วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > Unseen-Unsafe Thailand มาตรฐานความปลอดภัยที่ต้องปรับปรุง

Unseen-Unsafe Thailand มาตรฐานความปลอดภัยที่ต้องปรับปรุง

แม้ว่าภารกิจช่วยเหลือทีมหมูป่าติดถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน ที่ดำเนินต่อเนื่องมากว่า 2 สัปดาห์จะลุล่วงและประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี พร้อมกับกระแสที่สร้างความตื่นตัวขจรขจายกลายเป็นข่าวดังไปทั่วทุกมุมโลก และส่งผ่านความน่ายินดีมาสู่ปฏิบัติการกู้ชีพกู้ภัยที่อาจเรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญในสังคมไทยในรอบหลายปี

หากแต่ท่ามกลางปฏิบัติการกู้ชีพกู้ภัยนำพาชีวิตทีมหมูป่าออกจากถ้ำ เพื่อมาสู่แสงสว่างแห่งชีวิตอีกครั้ง ในอีกด้านหนึ่งของสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจท่องเที่ยวไทยกลับต้องประสบเหตุโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ เมื่อเรือท่องเที่ยวซึ่งมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจำนวนเกือบร้อยชีวิตไม่สามารถฝ่าคลื่นลมจนต้องประสบภัยจมดิ่งสู่ก้นทะเล พร้อมกับคร่าชีวิตผู้คนไปมากถึง 43 ราย และยังมีผู้สูญหายอีก 2 ราย

ภาพที่ตัดกันของนักท่องเที่ยวเด็กในนาม ทีมหมูป่า ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย ซึ่งกลายเป็นจุดศูนย์กลางของความสนใจของผู้คนทั่วทุกมุมโลก กับภาพของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เผชิญเหตุประสบภัยกลางทะเลอันดามัน จังหวัดภูเก็ต นอกจากจะสะท้อนการนำเสนอข่าวสารของสื่อสารมวลชนในยุคที่โลกโซเชียลออนไลน์มีส่วนสำคัญ ในการนำพาอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนในสังคมแล้ว กรณีดังกล่าวยังนำไปสู่การตั้งคำถามหลากหลายในการบริหารจัดการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยอีกด้วย

แต่จุดเชื่อมของคำถามที่เหลื่อมซ้อนกันจากเหตุดังกล่าวก็คือ การท่องเที่ยวของไทยมีมาตรการด้านความปลอดภัยมากน้อยเพียงใด และประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความปลอดภัยในระดับใดกันแน่

ภาพสะท้อนกรณีดังกล่าว ถูกนำเสนออย่างเด่นชัดเมื่อสื่อมวลชนระดับนำของญี่ปุ่น “นิกเคอิ เอเชียน รีวิว” ตีพิมพ์รายงานเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ด้วยการตั้งคำถามแหลมคมต่อสังคมไทย ซึ่งบางส่วนกำลังอยู่ในอารมณ์คลายกังวลและชื่นชมที่ปฏิบัติการช่วยเหลือทีมหมูป่าออกจากถ้ำและรักษาชีวิตของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ไว้ได้สำเร็จ ว่าการท่องเที่ยวไทยมีความปลอดภัยเพียงใด

เป็นคำถามที่เกิดขึ้นหลังจากที่อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่ากรมอุทยานฯ ได้สั่งปิดการท่องเที่ยวถ้ำจำนวน 169 แห่ง จนกว่าจะมีการประเมินความปลอดภัยช่วงฤดูฝน นอกจากนี้ ยังระบุว่าต่อไปจะต้องมีการลงทะเบียนผู้เข้า-ออกถ้ำในเขตอุทยานฯ และวนอุทยานฯ ด้วย

ก่อนหน้านี้ หัวหน้ารัฐบาล คสช. ได้กล่าวขณะที่ปฏิบัติการกู้ชีวิตทีมหมูป่าติดถ้ำ กำลังอยู่ระหว่างดำเนินไปอย่างไม่มีบทสรุปที่หวานชื่นอย่างที่เป็นอยู่ และทีมหมูป่ายังคงเผชิญชะตากรรมอยู่ในถ้ำ ว่าเหตุดังกล่าวได้ส่งให้ “ถ้ำหลวง” โด่งดังและเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และจะเป็นทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญต่อไป ซึ่งสะท้อนภูมิปัญญา ตรรกวิธีคิด และสำนึกตระหนักของผู้นำและผู้บริหารระดับสูงในกลไกรัฐไทยได้เป็นอย่างดี

ยังไม่นับรวมเหตุสลดที่ติดตามมา จากการเสียชีวิตของ จ.อ.สมาน กุนัน ทหารนอกราชการ ที่จบหลักสูตรนักทำลายใต้น้ำจู่โจม หรือหน่วย SEAL รุ่นที่ 30 เจ้าหน้าที่ตระเวนระงับเหตุฝ่ายรักษาความปลอดภัย (รปภ.) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ที่ลงพื้นที่ถ้ำหลวงในฐานะจิตอาสา ระหว่างการดำเนินการลำเลียงถังออกซิเจนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในถ้ำหลวง ในช่วงเวลาถัดมาด้วย

ขณะที่สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย เผยแพร่เอกสารผ่านเว็บไซต์ของสถานทูตฯ ระบุถึงข้อเรียกร้อง 4 ข้อถึงรัฐบาลไทย ต่อกรณีเรือล่มที่ภูเก็ต ซึ่งเป็นเหตุให้นักท่องเที่ยวชาวจีนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก โดยข้อเรียกร้องของทางการจีนไล่เรียงตั้งแต่การระบุให้ฝ่ายไทยต้องไม่ลดละให้การติดตามค้นหาผู้สูญหาย มาสู่การเร่งให้ฝ่ายไทยตรวจสอบหาข้อเท็จจริง ความรับผิดชอบที่แน่ชัด โดยให้ฝ่ายจีนมีส่วนร่วมในการสอบสวน และฝ่ายไทยต้องแจ้งผลสอบสวนให้ทราบโดยทันที นอกจากนี้ยังระบุให้ฝ่ายไทยต้องแสดงความจริงใจในแผนงานเยียวยาต่อญาติผู้เคราะห์ร้าย ปกป้องสิทธิผลประโยชน์ที่ชอบธรรมแก่พวกเขา

แต่ประเด็นสำคัญจากข้อเรียกร้องของจีนน่าจะอยู่ที่การเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศไทยพัฒนาและต้องมีมาตรการที่มีประสิทธิภาพ เพิ่มการควบคุมความปลอดภัยทางการท่องเที่ยวที่จริงจัง สื่อสารและร่วมมือกับฝ่ายจีนให้มากขึ้น ป้องกันเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำอีก

ท่วงทำนองของทางการจีนในกรณีเช่นว่านี้ เกิดขึ้นภายหลังจากที่ผู้บริหารระดับสูงในรัฐบาล คสช.แสดงท่าทีต่ออุบัติภัยเรือล่มที่ภูเก็ตในลักษณะที่ปราศจากความรับผิดชอบว่า ทางการไทยโดยกรมอุตุนิยมวิทยาได้เตือนภัยสภาพอากาศแล้ว แต่บริษัทท่องเที่ยวที่ประกอบการโดยคนจีนเองที่นำพานักท่องเที่ยวชาวจีนออกไปประสบภัยและนำมาสู่ความสูญเสียครั้งนี้ ซึ่งนำไปสู่กระแสความไม่พึงพอใจในโลกออนไลน์และโซเชียลมีเดียของหมู่ชาวจีนอย่างกว้างขวาง จนเป็นเหตุร้อนให้รองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. ต้องออกมากล่าวขอโทษ ซึ่งอาจไม่มีความหมายใดๆ เลย

จริงอยู่ที่ว่า ธุรกิจการท่องเที่ยวอาจเป็นกลไกสำคัญทางเศรษฐกิจและมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 10 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และยังเป็นภาคธุรกิจที่มีอัตราเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากทั้งการเกิดขึ้นของสายการบินต้นทุนต่ำและการโหมประโคมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่พร้อมนำเสนอความสวยงามของสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ มาเป็นจุดขาย

หากแต่ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งในอดีตและในห้วงขณะปัจจุบัน ที่กำลังเป็นที่วิพากษ์อยู่ในขณะนี้อยู่ที่ความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นกรณีที่ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการเอกชนและประชาชนทั่วไปต้องย้อนกลับมาพินิจและให้ความสำคัญในการร่วมมือผลักดันเป็นอันดับแรกๆ ไม่ใช่เพื่ออำนวยความสะดวกหรือสร้างหลักประกันความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวเท่านั้น

เพราะความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินควรเป็นประหนึ่งโครงสร้างที่ประชาชนและผู้คนในสังคมไทยควรได้รับเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต เป็นสิ่งที่รัฐควรจัดสรรและสร้างหลักประกันให้กับคนในชาติก่อนที่จะนำไปประชาสัมพันธ์ในเชิงการค้าเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วยซ้ำ

ข้อเท็จจริงที่เลวร้ายก็คือ ความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยวที่กำลังจะเป็นปัจจัยฉุดกระแสการท่องเที่ยวของไทยให้เสื่อมถอยนี้ ยังประกอบส่วนเข้ากับข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ซึ่งจัดอันดับให้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนมากที่สุดในโลก โดยมีอัตราส่วนการเสียชีวิตอยู่ที่ 36.2 รายต่อคน 1 แสนคน นับเฉลี่ยเป็น 24,000 รายต่อปี และ 66 รายต่อวันเลยทีเดียว

ภายใต้สถานการณ์และโศกนาฏกรรมด้านการท่องเที่ยว ซึ่งมีมิติว่าด้วยความเป็นไปของชีวิตผู้คน และภาพลักษณ์ของประเทศในสายตาประชาคมโลกที่ดำเนินอยู่ในห้วงปัจจุบัน ดูเหมือนว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยหรือ ททท. ประเด็นว่าด้วยมาตรการความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยวดูจะเป็นประเด็นที่ห่างไกลเกินกว่าความคิดคำนึงที่จะตระหนักหรือทำความเข้าใจได้

โดยในการแถลงแผนการท่องเที่ยวปี 2562 ททท. เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ททท. ยังเชื่อมั่นการต่อยอดการท่องเที่ยวผ่าน 4 ช่องทาง ทั้งวิถีการกินสู่ประสบการณ์ท้องถิ่น การเพิ่มเนื้อหาในแอปพลิเคชัน “รู้ไทยให้ทึ่ง” การสร้างกระแสใส่ใจสิ่งแวดล้อม และการชูอัตลักษณ์เมืองรองว่าจะสามารถเพิ่มรายได้การท่องเที่ยวได้มากขึ้นในระดับร้อยละ 12 คิดเป็นมูลค่ารายได้จากการท่องเที่ยวรวมทั้งจากนักท่องเที่ยวไทยและต่างประเทศรวม 3.46 ล้านล้านบาท

หากถ้อยแถลงของผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ที่กล่าวภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจนำ “ทีมหมูป่าติดถ้ำ” ทั้ง 13 ชีวิตกลับคืนสู่โลกกว้างได้อีกครั้ง ที่ว่า “บทเรียนที่สำคัญเรื่องหนึ่ง เป็นบทเรียนที่จะสามารถนำไปใช้และขับเคลื่อนประเทศไทยได้ในระยะยาว ให้ได้พัฒนาก้าวไกลตามศักยภาพ” จะเป็นบทเรียนที่มีคุณค่าความหมายอยู่บ้าง

บางทีจุดเริ่มต้นของสิ่งที่ต้องกระทำและดำเนินการ คือการออกจากถ้ำไปหาแสงสว่างทางปัญญาและสร้างเสริมมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้คนในสังคมไทยเสียก่อนกระมัง

ใส่ความเห็น