วันเสาร์, เมษายน 20, 2024

ONSEN

 
อากาศในเมืองไทยช่วงปลายปีที่ผ่านมา แม้จะได้ชื่อว่าเป็นฤดูหนาว แต่อุณหภูมิรอบข้างกลับไม่ได้ทำให้รู้สึกเย็นอกเย็นใจเท่าใดนัก แถมบางช่วงยังร้อนระอุขึ้นมาเสียอีก
 
ความเหนื่อยล้าที่สะสมมาตลอดทั้งปี หากได้รับการบำบัดปลดปล่อยออกไปบ้างก็คงทำให้ภารกิจในช่วงของการเริ่มต้นปีใหม่เป็นไปด้วยความสดใสไม่น้อย
 
ถ้าเป็นในเมืองไทย ท่านผู้อ่านจำนวนไม่น้อยคงนึกถึงสปาและการนวดแผนไทย ซึ่งดูเหมือนจะเป็นกระแสที่แผ่ซ่านออกไปเกือบทั่วทุกหัวถนน และดำเนินไปตามแต่มาตรฐานของสถานประกอบการแต่ละแห่งให้เลือกใช้บริการ
 
แต่สำหรับชาวญี่ปุ่น พวกเขามีวิธีผ่อนคลายความอ่อนล้าและเสริมสร้างพลังชีวิตให้กลับคืน ด้วยการอาบและแช่น้ำพุร้อน หรือที่เรียกกันติดปากว่า ออนเซน (Onsen) ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติอีกอย่างหนึ่งก็ว่าได้
 
แม้ว่าออนเซนจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับเซนโต (Sento) หรือสถานที่อาบน้ำรวมแบบ public bath แต่ข้อแตกต่างอย่างสำคัญอยู่ที่ออนเซนเป็นน้ำพุร้อนตามธรรมชาติ อีกทั้งยังต้องมีคุณสมบัติว่าด้วยแร่ธาตุที่ละลายเจือปนอยู่ตามข้อกำหนดกว่า 19 ชนิด
 
ภายใต้ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของญี่ปุ่น ซึ่งมีภูมิประเทศเป็นหมู่เกาะ (Archipelago) และตั้งอยู่ในแนวของภูเขาไฟและรอยแยกเลื่อนใต้แผ่นดิน ทำให้ทั่วทั้งประเทศญี่ปุ่นมีแหล่งน้ำพุร้อนกระจายอยู่มากมาย และกลายเป็นส่วนหนึ่งในโปรแกรมการท่องเที่ยวไปโดยปริยาย
 
หนึ่งในแหล่งน้ำพุร้อนที่มีชื่อเสียงและคุ้นตามากที่สุดแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น คงหนีไม่พ้นแหล่งน้ำพุร้อนที่เมือง Hakone ด้วยเหตุที่อยู่ใกล้ภูเขาไฟฟูจิ ผู้คนที่เดินทางไปเยี่ยมชมความงามของฟูจิ จึงถือโอกาสแวะเวียนและสัมผัสประสบการณ์การอาบและแช่น้ำพุร้อนที่อุดมด้วยกำมะถัน ซึ่งเชื่อกันว่ามีคุณสมบัติในการบำบัดความเครียดหรือแม้กระทั่งอาการของโรคผิวหนังด้วย
 
และด้วยเหตุที่น้ำพุร้อนในแต่ละแห่ง มีคุณสมบัติของแร่ธาตุที่ละลายเจือปนแตกต่างกันออกไป บรรดาโรงแรมและรีสอร์ต รวมถึงบ้านพักตากอากาศในแบบญี่ปุ่นที่เรียกว่า เรียวกัง (ryokan) ในเมือง Hakone จึงมีออนเซนเป็นจุดขายควบคู่กับการบรรยายสรรพคุณของน้ำพุร้อนว่ามีคุณสมบัติอย่างไร เพื่อให้นักท่องเที่ยวเลือกสรรได้ตามความประสงค์
 
จุดเด่นของออนเซนในแถบเมือง Hakone อีกส่วนหนึ่งอยู่ที่การเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ไปได้เกือบตลอดทั้งปี เพราะฉากหลังที่เป็นทิวทัศน์ของภูเขาไฟฟูจินั้น มีความงดงามเปลี่ยนแปลงเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาลด้วยเช่นกัน
 
แต่ก็ด้วยความที่ Hakoneเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแบบall season มากเกินไปเช่นที่ว่านี้ ทำให้แหล่งท่องเที่ยวออนเซนในภูมิภาคอื่นสามารถเบียดแทรกโดยอาศัยลักษณะเด่นของแต่ละพื้นถิ่นมาเป็นจุดดึงดูดความสนใจของกลุ่มเป้าหมายที่ไม่นิยมความจำเจ ในฐานะที่เป็นกิจกรรมพิเศษ ในลักษณะ “ครั้งหนึ่งของปี” อีกด้วย
 
โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว แหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ทางภาคเหนือของญี่ปุ่นบางแห่ง ส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยการประชาสัมพันธ์ออนเซนกลางแจ้งท่ามกลางหิมะ ที่พร้อมโปรยปรายปกคลุมภูมิประเทศรอบข้าง ให้ความรู้สึกแปลกพิเศษเพิ่มขึ้นไปอีก
 
เพราะในขณะที่แช่อยู่ในน้ำร้อนกว่า 40-50 องศา อากาศรอบตัวกลับอยู่ที่อุณหภูมิสูงสุดไม่เกิน 8 องศา นี่คือความแตกต่างอย่างสุดขั้วที่อยู่คู่และเสริมส่งกันไปในทีที่น่าสนใจไม่น้อย
 
ขณะเดียวกัน ด้วยกระแสรักษ์สุขภาพและความงาม ทำให้ออนเซนบางแห่งเพิ่มเติมกิจกรรมให้มากขึ้นตามไปด้วย โดยการเสริมบริการพอกหน้าพอกตัวด้วยโคลนจากภูเขาไฟ การนอนอบในทรายร้อน ซึ่งนัยว่าเป็นการกำจัดเซลล์ที่หมดสภาพและคืนความสดชื่นให้กับผิวพรรณ
 
แต่ไม่ได้หมายความว่าออนเซน จะมีอยู่เฉพาะในโรงแรมหรือรีสอร์ต ตามเขตหัวเมืองและสถานที่ท่องเที่ยวที่ต้องเสียเวลานานเพื่อการเดินทางไกลๆ เท่านั้น คนในเขตเมืองหรือนักเดินทางที่มีเวลาจำกัดก็สามารถสัมผัสกับประสบการณ์ออนเซนของญี่ปุ่นนี้ได้ไม่ยาก
 
กรณีของสนามบินนานาชาติชูบุ (Chubu Centrair International Airport) ในจังหวัด ไอจิ (Aichi) ซึ่งเปิดให้บริการเมื่อต้นปี 2005 เพื่อรองรับกับงาน AICHI EXPO 2005 เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในประเด็นนี้ และสร้างความฮือฮา แต่งเติมเต็มสีสันของสนามบินด้วยการจัดพื้นที่ให้มีออนเซนบนดาดฟ้าของอาคารสนามบินไว้คอยบริการ และกลายเป็นจุดดึงดูดให้นักท่องเที่ยวยอมต่อแถวเข้าใช้บริการออนเซนกลางสนามบินกันเลยทีเดียว
 
เรียกว่าขายความเป็นญี่ปุ่นได้ทั้งกับผู้โดยสารขาเข้าและผู้โดยสารขาออกกันตั้งแต่ประตูทางเข้าประเทศ โดยมีเครื่องบินที่สัญจรขึ้นลงเป็นฉากหลังแบบไม่คิดมูลค่า
 
ขณะที่ออนเซนในกรุงโตเกียว (Oedo Onsen) ได้พยายามเน้นจุดขายในอีกลักษณะ โดยทำเป็น theme park แบบย้อนยุคหมุนเวลากลับไปสมัย Edo ซึ่งบ่อยครั้งที่เวลามีเพื่อนพ้องน้องพี่ ไปเยี่ยมเยือนครอบครัวของเราที่กรุงโตเกียว ก็จะถือโอกาสจัดออนเซนแห่งนี้ไว้ในโปรแกรมด้วยเลย
 
ทั้งหมดทั้งปวงที่กล่าวมา ใช่ว่าออนเซนจะมีหน้าที่เป็นเพียงสถานที่ท่องเที่ยวเท่านั้น หากแต่วิถีของการเปลือยกายอาบน้ำร่วมกัน (naked communion) ของชาวญี่ปุ่นยังมีความน่าสนใจ โดยถือเป็นการทลายกำแพงแห่งตัวตนเพื่อหลอมรวมเข้ากับชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย
 
กฎ กติกา มารยาทในการเข้าออนเซน หลักๆ นอกเหนือจากเรื่องที่ต้องเปลื้องอาภรณ์ทุกชิ้นจนเปลือยทั้งหมดแล้ว ความสะอาดเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งทุกแห่งจะเน้นให้อาบน้ำชำระร่างกาย และต้องไม่ให้มีคราบสบู่แชมพูติดตัว ก่อนลงไปแช่ในบ่อน้ำร้อน
 
นอกจากนี้ ออนเซนส่วนใหญ่จะไม่อนุญาตให้คนที่มีรอยสัก (tattoo) เข้าใช้บริการ นัยว่าเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้สมาชิกของยากูซ่าเข้ามาก่อเหตุให้ต้องวุ่นวาย
 
คนไทยที่ไปจากวัฒนธรรมไทย ซึ่งไม่เคยสัมผัสออนเซนแบบญี่ปุ่นมาก่อน การเข้าออนเซนครั้งแรกๆ จึงอาจต้องทำใจสักพักหนึ่งที่จะไม่เขินอาย โดยเฉพาะคุณสุภาพสตรีทั้งหลาย แม้ว่าจะมีการกั้นสัดส่วนแยกกันระหว่างบุรุษกับสตรีก็ตาม 
 
สำหรับคนไทยที่อยู่ในสังคมญี่ปุ่นมาพอสมควร ส่วนใหญ่คงคุ้นชินและไม่ค่อยรู้สึกขัดเขินมากนักที่จะต้องเปลือยกายแช่น้ำร่วมกับชาวญี่ปุ่น เว้นเสียแต่ว่า หากต้องเข้าออนเซนกับคนไทยด้วยกัน ก็อาจจะมีความเขินอายอยู่บ้าง และบางคนถึงกับเดินถอยออกขอไม่เข้าไปเลยก็มี
 
แหม…ก็เรื่องพูดติโน่นชมนี่กันลับหลังในสังคมไทยนั้น ไว้ใจกันได้ซะที่ไหนล่ะ จริงไหม