วันอังคาร, มีนาคม 19, 2024
Home > Cover Story > Rare earth หมัดเด็ดของสีจิ้นผิง? ในศึกสงครามการค้า

Rare earth หมัดเด็ดของสีจิ้นผิง? ในศึกสงครามการค้า

หากติดตามข่าวความเคลื่อนไหวของสองประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และจีน ที่ตอบโต้กันบนเวทีโลก โดยเฉพาะประเด็นการตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าแต่ละยกในศึกครั้งนี้ดูจะไม่มีใครยอมใคร

แม้ว่าทั้งสองจะมีโอกาสได้จับมือกันต่อหน้ากล้อง พบปะพูดคุยกันอยู่บ้าง รวมไปถึงการหารือเพื่อเจรจาในข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ อีกทั้งกระแสข่าวที่ถูกตีแผ่ว่า มีความเป็นไปได้ว่าทั้งสองประเทศอาจบรรลุข้อตกลงระหว่างกันในการยุติความขัดแย้งครั้งนี้

ทว่า จนถึงขณะนี้ข้อตกลงที่ทั้งสองฝ่ายจะทำร่วมกันเพื่อยุติสงครามการค้าครั้งนี้ กลับไม่มีท่าทีที่จะประสบความสำเร็จแต่อย่างใด ความล้มเหลวที่เกิดขึ้นกับความพยายามที่จะทำข้อตกลงร่วมกันกลายเป็นภาพชินตาของผู้คนทั่วโลก

และท้ายที่สุด จากสงครามการค้าทรานฟอร์มสู่สงครามเทคโนโลยี เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ หงายไพ่ใบใหม่เพื่อกดดันจีนด้วยการเล่นงานบริษัทหัวเว่ย โดยมีกูเกิลขานรับนโยบายนี้ทันที ซึ่งจะส่งผลให้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของหัวเว่ยไม่สามารถอัพเดตหรือเข้าถึงแอปยอดนิยมอย่างกูเกิลได้

นโยบายดังกล่าวสร้างความวิตกกังวลอย่างมากให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งบริษัทคู่ค้ากับหัวเว่ย ผู้บริโภคที่ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ของหัวเว่ย ทว่า ความกังวลนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับซีอีโอของหัวเว่ยแต่อย่างใด เมื่อ Ren Zhengfei กล่าวเพียงว่า หัวเว่ยจะไม่ได้รับผลกระทบจากการประกาศแบนของสหรัฐฯ และนักการเมืองสหรัฐฯ ประเมินความสามารถของหัวเว่ยต่ำเกินไป

แม้ว่าคำสั่งดังกล่าวจะถูกระงับไว้เป็นการชั่วคราวอย่างน้อย 90 วัน โดยสหรัฐฯ ให้เหตุผลว่า เพื่อไม่ให้เกิดสภาวะสะดุดระหว่างบริษัทเอกชนสัญชาติอเมริกาที่ทำธุรกิจกับหัวเว่ย

ที่ผ่านมา นโยบายและมาตรการต่างๆ ของสหรัฐฯ จะเป็นสิ่งที่ประเทศคู่ค้าไม่ยอมรับ และมีการโต้กลับในรูปแบบที่ไม่แตกต่างกัน เช่น เมื่อสหรัฐฯ ปรับอัตราการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีน ขณะที่จีนไม่นิ่งนอนใจและขึ้นอัตราการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ในอัตราที่เท่าเทียมกัน

และเมื่อสหรัฐฯ ปรับหมากเดินเกม รวมไปถึงเป็นผู้เปลี่ยนหน้าเกมในศึกครั้งนี้ จากสงครามการค้า สู่สงครามเทคโนโลยี โดยมุ่งเล่นงานที่บริษัทหัวเว่ย ในมุมมองของนักการเมืองฟากฝั่งโดนัลด์ ทรัมป์ อาจจะเห็นว่า นี่เป็นการเดินเกมที่อุดมไปด้วยกลยุทธ์ที่น่าสนใจ และจะสามารถกดดันบีบให้จีนยอมแพ้แต่โดยดี

หากการมองมุมเดียวกับสหรัฐฯ อาจจะมองไม่เห็นจุดบอดที่สำคัญในการเดินหมากครั้งนี้ของสหรัฐ เมื่อสีจิ้นผิง ผู้นำจีน ที่ค่อยๆ เผยหมัดเด็ดที่อาจเป็นไม้ตาย ซึ่งอาจล้มยักษ์ที่คิดว่าตนเองกุมอำนาจและอยู่เหนือนานาอารยประเทศได้

การเดินทางไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตแร่ Rare-earth ที่มณฑลเจียงซีของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง น่าจะเป็นคำตอบของคำถามที่ว่า หมัดเด็ดที่จีนจะใช้โต้ตอบสหรัฐฯ คืออะไร และอาจเป็นคำตอบที่ตบหน้าสหรัฐฯ ให้ตื่นจากความฝันว่าจะกดประเทศที่คิดว่าด้อยกว่าตัวเองให้ยอมศิโรราบ และร่วมมือในข้อตกลงต่างๆ ที่สหรัฐฯ เคยเสนอ

แร่ Rare-earth มีความสำคัญในการผลิตชิปสำหรับอุปกรณ์เทคโนโลยี ทั้งคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมไปถึงอาวุธ แต่ที่น่าสนใจสำหรับแร่ดังกล่าวอยู่ที่ว่าทั่วทั้งโลกจีนเป็นผู้ผลิตแร่ชนิดนี้คิดเป็นสัดส่วน 90 เปอร์เซ็นต์

อีกทั้งแร่ชนิดนี้ยังไม่ได้ถูกบรรจุอยู่ในบัญชีรายการสินค้าที่จะเพิ่มภาษีนำเข้า หลายฝ่ายมองว่าสหรัฐฯ มีความจำเป็นที่จะต้องนำเข้าแร่ชนิดนี้จากจีนราว 80 เปอร์เซ็นต์ และการเยี่ยมชมโรงงานผลิตแร่ Rare-earth ของสีจิ้นผิง น่าจะเป็นการส่งสัญญาณไปยังผู้นำสหรัฐฯ ว่า จะพบกับมาตรการโต้กลับใดจากจีน หากทรัมป์ยังใช้ยุทธวิธีกดดันจีนด้านเทคโนโลยีผ่านบริษัทหัวเว่ย

ต้องยอมรับว่าสงครามการค้าครั้งนี้ของทั้งสองประเทศ สถานการณ์กำลังระอุและเป็นการแลกหมัดกันชนิดที่เรียกว่า ไม่มีใครยอมใคร แม้ว่าท่าทีของผู้นำจีนจะยังไม่ชัดเจน ประเด็นเรื่องแร่ Rare-earth จะถูกใช้เป็นหนึ่งในมาตรการโต้กลับท่าทีแข็งกร้าวของทรัมป์

กระนั้น หากแร่ชนิดนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการต่อรองกับสหรัฐฯ แม้จะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตจีนอยู่บ้าง แต่น่าจะสร้างผลดีให้แก่บริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีที่นำแร่ชนิดนี้มาใช้งานมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ถ้าสหรัฐฯ จะเตรียมความพร้อมรับมือ หากจีนนำแร่ Rare-earth มาเป็นหมัดเด็ดจริงๆ ในสงครามนี้ สหรัฐฯ อาจจะต้องมองหาแหล่งผลิตแร่จากประเทศอื่นๆ หรือหาทางฟื้นฟูอุตสาหกรรมผลิตแร่ Rare-earth ในประเทศขึ้นมาอีกครั้ง

สำหรับแร่ Rare-earth นั้น เมื่อพิจารณาจากข้อมูลที่เคยเปิดเผยใน Investing News เมื่อปี 2017 ระบุว่า จีนเป็นประเทศอันดับหนึ่งในการผลิตแร่ชนิดนี้ ซึ่งสามารถผลิตได้มากถึง 105,000 MT (เมตริกตัน) ขณะนี้ US Geological เปิดเผยผลสำรวจการส่งออกแร่ Rare-earth ในเดือนกันยายนปี 2017 พบว่า จีนสามารถส่งออกแร่นี้ได้มากกว่า 39,800 ตัน

ขณะที่อันดับ 2 ของโลกคือ ออสเตรเลีย ที่สามารถผลิตแร่ชนิดนี้ได้ 20,000 MT อันดับ 3 รัสเซีย ผลิตแร่ได้ 3,000 MT อันดับ 4 บราซิล ผลิตแร่ได้ 2,000 MT อันดับ 5 ไทย ผลิตแร่ได้ 1,600 MT แม้ว่าจะยังไม่มีรายละเอียดถึงสถานที่ที่แน่ชัดในไทย แต่ไทยเป็นหนึ่งในตลาดนอกประเทศจีนที่ผลิตแร่หายากชนิดนี้ได้ในจำนวนมาก อันดับ 6 อินเดีย ผลิตได้ 1,500 MT อันดับ 7 มาเลเซีย ผลิตได้ 300 MT และอันดับ 8 เวียดนาม ผลิตได้ 100 MT

คงต้องรอดูว่ามาตรการต่างๆ ที่สหรัฐฯ นำออกมาใช้กับประเทศคู่ค้า จะเป็นการโดดเดี่ยวตัวเองหรือไม่ รวมไปถึงจีนจะตอบโต้สหรัฐฯ ด้วยกลยุทธ์ใด และไทยจะได้รับผลกระทบใดจากการห้ำหั่นกันของสองชาติมหาอำนาจนี้ เมื่อภาวะเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะซบเซาทั้งจากปัญหาภายในประเทศ และยังถูกซ้ำเติมจากผลกระทบนอกประเทศ

ใส่ความเห็น