตท. สาขาเจษฎาบดินทร์ จังหวัดนนทบุรี และประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์จะเปิดเพิ่มอีก 1 สาขา บริเวณเลียบด่วนรามอินทรา

อย่างร้านเขียง เป็นร้านอาหารไทยสไตล์ “สตรีทฟู้ด” หรืออาหารบริการแบบด่วน สอดรับกับไลฟ์สไตล์ของคนไทย ราคาไม่แพง เฉลี่ยมื้อละไม่เกิน 100 บาท รวมเครื่องดื่ม ซึ่งเหมาะกับกลุ่มลูกค้าวัยเริ่มต้นทำงาน ครอบครัว นักเรียน นักศึกษา นักเดินทางที่ต้องการรับประทานอาหารแบบเร่งด่วน สบายๆ และมีคุณภาพ โดยชูจุดขายด้านคุณภาพ นอกเหนือจากความอร่อย

เช่น เมนูประเภทข้าว ไม่ว่าจะเป็นข้าวผัดกะเพราหมูสับ ข้าวหมูกระเทียม ข้าวไข่ยู่ยี่ ข้าวผัดคะน้าหมูกรอบ ใช้ข้าวหอมมะลิจากทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดในโลก ข้าวมีกลิ่นหอมและนุ่ม รวมถึงมีเมนูข้างเคียงอื่นๆ เช่น ลูกชิ้นนึ่ง หมูยอนึ่ง

ส่วน “มูชะ” เป็นร้านอาหารญี่ปุ่นแนวใหม่ คอนเซ็ปต์ ร้านข้าวสไตล์ญี่ปุ่น ใช้ข้าวญี่ปุ่นแท้และมีเมนูให้เลือกเกือบ 50 เมนู ที่สำคัญมีจุดขายพิเศษ คือ เติมข้าวได้ไม่อั้น ปรุงสด หน้าล้น และไม่คิดค่าบริการ 10% ราคาเริ่มต้น 95 บาท เช่น ข้าวหน้าไก่ ข้าวหน้าไข่ข้นเบคอนปูอัด ข้าวแกงกะหรี่คอหมูย่างไข่ข้น รวมทั้งมีเมนูญี่ปุ่นอื่นๆ ด้วย เช่น สลัดเบคอนกรอบ อุด้งต้มยำไก่ทอด มุฉะชิสซี่ เน้นจับกลุ่มนักเรียน นักศึกษา วัยเริ่มต้นทำงาน กลุ่มครอบครัว คนรุ่นใหม่ที่นิยมรับประทานอาหารญี่ปุ่น และเป็นอาหารญี่ปุ่นสไตล์ “ควิกมีล” จานด่วน

ล่าสุด มูชะเปิดให้บริการ 4 สาขา ในห้างบิ๊กซี นครปฐม ห้างแหลมทอง บางแสน เมเจอร์รัชโยธิน และแปซิฟิค พาร์ค ศรีราชา ซึ่งหลังจากนี้บริษัทจะเร่งขยายสาขาในสถานีบริการน้ำมันในรูปแบบไมโครฟอร์แมตเช่นกัน

ทั้งนี้ การเร่งขยายสาขาร้านเขียงและร้านมูชะอย่างรวดเร็วจะใช้ระบบแฟรนไชส์มากขึ้น เงินลงทุนไซส์เล็กเฉลี่ย 2-2.5 ล้านบาทต่อสาขา โดยบริษัทจะทำสัญญากับแฟรนไชซี ระยะเวลา 5 ปี และกำหนดเก็บค่าตอบแทน 3 รูปแบบ คือ Initial Fee หรือค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บครั้งแรกเพียงครั้งเดียวตลอดอายุสัญญาแฟรนไชส์

ส่วนค่า Royalty Fee และ Marketing Fee เป็นค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บรายเดือน โดยคิดเป็นอัตราร้อยละของยอดขายต่อเดือนของแฟรนไชซีเหมือนกัน แต่กำหนดอัตราตัวเลขต่างกัน

ต้องยอมรับว่า การบุกสมรภูมิ “จีสโตร์” ของค่ายอาหารระดับพรีเมียมอย่าง ZEN รวมถึงอีกหลายเจ้า เช่น ร้านเย็นตาโฟทรงเครื่อง โดย อ.มัลลิการ์ ร้านแบล็คแคนยอน กำลังสะท้อนภาพเกมรุกของเหล่าเชนร้านอาหารยักษ์ใหญ่ที่มองสถานีบริการน้ำมันเป็นทำเลทองสร้างฐานรายได้ใหม่ในทิศทางเดียวกัน

กรณีร้านกาแฟยักษ์ใหญ่ “สตาร์บัคส์” ล่าสุดประกาศจับมือกับค่ายน้ำมันเอสโซ่ ลุยเปิดร้านกาแฟในสถานีบริการน้ำมันเอสโซ่ โดยประเดิมสาขาแรก ทีเอ็มเค พาร์ค ที่ถือเป็นไดร์ฟทรูสาขาแรกในสถานีบริการน้ำมันในประเทศไทย และเตรียมขยายเพิ่มอีก 2 สาขาในปั๊มเอสโซ่ จ.นนทบุรีและเพชรบุรี

กลุ่มฟาสต์ฟู้ด ไม่ว่าจะเป็นไก่ทอดเคเอฟซี เพิ่งเผยโฉมสาขาแห่งที่ 700 ในสถานีบริการน้ำมัน ปตท. บนถนนสวนหลวง-พุทธสาคร อ.กระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เป็นร้านแบบนั่งรับประทานและไดร์ฟทรู และล่าสุด จากสาขารวมทั้งสิ้น 701 แห่ง เป็นร้านแบบไดร์ฟทรู จำนวน 65 แห่ง

เบอร์เกอร์คิงในเครือไมเนอร์ เมื่อปี 2561 ตั้งงบลงทุน 400 ล้านบาท เพื่อขยายสาขา 16 สาขา ในทุกรูปแบบ โดยเน้นรูปแบบไดร์ฟทรู เปิดบริการ 24 ชั่วโมง และเน้นเปิดไดร์ฟทรูในปั๊มน้ำมัน ประมาณ 10 สาขา โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นหลัก จากปัจจุบันมีสาขาแบบไดร์ฟทรู 25 สาขา เนื่องจากช่องทางไดร์ฟทรูสามารถทำยอดขายมากกว่าสาขาในศูนย์การค้าหรือห้างค้าปลีกต่างๆ สามารถเปิดบริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะในปั๊มน้ำมัน ซึ่งขณะนี้เบอร์เกอร์คิงรุกเปิดทั้งในปั๊ม ปตท. เอสโซ่ บางจาก เชลล์ และคาลเท็กซ์

ขณะที่แบรนด์ A&W เมื่อเร็วๆ นี้เปิดสาขาใหม่ในสถานีบริการน้ำมันบางจาก แยกสุขุมวิท 62 (ติด BTS สถานีบางจาก) เป็นสาขาที่ 6 ที่เปิดในสถานีบริการน้ำมันบางจากและกำลังเร่งผุดอย่างต่อเนื่อง

หรือแม้กระทั่งค่าย ปตท. เจ้าของสถานีบริการน้ำมัน 1,900 แห่ง มีการขยายร้านอาหารในเครือ ทั้งการพัฒนาแบรนด์และซื้อกิจการ โดยปัจจุบันมีทั้งร้านกาแฟ คาเฟ่ อเมซอน ร้านโดนัท แด๊ดดี้โด ร้านไก่ทอด เท็กซัส ชิคเก้น ร้านติ่มซำ ฮั่วเซ่งฮง และร้านชานมไข่มุก เพิร์ลลี่ที โดยมีแผนขยายสาขาทั้งการลงทุนเองและขายสิทธิ์แฟรนไชส์ ทั้งการผุดสาขาในปั๊มน้ำมัน จุดพักรถมอเตอร์เวย์ และนอกปั๊ม เช่น ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า มหาวิทยาลัย แหล่งชุมชนหนาแน่น

ส่วนบริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG เพิ่งประกาศงบลงทุนในปี 2562 รวม 3,500 ล้านบาท แบ่งเป็นการขยายสาขาของสถานีบริการน้ำมันและก๊าซแอลพีจี 2,500 ล้านบาท 100 สาขา และเม็ดเงินอีก 500 ล้านบาท ลุยขยายธุรกิจ non-oil ทั้งร้านสะดวกซื้อ Max Mart ร้านกาแฟพันธุ์ไทย ร้านคอฟฟี่เวิลด์ และร้านข้าวแกงครัวบ้านจิตร เพิ่มอีก 150 สาขา จากปีก่อนมีสาขาทุกแบรนด์รวมประมาณ 500 สาขา

สมรภูมิจีสโตร์จึงพลิกเปลี่ยนอย่างสิ้นเชิง จากอดีตมีผู้เล่นเพียงไม่กี่ราย วันนี้ขยายแนวรบร้อนเดือดหลายเท่า

ที่แน่ๆ บริษัทน้ำมันเจ้าของที่ดินทำเลทองโกยรายได้ชนิด “เสือนอนกิน” เห็นๆ

ใส่ความเห็น