วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Life > Van Gogh/Artaud

Van Gogh/Artaud

 
ดอน แมคลีน (Don McLean) คงชื่นชอบวินเซนต์ วาน โก๊ก (Vincent Van Gogh) มาก จึงแต่งและร้องเพลง Starry night ชื่อเพลงมาจากชื่อภาพเขียนของวินเซนต์ วาน โก๊ก ภาพค่ำคืนที่มีดาวเต็มท้องฟ้า เป็นภาพสวยภาพหนึ่งของจิตรกรผู้นี้
 
วินเซนต์ วาน โก๊ก เป็นจิตรกรที่มีคนพูดถึงมากคนหนึ่ง เขาเป็นชาวเนเธอร์แลนด์ ที่เคยคิดจะเป็นนักบวช ทว่าชอบการเขียนรูป จึงไปเขียนที่โน่นที่นี่จนมาตั้งหลักที่ปารีส ซึ่งน้องชายทำงานในอาร์ตแกลเลอรีแห่งหนึ่ง วินเซนต์ วาน โก๊กจึงได้เห็นงานศิลป์และพบอาร์ทิสต์ที่แวะมาที่แกลเลอรี เขาได้ทำงานในอาร์ตแกลเลอรีด้วย แต่ถูกไล่ออกเพราะความเถรตรงจนไม่อาจเป็นพ่อค้าได้ 
 
วินเซนต์ วาน โก๊กมีปัญหาทางจิตมาตั้งแต่เด็ก เมื่อเกิดปัญหาสุขภาพครั้งใหม่ น้องชายส่งไปทางใต้ของฝรั่งเศสเพื่อพักผ่อนและเขียนรูป เขาตื่นตาตื่นใจกับแสงแดดของเมืองใต้ และปักหลักเขียนรูปที่เมืองอาร์ลส์ (Arles) ชักชวนให้เพื่อนฝูงลงไปเขียนรูปด้วยกัน มีเพียงปอล โกแกงเท่านั้นที่ตอบรับคำเชิญชวน แต่แล้วก็เกิดเรื่องเมื่อสองสหายเกิดการโต้เถียงรุนแรง เป็นที่มาของการหูแหว่งของวินเซนต์ วาน โก๊ก ตามปากคำของปอล โกแกง วินเซนต์ วาน โก๊กคลั่งขึ้นมา จึงเฉือนหูของตนเอง แต่การสันนิษฐานใหม่บ่งว่าน่าจะเป็นฝีมือของปอล โกแกงซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีว่าโมโหร้าย หลังจากนั้นปอล โกแกงก็หายไปจากชีวิตของวินเซนต์ วาน โก๊ก และไปตั้งรกรากที่ตาฮิติ ส่วนวินเซนต์ วาน โก๊กต้องเข้ารับการบำบัดทางจิตในโรงพยาบาลที่แซงต์-เรมี (Saint-Rémy de Provence) ก่อนที่จะเดินทางไปพักฟื้นที่โอแวรส์-ซูร์-อ็วส (Auvers-sur-Oise) และฆ่าตัวตายในที่สุด
 
Van Gogh/Artaud, le suicidé de la société จัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์ออร์เซย์ (Musée d’Orsay) ในฤดูใบไม้ผลิ 2014 เป็นการนำสองคน “บ้า” มาเสนอ 
 
ในปี 1947 พิพิธภัณฑ์ออรองเจอรี (Musée de l’Orangerie) จัดนิทรรศการผลงานโดยรวมของวินเซนต์ วาน โก๊ก ปิแอร์ เลิบ (Pierre Loeb) เจ้าของอาร์ตแกลเลอรีแห่งหนึ่ง ได้ขอให้อองโตแนง อาร์โตด์ (Antonin Artaud) เขียนเกี่ยวกับวินเซนต์ วาน โก๊ก เขาไม่เคยอ่านหนังสือที่มีผู้เขียนถึงจิตรกรผู้นี้ แต่ได้อ่านบางตอนของหนังสือเรื่อง Du démon de Van Gogh ซึ่งจิตแพทย์ฟรองซัวส์-จัวแชง เบียร์ (François-Joachim Beer) เขียน อองโตแนง อาร์โตด์โกรธที่มีการนำคำศัพท์ทางการแพทย์ด้านจิตเวชมาใช้กับศิลปะ เขาจึงเขียนหนังสือชื่อ Van Gogh, le suicidé de la société โดยเขาบ่งว่าวินเซนต์ วาน โก๊กไม่ได้บ้า แต่สังคมทำให้เขาบ้า และตายไปโดยที่ไม่มีใครเข้าใจ ผู้สมควรได้รับการตำหนิคือแพทย์ จิตแพทย์และญาติมิตร เขาเห็นวินเซนต์ วาน โก๊กเป็นจิตรกรเหนือจิตรกร ที่ไม่มีใครสนใจตอนที่เขายังมีชีวิตอยู่ ข้อเขียนของอองโตแนง อาร์โตด์พิมพ์ 4 เดือนก่อนที่เขาจะเสียชีวิต และเป็นที่มาของการจัดนิทรรศการวินเซนต์ วาน โก๊กในสายตาของอองโตแนง อาร์โตด์
 
อองโตแนง อาร์โตด์เป็นนักเขียน กวี นักแสดง ที่มีความสามารถเขียนรูปด้วย เขาเกิดในปี 1896 ในครอบครัวบูร์จัวส์ (bourgeois) มีปัญหาสุขภาพตั้งแต่เด็ก เจ็บปวดตามร่างกายและมีปัญหาทางจิต เขาเริ่มเขียนหนังสือในปี 1920 สนใจการละครและภาพยนตร์ เคยแสดงภาพยนตร์หลายเรื่องด้วยกัน เขาเคยเข้ารับการบำบัดทางจิตเป็นเวลา 9 ปีที่เลอ อาฟร์ (Le Havre) รูออง (Rouen) และโรเดซ์ (Rodez) ถูกช็อคด้วยไฟฟ้ากว่า 10 ครั้ง
 
Van Gogh, le suicidé de la société ได้รับรางวัล Sainte-Beuve ปลายปี 1947 
 
นิทรรศการนำภาพเขียนของวินเซนต์ วาน โก๊กมาแสดง พร้อมกับคำบรรยายของอองโตแนง อาร์โตด์ เป็นนิทรรศการที่ทำให้มองวินเซนต์ วาน โก๊กต่างไปจากเดิม ภาพเขียนที่นำมาแสดงมี 46 ภาพ ภาพ dessin 7 ภาพ และจดหมาย 2 ฉบับ จากสี่ช่วงชีวิตของเขา กล่าวคือ ช่วงที่อยู่ที่ปารีส อาร์ลส์ แซงต์-เรมี เดอ โปรวองซ์ และโอแวรส์-ซูร์-อ๊วส ส่วนใหญ่ไม่เคยแสดงที่ปารีสเลย เช่น ภาพ Lauriers roses ของ Metropolitan museum of New York ภาพ Tournesols ของ Kunstmeseum ของกรุงเบิร์น (Berne) หรือภาพ Deux harengs saurs ซึ่งวินเซนต์ วาน โก๊กมอบให้แก่ปอล ซีญัก (Paul Signac) ซึ่งเดินทางไปพบเขาที่อาร์ลส์ ภาพนี้จึงเป็นสมบัติของครอบครัวซีญักมาจาทุกวันนี้ Autoportraits และ Fauteuil de Gauguin เก้าอี้ที่ปอล โกแกงเคยนั่ง นิทรรศการแบ่งเป็นเรื่องๆ ภาพพอร์เทรต ทิวทัศน์ ภาพ natures mortes หรืออีกนัยหนึ่ง still life และภาพ dessin มีคำวิจารณ์ของอองโตแนง อาร์โตด์เพียง 3 ภาพเท่านั้น คือ Le fauteuil de Guaguin, La chambre de Van Gogh และ Autoportrait de l’automne 1887
 
Le champs de blé aux corbeaux เป็นภาพเขียนที่พิพิธภัณฑ์วาน โก๊กที่อัมสเตอร์ดัมหวงแหนมาก จึงไม่ได้นำมาแสดงด้วย หากมีการฉายวิดีโอเจาะรายละเอียดของของภาพเขียนนี้พร้อมการบรรยายประกอบ
 
ห้องหนึ่งแสดงภาพถ่ายของอองโตแนง อาร์โตด์ และภาพพอร์เทรตของเขา ซึ่งผ่านการช็อกด้วยไฟฟ้า ศีรษะที่ถูกตัดเต็มไปด้วยรู สะท้อนความทุกข์ทรมาน ทำให้คิดถึงภาพ autoprtrait ของวินเซนต์ วาน โก๊กระหว่างการรักษาตัวในโรงพยาบาลที่แซงต์-เรมี เดอ โปรวองซ์
 
ภาพเขียนที่นำมาแสดงครั้งนี้มาจากพิพิธภัณฑ์ออร์เซย์ (Musée d’Orsay)พิพิธภัณฑ์ Kröller-Müller d’Otterlo ของเนเธอร์แลนด์ พิพิธภัณฑ์วาน โก๊กที่อัมสเตอร์ดัม และ Metropolitan museum of New York ได้เห็นภาพ Nuit étoilée, Allée des Alyscamps, Eglise d’Auvers-sur-Oise เป็นต้น
 
มีการฉายบางตอนของภาพยนตร์ที่อองแนง อาร์โตด์แสดง รวมทั้งเสียงที่อัดมาเปิด