วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > On Globalization > The man in an iron mask

The man in an iron mask

Column: From Paris

Alexandre Dumas เป็นนักเขียนนิยายอิงประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสได้ดีที่สุด แม้จะเป็นที่เดียดฉันท์ของเพื่อนนักเขียนในยุคนั้น เพราะเขียนหนังสือเพื่อเงิน และมีผู้ร่วมงานเขียนคือ Auguste Maquet แวดวงวรรณกรรมละเลย Alexandre Dumas จวบจนปี 2002 ในวาระ 200 ปีของการเสียชีวิต รัฐจึงจัดงานใหญ่เพื่อเป็นเกียรติแก่นักเขียนที่ยิ่งใหญ่ผู้นี้ ด้วยการนำอัฐิของ Alexandre Dumas เข้าสู่ Panthéon อันเป็นที่สถิตของบุคคลสำคัญของฝรั่งเศส รวมทั้งนักเขียน อาทิ Victor Hugo Voltaire Jean Jacques Rousseau André Malraux เป็นต้น โดยประธานาธิบดี Jacques Chirac เป็นประธานในรัฐพิธีนี้

Le Vicomte de Bragelonne เป็นหนึ่งในหนังสือของ Alexandre Dumas อันเกี่ยวเนื่องกับ “สามทหารเสือ” Les trois mousquetaires หรืออีกนัยหนึ่ง The three musketeers หนังสือเล่มนี้ได้กล่าวถึง L’homme au masque de fer หรืออีกนัยหนึ่ง The man in an iron mask บุรุษภายใต้หน้ากากเหล็ก

L’homme au masque de fer มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส เป็นนักโทษชื่อดังที่สุดก็ว่าได้ ซึ่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 1703 ในคุกบาสตีย์ (Bastille) ร่างของเขาได้รับการฝังที่โบสถ์ Saint-Paul ในชื่อ Marchiali อันที่จริงบุรุษผู้นี้ไม่มีใครทราบชื่อและไม่ทราบสาเหตุของการจำคุก เรื่องราวลึกลับนี้จึงเป็นที่มาของการจินตนาการไปต่างๆ นานา

หอจดหมายเหตุแห่งชาติของฝรั่งเศสได้เปิดเผยหลักฐานเกี่ยวกับสมบัติและบันทึกของผู้คุมขังบุรุษในหน้ากากเหล็กที่คุกบาสตีย์ในปี 1708 และอีกคนหนึ่งในคุกที่เกาะ Sainte-Marguerite ในปี 1691 เอกสารเหล่านี้เพิ่งค้นพบในปี 2015 ท่ามกลางกองเอกสารของ Minutier central des notaires ของหอจดหมายเหตุ

เกร็ดประวัติศาสตร์บ่งว่าเมื่อวันที่ 4 กันยายน 1687 ในรัชสมัยหลุยส์ 14 นายทหารผู้หนึ่ง Bénigne Dauvergne de Saint-Mars ได้นำนักโทษของรัฐผู้หนึ่งไปยังคุกบนเกาะ Sainte-Marguerite ใน Provence ตามพระราชโองการของกษัตริย์ ไม่มีใครทราบชื่อนักโทษผู้นี้ เพราะมีคำสั่งห้ามกล่าวถึง และหากใครเอ่ยชื่อ ผู้นั้นจะถูกโทษประหาร นักโทษผู้นี้ถูกใส่หน้ากากเหล็ก นั่งบนแท่นที่ถูกหามไปยังคุก ตามคำบอกเล่าของ Saint-Mars ชายผู้นี้ถูกขังก่อนหน้านี้หลายปีที่ Pignerol

Mémoires secrets pour servir à l’histoire de Perse (Amsterdam 1745) หนังสือที่ไม่ระบุผู้เขียน ได้กล่าวถึงราชสำนักหลุยส์ 14 โดยใช้ชื่อเปอร์เซีย เล่าว่าผู้สำเร็จราชการมาเยี่ยมนักโทษของรัฐที่ถูกใส่หน้ากากเหล็กซึ่งถูกย้ายมาจาก Ormus (เกาะ Sainte-Marguerite) มายังคุก Ispahan (Bastille) บุรุษผู้นี้คือ Comte de Vermandois โอรสของกษัตริย์หลุยส์ 14 ที่มีกับ Louise de La Vaillière และได้ตบหน้ารัชทายาท ผู้ว่าการคุกปฏิบัติต่อบุรุษผู้นี้ด้วยความเคารพ นำอาหารไปให้ด้วยตัวเอง แล้ววันหนึ่งนักโทษก็จารชื่อตนเองที่หลังจานอาหาร คนรับใช้ซึ่งอ่านหนังสือไม่ออก นำจานใบนี้ไปให้ผู้ว่าการคุก ซึ่งบอกเขาว่า แกโชคดีที่อ่านหนังสือไม่ออก Voltaire ได้เขียนเรื่องนี้ใน Siècle de Louis XIV ในปี 1751 และ 1752

บุรุษในหน้ากากเหล็กถึงแก่กรรมที่คุกบาสตีย์ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 1703 เอกสารของคุกได้บันทึกไว้ รวมทั้งเอกสารของโบสถ์ Saint-Paul บ่งชื่อว่า Marchioly

มีผู้สันนิษฐานว่าบุรุษในหน้ากากเหล็กคือ Duc de Beaufort ลูกพี่ลูกน้องของกษัตริย์หลุยส์ 14 ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกษัตริย์ บ้างก็ว่าเป็น Nicolas Fouquet รัฐมนตรีคลังของหลุยส์ 14 ที่มั่งคั่งจนต้องสงสัยว่าเบียดบังเงินท้องพระคลังไปสร้างปราสาท Vaux-le-Vicomte ส่วน Voltaire เขียนว่าเป็นน้องชายที่ถูกเก็บตัวแอบซ่อนไว้ของหลุยส์ 14 ซึ่งก็ไม่มีหลักฐานที่จะยืนยันได้

ข้อสันนิษฐานของ Voltaire บ่งว่าบุรุษในหน้ากากเหล็กเป็นน้องชายฝาแฝดของหลุยส์ 14 ที่ราชินี Anne de Bretagne ซึ่งเป็นพระมารดาของหลุยส์ 14 และอัครมหาเสนาบดี Mazarin ได้กันออกไปจากสิทธิ์ในราชบัลลังก์ และนำไปเลี้ยงดูต่างหากจวบจน Mazarin ถึงแก่กรรม หลุยส์ 14 จึงได้ตระหนักความจริง และตัดสินใจที่จะกักขังบุรุษผู้นี้ต่อไป นักเขียน Marcel Pagnol ก็เชื่อในสมมุติฐานข้อนี้

และนี่เป็นที่มาของความบันดาลใจในการเขียนเรื่อง Le Vicomte de Bragelonne ของ Alexandre Dumas และเรื่อง Jumeaux ของ Victor Hugo

เรื่องราวของบุรุษในหน้ากากเหล็กยาวเหยียด จนไม่รู้ใครเป็นใคร

Christophe Roustan Delaour เป็นนักประวัติศาสตร์ที่ค้นคว้าเกี่ยวกับบุรุษในหน้ากากเหล็กเป็นเวลาถึง 6 ปี และได้ข้อสรุปว่า บุรุษผู้นี้มีความเกี่ยวพันทางสายเลือดกับกษัตริย์หลุยส์ 14 และมีใบหน้าคล้ายคลึงกันมาก จึงได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพอย่างสูง และห้องขังก็ใหญ่โต อาหารเพียบอีกต่างหาก มีทหารเสือ 40 คนที่เฝ้าดูแล อาจเป็นไปได้ว่าเป็นน้องคนละพ่อหรือแม่กับหลุยส์ 14 ทั้งยังตั้งข้อสันนิษฐานว่า อาจเป็นไปได้ว่ากษัตริย์หลุยส์ 14 ไม่ได้เป็นโอรสของหลุยส์ 13 แต่เป็นบุตรของทหารเสือผู้หนึ่งกับราชินี Anne d’Autriche ข้อสันนิษฐานนี้ไม่มีนักประวัติศาสตร์คนไหนกล้าตั้งประเด็นขึ้นมา

นอกจากนั้น บันทึกของคุกบาสตีย์บ่งว่า เมื่อนักโทษผู้นี้ถูกส่งตัวกลับมายังคุกบาสตีย์ ไม่ได้สวมหน้ากากเหล็กอีกแล้ว แต่เป็นหน้ากากกำมะหยี่

L’homme au masque de fer เป็นนิทรรศการที่จัดที่พิพิธภัณฑ์ Musée de la mer, Fort Royal de l’Ïle Sainte-Marguerite ที่เมืองกานส์ (Cannes) ระหว่างเดือนมิถุนายน-ตุลาคม 2019

ใส่ความเห็น