วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > Pasuda Food พลิก Passion พลิกชีวิตชาวสวน

Pasuda Food พลิก Passion พลิกชีวิตชาวสวน

“Pasuda Food เป็นบริษัทเล็กๆ ที่เกิดจากแรงบันดาลใจ อยากให้เกษตรกรมีชีวิตเดินหน้าต่อไป มาจากอุดมการณ์ลึกๆ ที่ไม่อยากให้เจ้าของสวนเลิกทำสวน เพราะไม่มีที่ระบายสินค้า ราคาตกต่ำ ต้องนำมาเททิ้งถนน”

เสาวลักษณ์ ศรีคิรินทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พศุดา ซัพพลายส์ แอนด์ เซอร์วิสเซส จำกัด และบริษัท พศุดา เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องจักรทำความสะอาดระบบอัลตราโซนิก เล่าถึง “ปม” ในใจที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนวิถีธุรกิจจากอุตสาหกรรมเครื่องจักรมาลุยเรือกสวนไร่นา ทั้งที่ไม่เคยทำการเกษตร อย่างมากแค่ปลูกต้นพริกเล็กๆ ในสวนข้างบ้านเท่านั้น

เธอตัดสินใจฟอร์มทีมงานเล็กๆ 5 คน เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทำหน้าที่ประสานหาช่องทางให้เกษตรกรกลุ่มเล็กๆ ได้เจอกับซัปพลายเออร์กลุ่มโรงงานแปรรูปผลไม้

แรกๆ แค่อยากอาสาช่วยเหลือเจ้าของสวนสามสี่ราย แต่จับพลัดจับผลูสามารถสร้างออเดอร์หลายร้อยตันต่อวันและมีดีมานด์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนตัดสินใจปลุกปั้นแบรนด์ใหม่ Pasuda Food ลุยฐานลูกค้า ทั้งในประเทศและเริ่มรุกตลาดส่งออกแถบยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น

เสาวลักษณ์หรือคุณปุ้ยเล่าว่า จริงๆ ครอบครัวเดิมทำธุรกิจอุปกรณ์ก่อสร้าง ส่วนตัวเธอเริ่มอยากทำธุรกิจของตัวเองหลังจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง จึงเรียนต่อหลักสูตรบริหารธุรกิจ MBA ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พอจบ เกิดความอยากไปเรียนที่ประเทศญี่ปุ่นมากๆ และโชคชะตาเปิดโอกาสให้ได้ร่วมทำงานภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า)

ทำงานที่ไจก้า 1 ปี มีกลุ่มบริษัทคาวาซากิติดต่อขอตัวไปทำงานในแผนกเครื่องจักร

เวลานั้นเอง เธอเริ่มเกิดความคิดว่า ถ้าเมืองไทยต้องนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ การให้บริการลูกค้ายากลำบากมาก จนวันหนึ่งตัดสินใจตั้งบริษัท พศุดา ซัพพลายส์ แอนด์ เซอร์วิสเซส จำกัด ทำโรงงานเล็กๆ ผลิตเครื่องจักร เมื่อปี 2550 ใช้ประสบการณ์จากคาวาซากิมาตอบโจทย์ลูกค้า ทุกวันนี้มีลูกค้ากลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมมากกว่า 300 ราย

“ปุ้ยทำธุรกิจ แต่ตั้งใจมานานแล้ว บั้นปลายชีวิตอยากกลับไปอยู่กับธรรมชาติ และบังเอิญญาติสามีมีที่ดินแถวนครปฐมเยอะ มีคนหนึ่งเป็นเจ้าของที่แต่ไม่มีลูกหลาน เขาขายและนำเงินทั้งหมดไปบริจาคสร้างโรงพยาบาล นั่นแหละถึงมีที่ดินเล็กๆ ปลูกบ้านเล็กๆ ได้ใช้ชีวิตแบบธรรมชาติทุกวันหยุด ที่สำคัญทำให้มีโอกาสสัมผัสชีวิตเกษตรกร ชาวสวน พูดคุยและเห็นสวนแปลงต่างๆ ในนครปฐม”

แน่นอนว่า การลงมือทำเกษตรสำหรับคนกรุงที่ไม่เคยจับจอบเสียมเป็นเรื่องยากมาก เสาวลักษณ์เปิดสวนให้คนใกล้เคียงเข้ามาเพาะปลูก ปลูกดอกไม้ ปลูกข้าว เผือก และแบ่งปันกัน โดยไม่ได้เก็บค่าเช่า

วันหนึ่ง เธอเที่ยวชมสวนส้มโอ สวนฝรั่ง และพบความจริงว่า นครปฐมแทบไม่เหลือนาข้าวอีกแล้ว หลังราคาตกต่ำมาก ทุกคนเปลี่ยนไปปลูกอย่างอื่นหมด เช่น มะม่วง ฝรั่งกิมจู หรือแม้กระทั่งสวนผลไม้หลายแห่งต้องเจอปัญหาพ่อค้าคนกลางกดราคา หลายคนตัดสินใจขายสวนไปเป็นลูกจ้างโรงงาน ไม่ใช่อย่างคำขวัญประจำจังหวัดที่ว่า ส้มโอหวาน ข้าวสารขาว ลูกสาวงาม ข้าวหลามหวานมัน

“เรามองว่า อุปสงค์ไม่เจอกับอุปทานและจังหวะช่วงโควิดแพร่ระบาด ชาวสวนมะม่วงไม่สามารถส่งออกไปญี่ปุ่น ยุโรป หลายรายเอาไปเททิ้งถนน มะม่วงเกรดส่งออกที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้กิน เราช่วยซื้อ 2 ตัน ขาย กก. ละ 30 บาท แบบพรีเมียมสุดๆ แบ่งให้เพื่อนๆ กิน ทุกคนร้อง Wow มาก รสชาติอร่อยมาก”

เสาวลักษณ์ตัดสินใจอาสาหาช่องทางและตลาด เพราะเชื่อมั่นว่า มีตลาดแน่นอน โดยเริ่มจากฐานลูกค้ากลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งใช้บริการล้างเครื่องจักรกับบริษัท พศุดาฯ อยู่แล้ว เช่น กลุ่มโรงงานแปรรูปผลไม้ โรงงานไอศกรีม

“ช่วงโควิด ชาวสวนโดนเหมือนกันหมด ไม่มีแหล่งระบายผลผลิต ไม่เว้นกลุ่มมะม่วงสวนคุณภาพที่ อ. วังน้ำบ่อ จ. พิจิตร ตอนนั้นขอจองผลผลิตและขอให้คัดส่งมา ให้เพื่อนลูกชายเพิ่งจบจากอเมริกาช่วยออกแบบกล่อง ติดต่อเพื่อนทำกล่อง ทดลองขายกล่องละ 350 บาท 3 กล่อง 1 พันบาท ถูกมาก ขายหมดเกลี้ยง”

“ข่าวกระพือออกไป จนเกษตรจังหวัด พาณิชย์จังหวัด มาที่สวนมะม่วงวังน้ำบ่อ เหมาผลผลิตไปทั้งหมด น้ำตาจะไหลเพราะเสียงความเดือดร้อนของชาวสวนไปถึงหน่วยงานราชการ”

จากการทดลองขายครั้งนั้น เธอตะลุยหาตลาดและเครือข่ายสวนคุณภาพ โดยเน้นกลุ่มผู้ผลิตผลไม้แปรรูประดับกลางร้อยกว่ารายชื่อ ทุกแห่ง Welcome มาก เพราะโรงงานส่วนใหญ่แม้มีซัปพลายเออร์ส่งผลไม้อยู่แล้ว แต่ไม่ใช่ชาวสวนขายตรง ส่วนใหญ่มาจากตลาดไท ตลาดสี่มุมเมืองและตลาดแถวราชบุรี สดบ้าง ไม่สดบ้าง แถมในช่วงผลผลิตออกไม่ทันและขาดแคลน ซัปพลายเออร์เหล่านี้มักใช้วิธีนำเข้าผลไม้จากเขมร ทั้งที่สวนของคนไทยมีมากมาย สด และรสชาติอร่อยมากกว่าหลายเท่า

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง เร่งหาเครือข่ายสวนคุณภาพ มีใบรับรองการปลูกด้วยการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (Good Agriculture Practices : GAP) หรือมีใบรับรองบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI) ซึ่งยุโรปให้ความมั่นใจ อย่างจังหวัดสระแก้ว พิษณุโลก ดินตรงนั้นเป็นดินที่ดีเหมาะกับการปลูกพืชประเภทนั้น รสชาติดี ไม่ใช้สารเคมี หรือใช้น้อยมาก และต้องเป็นเจ้าของสวน ไม่ใช่ผู้เช่า โดยสามารถคัดเครือข่ายสวนคุณภาพ 25 แห่ง จากทั้งหมดร้อยกว่าแห่ง หลักๆ ได้แก่ สวนมะม่วง สับปะรด เสาวรส ฝรั่งกิมจู

ด้านช่องทางและตลาด เสาวลักษณ์ใช้วิธีติดต่อเพื่อนทั้งคนไทยและต่างชาติ เพื่อหาช่องทางระบายสินค้าตามร้านอาหารไทย กลุ่ม Asian Supermarket ของนักธุรกิจคนไทย คนจีน คนกัมพูชา ติดต่อกลุ่มโรงแรมและคาเฟ่ขนาดเล็กในต่างประเทศ รวมทั้งเข้าสัมมนากับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อเจาะตลาดกลุ่มตะวันออกกลาง ซึ่งมีกำลังซื้อสูงมาก แต่มักไม่เจอผลิตภัณฑ์อาหารและผลไม้คุณภาพ โดยเฉพาะกลุ่ม Power Fruit หรือผลไม้อบแห้งมีความหวานร้อน ให้สารอาหารสูงเหมือนอินทผลัม ถือเป็นตลาดที่มีดีมานด์มาก

นอกจากนั้น หาพันธมิตรทางการค้าหลากหลายมากขึ้น เช่น การเข้าร่วมโครงการร้อยใจรักษ์ หาพันธมิตรที่ออกงาน Thaifex กลุ่มแปรรูปไอศกรีม ผลไม้กระป๋อง

ปัจจุบัน Pasuda Food ส่งขายสินค้าหลักๆ 4 รูปแบบ คือ 1. การขายเป็นวัตถุดิบส่งเข้าโรงงาน เช่น มะม่วงแก้วขมิ้น มะม่วงน้ำดอกไม้ ฝรั่งกิมจู เสาวรส มะนาวไร้เมล็ด ฟักทอง

2. การขาย Premium Fruit ผ่านช่องทางออนไลน์และวิลล่ามาร์เก็ต เช่น เมล่อน มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเกรดพรีเมียม ชมพู่และฝรั่งกิมจูเกรดพรีเมียม

3. การขายผลไม้เกรดพรีเมียมในประเทศไทย เช่น มะม่วงอบแห้ง สับปะรดแปรรูป ขนุนแปรรูป ฟักทองอบกรอบ โดยเฉพาะ Mango Cider ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่ได้รับการวิจัยพัฒนาจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL) ร่วมกับแม่ฟ้าหลวง นำมะม่วงมหาชนกมาผ่านกระบวนการหมักด้วยเทคโนโลยีชีวภาพทางอาหาร ไม่ต้องปรุงแต่งใดๆ มีกรดแอซีติก (Acetic acid) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการย่อยอาหารและควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือดได้ดี

สุดท้าย 4. การส่งออกผลไม้สดและแปรรูป ทั้งผลไม้อบแห้งและผลิตภัณฑ์ถาดดอกไม้ที่เรียงชิ้นผลไม้เป็นถาดดอกไม้อย่างสวยงาม

ทั้งนี้ ตามแผนระยะ 1-3 ปี บริษัทวางแผนขยายฐานลูกค้ากลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน พร้อมๆ กับเพิ่มไลน์สินค้าให้มีจำหน่ายตลอดทั้งปีตามปฏิทินผลไม้ ซึ่งจะทำให้ลูกสวนมีช่องทางและตลาดเพิ่มขึ้น มีทางเลือกและไม่ต้องถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา

เมื่อถามว่า ตั้งเป้ารายได้เท่าไร เธอตอบว่า Pasuda Food ไม่ได้ตั้งเป้ารายได้ใหญ่โต แค่ให้ครอบคลุมค่าใช้จ่าย ต้นทุนบุคลากร แต่เป้าหมายสำคัญคือ อยากเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยชาวสวน ให้เขาภูมิใจกับอาชีพเกษตรกร เพราะทุกวันนี้ชาวสวนแห่ขายที่ดินให้ชาวต่างชาติที่เข้ามากว้านซื้อที่ดินทุกวัน ได้เงิน 30 ล้านบาท ซื้อบ้าน ซื้อรถ แต่ต่างชาติได้ความอุดมสมบูรณ์ของประเทศไทย และเมื่อถึงจุดหนึ่งมรดกของบรรพบุรุษกลายเป็นของต่างชาติ เกษตรกรไทยเป็นแค่ลูกจ้าง คนไทยต้องซื้อทุเรียน ซื้อมะม่วง ซื้อฝรั่งจากนายทุนต่างชาติ

อนาคตประเทศไทยหมดสิ้นแน่.

ใส่ความเห็น